ปัญหาอยู่ที่มุมมอง ไม่ใช่เครื่องอยู่


.
ถาม : กราบนมัสการค่ะ เป็นคนคิดมากวิตกกังวล และหงุดหงิดง่ายค่ะ
ปกติฝึกในรูปแบบ ใช้ ‘พุทโธ’ เป็นเครื่องอยู่ค่ะ
ต่อมาหายไป ก็คอยรู้ทันจิตไหล
แต่ในชีวิตประจำวัน ไม่สามารถหาที่อยู่ให้จิตได้ 
มันว่างๆ แต่ก็คิดฟุ้งซ่านตลอด
นาน ๆ จะรู้ทีว่า เผลอบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง หลงบ้าง
ลองใช้ ‘พุทโธ’ หรือ ดูกายเคลื่อนไหว ก็ได้แค่ไม่กี่วินาที 
แล้วก็หลงยาวเลยค่ะ ขอความเมตตา แนะนำด้วยค่ะ
.
ตอบ : ก่อนอื่น ให้เปลี่ยนมุมมอง ความรู้สึกใหม่
จาก ‘นักปฏิบัติ’ มาเป็น ‘นักศึกษา’
คือทำไว้ในใจว่า จะขอเรียนรู้ความจริง
คำว่า ‘ปฏิบัติ’ มันหลอกใจเราให้ทำอะไรที่ไม่ธรรมดา
เพื่อให้ได้สิ่งที่ไม่ธรรมดา
จิตขณะนี้มันเผลอ มันฟุ้ง ก็เป็นเรื่องธรรมดา
ถ้าเป็นนักปฏิบัติ.. ก็จะทำให้หายฟุ้ง บังคับมัน
ถ้าเป็นนักศึกษา.. ก็จะรู้ไปตามที่มันเป็น
.
นักปฏิบัติ
ถ้าทำได้ตามต้องการ ก็จะดีใจ ภูมิใจ รู้สึกว่า ‘เราเก่ง’
ถ้าทำไม่สำเร็จ ก็หงุดหงิด เครียด
.
นักศึกษา
จะได้องค์ความรู้ สะสมไปเรื่อย ๆ จนเข้าใจความจริงที่ซ่อนอยู่
คือเบื้องต้น จะเข้าใจลักษณะของสภาวะที่ปรากฏ
ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวเรา
.
นักปฏิบัติ
เวลามีเครื่องอยู่ ก็มักจะเข้าใจว่า 
จิตต้องอยู่กับเครื่องอยู่เท่านั้นจึงจะดี
พอจิตเผลอ จิตหลง ก็รีบบังคับจิตให้กลับ 
ให้อยู่นิ่งๆ กะจะให้ได้ดีกันตรงนี้
.
นักศึกษา
จะมีเครื่องอยู่ เพียงเพื่อเอาไว้คอยสังเกตว่า 
จิตเผลอเป็นอย่างไร
คือเอาไว้ศึกษาความจริงว่า จิตทำงานอย่างไร
เห็นครั้งหนึ่งแล้วยังไม่เข้าใจ.. 
ก็กลับมาที่เครื่องอยู่ เพื่อเรียนอีก
เริ่มเข้าใจแล้ว แต่ยังไม่แจ่มแจ้ง.. 
ก็กลับมาที่เครื่องอยู่ เพื่อเรียนอีก
ฉะนั้น ปัญหาไม่ได้เป็นที่  ‘เครื่องอยู่’
แต่อยู่ที่  ‘มุมมอง’

พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากตอบโจทย์บนนิมฺมโลเพจ
วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๐

Image by ev3177 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา