จิตตภาวนาเป็นยอดในการปฏิบัติ



          พวกเราเรียนตำรับตำรากันเสียมากมายก่ายกอง เรียนเอาแต่ชื่อแต่นามของกิเลสตัณหา แต่ไม่สนใจจะแก้ จะถอดถอนสิ่งเหล่านี้ตามอุบายแห่งธรรม เราบอกได้เลยว่า ไม่มีวิธีการใดที่จะยิ่งไปกว่าภาคปฏิบัติธรรมเช่นจิตตภาวนาเป็นสำคัญ เพราะการพิจารณาทางด้านจิตตภาวนานี้ เป็นการพิจารณาเข้าถึงความจริง เข้าหาความจริง สาวมาตั้งแต่ยอดมันจนกระทั่งลงถึงต้นและลงถึงรากแก้วรากฝอยไปหมด ก็ได้แก่จิตตภาวนานี้

                                                                                        หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



วิธีดับโทสะเมื่อถูกว่าร้าย



          ควรหัดคิดว่า ถ้ามีผู้ตำหนิติฉินหรือนินทาว่าร้าย ก้าวร้าวล่วงเกิน ก็เหมือนเมื่อไปสู่บ้านใด แล้วเจ้าของนำอาหารคาวหวานมาต้อนรับ เราไม่บริโภคของเขา อาหารเหล่านั้นก็จะต้องเป็นของเขาเอง

          นั่นก็คือ ถ้าเขาด่าว่าแล้วเราไม่รับ ไม่โกรธ คำด่าว่าทั้งหมดก็จะตกเป็นของเจ้าของ เช่นนี้แล้ว จะไปรับไปโกรธ เมื่อถูกผู้หนึ่งผู้ใดด่าว่าทำไม

         หากมีสติคิดเช่นนี้ให้ได้ทันเวลาที่ถูกด่าว่า โทสะก็จะไม่เกิด และโทสะนั้นถ้าไม่เกิดเสียนานๆ ก็จะเหมือนร่างกายขาดอาหาร จะค่อยอ่อนแรงจนถึงตายไปได้เลย ไม่อาจเป็นโทษทรมานให้จิตใจเร่าร้อนได้อีกต่อไป


                                                    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


หาความสุขได้ที่ไหน



          จะไปหาความสุขที่ไหนเล่า จะไปหาความสุขตามข้าว ตามของ เงินทอง ไม่ใช่ทั้งนั้น จะหาความสุขจากทำการทำงาน ไม่ใช่ทั้งนั้น เราก็ทุกข์เพราะเราหาข้าวของเงินทองนั่นซิ ความสุขนี้ต้องทำหัวใจของเราให้มันนิ่ง พุทโธ พุทโธ ทำใจให้เยือกให้เย็น ทำใจให้เบา ทำให้ใจสบายแล้ว หัวใจเราสบายแล้ว การงานมันก็สบาย ข้าวของเงินทองก็สบาย ชาวบ้านร้านตลาดก็สบาย ประเทศชาติก็สบาย

                                                                                                 หลวงปู่ฝั้น อาจาโร



การปฏิบัติมีเพียง 2 อย่าง




        การประพฤติปฏิบัตินั้นไม่มีอะไร มีแต่การพิจารณาร่างกายนี้แหละ ให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของร่างกายนี้ อันนั้นก็หนึ่งอย่าง  อีกอย่างหนึ่ง ก็ให้พิจารณาเรื่องของจิต เรื่องของอารมณ์ภายในใจของเรา ให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน ของจิตซึ่งเรายึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง มีแต่เรื่องการพิจารณากายกับจิตเท่านั้น มี ๒ อย่างเท่านั้น

                                                                                พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตโต

พุทธวิธีชนะความคิด




          พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีควบคุมความคิด ให้อยู่ในอำนาจใจไว้ว่า ถ้ามีสติรู้ว่ากำลังคิดในเรื่องไม่ควรคิด ...ให้เปลี่ยนเรื่องคิดเสีย แต่ถ้าเปลี่ยนเรื่องคิดเช่นนั้น ก็ยังคอยแต่จะย้อนกลับไปคิดเรื่องเก่าที่ก่อให้เกิดโทสะอยู่นั่นเอง  ท่านให้พิจารณาโทษของความคิดเช่นนั้น คือ พิจารณาให้เห็นว่า การคิดเช่นนั้นทำให้จิตใจเร่าร้อน ไม่สบาย ...แม้พิจารณาโทษของความคิดที่ไม่ดีนั้นแล้ว ก็ยังไม่อาจยับยั้งความคิดนั้นให้สงบลงได้ ท่านก็ให้ไม่ใส่ใจเรื่องนั้น ...แต่ถ้าไม่สำเร็จอีก ลืมไม่ได้อีก ท่านให้ใช้ความใคร่ครวญ พิจารณาหาเหตุผลว่าทำไมจึงคิดเช่นนั้น ขณะที่คิดหาเหตุผลอยู่นี้ ความโกรธจะลดระดับความรุนแรงลง
ถ้าทำเช่นนั้นแล้วก็ยังไม่ได้ผล ความคิดเดิมยังไม่หยุดท่านให้ใช้ฟันกัดฟันให้แน่น เอาลิ้นกดเพดานไว้ เช่นนี้ความคิดจะหยุด
                                  
                                             สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก