มฤตยูย่อมฉุดคร่า


มฤตยูย่อมฉุดคร่าผู้มีใจติดข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ผู้มัวหลงเพลินเก็บดอกไม้แห่งมาร
เหมือนกระแสน้ำที่พัดพาเอาชาวบ้านที่มัวหลับใหลไป ( # ๔๘)
มฤตยูย่อมทำคนที่มีใจติดข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ผู้มัวแต่เพลินเก็บดอกไม้แห่งมารอยู่
ผู้ไม่รู้อิ่มในกามทั้งหลาย
ให้ตกอยู่ในอำนาจ ( # ๔๙) 

หนังสือธรรมบาท

Image by Printeboek from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

ต้องหมั่นสังเกตดูจิตตัวเอง


ในแต่ละวันเราเผลอ หรือ เรารู้สึกตัวมากกว่ากัน
ถ้ามันเผลอมากกว่า แปลว่าโมหะมันครอบงำ
มันก็จะพาเราไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้โดยง่าย
หรืออยู่ด้วยความโกรธอยู่บ่อยๆ 
ก็แปลว่ามันจะพาเราไปลงนรกได้ง่ายๆ 
หรือถ้าจิตเรามันโลภโมโทสันอยู่เรื่อย
ก็แปลว่ามันจะพาเราไปเป็นเปรตเป็นอสุรกายได้ง่ายๆ
เพราะฉะนั้นต้องหมั่นสังเกตดูจิตตัวเองอย่างนี้ 
ก็ให้รู้ทันเดี๋ยวนั้น 
อย่าไปห้ามนะ เพราะเราห้ามมันไม่ได้ 
กำลังโลภอยู่ก็ให้รู้ทัน 
กำลังโกรธอยู่ก็ให้รู้ทัน
กำลังหลงอยู่ก็ให้รู้ทัน
ก็ให้รู้ว่ามันไม่รู้สึกตัวอยู่แค่นั้น
แล้วกลับมารู้สึกตัว
มันจะได้มาก ได้น้อยช่างมัน
จะรู้มากรู้น้อย....ไม่เป็นไร

พระอาจารย์มหาวิเชียร ชินวังโส 

Image by jplenio from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

พระพุทธศาสนาสอนให้ ทิ้ง


คนสามัญนั้น...
สิ่งที่ชอบใจ  ก็รับเอา   
สิ่งที่ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ  ก็โกรธ
แต่ก็รับเอา  รับเอาความโกรธ
สิ่งที่ชอบใจ รับเอา  
ด้วยความสมัครใจ  ความพอใจ
สิ่งที่ไม่ชอบใจ รับเอา
ด้วยความโกรธ  รับเอา ทั้งสองอย่าง
ไม่ยอมทิ้ง...ทุกอย่าง
ส่วนพระพุทธเจ้า ทรงรับเสมอภาค
ทรงรับ  แล้วทิ้งเลย
คือในพระทัยของพระองค์  ไม่มีเสียแล้ว
ไม่ทราบจะเอาไปไว้ที่ไหน  ไม่มี ที่เก็บไว้
เหตุนั้น...
ให้ยกบูชาพระพุทธเจ้า ให้หมดทุกสิ่ง ทุกอย่าง
แล้วเรา...
ก็ไม่ต้องเอาอะไร  คราวนี้
ทิ้ง...ได้แล้ว ของเอา คือ...
ของว่าง...ของสงบ...ของเยือกเย็น นั่นแหละ
เป็นของตอบแทน
ถ้าเราทิ้งได้  มันก็ได้ตรงนี้  พูดง่ายๆ ว่า...
พระพุทธศาสนาสอนให้ ทิ้ง...
ทิ้งแล้ว...จึงได้  
ถ้าไม่ทิ้ง  เรา...ก็ไม่ได้

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
Cr.เพจ วัดพระธาตุขุนบง

Image by Grey85 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

พลังที่เราทั้งหลายควรเจริญขึ้นมา


ใครชอบใจเรื่องพลังละก็
เฉลียวใจกันบ้างนะว่า
พระพุทธเจ้ากล่าวถึงพลังอะไรที่ควรเจริญ
อย่าง “พละ ๕” เคยได้ยินใช่มั้ย
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
นั่นแหละพลังที่เราทั้งหลายควรเจริญขึ้นมา
เพราะพลังเหล่านี้
คือพลังที่ทำให้จิตใจเราเองเป็นพระแท้ๆ ขึ้นมา

อ.สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา

Image by 0fjd125gk87 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

การภาวนานั้นคือ การรับรู้อารมณ์ใด ก็ทิ้งทันที


การภาวนานั้นคือ
การรับรู้อารมณ์ใด
ก็ทิ้งทันที 
ก้าวสู่ขณะใหม่อีกขณะหนึ่ง
เปรียบดังหัวเรือซึ่งเหินอยู่เหนือยอดคลื่น
ไม่อาจพิศวาสคลื่นลูกใดได้นานๆ 
ฟันฝ่าไปเรื่อยจนกว่าจะบรรลุจุดหมาย 

ท่านเขมานันทะ

Image by StarFlames from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

เรียกว่ามองข้ามช็อตไปได้


ถ้าเรายกจิตให้อยู่เหนือโลกธรรม 
หรือเหนือความเป็นคู่ 
ก็จะเห็นโลกและชีวิตได้ไกลขึ้น 
เราจะไม่ติดอยู่กับการมีหรือการเสีย 
เพราะรู้ดีว่าวันนี้ถึงได้มา 
พรุ่งนี้ก็ต้องเสียไป 
วันนี้ได้รับคำสรรเสริญ 
พรุ่งนี้ก็หนีไม่พ้นคำนินทา 
วันนี้เขารักเรา พรุ่งนี้เขาอาจจะเกลียดเรา 
การยกจิตสู่ระดับโลกุตระ 
จะช่วยทำให้เรารู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง 
ไม่ติดอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า 
เพราะรู้ดีว่าวันหน้าทุกสิ่งทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไป 
เรียกว่ามองข้ามช็อตไปได้

พระอาจารย์ไพศาล  วิสาโล

Image by KIMDAEJEUNG from pixabay 

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

อย่าเข้าไปมี ไปเป็น


ละความยินดียินร้าย
ในทุกความรู้สึก ในทุกความคิด
อย่าเข้าไปมี ไปเป็น
ในขณะจิตปัจจุบันของการรับรู้
ปล่อยให้ สิ่งถูกรู้ และสิ่งรู้
เป็นเพียงธรรมชาติล้วนๆ
ที่ละคลายถ่ายถอนกันเอง

อาจารย์ปู่ เอกธาตุ

Image by KIMDAEJEUNG from pixabay 

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

รู้จริงนั้นรู้ได้อย่างไร


ท่านพ่อลี สอนว่า ....
รู้จริงนั้นรู้ได้อย่างไร 
รู้จริงนั้นรู้อย่างนี้คือ 
รู้ได้สองหน้า 
ละได้สองทาง 
วางได้ทั้งหมด 
คือ รู้ของเที่ยง รู้ของไม่เที่ยง 
รู้ทุกข์ รู้สุข 
รู้อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน 
รู้อัตตา คือตัวตน 
นี่เรียกว่า รู้ได้สองหน้า 
ไม่ยึดถือในสิ่งเที่ยง และไม่เที่ยง 
ไม่ยึดถือทุกข์และสุข 
ไม่ยึดถือในอัตตาและอนัตตา 
.
ที่เรียกว่า ละได้สองทาง วางได้ทั้งหมด 
ไม่ยึดเอาอดีต อนาคต ปัจจุบัน 
จิตนั้นจึงไม่ใช่จิตไปข้างหน้ามาข้างหลัง 
ตั้งอยู่ก็ไม่ใช่ 
เมื่อทำได้เช่นนี้เรียกว่า 
วางได้ทั้งหมด 
ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปติสฺสติมตฺตาย 
อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญจิ โลเก 
อุปาทิยติ 
ไม่ยึดถือสิ่งใดๆ ทั้งหมดในโลกนี้

ท่านพ่อลี ธัมมธโร

Cr.เพจ ลูกศิษย์ท่านพ่อลี

Image by Lancier from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




 

จึงพบ ใจที่เป็นพุทธะ


เมื่อ ปล่อยวาง “ความปรุงแต่ง”
และไม่โหยหา “ความไม่ปรุงแต่ง”
ก็ สิ้นยึด ทั้งสังขารและวิสังขาร
จึงพบ ใจที่เป็นพุทธะ
ใจที่ รู้จริง รู้แจ้ง รู้พ้น 
สิ้นอวิชชา กิเลสตัณหา

หลวงตาณรงศักดิ์ ขีณาลโย

Image by Henryphoto from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




 

โดยนัยนี้ ความสุขก็เกิดขึ้นเอง


มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้ความอยาก
ความดิ้นรนออกหน้าแล้ววิ่งตาม 
เหมือนวิ่งตามเงาของตนเองในเวลาบ่าย 
ยิ่งวิ่งตาม ก็ดูเหมือนเงาจะห่างตัวออกไปทุกที 
ทุกคนต้องการและมุ่งมั่นในความสุข 
แต่ความสุขก็เป็นเหมือนเงานั้นเอง 
ความสุขมิใช่เป็นสิ่งที่เราจะต้องแสวงหาและมุ่งมอง 
หน้าที่โดยตรงที่มนุษย์ควรทำนั้นคือ 
การมองทุกข์ให้เห็น พร้อมทั้งตรวจสอบ
พิจารณาสาเหตุแห่งทุกข์นั้น 
แล้วทำลายสาเหตุแห่งทุกข์เสีย 
โดยนัยนี้ ความสุขก็เกิดขึ้นเอง 

พระอานนท์พุทธอนุชา
โดย อาจารย์วศิน อินทสระ

Image by NIL-Foto from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา





 

ถ้าจิตว่างรู้ที่ความว่าง ถ้าจิตคิดรู้ที่ความคิด


ถ้าหากว่าท่านผู้ใดขี้เกียจ 
หรือไม่มีอะไรจะคิด
ก็ให้กำหนดจิตรู้ที่จิตเฉยๆ 
ถ้าจิตว่างรู้ที่ความว่าง 
ถ้าจิตคิดรู้ที่ความคิด 
ว่างรู้ที่ความว่าง 
คิดรู้ที่ความคิด 
ไล่ตามกันไปอย่างนี้ 
เมื่อเราฝึกหัดจนคล่องตัว จนชำนิชำนาญ 
ทีหลังเราอาจจะไม่ได้ตั้งใจกำหนดรู้
อารมณ์จิตหรือความคิด 
สติก็ทำหน้าที่ตามรู้คอยควบคุม 
เมื่อมีสติสัมปชัญญะ จิตของเราก็รู้ว่า
อะไรดีอะไรชั่ว อะไรผิด อะไรถูก 
มันจะรู้ของมันขึ้นมาเอง..

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

Image by NiklasErnst from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

ทุกข์เพราะไม่รู้ทันความคิด



คนเราไม่ได้ทุกข์เพราะความคิด
แต่ทุกข์เพราะไม่รู้ทันความคิด
ที่สำคัญแยกแยะไม่เป็น
ระหว่างความคิดที่มันคิดขึ้นเอง
กับความคิดที่เราตั้งใจคิด
ซึ่งถ้าเรารู้ทันความคิดที่มันคิดขึ้นเอง
เราจะเห็นกลไกการทำงานของขันธ์
ไม่ว่าจะเป็นสัญญาขันธ์. สังขารขันธ์ 
ซึ่งแน่นอนว่าการมองเห็นอย่างนั้น
จะทำให้เราเห็นตามความเป็นจริง
และยิ่งกว่านั้น เราจะเห็นอาการ
ของการหลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
มีตัณหาอุปาทานกับความคิดที่มันเกิดขึ้น. 
อันนั้นต่างหากที่ทำให้เราเป็นทุกข์   
เพราะถ้าเราไปเข้าใจว่าเราทุกข์เพราะความคิด
เราก็จะมุ่งสู่การพยายามไม่คิดหรือกดข่มความคิด
ซึ่งมันเป็นหนทางที่ผิด
แต่ถ้าเราเข้าใจว่าเราทุกข์
เพราะเราไม่รู้ทันความคิด
เราก็จะมุ่งสู่การเจริญสติเรียกว่าเจริญมรรค 
เพื่อให้ความรู้สึกตัวนั้นไปรู้เท่าทันตามความเป็นจริง

พระอาจารย์ครรชิต อกิญจโน

Image by KELLEPICS from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

ผู้รู้ต้องสอนต้องพิจารณา


การปฏิบัติก็เช่นกัน 
เมื่อเราดูจิตของเราอยู่ 
ผู้รู้ดูจิตเจ้าของ 
ผู้ใดที่ตามดูจิต 
ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงมาร
จิตอันหนึ่ง ผู้รู้อันหนึ่ง 
รู้ออกมาจากจิตนั่นแหละ 
ผู้รู้จะตามดูจิต 
ผู้รู้นี้จะเกิดปัญญา 
จิตนั้นคือความนึกคิด 
ถ้าพบอารมณ์นั้นก็แวะไป 
ถ้าพบอารมณ์อีกมันก็แวะไปอีก 
มันเข้าจับทันที เหมือนกับควายนั่นแหละ
เมื่อมันเข้าจับ ผู้รู้ต้องสอนต้องพิจารณา 
จนมันทิ้ง อย่างนี้จึงสงบได้ 
จับอะไรมาก็มีแต่ของไม่น่าเอา 
มันก็หยุดเท่านั้น 
มันก็ขี้เกียจเหมือนกัน 
เพราะมีแต่ถูกด่าถูกว่าเสมอ 
ทรมานมันเข้า ทรมานเข้าไปถึงจิต 
หัดมันอยู่อย่างนี้แหละ

หลวงปู่ชา สุภัทโท

Image by Erik_Karits from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




 

อย่าเอามาเป็นอุปกรณ์ในการทำลายตัวเอง


ตัดความคิด ตัดอย่างไร
ตัดความคิด หยุดความคิด
หยุดมันได้ไหม
คำว่า ‘ตัด’ คือ ตัดอะไร
‘ตัดใจ’ ไม่ใช่ไป ‘ตัดคิด’
ตัดใจ.. ตัดใจที่ไม่ไปยุ่งกับมัน
ไม่ไปกับมัน
.
นั่นคือ การตัดความคิด ตัดใจ
ตัดใจที่ไม่ไปยุ่งกับมัน ไม่ไปกับมัน
นั่นเรียกว่า ‘ตัด’
.
‘หยุดคิด’ ไม่ได้ หมายความว่า
หยุดความคิด
แต่หยุดจิตที่จะไปทำอะไร
หยุดพฤติกรรมของจิต..
ที่จะไปทำอะไรกับความคิด
หยุด หยุด หยุด อยู่แค่ 'รู้' มันพอ
เอามันมาเป็นอุปกรณ์ในการฝึก
อย่าเอามาเป็นอุปกรณ์ในการทำลายตัวเอง
.
อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง
เขาคือ อุปกรณ์ในการฝึกเรา
แต่เราชอบเอามาทำร้ายตัวเราเอง
เจ็บตัวฟรี แล้วก็ไม่มีอะไรดีเลยภาวะพวกนี้
และเดี๋ยวเขาก็จะผ่านไป ผ่านไป

พระอาจารย์กระสินธุ์ อนุภัทโท

Image by asundermeier from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไม่ใช่สิ่งลึกลับ


การตัดเวร ตัดกรรม
คือการตัดความคิดปรุงแต่ง
การหยุดความคิดปรุงแต่ง
คือการหยุดวัฏสงสาร
.
การก้าวข้ามพ้นจากโลกทั้งสาม
หมายความว่าอย่างไร
คือการยกจิตอยู่เหนือความเป็นคู่
จากความดีความชั่ว
ความกลัวความกล้า
ยินดียินร้าย
.
โลกทั้งสามจะดับหายไป
ถ้าได้ลุถึงขั้นอยู่เหนือความคิด
เมื่อความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้น
ก็เข้าไปสู่ภูมิทั้งสาม
เมื่อความคิดหยุด
ก็ออกมาจากภพทั้งสาม
.
การก้าวพ้นจากความเป็นปุถุชน
ไปสู่ความเป็นพุทธะ
ทำให้สิ้นกรรม
.
จงดูแลรักษาความรู้สึกตัวทั่วพร้อมให้ต่อเนื่อง
เมื่อใดปุถุชนเห็นธรรมชาติของตนเอง
อุปาทานทั้งปวงก็หมดไป
ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไม่ใช่สิ่งลึกลับ
แต่สามารถพบมันได้ในปัจจุบันขณะ...
อกาลิโก

คำสอนพระโพธิธรรม ตั๊กม้อ
หนังสือปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรม
โดย ธีรขณะ

Image by JerryDing from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

เพื่อไม่ต้องการได้อะไรเลย


คนส่วนมากต้องการธรรมะ
เพื่อการอยู่ได้กับโลก
จึงศึกษาปฏิบัติเพื่อจะได้ชีวิตที่ดี
ผู้เบื่อหน่ายโลก
ย่อมปรารถนาธรรมะเพื่อออกจากโลก
ศึกษาปฏิบัติเพื่อไม่ต้องการได้อะไรเลย

การเดินทาง แห่งจิตวิญญาณ

Image by Nennieinszweidrei from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

จุดหมายปลายทาง คือ “การปล่อยการวาง”


ธรรมชั้นสูง มันไม่มีอะไรหรอก ไม่มีอะไรทั้งสิ้น..
คำว่า “ธรรมชั้นสูง” นั้น..
การฝึกหัดปฏิบัติ ขัดเกลากิเลส..
ถึงจะขัดเกลากิเลสมากมายถึงขนาดไหน..
จุดหมายปลายทาง คือ “การปล่อยการวาง”
เข้าสู่ความว่าง.. เข้าสู่ความบริสุทธิ์
แม้แต่จิต.. เราก็ต้องวาง..
นั่นแหละ..รู้ธรรม.. แล้วก็วางธรรม 
ปฏิบัติเพื่อที่จะรู้  เพื่อที่จะละ  เพื่อที่จะวางในที่สุด
ถึงจะถึงจุดหมายปลายทางได้

พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร

Image by -MECO- from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




 

ท่านผู้ไม่ติดอยู่ในจิต ไม่ติดอยู่ในธรรม


ท่านผู้ไม่ติดอยู่ในจิต
ไม่ติดอยู่ในธรรม
ไม่ติดอยู่ใน ผู้รู้ นั้น
คือ “พระอรหันต์"
เพราะรู้เท่าจิต รู้เท่าธรรม
รู้เท่า ผู้รู้ โดยแท้จริง แล้ว
จิตก็ดี ธรรมก็ดี ผู้รู้ก็ดี จึงไม่มีพิษ
ไม่เป็นปัจจัยส่งต่ออะไรๆ 
ให้เป็นไปในอนันตรเหตุ อนันตรผล
อันเป็น สหชาติ ให้วนเวียนในสังสารวัฏ

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

Image by xuanduongvan87 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

แค่รู้ อย่างอิสระ


จงออกจากความคิด
ปล่อยจิตรู้ให้อิสระ
ความคิดทำงานร่วมกับร่างกาย
ปล่อยให้เขาทำงานกันไป
จิตรู้ เพียงดูอยู่เฉยๆไม่ไปแทรกแซง
เขาทำงานเสร็จก็กลับบ้านกันเอง
งานของจิตรู้ แค่รู้ อย่างอิสระ

อาจารย์ปู่ เอกธาตุ

Image by xuanduongvan87 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

การภาวนาไม่ต้องไปตัดสังขาร


การภาวนาไม่ต้องไปตัดสังขาร
จิตไม่ปรุงแต่งจะมีสังขารตัวไหนต้องไปตัด
เรามาค้นหาผู้รู้ ค้นหาจิตของเราให้ชัดๆ
เดี๋ยวตัดเองหมดเลย
ที่เราไปนั่งตัดกันเพราะเราไม่เห็นจิต
ตัดเท่าไหร่ก็ไม่หมด
พิจารณาร่างกายของเราเป็นอสุภกรรมฐาน 
เป็นไตรลักษณ์
พิจารณาไปก็เหมือนเดิม
จิตใจเราก็ไม่เปลี่ยน
นิสัยเหมือนเดิมเลย
มันเปลี่ยนแค่สัญญา ชั่วครั้งชั่วคราว
แต่ไม่เปลี่ยนด้วยธรรมชาติ
ถ้าจิตเราเปลี่ยนด้วยธรรมชาติมันก็จบเลย
จิตจริงๆ มันจบได้

หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล

Image by Erik_Karits from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

จุดมุ่งหมายของธรรมอันเป็นที่สุด


จุดมุ่งหมายของธรรมอันเป็นที่สุด 
คือ จะแยกน้ำออกจากบ่อ 
แยกน้ำออกจากโอ่ง 
แยกต้นไม้ออกจากแผ่นดิน 
และทำของที่มี ให้ไม่มี

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ สิริจนฺโท)

Image by roegger from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง


เมื่อใดที่ใจของเรา
วางของหนัก ของร้อนลง
ใจก็เบา ว่างสบายอยู่แล้วนั่นเอง
นั่นแหละ คือ การปฏิบัติธรรม
.
“การปฏิบัติธรรม” คือ การคืนสู่ความเป็นธรรมชาติ
การปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายความว่า
ต้องเป็นตอนนั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมเท่านั้น
อันนั้น คือ รูปแบบเบื้องต้นเท่านั้นเอง
.
การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง ก็คือ…
ใจมันคลายจากเรื่องราวต่าง ๆ ในโลก
วาง... จากสิ่งที่ยึด ที่หลงอยู่
.
เมื่อใจวางจาก ของหนักของร้อน
ใจก็ว่าง เบาสบาย
และดำรงอยู่กับความเบา
ความสบาย ความสงบสุข
ได้เป็นปัจจุบันธรรมนั่นเอง
.
นั่นแหละ... คือ การฝึกปฏิบัติธรรม
ก็ค่อย ๆ เพียรฝึกปฏิบัติไป
.
ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
18 มกราคม 2565
Cr.เพจเดินจิต..

Image by Couleur from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




 

แค่กลับสู่ภาวะธรรมชาติแห่งพุทธะ


เราไม่ต้องบรรลุให้ถึงอะไรเลย
เราแค่กลับสู่ภาวะธรรมชาติแห่งพุทธะ
โดยไม่ต้องพยายามใดๆ ทั้งสิ้น

ท่านพักชก รินโปเช

One does not attain anything, 
one effortlessly reassumes the natural state of Buddhahood.

Phakchok Rinpoche

Image by Froeschle from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

จุดเริ่มต้นของการมีดวงตาเห็นธรรม


การรับรู้รสความเปลี่ยนแปลงของโลก..
ว่าเป็นสิ่งธรรมดา (เช่นนั้นเอง)..
เป็นจุดเริ่มต้นของการมีดวงตาเห็นธรรม..
และขึ้นชื่อว่าโลกแล้ว..
ไม่เคยมีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง..
ยอมรับตามจริง..เป็นบ่อเกิดของปัญญา

ตื่นทางปัญญา จิตกลับสู่เดิมแท้
(อิโตมิ จัง)

Image by ELG21 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




 

ทักษะหนึ่ง ที่พวกเราทุกคนพึงให้ความสำคัญ


ความทุกข์ในชีวิตที่เราต้องประสบ
ความเจ็บปวดต่าง ๆ สิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจ
เราจะสามารถสลัดสิ่งเหล่านี้
ออกไปจากชีวิตของเราได้
มันไม่ง่ายเหมือนกายภาพภายนอกนะ
.
คนนี้ไม่ดี ทำให้เราทุกข์ใจ
..ไล่เขาก็ออกไป
แต่สิ่งที่มันอยู่ในใจเรา
..เราสลัดไม่ออกนะ
ความบีบคั้นของจิตใจนี่ 
เราสลัดสิ่งเหล่านี้ไม่ออก 
เอาเงินจ้างให้มันออกไปจากชีวิตของเรา
ก็ทำไม่ได้นะ...แต่สติสัมปชัญญะทำได้นะ
.
เพราะฉะนั้น จึงเป็นทักษะหนึ่ง
ที่พวกเราทุกคนพึงให้ความสำคัญ
เพราะว่า มันเป็นประโยชน์เกื้อกูล
ในทุกๆ เรื่องในชีวิตของเรา
ยังไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง..
ประโยชน์ในเรื่องของการหลุดพ้นจากวัฏฏะนะ
แค่ประโยชน์เบื้องต้นที่เราจะได้รับ
คือ มันทำให้เราหลุดออกจากความทุกข์
ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในชีวิตต่าง ๆ
แล้วก็จะทำให้ใจเรามีความมั่นคงขึ้นมา
.
การปล่อยวาง...
เป็นกำลังของสติสัมปชัญญะนะ
มันไม่ใช่เรื่องของการใช้ตรรกะ
ใช้สมองในการคิดปล่อยวาง
มันไม่ง่ายเหมือนการวางของนะ
นึกอยากจะวาง..ก็วาง 
อย่างเวลาเราคิดให้ไม่สบายใจมาก 
อยากจะปล่อยวาง ก็วางไม่ออกหรอก 
มันก็ติดอยู่นั่นแหละ
.
ใครๆ ก็รู้ว่าอารมณ์ที่มันทุกข์ใจ...มันไม่ดี 
แต่ว่าอยากจะออกมา
มันออกมาไม่ได้ ปล่อยวางไม่ได้
เพราะฉะนั้น การอบรม #สติปัฏฐาน4
จะทำให้ท่านทั้งหลายมีขีดความสามารถ
ที่จะหลุดออกจากอารมณ์ต่างๆ
.
หลุดจากความเครียด
หลุดจากความวุ่นวายใจ 
หลุดจากความทุกข์ทรมานต่างๆ
ยิ่งในยุคสมัยนี้ที่ความทุกข์ส่วนใหญ่
ที่คนประสบ คือ ความบีบคั้นของจิตใจ
ก็จะทำให้คนเป็นอิสระจากอารมณ์ได้ 
ปล่อยวางอารมณ์ต่าง ๆ ได้
จึงเป็น #ทักษะที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยนี้
.
การจัดการกับอารมณ์ การจัดการกับความคิดตัวเอง
จะเกิดขึ้นเมื่อมีกำลังของสติสัมปชัญญะ
ทำความรู้สึกตัวขึ้นมาเนืองๆ 
จนเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา 
อันนี้คือ ประโยชน์เบื้องต้นเลย Basic เลย 
ที่เราจะได้รับจากการปฏิบัติธรรมนะ 
ก็คือ การที่เราจะเป็นอิสระจากอารมณ์ต่างๆ
หลุดออกจากอารมณ์ต่างๆ 
ที่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นอารมณ์
ที่ทำให้เราทุกข์ใจ วุ่นวายใจนั่นแหละนะ
.
เพราะฉะนั้น เมื่อเราพัฒนาสติ
จนเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา
ก็ให้ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมาได้เนือง ๆ
นั่ง...ก็รู้สึกตัวทั่วพร้อม 
ยืน...ก็รู้สึกตัวทั่วพร้อม
เดิน...ก็รู้สึกตัวทั่วพร้อม 
จะทำอะไรอยู่ คู้เหยียดเคลื่อนไหว
ก็ระลึกรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมาอยู่เสมอ
.
ฝึกจนสามารถดำรงอยู่ได้เป็นวิหารธรรม 
เป็นเครื่องอยู่ของจิตของเรา
คำว่า วิหารธรรม ก็คือ ที่อยู่ เครื่องอยู่
อย่างกายภาพภายนอก
เราก็ต้องมีบ้านเป็นที่อยู่อาศัย
อิงแอบ หลบร้อน หลบหนาว
เป็นความมั่นคงของการมีชีวิต 
แล้วภายในใจเราล่ะ? 
ภายในใจเรา ก็ต้องมีเครื่องอยู่เช่นกัน
เพราะว่า ถ้าใจเราไม่มีเครื่องอยู่ปุ๊บ
ใจเรา ก็จะหลงอยู่กับกระแสของโลก
เกิดความเครียด เกิดความวุ่นวายใจ
เกิดความเร่าร้อนกระวนกระวายต่างๆ
.
แต่พอใจมีเครื่องอยู่ 
มีความตั้งมั่นอยู่ภายใน 
เราจะพบกับชีวิตที่มันสงบเย็น
ไม่เร่าร้อน ไม่วุ่นวาย
บางทีมันก็แว็บไปบ้าง
ก็สามารถตั้งสติกลับขึ้นมาใหม่ได้นะ
.
เพราะฉะนั้น ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
เป็นวิหารธรรม ที่ทุกคนควรเข้าถึง 
เป็นเครื่องอยู่ของจิต
มันจะทำให้เรามีชีวิตที่มั่นคง
.
ความมั่นคงที่แท้จริง ต้องเริ่มจากภายใน 
ก็คือ ใจของเรานั้นมีความมั่นคง
มีความมั่นคงทั้งภายใน 
และก็มีความมั่นคงทั้งภายนอก
แล้วมันจะนำไปสู่ชีวิตที่เราสงบเย็นได้
.
ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
6 กุมภาพันธ์ 2564

Cr.เพจ เดินจิต..

Image by wal_172619 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา