มีเพียงทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์


ความทุกข์จะจรเข้ามา 
แต่ผู้มีสติ ย่อมไม่ปล่อยใจไปเป็น “ผู้ทุกข์”
หากเป็นเพียง  “ผู้เห็นความทุกข์”
ผู้มีสติย่อมไม่ตีอกชกหัว เพราะเข้าใจไปว่า
"ตนมีทุกข์” เหลือประมาณ 
หากเห็นความทุกข์นั้น
เป็นเพียงอาคันตุกะที่จรเข้ามา
หากไม่เอาตัวตน เข้าไปแบกรับ 
และปรุงแต่งต่อเติม 
มันย่อมจางหายไปในที่สุด

หลวงพ่อคำเขียน  สุวัณโณ 

ถ่ายทอดโดย  พระอาจารย์ครรชิต  อกิญจโน

Image by Holedulidu from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


26 ก.ค.67



 

ภัยใหญ่แห่งสังสารวัฏ ก็คือความสุข


| ทุ ก ข์ ใ น สุ ข  | 

ญาติธรรม  :  เรื่องของโยมเป็นเรื่องที่เล็กน้อยมาก 
แต่ โยมทุกข์เหลือเกินค่ะ! โยมมีลูกที่น่ารัก แต่เมื่อเราเริ่มยึดเค้า 
รักเค้า คาดหวังในตัวเค้า ไม่นึกว่าสิ่งนี้
จะทำให้โยมทุกข์ได้มากขนาดนี้ 
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีความสุขมาก .. (ร้องไห้).. 
โยมจะทำอย่างไรให้ไม่คาดหวังคะ? 
จะตัด จะวางก็ทำไม่ได้ .. 

#พระอาจารย์นวลจันทร์ฯ# : 

วางไม่ได้ ก็ไม่ต้องวาง!
เรามีหน้าที่ "เห็น" เท่านั้นนะ! 
เราไม่ได้มีหน้าที่วาง  
เห็นสังโยชน์ เห็นเครื่องร้อยรัด เห็นพันธนาการ
.
ภัยใหญ่ของสังสารวัฏ 
ก็คือ ความผูกพันนี่แหละ!!
ความผูก แล้วก็ พัน เป็นบทเรียน
ที่คุ้มค่าที่สุดที่จะเรียนรู้ แล้วผ่านมันไป
ดูบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ จะเกิด นิพพิทา ขึ้นมา
ต่อเมื่อปัญญาแก่รอบ 
ก็จะกลายเป็น วิราคะ ในที่สุด!
.
คนที่ไม่ภาวนา จะไม่มีวัน "เห็น" เลย!!!
เพราะ สติ สมาธิ ไม่ตั้งมั่นพอ! 
เมื่อใดที่เห็นอุปาทาน 
เราจะได้ปัญญาจากอุปาทาน ..
ถ้าอริยมรรคยังไม่เกิด ยังตัดไม่ได้หรอก!
.
ตัวปัญหา จึงไม่ใช่ตัววัตถุ
 ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ ยาง ใย 
เยื่ออุปาทานต่างหาก
การตัด การวาง จึงไม่ใช่หน้าที่ของเรา ..
เราทำได้เพียงสร้างเหตุใกล้
ให้ มรรค ได้มีกำลังหล่อหลอมเท่านั้น
.
เราก็ยังคงทำหน้าที่ทางโลกเหมือนเดิมนะ 
ยังคงเป็นแม่ที่ดี ยังคงดูแลในส่วนนี้ต่อไป 
แต่ก็ภาวนา เจริญมรรคไปด้วย
สุดท้ายเมื่อมรรคหยั่งลงมั่น 
มรรคจะทำหน้าที่ชำระ ตัด วาง เอง!!
.
ดีแล้วนะที่เห็น .. 
มีความสุข มีครอบครัวที่อบอุ่น 
หลายคนจะเพลินกับสิ่งนี้
แต่ผู้ที่มีปัญญา จะรู้ว่า 
ภัยใหญ่แห่งสังสารวัฏ ก็คือความสุข
เพราะมันเป็นตัวการทำให้เกิดความผูกพัน
 และความหลงได้เป็นอย่างดี
นี่ล่ะ! ความทุกข์ ในความสุข!!!
.
พระอาจารย์นวลจันทร์  กิตติปัญโญ
  
Image by storytelleradams from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


26 ก.ค.67


 

ความจริงของโลก..ความจริงของธรรมะ


ความจริงของโลก..ทำให้เรารู้แจ้งในธรรมะ..
ความจริงของธรรมะ...ทำให้เรารู้แจ้งโลก..
ความจริงของโลก..
หากเรารู้จักนำมาพิจารณาเป็นธรรม.. 
เราก็จะค้นพบความจริงอันยิ่งใหญ่เหนือโลก..
ความจริงของธรรม..
หากรู้จักน้อมนำมาพิจารณาทางโลก..
จักทำให้พ้นโลก (พ้นจากโลภ โกรธ หลง) ..
และอยู่กับโลกท่ามกลางโลกอย่างสุขร่มสงบเย็น..

อิโตมิ จัง

Image by Tho-Ge from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


18 ก.ค.67


 

วิปัสสนานั้น ไม่ต้องไปคิดอะไร


การปฏิบัติเจริญวิปัสสนานั้น
ไม่ต้องไปคิดอะไร
เพียงมีสติ ระลึกรู้เท่าทันต่อปรมัตถ์
ระลึกปรมัตถ์ที่เป็นปัจจุบันขณะ
มันก็ทำลายอกุศลธรรมลงไป
ได้ด้วยตัวของมันเอง
เมื่อกุศลเกิดขึ้นๆ อกุศลก็จางลง
กุศลมาแทนที่ในปัจจุบันธรรม
.
เหมือนกับเก้าอี้ตัวเดียว
ที่สองคนแย่งกัน
ระหว่างกิเลสกับกุศล
ถ้ากุศลเข้ามาแทนที่ 
อกุศลก็ตกไปจากเก้าอี้นั้น
แต่การจะนั่งก็นั่งได้แป๊บเดียว
ถึงจะเป็นกุศลก็นั่งได้แป๊บเดียว
ถ้าไม่มีการเสริมมาอีก อกุศลก็เข้ามาอีก
ฉะนั้นถ้าหากว่า มีสติระลึก รู้อยู่
อกุศลก็จะละไปในตัว
.
เมื่อเพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น
ก็เท่ากับว่าเพียรละอกุศลไปในตัว
อันนี้ก็เป็นการละในวิธีการของวิปัสสนา
คือมีสติรู้เท่าทันต่อ อกุศลธรรม และกุศลธรรม
.
แต่ถ้าเราจะละอกุศล
ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่วิปัสสนาก็ละได้
ในลักษณะที่ไม่ได้ศึกษาความเป็นจริง
ละแบบใช้อุบายวิธี
เช่น เราคิดนึกสอนจิตใจของตัวเองว่า
ไม่ควรจะไปโกรธ ไปเกลียด
โดยให้เหตุผลอย่างนั้น อย่างนี้
ก็สามารถจะทำให้กิเลสที่มันเกิดขึ้นขณะนั้น
ถูกละไปได้ชั่วคราว คือ สงบระงับไปได้
แต่มันไม่ได้เป็นวิธีการของวิปัสสนา
.
เมื่อไม่ใช่วิธีการของวิปัสสนา
มันก็ไม่มีปัญญาในการที่จะละโดยเด็ดขาดได้
ไม่มีการสะสมเหตุและปัจจัย
เข้าไปสู่การละโดยเด็ดขาดได้
ที่เรียกว่า ประหารอนุสัยกิเลส
การที่จะเข้าไปสู่การละโดยเด็ดขาด
หรือ ประหารกิเลสโดยเด็ดขาด
ก็ต้องเจริญวิปัสสนา
ให้รู้แจ้งรูปนามตามความเป็นจริง

พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี

Image by AberrantRealities from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


18 ก.ค.67