ความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ตัว


การเจริญสติเป็นวิธีการที่ต่างจากสมาธิ 
สมาธิเป็นการฝึกให้จิตจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง 
เมื่อรู้สึกเบื่อก็เอาจิตไปจดจ่ออยู่กับเสียงเพลง 
เสียงนก ต้นไม้ หรือการวาดรูป ทำให้ลืมความเบื่อไปได้ 
นี่เป็นงานของสมาธิ  ใช้เมื่อต้องการเปลี่ยนอารมณ์ไปจดจ่อสิ่งอื่นแทน
แต่สติเป็นอีกวิธีการหนึ่ง คือดูหรือเห็นเฉยๆ ไม่เข้าไปเป็น 
แค่เห็นอารมณ์เกิดขึ้น และเมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นกับมัน 
ไม่ปรุงแต่งต่อเติมมัน มันก็ดับไป 
เหมือนไฟที่ไม่มีเชื้อ ไม่มีฟืนก็ดับมอดไปเอง
.
ความทุกข์เกิดได้ไม่นานอยู่แล้ว 
แต่เป็นเพราะใจไปยึดมันเอาไว้  เป็นเพราะใจปรุงแต่งต่อเติม 
มันถึงอยู่ต่อเนื่องเป็นชั่วโมง เป็นวัน บางทีก็เป็นอาทิตย์ 
และใจที่ไปยึดมันก็เพราะไม่รู้ตัว 
เหมือนกับคนที่แบกหินทั้งๆ ที่เหนื่อย เป็นทุกข์ 
ก็ยังแบกเอาไว้ นั่นเป็นเพราะไม่รู้ตัว
.
ทำนองเดียวกับคนที่เจอไฟไหม้บ้าน 
เห็นอะไรใกล้ตัวก็ขนออกไปก่อน 
บางทีแบกตู้เซฟ แบกโอ่งน้ำซึ่งหนักมาก 
แต่ยังแบกขึ้นวิ่งหนีออกจากบ้านอย่างสบาย 
ตอนนั้นไม่รู้สึกหรอกว่าหนัก 
เพราะความกลัวมันครอบงำใจจนกระทั่งลืมตัว แต่ยิ่งวิ่งก็ยิ่งเหนื่อย 
ครั้นหนีมายังที่ปลอดภัย หายกลัวแล้วจึงรู้สึกว่าหนัก 
พอรู้ตัวว่าแบกตู้เซฟหรือโอ่งน้ำเท่านั้น ก็วางมันลงทันที
ความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ยึดแล้วทุกข์ 
ทั้งๆ ที่แบกแล้วทุกข์ ก็ยังยึดเอาไว้ 
แต่พอรู้ตัวเมื่อไร ก็วางเองไม่ต้องมีใครสั่ง
.
พระอาจารย์ไพศาล  วิสาโล
จากหนังสือ : ความสุขอยู่ที่ใจ หันมาเมื่อไหร่ก็เจอ

Image by Clker-Free-Vector-Images from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

วิธีการแก้ไขจิตใจให้หลุดพ้น...


วิธีการแก้ไขจิตใจให้หลุดพ้น 
จากการยึดติดในเรื่องราวที่ผ่านมา 
หรือเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้จิตมันหลุดออก ละออก 
มีสิทธิ์ทำได้ไหม ควรทำไหม ?
.
ควรจะทำหรือควรจะปล่อยไป  ถ้าปล่อยไปตามเรื่องตามราว
มันก็จะไปหาเรื่องราวอย่างที่ว่า 
ทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบไม่สิ้น  เดี๋ยวก็ซึมเศร้า เดี๋ยวก็ขุ่นมัว 
เศร้าหมองไปต่างๆ มากมาย 
.
ฉะนั้น ก็ต้องรีบแก้ไข ทำอย่างไร ? จิตใจจะหลุดออก ละออก
 ก็มาสู่เรื่องว่า “การรู้สึกตัวทั่วพร้อม” 
ถ้ามีอาการรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา จิตก็จะหลุดจากเรื่องอดีต อนาคต 
เพราะเวลารู้สึกตัวทั่วพร้อม  จิตจะอยู่กับปัจจุบัน จะมารู้ตัวในปัจจุบัน 
.
เมื่อมารู้ปัจจุบัน…ก็ต้องทิ้งอดีต อนาคต จริงไหม ?
จิตจะรู้ทีละสองอย่างได้ไหม 
จิตหนึ่งดวงจะรู้เรื่องหลายเรื่องไม่ได้  จะรู้ได้ทีละอย่าง เท่านั้น
.
จิตหนึ่งดวง จะรับรู้อารมณ์ได้ทีละหนึ่งอารมณ์
ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
 จิตไม่สามารถจะรับอารมณ์ ทีละหลายๆ อารมณ์ได้ในขณะเดียว 
.
หนึ่งขณะของจิต…ก็รับได้เพียงหนึ่งอารมณ์ 
เพราะฉะนั้น ถ้าหนึ่งขณะของจิตให้มันรู้สึกตัว 
มันก็จะอยู่กับตัว อยู่ในปัจจุบัน
 ขณะนั้น มันก็จะหลุด จะละเรื่องอดีต  เป็นหนึ่งขณะ 
.
ทีนี้จิตที่รู้สึกตัว มันดับไหม 
มันระลึกแล้ว มันตายตัวคงที่ไหม มันก็ดับ เหมือนกัน
พอระลึกขึ้นมาแป๊บๆ มันก็ดับ 
.
เมื่อดับจิตที่เคยคิดถึงเรื่องอดีต จะเกิดต่อไหม ?
มันยังมีกำลังเหวี่ยงอยู่ เพราะคิดมาเยอะแล้ว
มันยังมีกำลัง มันก็คิดใหม่ เมื่อมันคิดใหม่ ถ้าไม่ระลึก
มันก็จะไปเรื่องอดีต ก็เป็นทุกข์อีก 
.
ทำอย่างไร ? ก็ต้องรู้สึกตัวขึ้นมาใหม่ 
เมื่อระลึกรู้สึกตัวขึ้นมาใหม่ๆ  อยู่กับปัจจุบันขึ้นมาใหม่ 
หลายๆ ขณะ  หรือมากขึ้นๆ 
จิตที่จะไหลไปสู่อดีตอนาคต ก็จะค่อยหมดกำลังไปเอง 
.
แรงเหวี่ยง ปัจจัยมันทิ้งห่างขึ้น  มันก็หายไป มันก็หลุดไป 
เมื่อจิตใจมันอยู่กับปัจจุบันแล้ว ก็รู้จักวางใจเป็นกลาง วางเฉยเป็น
มันก็จะเกิดเป็นจิตประเภทที่ดีขึ้นมา  จิตที่มีความรู้เนื้อรู้ตัว จิตที่มีสติปัญญา
.
 จิตที่มีสมาธิเกิดขึ้น เกิดขึ้นต่อเนื่องอยู่เรื่อยๆ 
คุณภาพของจิตก็ต้องดี 
เพราะว่าสภาพของสติสัมปชัญญะ มันเป็นฝ่ายกุศล เป็นฝ่ายดี 
กุศลก็จะครอบครองจิตใจอยู่เรื่อยๆ 
คุณภาพของจิตก็จะดี จิตก็เบา เบาใจ  เบิกบานใจ สงบใจ เย็นใจ
พระภาวนาเขมคุณ วิ.
(พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี)
Fb.Achara Klinsuwan

Image by Willgard from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา