สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน...



สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นไม่สามารถที่จะดึงใจของเราไปทรมานให้เกิดทุกข์ขึ้นได้

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


               นัยที่หนึ่ง...หากเราเข้าใจในโทษของความโกรธอย่างแท้จริง เราจะละวางความโกรธได้ อารมณ์อื่นๆ เช่น รัก โลภ หลง ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน นัยที่สอง...ในการปฏิบัติธรรม ท่านให้มีสติ รู้สึกตัวอยู่เสมอ เพื่อให้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น เมื่อรู้เท่าทัน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจักดับไป และทำให้ใจเราทุกข์ไม่ได้

                                                                                                    วัสสวดี

ศาสนา ตั้งต้นที่กายกับใจ



ศาสนา ตั้งต้นที่กายกับใจ 
เทวดา อินทร์ พรหม ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้
เพราะเหตุว่ามันสุขเกินไป เราเกิดมาเป็นมนุษย์นับว่าดีอักโขแล้ว 
ขอให้รักษามนุษยธรรมไว้ก็แล้วกัน
ถ้ารักษาไว้ไม่ได้ มันจะเลวลงไปกว่ามนุษย์นี้อีก 
ไปเกิดเป็นสิงสาราสัตว์ แต่ละภพชาติมันนานแสนนาน

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

          คนเรานั้น หากยังไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นปุถุชนสู่พระโสดาบัน ท่านว่ายังไม่ปลอดภัยจากการตกไปสู่อบายภูมิ และการตกอบายภูมิ ครูบาอาจารย์สอนว่า อาจใช้เวลานานแสนนาน กว่าจะได้คิวกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง เพราะฉะนั้น พึงอย่าประมาทในการทำความดี และต้องทำ "มากกว่าดี" ด้วย คือก้าวให้ข้ามความเป็นปุถุชน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงให้แนวทางเราไว้ชัดเจน และเป็นเป้าหมายอันแท้จริง เพื่อความปลอดภัยจากทุกข์อย่างถาวร

                                                                                                  วัสสวดี

กำไรชีวิตคือไม่แส่ไปในอารมณ์



ตั้งใจ ตั้งสติ คือ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ
คอยควบคุมจิตใจ ไม่ให้แส่ไปในอารมณ์
ที่ทำให้เราโลภ เราโกรธ เราหลง อยู่ทุกเวลานาที
ถ้าทำอย่างนี้ ได้ชื่อว่า
การสร้างชีวิตของเรา ให้เป็นกำไรในภพนี้

หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป

การฝึกตนต้องเป็นอกาลิโก



การฝึกตนนั้นเราต้องทำอยู่เป็นอกาลิโก 
ไม่เลือกกาลเวลาและสถานที่ 
โอกาสให้เมื่อไหร่ก็ต้องทำ 
ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท 
การที่นักปฏิบัติธรรม ผู้รอกาลเวลาสถานที่ 
แม้โอกาสให้แล้วแต่ก็มัวแต่รอ 
รอว่าแก่ก่อน อายุมากก่อน 
รอว่าเข้าป่าก่อน อยู่ในดงในเขาก่อนจึงจะทำ 
มัวแต่เลือกกาล เลือกสถานที่ ก็เลยเสียเวลาไปโดยใช่เหตุ

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต