ทุกข์ใจเกิดเพราะยึดมั่นอารมณ์




ถ้าจิตของเรานั้นไม่มีสติ ไม่มีปัญญา 
ที่จะรักษาจิตใจของเราแล้ว
จิตของเรานั้นก็จะยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลาย
ว่าเป็นจิตใจของเราอยู่เสมอๆ
ไม่ว่าจะมีความโลภเกิดขึ้น ก็เป็นใจของเรา
ไม่ว่าจะมีความโกรธเกิดขึ้น ก็เป็นใจของเรา
ไม่ว่าจะมีความพอใจ ความไม่พอใจ
ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส 
ก็คิดว่าเป็นใจของเรา
ไม่ว่าจะมีความกำหนัดยินดีในรูป 
ก็คิดว่าเป็นใจของเรา
ใจของเราก็เป็นทุกข์ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา
เพราะใจของเรานั้นไม่ทราบตามความเป็นจริง
ไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลายว่าเป็นจิตใจของเรา
ความทุกข์ต่างๆ จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ

พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตโต

จิตเป็นอย่างไรก็รู้ขณะนั้น




 จิตมันเป็นอย่างไรก็รู้มันขณะนั้น
 นี่เป็นทางเดินของพระอรหันต์ทั้งหลาย
 เราอย่าไปอยาก พอจิตมันไม่ดีก็อยากให้จิตมันดี
 พอจิตมันเป็นอย่างนั้น  อยากให้เป็นอย่างโน้น
 อันนี้ท่านว่ามันเป็นกิเลสตัณหา
 ซึ่งเป็นทางตรงกันข้ามกับพระนิพพาน
 ไม่ใช่ทางปฏิบัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 และของพระอรหันต์สาวก

 หลวงปู่ทา จารุธัมโม

เรารู้เท่าทุกข์ ทุกข์ก็หนีเอง



ถ้าไม่มีทุกข์ ก็ไม่ต้องปฏิบัติออกจากทุกข์ 
มันมีทุกข์ จึงปฏิบัติออกจากทุกข์
เราหนีทุกข์ หรือให้ทุกข์หนีจากเรา 
เรารู้เท่าทุกข์ ทุกข์ก็หนีเอง 
ถ้าเราไม่รู้เท่าทุกข์ ทุกข์ก็ไม่หนี

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต

เห็นอนิจจังคือเห็นโลก



เห็นอนิจจังขณะจิตเดียว เห็นโลกทั้งโลกแล้ว เพราะโลกเต็มไปด้วยอนิจจัง

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

ผู้มีปัญญา มีสมาธิ...




โย จ วสฺสสตํ ชีเว
 ทุปฺปญฺโญ อสมาหิโต
 เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย
 ปญฺญวนฺตสฺส ฌายิโน

ผู้มีปัญญา มีสมาธิ 
แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ก็ประเสริฐกว่าผู้ทรามปัญญา ไร้สมาธิ
ที่มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี


พุทธพจน์ (พุทธวจนะ)
 จากหนังสือ หลักการเจริญวิปัสนากรรมฐาน ตามแนว "สติปัฏฐาน 4"
 โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรังสี)