ได้ฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน


ธรรมะมีทั้งกลางวันและกลางคืน
ผู้ปฏิบัติพึงใช้อุบายปัญญาฟังธรรมเทศนาทุกเมื่อ 
ถึงจะอยู่คนเดียวก็ตาม คืออาศัยการสำเหนียก 
กำหนดพิจารณาธรรมอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน 
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูปธรรมที่มีอยู่ปรากฏอยู่ 
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส) ก็มีอยู่ปรากฏอยู่
ได้เห็นอยู่ได้ยินอยู่ได้สูดดมลิ้มเลีย และสัมผัสอยู่ 
จิตใจเล่า ก็มีอยู่ ความคิด นึกรู้สึกในอารมณ์ต่างๆ
ทั้งดีและร้ายก็มีอันมีอยู่โดยธรรมดา
เขาแสดงความจริง คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา 
ให้ปรากฏอยู่ทุกเมื่อ เช่น ใบไม้เหลืองหล่นร่วงจากต้น 
ก็แสดงความไม่เที่ยงให้เห็นได้ดังนี้ เป็นต้น 
เมื่อผู้ปฏิบัติมาพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญา 
โดยอุบายนี้อยู่เสมอแล้วชื่อว่าได้ฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อ 
ทั้งกลางวันและกลางคืน

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

Image by ID 12019 from Pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



ต้องให้เห็นอย่างนี้ว่า ไม่ใช่ตัวเรา


ความรู้สึก..เป็นธรรมชาติ หรือเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา
ส่วนมากคนเรา เป็น “เรารู้สึก ” 
เลยเข้าใจว่า ตัวความรู้สึกนี่เป็นตัวเรา 
เรารู้สึกยินดี เรารู้สึกยินร้าย 
เรารู้สึกเป็นทุกข์เป็นสุข นี่เราก็มาหลง 
หลงความรู้สึกอันนี้.. 
ธรรมดามันจะเฉยๆ 
แต่ถ้าเป็นเรารู้สึกจะถูกปรุงแต่งเลย 
ตัวรู้สึก(ตัวใหญ่)นี่ก็หมายถึง 
มีหู มีตา มีจมูก มีลิ้น มี กาย มีใจ 
เวลากระทบสัมผัสต่างๆ มันเพียง รู้เท่านั้นเอง
รู้แล้วก็จะไม่มียินดียินร้าย 
สงบไม่สงบ พอใจไม่พอใจ มันจะไม่มี 
ถ้าเป็นเรารู้สึก มันจะมีทันทีเลย 
เกิดโลภะ โทสะ โมหะ โมหะแปลว่าไม่รู้ความจริง
ไม่รู้ความจริงว่าตัวนี้น่ะ มันเป็นธรรมชาติ 
เป็นความรู้สึก ไม่ใช่ตัวเรา 
ต้องให้เห็นอย่างนี้ว่า ไม่ใช่ตัวเรา 
มันเป็นเพียง “ความรู้สึก” สักว่าเป็นความรู้สึก
ถ้าเป็นเรารู้สึกมันจะปรุงแต่งเลย 
ตรงกับหลวงพ่อเทียนต่างกันที่คำพูด 
ท่านบอกว่าให้ดูความคิด
อันนี้เข้าไปอยู่ในความคิด 
ก็เข้าไปอยู่ในความรู้สึกนั่นเอง

หลวงพ่อสมบูรณ์ ฉตฺตสุวณฺโณ

Image by Schueler-Design from Pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


สมาธิอื่นเสมอด้วยอนันตริสมาธิไม่มี


สมาธิในชีวิตประจำวันนี้
เป็นสมาธิที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญสูงสุด
เพราะสมาธิขณะลืมตานี้ 
เป็นสมาธิที่คู่กับปัญญาโดยแท้จริง
หากทุกการกระทบ ทุกการสัมผัส
ทุกการเคลื่อนไหว มองเห็นความเป็นอนิจจัง 
เกิด-ดับ เปลี่ยนแปลง จนน่าเบื่อหน่าย
จนรู้สึกว่า "ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น"
จิตที่ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกว่า 
"ไม่มีอะไรที่น่าเอา..น่าเป็น"นี้แหละ
คือจิตที่เป็นสมาธิอยู่อย่างเต็มที่ 
และยิ่งกว่านั้นอีกก็คือว่า
สมาธิชนิดนี้เป็นสมาธิสูงสุด 
กว่าสมาธิชนิดไหนหมดเพราะ
แนบเนื่องอยู่กับสติ สมาธิ ญาณ ปัญญา
อย่างที่แยกกันไม่ออก เรียกว่า อนันตริสมาธิ
ดังที่พระพุทธเจ้ากล่าวสรรเสริญ
ในบาลีรัตนสูตร ว่า
"สมาธิอื่นเสมอด้วยอนันตริสมาธิไม่มี"

พระอาจารย์ปกรณ์นันทน์ ฐิตธัมโม

Image by DarkWorkX from Pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา