สมมุติ บัง นิพพาน


วัดเป็นเพียงที่พักแก่ภิกษุ ภิกษุคือผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ
เป็นการเห็นภัยของการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเต็มไปด้วยทุกข์
.
พุทธะ ไม่ได้อยู่ที่วัด และไม่ได้อยู่ที่พระพุทธรูป
ต่อให้สร้างใหญ่โต สวยงาม ยิ่งใหญ่
ยิ่งไกลห่างสัจธรรม
.
เพราะจะไปดูแต่ความสวยงาม ใหญ่โต แต่ก็ไม่ได้อะไรเลย
ยิ่งสร้างกิเลสตัณหา ทั้งพระและโยม
.
จะสร้างวัดให้สวยงามใหญ่โตแข่งกัน
อยากได้บุญ วาสนาบารมี ได้ยอดกฐินมากกว่ากัน
ทำ ทำบุญกัน แต่ก็ไม่ได้บุญ กลับได้บาปแทน
.
พุทธะ สอนให้เหนือจากบุญและบาป
ทั้งบุญและบาป ก็มาจากเราปรุงแต่งขึ้น
พยายามทำบุญติดแค่บุญ
ก็ติดอยู่แค่ 31 ภพภูมิ
แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้น ไม่มีใครรู้หรือสนใจเลย
.
บางทีบุญ วาสนา บารมี ความสวยงาม ก็เป็นสิ่งที่ดี
แต่ก็ขวางกั้นความหลุดพ้นหรือนิพพาน
บางทีเราสร้างสมมุติหรือหลงสมมุติว่าจริง
สิ่งเหล่านี้จึงบังสัจธรรม
สมมุติ บัง นิพพาน
..........................

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ว่าภิกษุจับชายสังฆาฏิตามหลัง ย่างเท้าตามทุกก้าว ภิกษุนั้น ก็ยังอยู่ไกลเราโดยแท้ และเราก็อยู่ไกลภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม ผู้ไม่เห็นธรรม ย่อมไม่เห็นเรา"
.
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ว่าภิกษุนั้น อยู่ไกลตั้งร้อยโยชน์ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าอยู่ใกล้เราโดยแท้ และเราก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นเห็นธรรม ผู้เห็นธรรม ย่อมเห็นเรา"

พระอาจารย์ปกรณ์นันทน์ ฐิตธัมโม

Image by naidokdin from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

ไม่ศึกษาและปฏิบัติธรรม คือไม่สนใจธรรมชาติของตัวเอง


อะไรๆ ก็เหมือนกัน
ไม่ดู..ก็ไม่เห็น ไม่เห็น..ก็ไม่เข้าใจ
เราไม่ยอมมองด้านใน..ก็ไม่เห็นตัวเอง
ไม่เห็นก็ไม่เข้าใจ
.
คนจำนวนไม่น้อย
จึงชอบพูดว่า เขาไม่เห็นว่าศาสนา
มีความจำเป็นอะไรแก่ชีวิต
เขามีความสุขพอสมควรแล้ว
ไม่มีปัญหาอะไรนักหนา และ
ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนแก่ใคร
(พอกล่าวคำนี้ ผู้ใกล้ชิดมักจะต้องอมยิ้ม
หรือส่ายหัวนิดๆ)
.
คนที่มองอย่างนี้
มักขอให้หาความสุขแบบชาวบ้านก่อน
คือเขามองธรรมะเหมือนยาสมุนไพรขมๆ
ที่ควรเอาไว้ในอนาคตโน้น
ตอนจวนหมดบุญ รักษาทางอื่นไม่ได้ผล
ไม่มีทางเลือกแล้วจึงค่อยลอง
.
นี่คือความประมาท ทำไม เพราะมองไม่เห็น
เนื้อร้ายที่เกิดที่หัวใจเสียแล้ว
ซึ่งธรรมะเท่านั้นที่ขจัดได้
เป็นความคิดที่เกิดจากการไม่มองด้านใน
ไม่ดูก็ไม่เห็นปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่แล้ว
และคอยบั่นทอนคุณภาพชีวิตตลอดเวลา
.
ความยึดติดเกิดที่ไหน
ความเครียดและความกลัวเกิดที่นั่น
ผู้อยู่ในโลกแต่ไม่รู้เท่าทันโลก
ไม่ศึกษาและปฏิบัติธรรม
คือไม่สนใจธรรมชาติของตัวเอง
ไม่สนใจธรรมชาติของตัวเอง
ย่อมเป็นเหยื่อของมันอยู่เรื่อย อย่างเช่น
กลัวความตาย เป็นต้น และกลัวการ
พลัดพรากจากสิ่งที่ให้ความสุขแก่ชีวิต
พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

Image by dangquangn from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา