การปฏิบัติธรรมในทุกระดับ
ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนา
ถ้าเรามีไม่มีอุเบกขา
โอกาสที่จะก้าวหน้าก็เป็นไปโดยยาก
.
ถ้าเราไม่มีอุเบกขาในการให้ทาน
ให้แล้วบางคนก็ยังตามไปตรวจว่า
ของที่ทำไปท่านได้เอาไปใช้เอาไปฉันจริงหรือเปล่า?
นั่นคือลักษณะของการขาดอุเบกขาในการให้ทาน
ทำแล้ว ให้คนอื่นไปแล้ว
แต่ยังไม่ขาดจากใจตัวเอง ยังยึด ยังเกาะอยู่
โอกาสที่จะติดอยู่แค่กามาวจรภูมิก็มีมาก
.
ในการรักษาศีล เมื่อเราล่วงละเมิดศีลโดยไม่ได้เจตนา
ถ้าเรามีอุเบกขา ก็คือปล่อยวาง
แล้วตั้งหน้าตั้งตาชำระศีลให้บริสุทธิ์ใหม่
แต่ถ้าหากเราไม่มีอุเบกขา
เราก็จะไปเศร้าหมองอยู่ตรงนั้นว่า
เรารักษาศีลมาได้ตั้งนานแล้ว
ไม่น่าที่จะบกพร่อง
ลักษณะอย่างนั้น ถ้าเราตายตอนนั้น
สภาพจิตเศร้าหมองจะนำเราไปลงอบายภูมิ
.
ส่วนในเรื่องของการภาวนานั้น
สมาธิทุกระดับจะมีตัวอุเบกขาอยู่เสมอ
ตั้งแต่อุเบกขาของปฐมฌาน
อุเบกขาของฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕
ตัวที่ ๕ นี่ชัดเจนที่สุดเลย
ก็คือเหลือแต่อารมณ์อุเบกขาล้วน ๆ
เรียกว่า ปัญจมฌาน
สำหรับบุคคลที่มาสายพระโพธิสัตว์
จะเข้าถึงตรงจุดนี้ได้
ฉะนั้น...ถ้าเราขาดตัวอุเบกขา
ซึ่งปนอยู่ในเอกัคตารมณ์
ก็คืออารมณ์ที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว
เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสมาธิภาวนา
ในแต่ละระดับได้อย่างแท้จริง
.
ส่วนอุเบกขานั้นในวิปัสสนาญาณนั้น
ก็คือการเลิกการปรุงแต่ง ตาเห็นรูป
หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส
กายสัมผัส ใจไม่นำมาคิด
สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน
สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้รส
สักแต่ว่าสัมผัส เมื่อใจไม่คิด
ความดีความชั่วก็ไม่เกิด
กุศลกรรมและอกุศลกรรมไม่เกิด
ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่เกิด
เพราะขาดการปรุงแต่ง
คำว่า "ไม่เกิด" ก็คือ "ดับ" นิโรธ
คือความดับก็ปรากฏขึ้น
โอกาสที่เราจะเข้าถึงพระนิพพานจึงจะมีได้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. (หลวงพี่เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน จ.กาญจนบุรี
Image by Pexels from pixabay
ที่มา : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา