ได้เห็นเพชรในหัวคางคกแล้ว


คนส่วนใหญ่จะรู้จักกันแต่เพียงว่า
ถ้าเรื่องความทุกข์
ต้องเป็นความตายของคนที่รัก
ต้องเป็นอุบัติเหตุใหญ่ๆ...
ก็ถูก ใช่ แต่ความทุกข์ใหญ่ๆ อย่างนั้น
มันไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน
และไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน
.
ความทุกข์ที่ทุกคนมีและทุกคน
เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน นั่นก็คือ
ความอึดอัดขัดเคืองที่มันแน่นอยู่
ในใจของเราตลอดเวลา
หงุดหงิด โกรธ...
ทุกข์นี้ต่างหากที่เราควรจะศึกษาให้ชัดเจน
จนเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในความลวง
จิตใจของเราก็จะได้ผ่อนคลาย
จากความยึดมั่นถือมั่น
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ความยึดมั่นถือมั่นในการมีตัวฉัน
เมื่อมีตัวฉันก็มีของฉัน
คำว่า “ของฉัน” นี่แหละ
ที่ทำให้เราเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา
.
เมื่อใดที่เราสามารถศึกษา
จนรู้จักความทุกข์ เข้าใจความทุกข์
มองเห็นลักษณะของความทุกข์แต่ละอย่างๆ
ที่เกิดขึ้นในใจแต่ละครั้ง
ว่าเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร
เราก็สามารถจะจัดการแก้ไข
ให้เกิดความว่างขึ้นได้
เพราะได้เห็นเพชรในหัวคางคกแล้ว
.
คางคกเป็นสัตว์ที่ใครๆ
ก็ไม่อยากเข้าใกล้โดยเฉพาะผู้หญิง...
คางคกก็เหมือนกับความทุกข์
ที่ใครๆ ก็เกลียดกลัว
แต่ถ้าเราศึกษาความทุกข์
ก็เหมือนจับตัวคางคกมาพิจารณา
ดูมันให้ดีๆ ก็จะเห็นเพชร
ที่ฝังอยู่ในหัวของมัน
.
นั่นคือความจริงตามกฎของธรรมชาติ
ที่บอกให้เรารู้ว่า
ธรรมชาติที่แท้จริงมีความเปลี่ยนแปลง
อยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรคงที่
อย่ายึดมั่นถือมั่นกันนักเลย
ถ้ายึดมั่นถือมั่นก็จะพบแต่ความลวง
และจะต้องร้องไห้เกลือกกลิ้ง
อยู่กับความลวงนั้นตลอดไป
.
ถ้าเราศึกษาสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว
คือความทุกข์ ให้ยิ่งๆ ขึ้น
ก็จะเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในสิ่งลวง
และจะถอนใจออกจากมายาเสียได้
เมื่อนั้นความว่างก็เกิดขึ้น
คือการได้เพชรจากหัวคางคก
เราจะไม่ได้เพชรจากดอกกุหลาบ
หรือนางงามแสนสวย
แต่เราจะได้จากสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว
จากสิ่งที่ใครๆ ชิงชังและวิ่งหนี
.
เราจะรู้ขึ้นว่า
เราจะรักไปทำไม เราจะโกรธไปทำไม
เกลียดไปทำไม กลัวไปทำไม
รักก็เช่นนั้นเอง โกรธก็เช่นนั้นเอง
เกลียดก็เช่นนั้นเอง กลัวก็เช่นนั้นเอง
ไม่มีอะไรพ้นไปจากความเปลี่ยนแปลง
มันจะต้องเป็นอย่างนี้ เช่นนี้
แล้วทำไมเรา ไม่ทำใจของเรา
ให้อยู่ตรงกลาง
ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น
จิตนั้นจะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์
ได้ใช้ประโยชน์จากทุกสิ่งตามที่ควรใช้...

อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง

หนังสือ ประโยชน์ของเก้าอี้มีก็ต่อเมื่อมันว่าง

Image by BaNNanE007 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

“แค่รู้” นี่แหละคือหลักที่สำคัญที่สุด


ขันธ์มันก็ปรุงนั่นนี่ไปตามเรื่องตามราวของมัน 
แล้วจิตก็หดตัวเข้าไปควบรวมกับความปรุงแต่งนั้น 
(มองอีกมุมคือ ความปรุงแต่งหรือกิเลสมันครอบงำจิต) 
ทำให้เสียความรู้ตื่นเบิกบานไปชั่วคราว 
.
แต่ถ้ารู้ทันความปรุงแต่งได้ 
จิตก็ยังมีความรู้ตื่นเบิกบาน 
ไม่หดตัวไปรวมกับความปรุงแต่ง
.
ดูๆ ไป ที่ว่า กิเลสครอบงำจิต 
กลายเป็นจิตโง่ ไม่มีปัญญา 
จึงหดแคบลงไปอยู่ในกิเลส ที่ขันธ์มันปรุงขึ้นมา
กิเลสมันดึงดูดได้แต่จิตโง่ๆ เท่านั้น 
ถ้าขณะใดจิตมีปัญญา 
มันก็ดึงดูดจิตไม่ได้ จิตก็จะเป็นอิสระ
.
สังเกตดูก็เห็นว่า ก่อนจะเกิดกิเลส 
มันจะเกิดภาพในใจเป็นเรื่องราวขึ้น
หลังจากมีการกระทบอารมณ์ทางทวารต่างๆ 
แล้วกิเลสก็เกิด 
จิตที่เคยเบิกบาน ก็กลายเป็น
หดลงไปควบรวมคับแคบอยู่กับกิเลส
.
พุทธะ จึงได้แปลว่า รู้ ตื่น เบิกบาน 
ถ้าคับแคบก็ไม่ใช่พุทธะ 
“แค่รู้” นี่แหละคือหลักที่สำคัญที่สุด 
ถ้า”แค่รู้” ได้ ก็ไม่ถูกกิเลสครอบงำ 
ถึงที่สุดก็เหลือแค่อยู่กับ "รู้" 
อย่างที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่า ท่านอยู่กับรู้เท่านั้น 
แต่เรามักจะไม่ใช่ ”แค่รู้ “
แต่ไปอยู่กับดิ้นรนทำนั่นนี่ 
เพื่อจะเอาชนะกิเลส

ที่มา : สนทนาธรรมตามกาล 
หลังไมค์กับอุบาสกสุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา

๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๕

เครดิต FB Boto Bow

Image by focusonpc from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา