กายกับใจ นี้เป็นสิ่งที่ไม่ยืนยงคงที่
ไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไรเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ
ร่างกายเนื้อหนังของเรานี้เป็นของไม่สวยไม่งาม
สกปรกโสโครกโดยประการทั้งปวง
การภาวนาที่ถูกต้องจะต้องเป็นไปในลักษณะนี้
นักภาวนาเมื่อรู้เห็นซึ่งสภาพตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว
ย่อมจะมีความสะดุ้งกลัวต่อภัยและความเป็นโทษทุกข์ของสังขาร
ไม่อยากประสบพบเห็นกับความทุกข์ทรมานเหล่านี้อีกแล้ว
เมื่อนั้น จิตก็ย่อมจะคลายจากความกำหนัดยินดี
ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
ย่อมคลายความกำหนัดรักใคร่ชอบใจ
ในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่ชอบใจ
เมื่อจิตมีความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัดเช่นนี้แล้ว
ทุกข์ทั้งปวงก็ย่อมดับลงได้โดยแท้
ข้อที่ว่าทุกข์ทั้งปวงดับลงนี้เป็นเพราะอวิชชา
คือความไม่รู้ความเป็นจริงในธรรมดับไปนั่นเอง
จึงเป็นเหตุให้รู้ความเห็นในธรรมที่เรียกว่า ปัญญา นั้นเจริญถึงที่สุด
ผลที่ได้รับก็คือ "ปัญญาอันสงบระงับและแจ่มแจ้ง"
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต กล่าวอบรมหลวงปู่กินรี จันทิโย
ที่มา : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา