คนพาลพูดขึ้นในที่ใด
ในที่นั้น แม้ไม่ถูกผูกมัด ก็ถูกผูกมัด
ส่วนนักปราชญ์พูดขึ้นในที่ใด
แม้ถูกผูกมัดแล้ว ก็หลุดพ้นในที่นั้น
พันธนโมกขชาดก
เรื่องของคนพาลนั้น ในมงคลสูตรข้อแรกสอนไว้ว่า "อเสวนา จะ พาลานัง" หมายถึง อย่าคบคนพาล หากพิจารณาดูให้ดี คนพาลที่เป็นคนตัวเป็นๆ นั้น พอเรารู้ เราก็คงหนีให้ไกลไปเองโดยธรรมชาติ แทบไม่ต้องสอนต้องบอกกันแต่อย่างใด
แต่คนพาลที่น่ากลัว ไม่ควรคบนั้นคือใคร..น่าจะเป็นตัวของเราเอง หรือพูดให้ชัดก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเอง ที่นำเอารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ อันเร่าร้อนมาสู่จิตมิได้ขาด ทุกข์ก็เร่าร้อน สุขก็เร่าร้อน เพราะสุขทางโลกที่เราหลงใหลนั้น จัดอยู่ในหมวดเดียวกับทุกข์ เนื่องจากไม่มีความยั่งยืนถาวร วันใดสุขที่เคยได้สลายไป วันนั้นใจก็หดหู่แล้ว..แต่เรานั้น แทบจะไม่ได้ตระหนักกันเลย ว่าคนพาลที่นำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้แก่เรา ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา หรือตัวของเรานั่นเอง
ดังนั้น ควรหรือไม่ที่เราจะคบคนพาลนี้ต่อไป หรือเลิกคบ ด้วยการไม่ปล่อยจิตให้ซัดส่าย หวั่นไหวไปตามอารมณ์ ความรู้สึกที่ตา หู จมูก ลิ้น ฯลฯ คอยปั่นเราไม่ได้หยุด แล้วหันมาคบบัณฑิต ซึ่งแปลว่า ผู้รู้แทน และบัณฑิตที่จะปลดลปล่อยเราจากคนพาลนี้ได้ ก็มิได้อยู่ที่อื่น แต่อยู่ในตัวเราเช่นกัน...
วัสสวดี