ให้ยอมรับทุกสิ่งตามความเป็นจริง



          ทำอารมณ์เบาๆ อย่าไปเคร่งเครียดกับทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างให้มากนัก ให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง ว่าเกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่ ก็ดับไปเป็นธรรมดา คำว่าจีรังยั่งยืนย่อมไม่มีในทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ให้ทำอารมณ์ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริงด้วยความเบาใจ แล้วปัญญาจักเกิดขึ้นมาระงับตัดกิเลสได้ ตรัสเพียงสั้นๆ แค่นี้ ให้ไปพิจารณาตีความหมายเอาเอง จักได้เนื้อหาสาระธรรมเป็นอเนกประการ


                                                                                             สมเด็จองค์ปฐม

อย่าสนใจจริยาของผู้อื่น



          อย่าไปสนใจกับจริยาของผู้อื่น ให้พึงเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น สาระสำคัญนั้นไม่มี แล้วหันมาดูใจตนเองให้มากด้วยการระมัดระวังใจ อย่าเผลอไปในด้านไม่ดี และอย่าไปให้ความสนใจสิ่งภายนอก ให้ตัดลงตัวธรรมดาให้มาก


                                                                                 สมเด็จองค์ปฐม

รู้จักไตรลักษณ์แล้วปล่อยวางไตรลักษณ์



          ให้รักษากำลังใจ ทำทุกอย่างโดยไม่หวังผลตอบแทน ดังนั้นจึงพึงทำใจปล่อยวางใน ลาภ ยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ด้วย ให้เห็นธรรมดาให้มากที่สุดเท่าที่จักเห็นได้ และพึงจำไว้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่กับความเสื่อม แล้วดับไปในที่สุด จงจำประโยคนี้เอาไว้ให้ดีๆ จำจนขึ้นใจแล้วนำไปเจริญเป็นวิปัสสนาญาณ อันแปลว่าญาณเป็นเครื่องรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

          รู้จักไตรลักษณ์แล้วปล่อยวางไตรลักษณ์ อย่าไปเสียใจกับไตรลักษณ์ ให้เห็นไตรลักษณ์เป็นเรื่องธรรมดา จงจำไว้ว่าจักทำเพื่อละ เพื่อปล่อย เพื่อวาง
จงอย่าเกาะสิ่งใดๆ ในโลกนี้หรือโลกหน้า โลกพรหม โลกเทวดา จงอย่าเกาะ ให้เห็นปกติธรรมของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ในความเสื่อม แล้วก็ดับไป

                                                                                      สมเด็จองค์ปฐม

ให้แก้ไขใจตนเอง



          รักษาอารมณ์ของจิตให้ดีๆ ประคองใจไว้เป็นสำคัญ อย่าไปฝืนกรรมของใคร แล้วอย่าไปแก้ไขคนอื่น ให้แก้ไขใจตนเองนี้แหละ จึงจักถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา จุดนี้มีความจำเป็นต้องพูดซ้ำ เพราะพวกเจ้าส่วนใหญ่มักจักไปแก้ไขบุคคลอื่น ผิดหลักธรรมอย่างยิ่ง


                                                                                    สมเด็จองค์ปฐม

การจำธรรมได้ยังไม่ใช่ของจริง



          การฟังธรรม-รู้ธรรม-จำธรรมนั้นๆได้ ยังไม่ใช่ของจริง ของจริงอยู่ที่ผล หากรู้แล้วแต่ยังมิได้ทำ ยังมิได้นำไปปฏิบัติให้เกิดผล ก็จัดว่ายังเป็นผู้ประมาทอยู่มาก

                                                                                         สมเด็จองค์ปฐม

เมตตาย่อมทำให้ใจที่พลุ่งพล่านเยือกเย็น



          น้ำแข็งจำนวนมากเพียงพอ ทำให้น้ำเดือดพล่านกลายเป็นน้ำเย็นเฉียบได้ฉันใด เมตตาที่เพียงพอ ย่อมทำให้ใจที่พลุ่งพล่านปานน้ำเดือด กลายเป็นใจที่เยือกเย็น เช่นน้ำเย็นเฉียบได้ฉันนั้น

          ดังความร้อนบ้าคลั่งของช้างนาฬาคีรี ได้รับความเย็นหาที่เปรียบมิได้ แห่งน้ำพระหฤทัยพระพุทธองค์ ก็สงบลงทันที เย็นสนิททันที


                                 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

อภัยทานเป็นคุณแก่ผู้ให้ยิ่งกว่าผู้รับ



          อภัยทานนี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ ยิ่งกว่าแก่ผู้รับ เช่นเดียวกับทานทั้งหลายเหมือนกัน คืออภัยทานหรือการให้อภัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นในใจผู้ใด จะยังจิตใจของผู้นั้นให้ผ่องใส พ้นจากการกลุ้มรุมบดบังของโทสะ
          โกรธแล้วหายโกรธเอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน   โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ ไม่เป็นการบริหารจิตแต่อย่างใด แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัย เป็นการบริหารจิตโดยตรง จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น

                                              สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วิธีทำใจให้สุขผ่องใส



การทำใจให้เป็นสุขผ่องใสนั้น
ไม่มีใครจะทำให้ใครได้
เจ้าตัวต้องทำของตัวเอง
วิธีทำก็คือ.. เมื่อเกิดโลภโกรธหลงขึ้นเมื่อใด
ให้พยายามมีสติรู้ให้เร็วที่สุด
และใช้ปัญญายับยั้งเสียให้ทันท่วงที อย่าปล่อยให้ช้า
เพราะจะเหมือนไฟไหม้บ้าน
ยิ่งดับช้า... ก็ยิ่งดับยาก และเสียหายมาก โดยไม่จำเป็น
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ผลของความดีคือความหลุดพ้น


          คนโดยมาก มักเข้าใจผิดในผลของความดี คือมักไปเข้าใจ "ผลพลอยได้" ว่าเป็น "ผลโดยตรง" และมักมุ่งผลพลอยได้เป็นสำคัญ เมื่อไม่ได้ผลเป็นวัตถุจากการทำความดี ก็บ่นว่าทำดีไม่เห็นจะได้อะไร ... รักษาศีลไม่เห็นร่ำรวยอะไร เป็นเพราะไม่เข้าใจว่า ผลของความดีคืออะไร ผลของความดีคือ "ความหลุดพ้น" ผู้ทำความดี ย่อมแสดงถึงว่าเป็นผู้ที่มีจิตหลุดพ้น จากความเห็นแก่ตัว มีจิตกว้างขวางออกไปโดยลำดับ และเห็นว่าการให้สำคัญกว่าการรับ และย่อมบำเพ็ญความดีเพื่อความดี มิใช่เพื่อผลตอบแทนใด ๆ เป็นสำคัญ

                                         สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

เมื่อจิตเห็นไตรลักษณ์ในร่างกาย



            พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า "ผู้ใดมีปัญญาพิจารณาจนจิตเห็นความจริงว่า ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คน สัตว์ แม้จะนานเพียงชั่วช้างยกหูขึ้นกระดิก ก็ยังดีเสียกว่าผู้ที่มีอายุยืนนานถึง ๑๐๐ ปี แต่ไม่มีปัญญาเห็นความเป็นจริงดังกล่าว”

                                        สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

บุญที่ยิ่งใหญ่กว่าจิตเป็นฌาน



          พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจนจิตเป็นฌานได้นานถึง ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม"


                                   สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ธรรมที่แท้จริง


..อธิบายทั้งปวงก็เพื่อนำธรรม
​เข้าสู่จิตและปัญญา
 ได้ฟังได้อ่านแล้วก็ให้ทิ้งๆ ไปเ​สีย
 กำหนดไว้แต่ตัวธรรมแท้ๆ จะไม่มีหนักสมอง
 ตัวธรรมนี้อยู่ในความเข้าใจความ​จริง
 อาจอธิบายไม่ได้เพราะไม่มีภาษาจ​ะอธิบาย
   สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

การปฏิบัติธรรมแท้จริง



จะปฏิบัติธรรมอย่างไร ? คิดว่าการเดินจงกรม การฟังธรรม การนั่งสมาธิ เป็นการปฏิบัติธรรม ?

หลวงปู่ชาตอบว่า : นั่นเป็นเปลือกของมัน
"..การปฏิบัติจริงๆ เมื่อประสบอารมณ์
เช่น มีคนมาพูดไม่ถูกใจ เราก็เป็นทุกข์
มีคนพูดให้ถูกใจ เราก็เป็นสุข
 ใจเรายึดติดอยู่กับทุกข์ อยู่กับสุข
อยู่เช่นนี้จนถึงวันตาย ก็ไม่พบธรรมะ.."


หลวงปู่ชา สุภัทโท