อย่าหยุดแค่มโนมยิทธิ




          ขอบรรดาพุทธบริษัททุกท่านที่ปฏิบัติมโนมยิทธิได้แล้ว จงอย่ายับยั้งความดีไว้แค่มโนมยิทธิ เพราะถ้าหากท่านทำความดีได้แค่นี้ มันยังไม่พ้นการลงนรก การให้ฝึกมโนมยิทธิ เพื่อเป็นการยืนยันว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีจริง การระลึกชาติมีจริง ตายแล้วไม่สูญจริง สวรรค์มีจริง พรหมโลกมีจริง นิพพานมีจริง นรก เปรต อสุรกายมีจริง เมื่อทำได้แล้ว จงรวบรวมกำลังใจของท่าน ทำให้ตนเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพระโสดาบัน จะได้ป้องกันอบายภูมิ ไม่ต้องตกนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกายและสัตว์เดรัจฉานต่อไป เป็นการก้าวไปหาพระนิพพานเร็วขึ้น

                                                                                          หลวงพ่อฤาษีลิงดำ

กิเลสไม่มีมือไม่มีเท้า




 กิเลสไม่มีมือไม่มีเท้า
 ไม่อาจเข้ายึดใจผู้ใดได้
 แต่มือเท้ามีในใจทั้งหลาย
 วิ่งไปกอดกิเลสร้ายอย่างโง่งง

 มือเท้าที่ใจมีคือความคิด
 ปรุงแต่งจิตให้โลภและโกรธหลง
 เพื่อปัญญาแจ่มใสให้มุ่งตรง
 อัญเชิญพระพุทธองค์ครองความคิด

ไม่ให้คิดแต่งปรุงอย่างยุ่งยาก
“พระพุทโธ” ถวายฝากกายและจิต
 “พระพุทโธ” ระลึกรู้อยู่เป็นนิตย์
 เป็นพระพรชีวิตเหนือพรใด

 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก






แนวทางภาวนาที่ถูกต้อง




          โดยมากแล้วแนวทางภาวนาก็แตกต่างกันเพียงรูปแบบเท่านั้น ไม่ว่าท่านจะเดินทางสายหนึ่งสายใด เดินช้าหรือเดินเร็ว ถ้าท่านมีสติอยู่เสมอ มันก็เหมือนกันทั้งนั้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือ แนวทางภาวนาที่ดีและถูกต้องจะต้องนำไปสู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ลงท้ายแล้วก็ต้องปล่อยวาง แนวทางภาวนาทุกรูปแบบด้วย ผู้ปฏิบัติต้องไม่ยึดมั่นแม้ในตัวอาจารย์ แนวทางใดที่นำไปสู่การปล่อยวาง สู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง
          ท่านอาจจะอยากเดินทางไปเพื่อศึกษาอาจารย์ท่านอื่นอีก และลองปฏิบัติตามแนวทางอื่นบ้างก็ได้ พวกท่านบางคนก็ทำเช่นนั้น นี่เป็นความต้องการตามธรรมชาติ ท่านจะรู้ว่า แม้ได้ถามคำถามนับพันคำถามก็แล้ว และมีความรู้เรื่องแนวทางปฏิบัติอื่นๆ ก็แล้ว ก็ไม่อาจจะนำท่านเข้าถึงสัจธรรมได้ ในที่สุด ท่านก็จะรู้สึกเบื่อหน่าย ท่านจะรู้ว่าเพียงแต่หยุดและสำรวจตรวจสอบดูจิตของท่านเองเท่านั้น ท่านก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนอะไร ไม่มีประโยชน์ที่จะแสวงหาออกไปนอกตัวเอง ผลที่สุดท่านต้องหันกลับมา เผชิญหน้ากับสภาวะที่แท้จริงของตัวท่านเอง ตรงนี้แหละที่ท่านจะเข้าใจธรรมะได้

                                                                                       หลวงปู่ชา สุภัทโท