ฉลาดดูจิต คือฉลาดในทางรอดปลอดภัย




เราควรที่จะฉลาดในความดีความขยันขันแข็ง 
เช่น ถึงเวลาแล้วลุกขึ้นสลัดความง่วงออกไป
ฉลาดในการเฝ้าดูจิต ฉลาดที่จะไม่คล้อยตามความคิด 
อย่างนี้เรียกว่าฉลาดในตัวเอง
การที่คนรู้จักโลก รู้จักคนอื่น
เรียกว่าฉลาดเหมือนกัน แต่ว่าฉลาดนอกตัว
เมื่อฉลาดนอกตัวแล้วมักจะค่อยๆ มืด 
ค่อยๆ โง่ขึ้น ต่อเรื่องราวในตัวเอง
แต่นี่เราฉลาดต่อการเฝ้าดูจิตใจ
เรียกว่า ฉลาดในทางรอดปลอดภัย


ท่านเขมานันทะ

สุขทางโลกคือทุกข์




ขึ้นชื่อว่า ทุกข์ ย่อมเป็นที่เบื่อหน่าย
ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ความเข้าใจผิด
จึงสำคัญทุกข์เป็นสุข 
ถึงเจตนาของบุคคลก็ยินดีสุข
แต่กลายเป็นยินดีทุกข์ 
เพราะไม่รู้จักทุกข์

หลวงปู่สาม อกิญจโน

เราปฏิบัติเพื่อรู้ตัวเอง




เราปฏิบัตินี่เพื่อรู้ตัวเอง 
ไม่ต้องไปรู้เรื่องของคนอื่น 
คนอื่นเขาจะยังไงก็เรื่องของเขา 
เรื่องของเราก็ทำใจให้พ้นทุกข์

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก

ทุกข์จงกำหนดรู้ อย่าเห็นทุกข์เป็นเรา



ทะเลทุกข์เต็มอยู่ในเบญจขันธ์ของเรา
ไม่มีอันบกพร่อง เต็มอยู่ด้วยทุกข์ตลอดกาล
ทุกข์จงกำหนดรู้ อย่าเห็นทุกข์เป็นเรา
และอย่าเห็นเราเป็นทุกข์
ทุกข์เป็นของเกิดขึ้นดับไป จิตไม่ได้ดับไปด้วย
สติปัญญาเท่านั้นจะตามรู้ทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์
จงพยายามฝึกหัดสติปัญญาให้ติดต่อกัน

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ให้แสวงหาที่ตัวเอง




การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม 
แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม 
แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม 
อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี 
แสวงหาตัวเรานี่ 
ให้เราทําความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ 
นี่แหละ จะรู้จะเห็น

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

สิ่งที่จิตคิดล้วนเป็นสังขาร



          สิ่งทั้งหลายที่จิตคิดไปทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ ล้วนเป็นสังขารทั้งหมด เมื่อรู้แล้วท่านให้วาง เมื่อรู้แล้วท่านให้ละ ให้รู้สิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงก็ทุกข์ ก็ไม่วางสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่อรู้ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นของหลอกลวง สมกับที่พระศาสดาตรัสว่าจิตนี้ไม่มีอะไร ไม่เกิดตามใคร ไม่ตายกับใคร จิตเป็นเสรี รุ่งโรจน์โชติการ ไม่มีเรื่องราวต่างๆ เข้าไปอยู่ในที่นั้น ที่จะมีเรื่องราวก็เพราะมันหลงสังขารนี่เอง หลงอัตตานี่เอง...

                                                                                                          หลวงปู่ชา สุภัทโท

ความสันโดษ ท่านสอนให้ใช้กับผลไม่ใช่เหตุ




“ความสันโดษ” นี้ มีคนเข้าใจผิดกันมาก 
หาว่าเป็นธรรมที่ทำให้ขาดความกระตือรือร้น 
จึงเป็นเครื่องฉุดรั้งความเจริญ...
ความสันโดษนั้น ท่านสอนให้ใช้กับผลที่ได้ 
คือในความยินดีพอใจในผลที่ได้...
แต่ว่าในการประกอบเหตุนั้น ท่านสอนไม่ให้ใช้ สันโดษ 
ท่านสอนให้ใช้ “วิริยะ” คือความพากเพียรพยายาม
คนเราขาดสันโดษ คือความพอใจในผลที่ได้ 
แต่มักจะไปสันโดษในเหตุ คือไม่อยากทำเหตุ 
จึงทำให้เกิดการลักขโมย หรือเกิดการแสวงหาในทางที่ผิด...

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

จิตใจที่มุ่งหวังนิพพาน อย่าปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติ




จิตใจที่มุ่งหวังต่อพระนิพพานนั้น 

อย่าปล่อยให้เขาอยู่ตามธรรมชาติ 
ต้องเข้าไปช่วยเขาออกจากสัญญาอารมณ์
ด้วยสติอยู่ตลอด 

พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ

เมื่อรู้เท่าทันความสงสัย ทางกลับบ้านย่อมปรากฏ




ความลังเลสงสัย 
เหมือนอยู่กลางทะเลทราย 
มองไม่เห็นเส้นทาง 
เมื่อรู้เท่าทันความสงสัยแล้ว 
ว่าเป็นของแค่นั้นแหละ 
สักแต่ว่าความคิดเกิดดับเท่านั้น 
ทางกลับบ้านย่อมปรากฏ

พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

วิญญาณที่บริสุทธิ์ต้องประกอบด้วย “สติ”




วิญญาณที่บริสุทธิ์นั้นต้องประกอบไปด้วย “สติ”
เอาสติตัวนี้มาตั้งอยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม
แล้วจะรู้ตามความเป็นจริง เรียกว่า “ยถาภูตญาณ”
โยคีบุคคลใดเห็นความเกิดดับของรูปนาม แม้จะอยู่เพียงวันเดียว
ก็ยังประเสริฐกว่าบุคคลที่ไม่เห็นการเกิดดับ แม้มีชีวิตอยู่ร้อยปี

หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล

ว่างแบบสมถะและวิปัสสนา




เมื่อมีอารมณ์มากระทบแล้ว 
มีตัวรู้เข้าไป พยายามปล่อย 
ถ้าสติแรงพอ สามารถสลัด
หรือขจัดอารมณ์นั้นออกไปได้ จิตจึงว่าง 
ว่างแบบนี้ เรียกว่าสมถะ

แต่ถ้าอารมณ์มากระทบจิต ตัวรู้ทำหน้าที่รู้ 
แล้วอารมณ์นั้นหลุดเอง โดยไม่ต้องพยายามใดๆ 
นี้เป็นวิปัสสนาญาณ 
เพราะไม่มีสังขารจิตมาปรุงต่อนั้นเอง


หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท

เมื่อปลงอารมณ์ตกต่ำทางใจได้ จึงชื่อว่าเป็นภิกษุ




เมื่อบุคคลปลงผม หนวดเคราออกหมดแล้ว
และได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เรียบร้อยแล้ว 
ก็นับว่าเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเป็นภิกษุได้ 
แต่ยังเป็นได้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น
ต่อเมื่อเขาสามารถปลงสิ่งที่รกรุงรังทางใจ 
อันได้แก่อารมณ์ตกตํ่าทางใจได้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุในภายในได้
ศีรษะที่ปลงผมหมดแล้ว สัตว์เลื้อยคลานเล็กน้อยเช่นเหา 
ย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด
จิตที่พ้นจากอารมณ์ ขาดจากการปรุงแต่งแล้ว ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ฉันนั้น
ผู้มีปกติเป็นอยู่อย่างนี้ควรเรียกได้ว่าเป็น "ภิกษุแท้"


หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ให้ทำความสงบไว้




ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย 
ดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ 
ให้ทำความสงบไว้ ทำสมถะ 
ทำสมถะก็เพื่อให้มีแรง 
ดูกายเพื่อให้เห็นจิต 
ดูจิตเพื่อให้รู้แจ้ง

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

คนพาลจริงๆ คือตัวเรา ตัวความคิดเรา




คนพาลไม่ใช่นาย ก นาย ข นักเลงการพนัน นักเลงเจ้าชู้
นักเลงเที่ยวกลางคืน นักเลงผู้หญิง นักเลงดื่มสุรา
นั่นเรียกว่าเป็นคนพาลภายนอ
คนพาลจริงๆ ก็คือตัวเรานี่ ตัวความคิดเรานี่
เช่น ถ้าเราคิดไม่ดี ความคิดไม่ดีก็พาเราไปโกรธ...
พาเราไปโลภ พาเราไปหลง พาเราไปเกิดกิเลสตัณหา เป็นต้น
การคบบัณฑิต คืออะไร คือ มีความคิดที่ดีอยู่ในจิตใจของเรานี่เอง...

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

เจริญสติช่วยคลายความยึดมั่นในตัวตน




ขณะเจริญสติเฝ้าดูสภาวธรรมทางกายกับจิต
ภายในร่างกายที่ยาววาหนาคืบกว้างศอก 
ผู้ปฏิบัติธรรมจะรู้สึกว่ามีเพียงสภาวธรรมทางกายกับจิต
ที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย
ไม่มีตัวเราอยู่ในสภาวธรรมเหล่านั้น 
และสภาวธรรมนั้นก็ไม่ใช่ของเรา 
ความรู้สึกเช่นนี้คือการคลายความยึดมั่นในตัวตน...
การคลายความยึดมั่นในตัวตนเช่นนี้ 
จะส่งผลให้เรารู้จักตัวเองและเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้น

พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ

การทำภาวนาแรกๆ จิตย่อมกวัดแกว่งดิ้นรน



          การทำภาวนาแรกๆ จิตของเราย่อมกวัดแกว่งดิ้นรน ล้มลุกคลุกคลานเป็นของธรรมดา เพราะจิตยังไม่เคยกับการภาวนามาก่อน จึงถือได้ว่า การภาวนาเป็นงานใหม่ของจิต ถึงจะยากลำบากแก่ไหน เราต้องฝืนเพื่อที่จะฉุดกระชากลากจิตที่กำลังถูกกิเลสย่ำยีอยู่นั้นให้พ้นภัยอันตราย ให้เป็นจิตที่ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายควรทำอย่างยิ่ง

                                                                                                  หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

ทำไมต้องฝึกสติ ทำไมต้องฝึกสมาธิ





ทำไมต้องฝึกสติ ทำไมต้องฝึกสมาธิ 
ก็เพื่อเป็นอุปกรณ์ให้ตัวปัญญา
มันออกมาก้าวเดิน 
ทำไมต้องฝึกตัวปัญญา 
เพื่อความรู้แจ้งในกายใจนี้
ทำไมต้องรู้แจ้งในกายใจนี้ 
ก็เพื่อความพ้นทุกข์
คือความไม่หลงในกายใจนี้ 
ผลคือความพ้นทุกข์นั่นเอง

พระอาจารย์วิชัย กัมมสุทโธ 

รู้ทุกข์ อย่าละทุกข์




รู้ทุกข์ อย่าละทุกข์
เพราะคุณไม่มีหน้าที่ละ
เมื่อ “แค่รู้” บ่อยๆ
ปัญญาจะเกิดขึ้น
และละต้นเหตุแห่งทุกข์ไปเอง

พระอาจารย์มหาวิเชียร ชินวังโส

ใจต้องอยู่กับร่างกายไปตลอดเวลา




ใจต้องอยู่กับร่างกายไปตลอดเวลา
ถ้าทำอย่างนี้ได้.. “มีสติ” อย่างนี้ได้
เวลา..นั่งสมาธิ “ใจ” ก็จะ
เข้าสู่..ความสงบได้


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

การฝึกจิตสาระสำคัญคือมีสติรู้ตัว




การฝึกทางจิตเพื่อหลุดพ้นจากสิ่งเศร้าหมอง
ไม่ได้อยู่ที่การนั่งหลับตาเพียงอย่างเดียว
สาระสำคัญคือการมีสติรู้ตัว
อยู่ในทุกอิริยาบถ ทุกกิจกรรม 
ในทุกเวลา ในทุกสถานที่

พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

ทางธรรม หยุดคิดจึงเกิดวิชาชั้นสูง



ธรรมดาโลกต้องศึกษา ต้องเรียน ต้องเขียน
ต้องอ่าน ต้องคิดต้องนึก จึงจะเกิดความฉลาด
แต่ในทางธรรม หยุดคิด หยุดนึก
หยุดขีด หยุดเขียน หยุดจำ หยุดทำ
จึงเกิดวิชาชั้นสูงได้
เป็นของทวนกระแสโลก ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายทำได้ยาก

ท่านพ่อลี ธัมมธโร 

ธรรมที่ทำให้สลดในวัฏสงสารมีค่ามาก



อุบายใดๆ เพื่อให้หน่าย เพื่อให้คลายเมาในวัฏสงสาร 
อุบายนั้นจะเป็นภาษามคธก็ตาม จะเป็นภาษาบาลีก็ตาม 
มีคุณค่ามากกว่าอุบายที่ให้เพลินให้ลืมตัว
ธรรมอันใดที่ทำให้สลดในวัฏสงสาร 
ธรรมอันนั้น เป็นธรรมที่มีค่ากว่าธรรมที่เป็นจินตกวี 
ทำเรื่องจริงให้เขื่อง เพื่อให้ไพเราะในเชิงกาพย์ 
เพื่อฟังสนุกๆ แต่ไม่มีอุบายเบื่อหน่ายคลายเมาในวัฏสงสาร

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

ให้พิจารณาไตรลักษณ์ เพื่อตัดสาเหตุการหลั่งน้ำตา




พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาไตรลักษณ์ (ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา) 
ก็เพื่อจะตัดสาเหตุการหลั่งน้ำตาของสัตว์
ผู้ไปยึดไตรลักษณ์มาเป็นตนเป็นของตนเสียได้ 
กลายเป็นความรู้เท่าทันตามหลักความจริงและถอดถอนอุปาทาน 
ความยึดมั่นสำคัญผิดอันเป็นเสี้ยนหนามทิ่มแทงหัวใจให้หมดไป

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ปรารถนาอยากอยู่ใกล้พระจริง อย่าเพ่งโทษคนอื่น




ผู้ใดปรารถนาอยากอยู่ใกล้พระจริง
อย่าเพ่งโทษคนอื่น
เขาว่าอย่างไรก็ตาม ยกให้เขาหมดเสีย
สำรวจตนเองทั้งคุณและโทษ
ที่มีอยู่ในสกนธ์กายของเราอยู่เสมอไป

หลวงปู่ทา จารุธัมโม

สัมมากัมมันตา และสัมมาวายามะ


นักปฏิบัติเขารู้เรื่องของกิเลสได้ดี 
จึงพยายามเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา 
มีความเพียรในการถอนกิเลสออกจากใจ ท่านเรียกว่า 
สัมมากัมมันตา การงานชอบ และสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ 
เพียรในการถอนกิเลส คืออกุศลที่มันเกิดขึ้น...
และเพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นไม่เสื่อมลงไป

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก

ผู้เจริญอนิจสัญญา ประเสริฐยิ่งกว่า



การทุ่มเทใจทั้งหมดให้กับตำรา มักไม่พบสันติธรรมที่แท้จริง
วางตำราลงสังเกตที่จิต เฝ้าดูเฝ้ารู้อารมณ์จิต
แล้วเข้าใจถึงพระอนิจจัง ย่อมพบสันติสุข
ความเป็นผู้มีศีลห้า นับว่ามีคุณสมบัติแห่งผู้ประเสริฐ
ความเป็นผู้หมั่นเจริญเมตตาธรรมอยู่เนืองนิจ
ทั้งประเสริฐ ทั้งร่มเย็น
ความเป็นผู้เจริญอนิจสัญญา
คือความระลึกรู้ถึงความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง
ประเสริฐยิ่งกว่า

ครูบาไตรภพ วัดป่าโคกเจริญธรรม
มูลนิธิวิศวาธารอโรคยาธรรมศาลฯ

ธรรมเล็กน้อย แต่ปฏิบัติได้ คือทรัพย์



ธรรมเป็นร้อย หนังสือเป็นล้าน
อ่านแล้วเข้าใจ แต่นำไปปฏิบัติไม่ได้
ก็ไร้ค่า เสียเวลาทุ่มเท
สู้ธรรมแค่เล็กน้อย แต่นำไปปฏิบัติได้
แม้ชีวิตจะไร้ค่า ก็ได้ชื่อว่าถือก้อนทรัพย์ไว้ในมือ

ครูบาเจ้าเพชร วชิรมโน

ปล่อย "ตัวเรา" ก็เบาสบาย



          ความยึดมั่นถือมั่นในตัวของเรา ก็เหมือนการแบกก้อนหินหนักเอาไว้ พอคิดว่าจะปล่อย “ตัวเรา” ก็เกิดความกลัวว่าปล่อยไปแล้ว ก็จะไม่มีอะไรเหลือ เหมือนกับที่ไม่ยอมปล่อยก้อนหินก้อนนั้น แต่ในที่สุดเมื่อปล่อยมันไปได้ เราก็จะรู้สึกเองถึงความเบาสบาย ในการที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น..

                                                                                                 หลวงปู่ชา สุภัทโท

สติที่มีประโยชน์คือดูกาย ดูความคิด



สติสัมปชัญญะนี้ก็เป็นเหมือนทำนบ
ถ้ามีผู้สร้างขึ้นนะ ถ้าไม่สร้างขึ้น มันก็ไม่มี
มีอยู่สติ แต่ว่ามันยังระลึกไปทางอื่น
ทางที่ไม่เป็นประโยชน์นั้นมากต่อมาก
ความระลึกที่มันเกิดเป็นประโยชน์อันใหญ่หลวงก็คือ...
ระลึกเข้ามาดูอัตภาพร่างกายนี้
แล้วก็ระลึกเข้ามาสกัดกั้นความคิดความนึกของดวงจิตนี้
ไม่ให้มันคิดซ่านออกไปข้างนอก
นี้เป็นสติสัมปชัญญะที่มีประโยชน์ต่อตนเองมากมาย

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

อย่ากลัวทุกข์ เพราะทุกข์เป็นครูสอนธรรม




ความทุกข์สอนธรรม
แต่ความสุขความสบาย
เป็นเครื่องบังธรรม
อย่ากลัวทุกข์
เพราะทุกข์เป็นครูสอนธรรมที่ยอดเยี่ยม

หลวงปู่หา สุภโร

รู้กายรู้จิต เท่านี้คือการเรียน



เอกายนมัคโค เอากายนี่แหละเป็นมรรค
เอากายนี้เป็นผล
รู้กายรู้จิต รู้จิตรู้กาย
สองอย่างเท่านี้ละ การเรียน

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

เห็นด้วยปัญญา



ในบทสวดมนต์ มีข้อความตอนหนึ่งซึ่งเป็นพุทธพจน์ว่า
“เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง
นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด”
ข้อความนี้ระบุชัดว่า “เห็นด้วยปัญญา”
คือเมื่อมีปัญญารู้ชัดว่า สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ไม่น่ายึดถือ
จิตก็จะสงบอย่างแท้จริง

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ยินดีในความสงบด้วยปัญญา



ผู้มีปัญญาเหล่าใด 
ประกอบด้วยศีล 
ยินดีในความสงบด้วยปัญญา 
ผู้มีปัญญาเหล่านั้น 
เว้นไกลจากความชั่วแล้ว ...
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น.

เย จ สีเลน สมฺปนฺนา ปญฺญายูปสเม รตา
อารกา วิรตา ธีรา น โหนฺติ ปรปตฺติยา.

(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.จตุกฺก ๒๗/๑๔๓.

มรรคที่มี อยู่ที่ตนของตนนี้เอง




...มรรคที่มี อยู่ที่ตนของตนนี้เอง 
เมื่อเราจะเจริญซึ่งสมถะหรือวิปัสสนา 
ก็ไม่ต้องหนีจากกายกับจิต ไม่ต้องส่งนอก
ให้พิจารณาอยู่ในตนของตน เป็นโอปนยิโก 

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ปฏิบัติแล้วทุกข์เบาลง จึงจะถูกต้อง



ถ้าเรามาถูกทางแล้ว ถูกต้องแล้ว 
ความทุกข์จะต้องน้อยลงไป
ดังนั้น ใครที่ปฏิบัติธรรมแล้วรู้สึกสบายขึ้น 
รู้สึกดีขึ้น รู้สึกว่าทุกข์เบาลงไป 
อันนั้นถูกต้องเลย...
แต่ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วกลับยิ่งหนัก
กิเลสยิ่งหนาแน่นขึ้น อัตตาตัวตนมากขึ้น
แสดงว่าต้องมีที่ผิด 
ต้องมีความหลงผิด 
ต้องมีบางอย่างไม่ถูกต้อง 
ต้องแก้ไขแล้วนะนี่

พระอาจารย์ครรชิต สุทธิจิตโต

ให้ผู้มีสติตื่นรู้อยู่เฉยๆ เหมือนแมงมุมเก็บตัวอยู่ตรงกลางใย



เริ่มต้น สติตั้งอยู่ไม่นาน 
ต่อมากลายเป็นที่พึ่งของจิตเราได้ 
ท่านให้ผู้มีสติตื่นรู้อยู่เฉยๆ 
เหมือนแมงมุมเก็บตัวอยู่ตรงกลางใย 
มีอะไรมากระทบจิต ...
จึงพิจารณาทันที 
แล้วกลับไปอยู่เหมือนเดิม 
เหมือนแมงมุม เห็นใยสะเทือน 
วิ่งออกไปจับแมลงเป็นอาหาร 
แล้วกลับไปอยู่ที่เดิม

พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

การได้เห็นกาย/จิตตัวเองด้วยปัญญาอันชอบ




การได้เห็นกาย/จิตตัวเองด้วยปัญญาอันชอบ 
คือความภูมิใจของนักปฏิบัติธรรม

หลวงตาสุริยา วัดป่าโสมพนัส 
(ส.มหาปัญโญภิกขุ)

พยายามดูที่จิตอยู่เรื่อยๆ ไม่ต้องดูอะไรมาก



          การปฏิบัติ โยมทั้งหมดพยายามดูที่จิตอยู่เรื่อยๆ ก็แล้วกัน ไม่ต้องดูอะไรมาก เรากำหนดที่จิตไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่...ถ้ามันอยากได้ในสิ่งที่เดือดร้อน เราก็มาดูที่จิตก็แล้วกัน ถ้ามาดูที่จิตแล้ว มันไม่มีอะไรที่จะต้องการเอาเลย ถ้าคนว่าสิ่งที่ไม่ถูกหูเรา ถ้าเราจะรับไม่ไหวก็ต้องมาดูที่จิต ถ้ามาดูที่จิตแล้วไม่มีเลย...มีแค่ “ผู้รู้” อย่างเดียว...เราต้องมาดูตรงนี้ พยายามทำจิตของเรา ภาวนาทุกๆ วันก็เพื่อให้จิตเรารวมตรงนี้ เพื่อจะแก้ปัญหาภายในจิตของเรา ให้เป็นอิสระจากอารมณ์ทั้งหลาย

                                                                                               หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล

เรียนธรรมะต้องเรียนที่กายและใจ




เรียนธรรมะต้องเรียนที่กายและใจ
หาตัวเองกันจริงๆ ต้องดูจิตของเราดูกายของเรา
หลักการดูจิตก็คือ ดูความคิด 
หลักการดูกายก็คือ ดูลมหายใจ...

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ตัวกูคือรากเหง้าของความทุกข์


ชีวิตของเราแท้จริงมีแต่กายกับใจ 
ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู 
ตัวกูเป็นสิ่งที่ใจปรุงแต่งขึ้นมาเอง 
แล้วก็ยึดเอาไว้ ไม่ปล่อย
เมื่ออะไรก็ตามมากระทบ ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ...
หากเกิดทุกขเวทนาก็จะเกิดความรู้สึกว่า 
กูทุกข์ กูปวด กูโกรธ
เมื่อเศร้า ไม่ใช่เพียงความเศร้าเกิดขึ้น 
แต่มีความรู้สึกว่า กูเศร้า 
นี้คือรากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวง

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ไม่มีอะไรที่เป็นไปอย่างใจเราต้องการเสียทุกอย่าง



          ที่เราเครียดจริงๆ ก็เพราะว่าเราไปตั้งความหวังไว้กับคน ว่าเขาจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ เขาไม่น่าจะทำอย่างนั้น ไม่น่าจะทำอย่างนี้ ตั้งความหวังไว้มากก็ผิดหวังมาก พอเครียดขึ้นมาเสียงตัวเองก็ดังขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น รู้ตัวเมื่อไรให้รีบเบรกไว้ กลับมาสู่ความจริงที่ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปอย่างใจเราต้องการเสียทุกอย่าง เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน

                                                                                                   หลวงพี่เล็ก สุธมฺปญฺโญ

การชำระกรรม ไม่ใช่เอาจิตมาชำระกรรม




การชำระกรรม ไม่ใช่เอาจิตมาชำระกรรม
เราต้องเกิดวิบากกรรม 
มาตอบสนองในร่างกาย กระทบถึงจิตเรา
ใช้ความอดทนอดกลั้น
ไม่ตามมันไปนั่นแหละ
กรรมนั้นก็จะหลุด


หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล

ธรรมสอนให้รู้เท่าและปล่อยวางความผูกพัน




ความผูกพันนั่นแลพาให้โลกเป็นทุกข์กันมากน้อย 
ถ้าความผูกพันในใจไม่มีก็ไม่เป็นทุกข์ 
ธรรมท่านจึงสอนให้รู้เท่าและปล่อยวางความผูกพัน
อันเป็นตัวการให้ทุกข์ทั้งหลายเถิด

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เจริญสมาธิเป็นอารมณ์ คือสร้างพระไว้ในจิตใจ




ภาวนาแปลว่า การทำบุญกุศลให้ผุดขึ้นในดวงจิตดวงใจ 
ผู้ใดตั้งใจอยู่ในเมตตาภาวนา เจริญสมาธิเป็นอารมณ์อยู่เสมอแล้ว 
ก็เท่ากับผู้นั้นได้สร้างพระไว้ในจิตในใจของตนเอง 
ย่อมจะมีผลดีตลอดชาติ

ท่านพ่อลี ธัมมธโร