หลักศาสนาพระพุทธเจ้าก็มีเท่านี้ล่ะ



มีสติรักษาจิตใจตัวเองเสมอ 
ตั้งสติตัวเอง ดูลมหายใจเข้าออกตลอดนี้
เรียกว่าคนภาวนาตลอดเวลานะ 
สังเกตอารมณ์ที่มากระทบใจ
ไม่ว่าจะเป็น โทสะ โมหะ หรือว่าราคะ ...
ก็จะรู้อยู่กับตัวเจ้าของตลอด
คนอย่างนี้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ 
ยกย่องสรรเสริญมากนะ 
นี่ล่ะ หลักศาสนาพระพุทธเจ้าก็มีเท่านี้ล่ะ

หลวงปู่แสง ญาณวโร

สติและสมาธิ กลมกลืนกันในตัว



หากเรามีสติระลึกรู้จริงๆ 
กับการกระทบต่างๆ ที่เกิดดับอยู่ตลอด 
มันจะเป็นทั้งสติและสมาธิ กลมกลืนกันในตัว 
ไม่ช้าก็เร็ว เราจะเห็นความจริงได้ด้วยตนเอง 
ดังที่พุทธองค์ท่านตรัสว่า 
“มีดวงตาเห็นธรรม” นั้นเอง

หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร

ผู้มีสติ ไม่จำเป็นต้องคำนึงว่า เราจะนั่งสมาธิที่ไหน...




ผู้มีสติ ไม่จำเป็นต้องคำนึงว่า
เราจะนั่งสมาธิที่ไหน ในวัดไหน
สมาธิจะได้ลึกตื้นหนาเพียงใด แค่ไหน
ขอให้มีสติ รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา 

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ดูกายกับใจให้มาก แล้วจะรู้ความเป็นจริง



จิตไม่ได้ฝึกหัดธรรมของพระองค์ 
ก็ไปอยู่ในอารมณ์ภายนอกหมด 
แล้วจึงไม่รู้ความเป็นจริงได้ 
พวกเราท่านทั้งหลาย ขอให้เจริญทำใจให้มาก 
ดูกายกับใจ ให้มาก ...
แล้วจะรู้ความเป็นจริง ว่าไม่ใช่ตัวตน 
ไม่ใช่บุคคลเราเขาจริงๆ

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก

ควรจะเป็นคนรู้ตัวดีกว่า




การเกิดมานี้เราไม่ได้เกิดมาดีกันนี่
ถ้าเราเป็นคนดี เราจะมาเกิดทำไม 
เราก็ไปนิพพานแล้ว 
อ้ที่เรายังเกิดอยู่ เพราะเรายังมีเลวอยู่มาก 
ควรจะรีบชำระสะสางความเลวให้สิ้นไป ...
ควรจะเป็นคนรู้ตัวดีกว่า 
อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัว


หลวงปู่ปาน โสนันโท

หายใจเข้า รู้...



หายใจเข้า รู้
หายใจออก รู้
แค่นั้นพอ สติจะแก่กล้าขึ้นมาเอง

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร


สัญญาณเสพติดทางอารมณ์



ความเพลิดเพลิน สุขสนุกสนาน
คือสัญญาณเสพติดทางอารมณ์
ทำให้จิตวิญญาณขาดเอกภาพ
ในการรับรู้ตามความเป็นจริง
ไร้อิสระในการพิจารณา ด้วยปัญญา

หลวงตาสุริยา วัดป่าโสมพนัส
(ส.มหาปัญโญภิกขุ)

ความคิดตัดได้ด้วยสติ



ถ้าบังคับไม่ให้มันคิด มันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร?
ถ้าบังคับไม่ให้มันคิด มันก็ทุกข์ มันเครียด เพราะไม่เป็นธรรมชาติ
ปล่อยให้มันคิด แต่ต้องเอาชนะมันให้ได้ทุกครั้ง 
จนมันปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไ
โทสะ โมหะ โลภะ กิเลส ตัณหา อุปาทาน ...
ล้วนปรากฏออกมาในรูปของความคิด หรืออารมณ์ทั้งสิ้น
หลวงพ่อจึงให้จัดการที่่ตัวความคิด โดยไม่ต้องจำแนกแยกแยะ
ว่ามันเป็นอะไร เมื่อมันคิดปุ๊ป-ตัดปั๊ป ตัดด้วยอะไร?
ตัดด้วยสติ เพราะพอเห็นมัน ความคิดก็จะหายไปทันที

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

หนทางการฝึกสติ...



หนทางการฝึกสติ
นั้นก็คือ อริยสัจข้อที่ 4
คือ ทางออกแห่งความทุกข์

ท่านติช นัท ฮันห์ 

ความระลึกรู้สึกตัว และความตื่นตัวอยู่เสมอ...




...ความระลึกรู้สึกตัว และความตื่นตัวอยู่เสมอ
เป็นพื้นฐานแห่งความดีทั้งปวง...

พระอาจารย์ณรงค์ อาจาโร

ความทุกข์ในการปฏิบัติธรรม นำสู่สุขแท้จริง



ความสุขที่อิงด้วยสิ่งอื่น วัตถุอื่น ที่เราได้มานั้น
มันเป็นความสุขที่ทอดสะพานให้ทุกข์เข้ามาหาใจ
ความเป็นทุกข์ในการปฏิบัติธรรม คือการทอดสะพาน
ให้ใจเข้าไปหาความสุขที่แท้จริง

พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ

ความฟุ้งซ่านเกิดจากกิเลสภายใน



จิตไม่สงบก็เพราะว่าความฟุ้งซ่าน
ความฟุ้งซ่านเกิดจากอะไร เกิดจากกิเลสภายใน
อย่าไปว่าเกิดจากภายนอกนะ
ถ้าเราไม่ออกไปรับรู้ ข้างนอกเขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้น...
เราไปมองแต่ว่าสิ่งนั้นทำให้เราเป็นทุกข์
แต่เราไม่มองว่าหัวใจนี้ ไปรับรู้มาแล้วมันเป็นทุกข์

พระอาจารย์สงบ มนัสสันโต

รู้ว่ามันเกิด รู้ว่ามันดับ



การพิจารณาธรรมที่ลึกที่สุด
แต่สั้นที่สุด และได้ผลดีที่สุดคือ
“รู้ว่ามันเกิด รู้ว่ามันดับ”
หมายถึงทุกอย่าง
รวมทั้งอารมณ์ ทั้งสุขทั้งทุกข์
ทั้งสงบ ทั้งฟุ้งซ่าน
มันก็แค่เกิด แล้วมันก็ดับ
รู้เท่านี้ตามความจริง ก็พ้นทุกข์ได้

ครูบาไตรภพ วัดป่าโคกเจริญธรรม
มูลนิธิวิศวาธารอโรคยาธรรมศาลฯ

อย่าเอากายแล้วทิ้งจิต



          อย่าเห็นแก่ประโยชน์อันน้อยนิด แล้วทิ้งประโยชน์อันไพบูลย์ อย่าเอากายแล้วทิ้งจิต ปวดนั่นปวดนี่แล้วหงุดหงิดทุกข์ร้อน ไม่รักษาใจให้ผ่องใส เพราะเราให้ความสำคัญกับกายมากกว่าจิต เหมือนเอาขี้ ไม่เอาทองคำ ความปวดความเจ็บมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันเจ็บปวดก็เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา ทุกข์ร้อนกับมันทำไม

                                                                                            พระอาจารย์วิชัย กัมมสุทโธ

ใจที่ไม่ได้รับการอบรม ย่อมมีภัยรอบตัว



..ใจที่ไม่ได้รับการอบรม ย่อมมีภัยรอบตัว
แต่ส่วนมากก็เกิดขึ้นจากเรื่องของตัวเอง
ถ้ายังไม่ได้อบรม ให้รู้เรื่องของตัวเองเสียบ้าง
ย่อมจะคิดตำหนิติชมสิ่งภายนอก
มากกว่าเรื่องของใจผู้ผลิตการติชมเสียเอง...
การอบรมใจ ก็เพื่อจะให้รู้เรื่องของตัวเองผู้ก่อเหตุ..

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ความเมตตาตนเองอย่างถูกต้อง



...ความเมตตาตนเอง อย่างถูกต้อง 
มีความสำคัญมิได้น้อยกว่า ความเมตตาทั้งหลายอื่น
ความเมตตาตนเอง คือ ความระวังรักษาจิตของตน 
ให้มีความสุขสงบ ความผ่องใส ไกลจากความทุกข์ร้อน
อันเกิดจากอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง...

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช 
สกลมหาสังฆปริณายก

ความดีใจเสียใจต้องคอยระวังให้ดี



ความดีใจเสียใจต้องคอยระวังให้ดี...
ให้ทำความดีใจและเสียใจในโลกเสียให้พินาศ

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

การแสวงหาความสุขที่ไม่คุ้มเหนื่อย



มนุษย์ได้สรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้น
เพื่อล่อให้ตัวเองวิ่งตาม แต่ก็ตามไม่เคยทัน
การแสวงหาความสุขโดยปล่อยใจ
ให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ที่ปรารถนานั้น
เป็นการลงทุนที่มีผลไม่คุ้มเหนื่อย
เหมือนบุคคลลงทุนวิดน้ำในบึงใหญ่
เพื่อต้องการปลาเล็กๆ เพียงตัวเดียว

จากหนังสือ พระอานนท์พุทธอนุชา 

เป้าหมายของการปฏิบัติคืออุเบกขา



ให้ดูว่าดีใจกับสิ่งที่ได้มาหรือไม่
เสียใจไปกับสิ่งที่เสียไปหรือไม่
เราไม่ควรมีปฏิกิริยาทั้ง ๒ อย่าง
ไม่ยินดี ไม่เสียใจ
เวลาได้มาก็ไม่ดีใจ
เตือนใจว่ามันมาเพื่อจากเราไป
จากไปก็ดี จะได้ไม่เป็นภาระ
เป้าหมายของการปฏิบัติอยู่ตรงนี้
ให้ใจเป็นอุเบกขา ไม่ยินดียินร้าย

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

เราสมควรเสกสรรจิตให้อยู่กับที่



การปฏิบัติศาสนธรรม คือ การเสกสรรจิตของตัวเองเท่านั้น
จำเป็นหรือ ที่เราจะส่งจิตหนีจากตัวเอง
จำเป็นหรือ เราจะส่งจิตของเราออกไปข้างนอก
สมควรอย่างยิ่ง ที่จะเสกสรรจิตของเราให้อยู่กับที่
คือให้อยู่กับตัวเอง อย่าให้มันไป จะไปที่ไหนก็ตาม
เราจะต้องรักษาคือ สกัดเอาไว้ด้วยสติ

หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก

จิตไม่ชอบอยู่ในกายเปรียบได้สัตว์นรก




จิตใจของผู้ใดไม่ชอบอยู่บ้านคือร่างกาย 
ปล่อยให้กระเพื่อมออกไปกับกิเลสตัวโกรธ โลภ หลง 
จิตใจของผู้นั้นเปรียบได้ประดุจสัตว์นรกตัวหนึ่ง 
ที่นำความทุกข์ความวุ่นวายมาให้แก่ตนเอง 
ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ไม่มีที่สิ้นสุด


หลวงพ่อไม อินทสิริ

กิเลส คือ โมหะ จึงเป็นสิ่งสำคัญ



กิเลส คือ โมหะ จึงเป็นสิ่งสำคัญ 
มันมีอิทธิพลโดยเราไม่รู้สึกตัวเลย
คือมันสามารถเข้าไปจับยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ใจ
เมื่อมันจับ “นายใจ” หรือ “พญาจิตราช” ได้แล้ว
สิ่งทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามคำบังคับบัญชาของมัน...
เช่น ยกตัวอย่าง รูปัง อนิจจัง รูปทั้งหมดไม่เที่ยง
แต่โมหะมันบอกใหม่ว่า รูปทั้งหมดเที่ยงแท้ 
พระบอกว่า สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง 
มันจะบอกคนโง่ว่า สังขารเป็นสุขอย่างยิ่ง

หลวงปู่ขาว อนาลโย

เราไม่สามารถบังคับสรรพสิ่ง...




เราไม่สามารถที่จะไปบังคับสรรพสิ่งให้ได้ดั่งใจเราทุกอย่างไปหรอก...
เรามีสิทธิ์เพียงแค่รู้จักกับบริหารจัดการตัวเอง 
ให้สามารถอยู่ร่วมกับสรรพสิ่งให้ได้เท่านั้น


พระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม

ผู้รู้ตัว เห็นตัว



...ผู้รู้ตัว เห็นตัว
ท่านจึงยกว่าเป็นยอดแห่งวิชา

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท)

ประมาท คือตายจากมรรคผลนิพพาน



          ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย คำว่าตายในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าร่างกายเราตาย หมายถึงจิตใจคนเราตาย คือตายจากมรรคผลนิพพานต่างหาก ความไม่ประมาทเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย คือ ไม่ประมาทต่อการทำความดี ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา มีโอกาสจะได้ไปสวรรค์ พรหมโลก หรือมรรคผลชั้นใดชั้นหนึ่ง ตลอดถึงพระนิพพานข้างหน้าแน่นอน ช้าหรือเร็วแล้วแต่บุญบารมีหรือความพากเพียรของตนเอง

                                                                                                     หลวงปู่คำดี ปภาโส

ดูกายกับจิตอย่างเป็นกลาง จะเกิดสมาธิเอง




ถ้าเราเฝ้าดูอาการปรากฏทางกายกับจิต 
ด้วยสติที่วางใจเป็นกลาง ไม่ปรุงแต่ง 
เมื่อนั้น จิตก็จะเกิดสมาธิตั้งมั่นเอ

พระคันธสาราภิวงศ์
วัดท่ามะโอ

เราจะทิ้งการให้ทานไม่ได้



          ..ที่ท่านกล่าวว่าทำกฐินร้อยกองก็ไม่เท่าภาวนารวมลงครั้งหนึ่งนั้นเป็นการถูกต้องแล้ว แต่เราจะทิ้งการให้ทานไปก็ไม่ได้อีกล่ะ ถ้าหากเรามีภพมีชาติหน้าก็กลายเป็นคนจนทรัพย์ หาด้วยน้ำพักน้ำแรงเกือบจะตายก็ไม่ได้ เพราะอานิสงส์ทานไม่ชูส่ง

                                                                                              หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

ให้มีแต่เพียงรู้เฉยๆ กิเลสก็จะไม่เกิดขึ้น



ถ้าหากเรากำหนดรู้เท่าทัน
อย่าให้มันไปหมายมั่นสัญญา
จดจำแลปรุงแต่ง
ให้มีแต่เพียงรู้เฉยๆ
กิเลสมันก็จะไม่เกิดขึ้น

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

กิเลสมันปรากฏ กำหนดสติรู้มัน...




กิเลสมันปรากฏ กำหนดสติรู้มัน
อารมณ์มันปรากฏ กำหนดสติรู้มัน
เอาสติตัวเดียว พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างชัดเจน
ตัณหามันเกิดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ดับที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 
มันจะดับได้อย่างไร...ฝึกสต

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

เมื่อเราเข้าไปยึด “ความคิด” จึงเป็นทุกข์



ความคิด” เป็นเพียงแค่อาการของจิตที่เปลี่ยนไป
“ความคิด” มันเป็นอะไร เพราะเราไปยึด
ไปให้ค่าให้ความหมาย เป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นมา
“ความคิด” ไม่ได้ทำให้เราเป็นทุกข์
เมื่อเราเข้าไปยึด “ความคิด” จึงเป็นทุกข์



พระอาจารย์ครรชิต อกิญจโน

จิตน้อมหาตัวบ่อยๆ จะเกิดความสว่างและความสงบ



จิตเป็นธรรมชาติที่ว่า น้อมหาตัวบ่อยๆ 
จะเกิดความสว่าง..และความสงบ..
เริ่มก่อตัวขึ้นทีละน้อยๆ 
จะเป็นเครื่องรู้เห็น
ที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ก็จะเกิดขึ้น 
จิตมองตัวเองบ่อยๆ จะเป็นสมาธิขึ้นมา
ถ้ามองอย่างอื่นเป็นอารมณ์ ไม่เป็นสมาธิ 

พระอาจารย์จรัญ ทักขญาโณ

แค่มีกิเลสแล้ว “รู้ทัน” ก็เป็นกุศล



แค่มีกิเลสแล้ว “รู้ทัน” 
ก็เป็นกุศลแล้ว คือมี “สติ”
แต่ถ้ามีกิเลสแล้วรู้ไม่ทัน 
แล้วทำอะไรไป  พูดไป ทำไป
การกระทำครั้งนั้นเป็นอกุศล...

พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

ถ้าเราสร้างตัวรู้ มันก็เห็นตัวหลง



          ถ้าเราสร้างตัวรู้ มันก็เห็นตัวหลง ก็มีโอกาสแก้ตัวหลง ชำนาญในการแก้ตัวหลง จนหลงไม่มีให้แก้ มีแต่สติเฝ้าดูอยู่ จิตก็ปกติ จิตไม่พยศมีสมาธิ รอบรู้เท่าทัน ปัญญาถลุงย่อยกองรูปกองนาม เห็นแจ้งในไตรลักษณ์ หลุดพ้นจากทุกข์ อุปาทาน เห็นสมมติ วางสมมติ จิตใจเปลี่ยนแปลงสู่สภาวะใหม่ ล่วงพ้นสภาวะเดิม

                                                                                         หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

ทำความรู้อยู่อย่างนั้นเรียกว่า พุทโธ



ทุกข์เกิดขึ้นก็ให้รู้ สุขเกิดขึ้นก็ให้รู้ 
ดีเกิดขึ้นก็ให้รู้ 
พุทโธ พุทโธ มันเป็นยังไงก็ให้รู้ให้หมด 
มันข้องตรงไหนก็ให้รู้ มันไม่ข้องก็ให้รู้ 
ทำความรู้อยู่อย่างนั้นเรียกว่า พุทโธ

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

เมื่อบุคคลผู้ใดมีความยึดถือ ชื่อว่า ผู้มีภาระอันหนัก



....เมื่อบุคคลผู้ใดมีความยึดถือ ชื่อว่า ผู้มีภาระอันหนัก 
แม้อยู่ในโลกนี้ก็แสวงหาความดีได้ยาก 
แม้ตายไปก็มีภาระอันหนักขวางอยู่ข้างหน้า 
ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ปล่อยวาง อย่าเข้าไปยึดถือในสัญญา อดีต อนาคต ปัจจุบัน
ทำจิตอันนั้น ให้เสมอเหมือนน้ำค้างที่อยู่บนใบบัว ไม่รั่ว ไม่ซึม ไม่เซิบ 
จะถึงธรรมที่ไม่ตาย หายจากความทุกข์ ถึงบรมสุขอย่างเลิศ 
ไม่ต้องมาเกิดมาตายในโลกนี้ และโลกหน้า

ท่านพ่อลี ธัมมธโร 

ฝึกสติ แล้วจะเห็นคุณค่าสติ



          ...ผู้ใดใฝ่ในการเจริญ ใฝ่ในการพัฒนาจิตตน ให้ตั้งใจฝึกสติให้มาก ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะผัดกับข้าว หุงข้าว ทำอะไร ให้หัดระลึก ยิ่งอายุมาก ยิ่งต้องระลึก เพราะสัญญานั้นมันจะเสื่อม มันจะจำอะไรยาก ต้องใช้สติเข้าไปแทนมัน ระลึกให้มาก ทำให้มากจนเป็นนิสัย แล้วเราเองจะเห็นคุณค่าของสติ จะเห็นว่าทำไมสติจึงเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก...

                                                                                              พระอาจารย์วิชัย กัมมสุทโธ

วิธีสงบใจที่ดีที่สุด “หายใจยาวและลึก”



...สงบใจได้แม้เมื่อตนอยู่ในอันตราย หรือประสบทุกข์
อย่าให้เสียใจ หมดสติ สะดุ้งดิ้นรนจนสิ้นปัญญาแก้ไข
เกิดความท้อถอยไม่ทำอะไรต่อไป
ความสงบไม่ตื่นเต้น เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ประกอบกิจให้สำเร็จได้สมหวัง
เราจะแก้ไขเหตุร้ายที่เกิดขึ้นแก่เราได้นั้นก็มีทางจะทำอยู่ ๒ ขั้น
๑.ต้องสงบใจมิให้ตื่นเต้น  ๒.ต้องมีความมานะพยายาม
วิธีสงบใจที่ดีที่สุด “หายใจยาวและลึก”

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต

ฝึกใจยามตื่นนอน



          สวัสดีในเช้าของวันใหม่ ...ขอทุกท่านจงสลัดความง่วงเหงาหาวนอน ความซึมเศร้าหงอยเหงา ความหดหู่ใจทั้งหลาย ความเคียดแค้น พยาบาทมาดร้าย ทิ้งออกไป หายใจเข้าลึกๆ มีสติกำหนดรู้ หายใจออกยาวๆ มีสติกำหนดรู้ เราจะสังเกตได้ว่า ในขณะที่เรากำหนดรู้ลมหายใจนั้น แม้จะเป็นการหายใจเพียงครั้งเดียว แต่เพราะการที่เราเอาจิตไปจดจ่อกับลมหายใจ ใจเราจะเบาสบายขึ้นในขณะนั้นทันที การที่เรากำหนดดูรู้ลมนั้น คือการฝึกอานาปานสติสมาธิ แม้ทำเพียงรู้ลมหนึ่งคู่เข้า ออก ก็เป็นอานาปานสติได้...

                                                                               ครูบาไตรภพ วัดป่าโคกเจริญธรรม
                                                                              มูลนิธิวิศวาธารอโรคยาธรรมศาลฯ

เราไม่ยอมต่อสู้ราคะด้วยปัญญา



ที่เรารักไม่มีสถานีจบ

ก็เพราะเราอยู่ใต้อำนาจกิเลสแห่งราคะมาก
เราไม่ยอมต่อสู้มันด้วยปัญญา พิจารณาสิ่งปฏิกูลโสโครก
และไม่แยกลงไปเป็นดินน้ำลมไฟ 

เรารักและกำหนัด ให้มันชนะกำหนัด มันก็ย่อมเป็นไปไม่ได้...

คล้ายๆ กับทิ้งฟืนใส่ไฟ ให้ชนะไฟย่อมเป็นไปไม่ได้
อันนี้เป็นด้านปัญญาอันคมกล้า 
เราจะเอาสมาธิล้วนๆ ปราบมันไม่ได้ดอก
เราต้องเอาปัญญาปราบความหลงของตน

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต 

ฝึกตายเสียตั้งแต่ก่อนตาย



เราจะพึ่งคนอื่นไม่ได้ ตายเราก็ตายคนเดียว 
ไม่มีใครมาช่วยตายด้วยเลย...
มีแต่ตัวเองเท่านั้นแหละที่ช่วยประคองจิตใจตัวเอง
ให้ตั้งมั่นอยู่ไม่ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย
ไปเกาะ ไปข้อง อยู่ที่ต่างๆ ในโลกนี้
ไม่เศร้าโศก ไม่เสียใจ 
ปล่อยวางความอาลัย ความเกี่ยวข้องทั้งหมดลงไป
นี่เรียกว่า จะต้องฝึกตายเสียตั้งแต่ก่อนตาย 

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

คนไม่ฉลาดมัวชื่นชมขันธ์ ๕



          ...ผู้ฉลาดก็รีบเร่งใช้ขันธ์ ๕ นี้ทำความดีเข้าไป ไม่ปล่อยให้ขันธ์ ๕ นี้ทรุดโทรมไปเสียเปล่า... คนไม่ฉลาด ก็เมื่อได้ขันธ์ ๕ มานี้แล้ว ก็มาชื่นชมกับขันธ์ ๕ นี้ ก็เพลิดเพลินมัวเมาอยู่แต่ในกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ ไม่มีโอกาสที่จะได้ฝึกตนเลย...

                                                                                                    หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

จงรีบทำงานที่ค้าง



ร่างกายของเรานี้ไม่ใช่จะคงทน มันไม่ถาวร ไม่ยั่งยืน
ที่สุดมันจะต้องทุกข์ จะต้องกระจัดกระจาย จะต้องเดือดร้อน
งานอะไรที่ค้างอยู่ ก็จงรีบทำเสีย เรามีงานอะไรค้างอยู่ล่ะ ?
ก็งานที่จะพ้นจากวัฏสังสาร พ้นจากกองทุกข์นี้
งานวิปัสสนาเท่านั้น ที่จะดับทุกข์ พาให้พ้นทุกข์ได้
ในเมื่อยังค้างอยู่ ยังทำไม่สำเร็จ 
ก็ต้องขวนขวายเสียเดี๋ยวนี้

พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี

จิตใจกับธรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด



          จิตใจกับธรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด..ถ้าความทุกข์เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นที่จิตใจ..ไปเกิดที่ภพภูมิที่เราไม่ต้องการก็จิตใจอันนี้แลจะพาเราไปเกิด..เพราะฉะนั้นต้องสอนจิตใจให้ดี สอนให้เขารู้ทุกข์..สอนให้เขาละทุกข์..สอนให้เขาดับทุกข์..เมื่อเขาละทุกข์ดับทุกข์ได้แล้ว จิตใจเช่นนี้เขาก็จะอยู่เหนือสุขเหนือทุกข์..เหนือเกิด..เหนือตาย..เหนือโลก..เหนือสงสาร แล้วใครเป็นผู้สบาย ถ้าไม่ใช่เรา

                                                                                            พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ

จิตตานุปัสสนา




จิตตานุปัสสนา 
คือให้รู้ว่า ความนึกความคิดเหล่านี้ 
มันนึกมันคิดขึ้นมาแล้ว
ก็ไปยึดไปถือว่าเป็นจริง เป็นจัง 
ตามความคิดก็ไม่ได้ ...
เรียกว่าให้รู้เท่าทันนั้นเอง 
ไม่หลงตามความคิดของตนเอง


หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

อย่าสำคัญตัว...ว่าตัวสำคัญ




อย่าสำคัญตัว.....
ว่าตัวสำคัญ เพราะที่สำคัญ...
ไม่มีตัว

พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ