คนเรามักผูกภาพคนปฏิบัติธรรม
ไว้กับภาพของพระอรหันต์
ปฏิบัติปุ๊บ ต้องเหมือนพระอรหันต์ปั๊บ
หลายครั้งเลยกลายเป็นการปฏิบัติเพื่อสร้างภาพ
เช่น ภาพลักษณ์ดี
ถ้ามีเรื่องกระทบแล้วเย็นนิ่งเป็นน้ำ
ไม่โมโหโกรธาขึ้นมาอีกเลย
.
ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดว่า
เมื่อใดโทสะมีอยู่ในจิต
ก็ให้รู้ตามจริงว่าโทสะมีอยู่ในจิต
แล้วเมื่อโทสะหายไปจากจิต
ก็ให้รู้ตามจริงว่าจิตไม่มีโทสะแล้ว
เมื่อรู้แบบยอมรับตามจริงอยู่เช่นนั้น
สติย่อมแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ
รู้ว่าจิตอยู่ตรงไหน
ก็ตรงที่โทสะอาศัยเป็นที่เกิดขึ้น
อยู่ตรงที่โทสะอาศัยเป็นที่ตั้งอยู่
อยู่ตรงที่โทสะอาศัยเป็นที่ดับไปนั่นเอง
.
จิตที่ว่างจากโทสะชั่วคราว
คือจิตที่เราอาศัยเป็นเครื่องระลึกตามจริง
ณ ลมหายใจนี้ว่า
จิตเหมือนเรือนว่าง ที่ไม่ว่างจริง
เดี๋ยวก็มีฝุ่นควันเข้ามา
เดี๋ยวก็มีไอร้อนเข้ามา
เดี๋ยวก็ดูเหมือนกลับมาว่างวายอีก
สลับไปสลับมา หาจิตดวงเดิมถาวรไม่ได้
.
ความโกรธจะไม่เข้ากระทบกระทั่งจิต
ต่อเมื่อบรรลุอนาคามิผลแล้วเท่านั้น
แม้แต่พระสกทาคามีและพระโสดาบัน
ก็ยังมีความขัดเคืองได้อยู่ โกรธขึ้งได้อยู่
ฉะนั้น กัลยาณชนเราๆ ท่านๆ ผู้คิดฝึกเจริญสติ
จึงไม่ควรริคิดจะไม่โกรธอีก
เพราะได้ชื่อว่าปฏิบัติในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
และรังแต่จะสร้างความไม่พอใจตัวเองซ้ำเติมเข้าไป
เมื่อพบว่าทำอย่างใจปรารถนาไม่สำเร็จ
เมื่อเข้าใจถูก เข้าใจตรง
ตั้งใจดูความโกรธเกิดขึ้นแล้วหายไปตามจริง
จึงได้ชื่อว่าทำสิ่งที่เป็นไปได้
และนำไปสู่ปัญญาแบบพุทธที่ว่า
ตัณหา คืออยากให้เกิดอะไรขึ้นดังใจ
สติ คือการมีใจรู้แบบยอมรับว่าเกิดอะไรขึ้น
ที่ผ่านมา ที่กำลังทำอยู่
เราเจริญตัณหาหรือเจริญสติ?!
ดังตฤณ
Image by ELG21 from pixabay
ที่มา : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา