มีสติกำหนดรู้อยู่ในสิ่งที่จิตรู้นั่นแหละ


จิตรู้สิ่งใด..สติระลึกรู้สิ่งนั้น..สมาธิย่อมตั้งอยู่ที่นั้น
ปัญญาย่อมเกิดกับสิ่งนั่น..และเมื่อจิตเกิดกับสิ่งใด
จิตย่อมดับในสิ่งนั้นเช่นกัน..
มีสติกำหนดรู้อยู่ในสิ่งที่จิตรู้นั่นแหละ..
แล้วจะรู้และเข้าใจธรรมชาติของจิต... 

พระอาจารย์มหาบุญทัน รตนปญฺโญ

Image by Myriams-Fotos from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


ปัญญาวิมุตติ


..เวลาจิตคิดนึกปรุงแต่ง 
สติมันรู้ทันมันก็ชำระไป 
เดี๋ยวมันคิด รู้ทัน ปรุงแต่งขึ้นมา รู้ทัน 
พอสติรู้เท่าทันความคิดปรุงแต่ง 
ความปรุงแต่งมันก็ต่อยาวไม่ได้ 
พอปรุงแต่ง รู้ทัน มันก็ดับไป ปรุงแต่ง รู้ทันก็ดับไป 
การที่จิตปรุงแต่งแล้วก็ยาวไปเรื่อย ๆ มันก็จะฟุ้งบ้าง 
ราคะ โทสะ โมหะมันจะตามมา 
แต่ว่าสติมารู้ทัน รู้ทัน ปรุง รู้ทัน 
ปรุง เผลอ รู้ทัน ปรุง รู้ทัน 
จนกระทั่งมันปรุงไม่ออก 
จิตจึงรวมเป็นสมาธิได้ 
.
แม้แต่กำหนดที่จิต กำหนดดูความปรุงแต่ง 
จิตรวมเป็นสมาธิได้เอง
โดยที่ไม่ต้องไปเพ่งลมหายใจให้ต่อเนื่องเพื่อทำสมาธิ 
กำหนดดูเท่าทันต่อจิต ดูเท่าทันต่อความปรุงแต่ง 
จิตก็รวมเป็นสมาธิได้ 
อย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนานำหน้า สมถะตามหลัง 
คือสมาธิมันตามขึ้นมาได้เอง 
แล้วก็รู้ชัดรู้แจ้งในสภาวธรรมนั้น 
จิตรวมไปก็มีปัญญารู้เห็นสภาวะ 
ความเปลี่ยนแปลง ความหมดไปดับไป 
จนก้าวไปสู่วิมุตติความหลุดพ้น 
อย่างนี้เรียกว่าเป็นปัญญาวิมุตติ 
คือหลุดพ้นด้วยกำลังของปัญญา
ที่ไม่ได้ทำสมถะมาก่อน ไม่ได้เจโตวิมุตติมาก่อน 
แต่ทำปัญญาโดยเฉพาะ 

พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี

Image by dermatz_fotografie from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา