มงคลสูงสุด คือ จิตที่ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม




          ถ้าจิตถูกโลกธรรมทั้งหลายกระทบกระทั่งแล้วไม่หวั่นไหว ยังสามารถมีใจเบิกบาน เกษมปลอดโปร่ง ไม่มีธุลี ไร้ความขุ่นมัวเศร้าหมอง ผ่องใสได้ ก็เป็นมงคลอันสูงสุด
          มงคล ๓๘ ประการ มาจบลงสุดท้ายที่นี่...
          พระพุทธศาสนาสอนหลักธรรมไปตามลำดับจนมาถึงข้อนี้ คือข้อว่ามีจิตใจเป็นอิสระ อย่างที่พระ สงฆ์สวดในงานพิธีมงคลทุกครั้ง ตอนที่สวดมงคลสูตร มงคล ๓๘ จะมาจบด้วยคาถานี้คือ

          ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ   จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ
          อะโสกัง วิระชัง เขมัง     เอตัมมังคะละมุตตะมัง
          ผู้ใดถูกโลกธรรมทั้งหลาย (ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย) กระทบกระทั่งแล้ว จิตใจไม่เศร้าโศก ไม่หวั่นไหว เกษม มั่นคง ปลอดโปร่งได้ นั่นคือมงคลอันอุดม
          ถ้าถึงขั้นนี้แล้ว ก็เรียกว่าเราได้ประสบประโยชน์สุขขั้นสูงสุด ชีวิตก็จะสมบูรณ์ อยู่ในโลกก็จะมีความสุขเป็นเนื้อแท้ของจิตใจ ถึงแม้ไปเจอความทุกข์เข้าก็ไม่มีปัญหา ก็สุขได้แม้แต่ในท่ามกลางความทุกข์
                                                                                       พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

การมีสติระลึกรู้คือ ระลึกรู้เข้ามาในกายในใจ



เริ่มต้นของการจะศึกษาธรรมะ ก็คือเริ่มการมีสติ การฝึกการมีสติ 
การฝึกสติอยู่กับปัจจุบัน สติอยู่กับปัจจุบันธรรม 
ปัจจุบันธรรมที่ไหน? ปัจจุบันธรรมที่กายที่ใจนี้เอง 
การมีสติระลึกรู้ก็คือ การระลึกรู้เข้ามาในกายในใจของตนเอง 
ไม่ใช่เรื่องอะไรมากมาย เป็นเรื่องของการตามดู
รู้ทันกายที่เป็นอยู่ภายใน 
จิตใจที่เป็นอยู่ภายใน 

พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี

คำสั่งสอนพระศาสดา มองด้วยตาไม่เห็น




คำสั่งสอนพระศาสดา มองด้วยตาไม่เห็น
ท่านผู้ใดเพียรบำเพ็ญ ผู้นั้นจะเห็นด้วยจิตใจ
ผู้ที่รู้ผู้ที่เห็น ผู้นั้นก็เป็นบัณฑิต
รู้ทั้งถูกรู้ทั้งผิด มีทุกยุคทุกสมัย



ไม่มีเพชร ก็ไม่มีหิน ไม่มีศีล ก็ไม่มีสัจจะ...
ไม่มีวัด ก็ไม่มีพระ ไม่มีจิต ก็ไม่มีใจ
ไม่มีโลก ก็ไม่มีธรรม ไม่มีทองคำ ก็ไม่มีเพชร
ไม่มีขม ก็ไม่มีเผ็ด ไม่มีเป็ด ก็ไม่มีไข่


หลวงปู่เปลื้อง ปัญญาวันโต

สติปัฏฐานนั้นมิใช่อะไรอื่น...



สติปัฏฐานนั้นมิใช่อะไรอื่น นอกจากการใช้สติ
พิจารณากำหนดรู้อยู่ทุกขณะว่า ในขณะหนึ่งนั้นๆ
เรากำลังทำอะไรอยู่ หรือเรากำลังมีความรู้สึกนึกคิดอะไรอยู่
ทั้งนี้ พิจารณากันในเฉพาะปัจจุบันเท่านั้น
ไม่พิจารณาย้อนไปถึงอดีตและอนาคต แม้สักวินาทีเดียว

หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล