เมื่อใดไม่ยึดมั่น เมื่อนั้นไม่ทุกข์



คนที่ศึกษาตัวเองและรู้เท่าทันจิต 
เขาจะไม่ทุกข์กับความคิดตัวเอง 
คนที่ศึกษาธรรมะ จะทุกข์ทางเดียว
คือทุกข์ทางกาย 
แต่เมื่อใดที่เขาไม่ยึดมั่นถือมั่นทางกาย 
ก็เท่ากับว่า เขาไม่ทุกข์สักทางเลย

หลวงตาสุริยา วัดป่าโสมพนัส 
(ส.มหาปัญโญภิกขุ)

พิจารณากายให้เห็นชัดเจน จะเห็นธรรม



เรื่องการปฏิบัติธรรมของพวกเราก็เหมือนกัน 
ไม่ต้องสงสัยที่อื่น มาดูที่กายกับใจของพวกเรานี้
อันนี้แหละมันเป็นสิ่งปิดบังคุณธรรมไว้ 
ไม่ให้เราเห็นธรรม ก็เพราะกายของพวกเรานี้แหละ
ถ้าหากว่าใครพิจารณากายให้เห็นชัดเจน ...
คนนั้นจะเห็นธรรม เห็นสภาพความแปรปรวนของกาย 
เกิดก็เกิดจริง แก่ก็แก่จริง เจ็บก็เจ็บจริง 
ตายก็ตายจริง นี่เรียกว่าสัจธรรม เป็นของจริงทั้งนั้น 
ให้เรารู้จักสภาพความเป็นจริงอย่างนี้ อย่าไปหลงใหล

หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล

การภาวนาหมายถึงมีสติอยู่กับกายใจ


          การภาวนานี้มิใช่ท่านหมายเอาการเดินจงกรมตลอดวัน นั่งสมาธิตลอดคืน ความจริงแล้วท่านหมายเอาผู้ที่มีสติจดจ่ออยู่กายกับใจทุกอิริยาบถ ยิน เดิน นั่ง นอน เป็นประจำอยู่

                                                                                                     หลวงปู่คำดี ปภาโส

จิตของใครตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวดังภูเขา



จิตของใครตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวดังภูเขา 
ไม่กำหนัดในอารมณ์ อันชวนให้กำหนัด 
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง 
ผู้ใดอบรมจิตได้อย่างนี้ ทุกข์จะมาถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน

กสฺส เสลูปมํ จิตฺตํ ฐิตํ นานุปกมฺปติ
วิรตฺตํ รชนีเยสุ กุปฺปนีเย น กุปฺปติ
ยสฺเสวํ ภาวิตํ จิตฺตํ กุโต ตํ ทุกฺขเมสฺสนฺติ.


ขุ.เถร. ทุกนิบาต ข้อ ๒๙๓, มจร.ข้อ ๑๙๑