ผู้ชนะตนได้
ผู้ใดชนะข้าศึกจำนวนพันคูณด้วยพันในสงคราม
ผู้นั้นหาชื่อว่าผู้ชนะอันยอดเยี่ยมไม่
ส่วนผู้ชนะตนได้ จึงชื่อว่าผู้ชนะที่ยอดเยี่ยม
พุทธภาษิต
ผู้ละความชนะและพ่ายแพ้
ผู้ชนะย่อมก่อเวร
ผู้พ่ายแพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์
ผู้ละทั้งความชนะ
และความพ่ายแพ้ได้แล้ว
มีใจสงบ ย่อมนอนเป็นสุข
พุทธภาษิต
ผู้ยังเพลิดเพลินใจ
ผู้ใดยังเพลิดเพลินใจ
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเพลิดเพลินทุกข์
ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์
เรากล่าวว่า
ผู้นั้นยังไม่พ้นไปจากทุกข์
พุทธวจนะ
ผู้มั่นคงในศีล
ผู้ปรีชา มั่นคงดีแล้วในศีล
ย่อมได้รับชื่อเสียงในโลกนี้
ละไปแล้ว ย่อมดีใจในสวรรค์
ชื่อว่า...ย่อมดีใจในที่ทั้งปวง
พุทธศาสนสุภาษิต
สุขที่ยิ่งใหญ่
ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวาง
และการสำรวมตนอยู่ในธรรม
พุทธศาสนสุภาษิต
สติ...กำหนดลมหายใจเข้าออก
สติ...กำหนดลมหายใจเข้าออก
อันผู้ใดอบรมบริบูรณ์ดีแล้ว
ทั้งกายทั้งจิตของผู้นั้น
ก็ไม่หวั่นไหว
พุทธศาสนสุภาษิต
คนเพ่งโทษ
ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส นิจฺจํ อุชฺฌานสญฺญิโน อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อารา โส อาสวกฺขยา.
คนที่เห็นแต่โทษผู้อื่น คอยแต่เพ่งโทษนั้น
อาสวะก็เพิ่มพูน
เขายังไกลจากความสิ้นอาสวะ
พุทธพจน์ ขุ. ธ. ๒๕/๔๙
อภัยทานเป็นปรมัตถบารมี
"อภัยทานัง อามิสทานัง ชินาติ" แปลว่า "การให้อภัยทานย่อมชนะเสียซึ่งการให้ทั้งปวง"
อภัยทานนี้เป็นการให้ทานที่ไม่ต้องลงทุนด้วยวัตถุ
เป็นทานสูงสุด
พระพุทธเจ้ากล่าวว่า
ใคร
เป็นผู้มีอภัยทานประจำใจ คนนั้นก็เป็นผู้เข้าถึงปรมัตถบารมีแล้ว
คำว่า ปรมัตถบารมีนี้ เป็นบารมีสูงสุด ที่จะทำให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน
ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๑๐๖ หน้า ๗๕-๗๘
การทำลายปมเขื่องเป็นความสุข
อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ
การทำลายปมเขื่อง หรืออัสมิมานะเสียได้ จึงเป็นความสุขอย่างยิ่ง
อานิสงส์ผู้มีความอดทน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ผู้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้สูงกว่าก็เพราะความกลัว อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกันเพราะเห็นว่าพอสู้กันได้
แต่ผู้ใดอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ซึ่งด้อยกว่าตนได้ เราเรียกความอดทนนั้นว่าสูงสุด
ผู้มีความอดทน มีเมตตา ย่อมเป็นผู้มีลาภมียศ อยู่เป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เปิดประตูแห่งความสุขความสงบได้โดยง่าย สามารถปิดมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทเสียได้ คุณธรรมทั้งมวล มีศีลและสมาธิเป็นต้น ย่อมเจริญงอกงามแก่ผู้มีความอดทนทั้งสิ้น ภิกษุทั้งหลาย ! เมตตากรุณาเป็นพรอันประเสริฐในตัวมนุษย์
จากหนังสือ ๖๒ พุทธโอวาท ๓ เดือนสุดท้ายก่อนปรินิพพาน
ภพไหนๆ ล้วนเหมือนกองเพลิง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ไม่ว่าภพไหนๆ ล้วนแต่มีลักษณะเหมือนกองเพลิงทั้งสิ้น สัตว์ทั้งหลายดิ้นรนอยู่ในกองเพลิงคือทุกข์ เหมือนเต่าอันเขาโยนลงไปแล้วในกองไฟใหญ่ฉะนั้น
จากหนังสือ ๖๒ พุทธโอวาท ๓ เดือนสุดท้ายก่อนปรินิพพาน
ชีวิตเริ่มต้นและจบลงด้วยเสียงคร่ำครวญ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ชีวิตนี้เริ่มต้นด้วยเรื่องที่น่าละอาย ทรงตัวอยู่ด้วยเรื่องที่ยุ่งยากสับสน และจบลงด้วยเรื่องเศร้า อนึ่ง ชีวิตนี้ เริ่มต้นและจบลงด้วยเสียงคร่ำครวญ เมื่อลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก เราก็ร้องไห้ และเมื่อจะหลับตาลาโลก เราก็ร้องไห้อีก หรืออย่างน้อยก็เป็นสาเหตุให้คนอื่นหลั่งน้ำตา
เด็กร้องไห้พร้อมด้วยกำมือแน่น เป็นสัญลักษณ์ว่าเขาเกิดมา เพื่อจะหน่วงเหนี่ยวยึดถือ แต่เมื่อจะหลับตาลาโลกนั้น ทุกคนแบมือออก เหมือนจะเตือนให้ผู้อยู่เบื้องหลังสำนึก และเป็นพยานว่า เขามิได้เอาอะไรไปด้วยเลย
จากหนังสือ ๖๒ พุทธโอวาท ๓ เดือนสุดท้ายก่อนปรินิพพาน
ความทุกข์เกิดจากความยึดถือ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหา อุปาทาน ความทะยานอยากดิ้นรน และ
ความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเรา เป็นของเรา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่างๆ ในสิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยว
ยึดถือไว้โดยความเป็นตน เป็นของตน ซึ่งที่จะไม่ก่อทุกข์ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้
เมื่อใดบุคคล มาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สึกแต่ว่าได้รู้สึก โดยเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เพียงสักว่าๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่างๆ ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่
จากหนังสือ ๖๒ พุทธโอวาท ๓ เดือนสุดท้ายก่อนปรินิพพาน
การเกิดเป็นทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! สังสารวัฏนี้หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ที่พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อยๆ และ
การเกิดใดนั้น ตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาก็คือความแก่ชรา ความเจ็บปวดทรมานและความตาย ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจและความคับแค้นใจ
อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดินและนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดิน และนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคซึ่งเทียมเกวียนแล้ว จะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกหนทุกแห่ง สัตว์โลกเมื่อเกิดมา ก็นำทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว
จากหนังสือ ๖๒ พุทธโอวาท ๓ เดือนสุดท้ายก่อนปรินิพพาน
จิตที่ไม่หวั่นไหวกับโลกธรรมเป็นจิตประเสริฐ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! จิตใจที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม คือนินทา สรรเสริญนั้นเป็นจิตใจที่ประเสริฐยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่มนุษย์นี้ ผู้ใดฝึกตนให้เป็นคนอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่นได้ จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด
จากหนังสือ ๖๒ พุทธโอวาท ๓ เดือนสุดท้ายก่อนปรินิพพาน
ร่างกายเหมือนหีบศพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ร่างกายนี้เป็นเหมือนเรือนซึ่งสร้างด้วยโครงกระดูก มีหนังและเลือดเป็นเครื่องฉาบทา ที่มองเห็นเปล่งปลั่งผุดผาดนั้น เป็นเพียงแต่ผิวหนังเท่านั้น เหมือนมองเห็นความงามแห่งหีบศพอันวิจิตรตระการตา
ผู้ไม่รู้ก็ติดในหีบศพนั้น แต่ผู้รู้เมื่อทราบว่าเป็นหีบศพ แม้ภายนอกจะวิจิตรตระการตาเพียงไร ก็หาพอใจยินดีไม่ เพราะทราบชัดว่าภายในแห่งหีบอันสวยงามนั้น มีสิ่งปฏิกูลพึงรังเกียจ
จากหนังสือ ๖๒ พุทธโอวาท ๓ เดือนสุดท้ายก่อนปรินิพพาน
บัณฑิตแม้ทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมดาว่าไม้จันทน์ แม้จะแห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น อัศวินก้าวลงสู่สงครามก็ไม่ทิ้งลีลา อ้อยแม้เข้าสู่หีบยนต์แล้วก็ไม่ทิ้งรสหวาน บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ทิ้งธรรม
จากหนังสือ ๖๒ พุทธโอวาท ๓ เดือนสุดท้ายก่อนปรินิพพาน
ธรรมที่ทรงบรรลุเป็นของลึกซึ้ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต มิใช่วิสัยแห่งสัตว์ คือ คิดเอาไม่ได้ หรือไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้
จากหนังสือ ๖๒ พุทธโอวาท ๓ เดือนสุดท้ายก่อนปรินิพพาน
จงมองดูโลกเป็นของว่างเปล่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกข์กังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม
จากหนังสือ ๖๒ พุทธโอวาท ๓ เดือนสุดท้ายก่อนปรินิพพาน
คนส่วนใหญ่ไม่ยอมสละกิเลส
คนส่วนมากขยันหมั่นเพียรในเรื่องการทำมาหากิน
ยอมเสียสละแทบทุกอย่างเพื่อความเจริญทางโลก
แต่แทบจะไม่ยอมเสียสละกิเลสแม้แต่นิดเดียว
ชยสาโรภิกขุ
เหตุที่ต้องทำกรรมฐาน
ที่เรามาปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้
ก็เพื่อให้เห็นจิตเดิม
เราคิดว่าจิตเป็นสุข จิตเป็นทุกข์
แต่ความจริงจิตไม่ได้สร้างสุข สร้างทุกข์
อารมณ์มาหลอกลวงต่างหาก มันจึงหลงอารมณ์
ฉะนั้น เราจึงต้องมาฝึกจิตให้ฉลาดขึ้น
ให้รู้จักอารมณ์ ไม่ให้เป็นไปตามอารมณ์...จิตก็สงบ
เรื่องแค่นี้เอง
ที่เราต้องมาทำกรรมฐานกันยุ่งยากทุกวันนี้
หลวงปู่ชา สุภัทโท
บทความที่ใหม่กว่า
บทความที่เก่ากว่า
หน้าแรก
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)