วาสนาบุญแก่กล้า โลภโกรธหลงจะหายไปเอง



ถ้าวาสนาบุญของเราท่านทั้งหลายมีแก่กล้า 
ยังทานศีลภาวนา หรือสมถภาวนา
ของเราท่านทั้งหลาย ให้แก่กล้าบริสุทธิ์ถึงที่แล้ว 
ความโลภ โกรธ หลง 
ก็จะหายจากจิตจากใจของเราไป
โดยที่ไม่ต้องขับไล่ไม่ต้องไสหนี 
มันจะหายไปเอง

หลวงปู่ครูบาพรหมา พรหมจกฺโก

“การภาวนา” คือรากแก้ว




“การภาวนา” คือรากแก้ว
ถ้าไม่มีการภาวนาก็อย่างนั้นละ เหมือนกับว่า ต้นไม้ไม่มีรากแก้ว
เอนโน้นเอนนี่ล้มได้ง่าย
ถ้ามีการภาวนาแล้ว จิตใจหนักแน่นมั่นคง...


หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ดูใจทัน แก้ปัญหาได้



          เรื่องของใจ จะทำให้ใจเป็นสุข ใจจะปล่อยวางจนถึงขั้นเนกขัมมะ ใจออกจากกาม ใจวางเฉยได้ ต้องทันใจตัวเอง ดูใจทัน แก้ปัญหาได้

                                                                                              พระอาจารย์มานพ อุปสโม

คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาคิด



คนไทยเราส่วนใหญ่ยังนับถือศาสนาคิด
ไม่ได้ถือศาสนาพุทธ 
ถึงแม้จะบอกตัวเองว่าเป็นพุทธก็ตาม
คือพึ่งแต่ความคิด ถือเอาความคิด
เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ
ไม่ได้ถือเอาความรู้เป็นที่พึ่ง มันก็เลยทุกข์
เพราะไปเชื่อแต่ความคิดปรุงแต่ง 
แต่ถ้านับถือศาสนาพุทธ 
จะต้องเอาความรู้จริงเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ
ถึงจะหมดทุกข์ได้ในชาตินี้แน่นอน

หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท

จิตไม่กระเพื่อมออก นำสุขมาให้เสมอ



          ...จิตใจของผู้ใดอยู่ในอาการสงบ ไม่กระเพื่อมออก ไม่ฟุ้งซ่านออก ...จิตใจของผู้นั้นเปรียบได้ประดุจเทพเทวดา นำสุขมาให้แก่ตนเองเสมอ

                                                                                                      หลวงพ่อไม อินทสิริ

ความสงบคือใจวางอารมณ์ภายนอก




ความสงบในที่นี้ หมายถึง ใจของเรามันวางจากอารมณ์ภายนอก
แม้สิ่งใดจะผ่านเข้ามา เช่น 
อย่างรูปผ่านเข้ามาทางตา เสียงผ่านเข้ามาทางหู 
กลิ่นผ่านเข้ามาทางจมูก รสผ่านเข้ามาทางลิ้น อย่างนี้ เป็นต้น
ใจไม่ยึด ใจไม่ถือ ใจวางเสีย นั้นแหละ ...
เรียกว่า ได้รับความสุขกาย สบายใจ


หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป

ช่วงการปฏิบัติธรรมและชีวิตประจำวันสำคัญเท่าเทียมกัน



          บางคนเฝ้าแต่รอเวลาที่จะไปปฏิบัติธรรมครั้งต่อไป และไม่ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาของชีวิตประจำวัน พวกเขามองไม่ออกว่าโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองนั้นมีอยู่ตลอดเวลาและการฝึกนั้นทำได้ทุกที่ทุกเวลา ช่วงการปฏิบัติธรรมและชีวิตประจำวันมีความสำคัญเท่าเทียมกัน

                                                                                                    พระอาจารย์สุมโนภิกขุ

ทำงานด้วยสติต่อเนื่อง จะไม่เหนื่อย



โดยปกติ เราทำอะไร ถ้าสติของเรามีความต่อเนื่อง 
พอเราทำเสร็จจะไม่เหนื่อย จะมีความชื่นใจ  
เป็นหลักธรรมชาติอย่างหนึ่งของจิตใจ...

พระอาจารย์ปสันโน

ขณะแห่งความรู้สึกตัวทั่วถึง ...




ขณะแห่งความรู้สึกตัวทั่วถึง 
เป็นขณะแห่งภาวนา


พระอาจารย์ณรงค์ อาจาโร

ใช้ทุกข์ดับทุกข์



ใช้ทุกข์ดับทุกข์ หมายถึง 
ดูใจที่กำลังเป็นทุกข์ 
พอดูใจที่กำลังเป็นทุกข์ 
ก็หยุดคิดถึงเรื่องที่ทำให้ใจทุกข์ 
ใจของเราก็เลยไม่ทุกข์ ...
พอจะเข้าใจไหม . . .

พระอาจารย์มานพ อุปสโม

ความเพียรเพ่ง จะแผดเผาตัณหา



ความเพียรเพ่งอยู่ไม่หลงใหลไปตามตัณหาทั้งหลาย
แผดเผาตัณหาเหล่านี้ให้หมดไป สิ้นไป
ก็คือว่าไม่ตามตัณหา ความอยาก ความปรารถนา
อันบังเกิดในดวงจิตดวงใจนั่นเอง
มันจะมีความดิ้นรนวุ่นวายไปตามตัณหาอย่างใดก็ตาม
ให้สงบอยู่ ให้รู้อยู่ ให้แจ่มแจ้งอยู่ ณ ภายในดวงใจ

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

เห็นกายตามความเป็นจริง



           ความเห็นที่ถูกนั้นคือ “การเห็นจิตตามความเป็นจริง เห็นกายตามความเป็นจริง” คือเห็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ของตนและของคนอื่นสักแต่ว่าเป็นธาตุ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตนตัว เราเขา และเห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเราสามารถเห็นได้แบบนี้แล้ว เรียกว่า “เห็นกายตามความเป็นจริง”

                                                                                                 หลวงปู่คำดี ปภาโส

ความหลงที่น่ากลัวคือเข้าไปเป็น




ความหลงที่น่ากลัวคือเข้าไปเป็น 
ความไม่หลงคือเห็นธรรมดาๆ เป็นเช่นนั้นเอง 
ทุกข์ในอริยสัจคือเข้าไปเป็น 
เวทนามีอยู่ตามธรรมชาติ 
ร้อนหนาวมีอยู่ตามธรรมชาติ 
แต่เมื่อเข้าไปเป็นนั้น จึงจะเรียกว่าทุกข์ 
ถ้าเห็นมันสุข เห็นมันทุกข์ นั่นก็ปลอดภัยแล้ว 
แต่ถ้าเป็นผู้สุข เป็นผู้ทุกข์ นั่นอันตราย 
จะเป็นภพเป็นชาติเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป 

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

คุณภาพชีวิตอยู่ที่มุมมองและวิธีปฏิบัติ




         คุณภาพของชีวิตอยู่ที่มุมมองและวิธีปฏิบัติของเราต่างหาก ถ้าเราฝึกอบรมจิตใจของเราให้เป็นจิตที่โปร่งโล่งเบาสบาย เราก็ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งวัตถุภายนอก หรือหาสิ่งประกันให้กับชีวิต เพราะจิตที่สบายเช่นนั้นแหละ จะเป็นประกัน เป็นที่พึ่งที่แท้จริงของเราตลอดไป

                                                                                                    พระอาจารย์สุเมโธ

อยากรู้พระพุทธเจ้าสอนอะไร ให้ดูจิต



          พระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ไม่อาจค้นพบได้ด้วยตำราต่างถ้าท่านต้องการจะรู้เห็นจริงด้วยตัวของท่านเองว่า พระพุทธเจ้าตรัสสอนอะไร ท่านไม่จำเป็นต้องวุ่นวายกับตำรับตำราเลย
         จงเฝ้าดูจิตของท่านเอง
พิจารณาให้รู้เห็นว่า ความรู้สึกต่างๆ (เวทนา) เกิดขึ้นและดับไปอย่างไร ความนึกคิดเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร อย่าได้ผูกพันอยู่กับสิ่งใดเลย จงมีสติอยู่เสมอ เมื่อมีอะไรๆเกิดขึ้นให้ได้รู้ได้เห็น นี่คือทางที่จะบรรลุถึงสัจจธรรมของพระพุทธองค์

                                                                                                       หลวงปู่ชา สุภัทโท

ชอบอิฏฐารมณ์คือชอบทุกข์



          บุคคลชอบอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) ก็ชื่อว่าชอบทุกข์นั่นเอง เมื่อชอบทุกข์ ก็ชื่อว่าไม่เบื่อหน่ายในทุกข์...

                                                                                                หลวงปู่สาม อกิญจโน

การปล่อยวางไม่ใช่คิดเอานึกเอา



          จิตใจไม่ถึงธรรม การปล่อยวางมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร..การปล่อยวางไม่ใช่คิดเอานึกเอา มันต้องมีพลังธรรม..พลังธรรมที่ว่านี้แล ที่บอกให้พวกเราปฏิบัติๆๆๆๆๆๆ นี้แล

                                                                                              พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ

การรู้ธรรม...




การรู้ธรรม โดยผู้อื่นมาแนะนำ ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ก็สู้เรารู้เองเพียงครั้งเดียวไม่ได้

หลวงปู่หลุย จันทสาโร

ตัวละคือความรู้สึกที่บริสุทธิ์ล้วนๆ



อย่าไปสนใจกิเลส 
มันจะเกิดหรือไม่เกิด ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร 
ให้สนใจความรู้ตัวที่บริสุทธิ์ล้วนๆ  
เพราะว่าในความรู้สึกตัวล้วนๆ นั้น
ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ...
เมื่อรู้ผนึกแน่นอนอย่างนี้แล้ว 
พอกระทบกับอารมณ์ที่เป็นราคะ โทสะ โมหะ ก็จะไม่เอาเอง 
ไม่มีใครละ ราคะ โทสะ โมหะได้ 
ตัวละไม่ใช่เรา ตัวละคือความรู้สึกที่บริสุทธิ์ล้วนๆ

เขมานันทะ

เรียนเรื่องใจจบแล้ว คือพระอเสขะ



          ถ้าเรียนเรื่องใจจบแล้ว ท่านว่า นั่นแหละ พระอเสขะ ผู้ไม่ต้องศึกษา จบในการศึกษา แต่ถ้านอกจากนั้นแล้ว ถึงจะเรียนปริญญาเอกกี่ร้อยกี่พันใบก็ยังไม่จบ ยังเป็นเสขะอยู่ ยังต้องศึกษา ศึกษาเรื่องนั้น ศึกษาเรื่องนี้ ศึกษาตะครุบเงาไปเรื่อย

                                                                                        หลวงพ่ออินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก

ความสุขที่แท้จริง อยู่ที่การทำใจให้สงบ




ความสุขที่แท้จริง

มันอยู่ที่การทำใจให้สงบ
ความสุขอย่างอื่นนั้นมันไม่แน่นอนหรอก
มันอิงอาศัยวัตถุต่างๆ ภายนอก 
เมื่อวัตถุเหล่านั้นแปรปรวนไปแล้ว...
ความสุขนั้นมันก็หาย..
ส่วนความสุขอันเกิดจากความสงบนี่
ไม่ได้อิงอาศัยสิ่งใด 
อิงอาศัยแต่ “สติ” กับ “สัมปชัญญะ” นี่แหละ


หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

ยอมให้อารมณ์เป็นอารมณ์ ให้จิตเป็นจิต



ความยินดีและความยินร้าย 
ความพอใจและความไม่พอใจ
เป็นเรื่องของอารมณ์ต่างหาก 
ให้รู้จักแยกจิตออกจากอารมณ์ 
ยอมให้อารมณ์เป็นอารมณ์ ให้จิตเป็นจิต 
นี่เราจะมีความสบายอยู่ตรงนี้

พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

ภาวนาแล้วอยากเห็นภาพต่างๆ




บางคนภาวนา ไปอยากเห็นภาพต่างๆ เช่น นรก สวรรค์ เทวดา
การที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรแปลก
ที่ว่าไม่แปลกก็เพราะว่า เมื่อเราเห็นแล้ว 
กิเลสของเราก็ยังอยู่เหมือนเดิม
บางคนแถมยังทำให้เกิดกิเลสเพิ่มมากขึ้นอีกเสียด้วย...
คือถือว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ ที่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้
เลยไม่ยอมกราบไหว้ใครทั้งสิ้น จนกลายเป็น สัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์
ปิดกั้นทางมรรค ทางผล ทางนิพพาน ไปโดยปริยาย


หลวงปู่คำดี ปภาโส

ดูอารมณ์เท่ากับกำหนดดูใจ



          ถ้าเรากำหนดดูอารมณ์ภายในใจก็เท่ากับเรากำหนดดูใจไปในตัว ใจมีอารมณ์แห่งความโลภก็ให้รู้ ใจมีอารมณ์แห่งความโกรธก็ให้รู้ ใจมีอารมณ์แห่งราคะก็ให้รู้…ให้เอาสติกำหนดเพ่งดูจุดของอารมณ์นั้นๆ ให้เห็นชัดภายในใจ ไม่นาน อารมณ์ภายในใจ ก็จะอ่อนกำลัง นี้เป็นอุบายวิธี ที่เราหนีไม่พ้น เราก็ต้องสู้แบบตัวต่อตัวด้วยกำลังสติ…

                                                                                         หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ

คนภาวนาจะไม่สงสัย



          คนมีศรัทธาในทาน บางครั้งก็สงสัยในทาน คนมีศรัทธารักษาศีล บางครั้งก็สงสัยในศีล คนภาวนาจนตนเองรู้แจ้งเห็นจริงจะไม่สงสัยในเรื่องศีลทานภาวนา เพราะจิตมันเปิดความจริงออกมาให้เห็นทั้งหมด

                                                                                                หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

ชีวิตที่ไม่มีการปฏิบัติธรรม เหมือนกับแผ่นดินที่ว่างเปล่า



ชีวิตที่ไม่มีการปฏิบัติธรรม
เหมือนกับแผ่นดินที่ว่างเปล่า
เหมือนกับภาชนะที่ปราศจากอาหาร
ย่อมหาประโยชน์อันใดมิได้
ผู้ปฏิบัติธรรม เปรียบเหมือนผู้ทรงพระไตรปิฎก
เหมือนไม้จันทน์ที่อยู่ในป่า 
ย่อมเป็นของหายาก

หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล

ไม่ยึด มันก็ไม่มีทุกข์




หัดไม่ให้ทุกข์ตรงนี้ 
ทุกข์มีอยู่ ก็ไม่ทุกข์
อย่างที่ของอะไรๆ ถ้ามีอยู่
ไม่ยึด มันก็ไม่มีทุกข์
เหมือนกับทุกขเวทนามีอยู่...
ถ้าเราไม่ยึด เราก็ไม่ทุกข์
เราหัดตรงนี้ 
หาความสุขใส่ตัวให้จงได้


หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

จิตมี 3 ขั้น ตรี โท เอก



จิตมี 3 ขั้น ตรี โท เอก
ถ้าตรีก็ต่ำหน่อย ยังวุ่นวายเป็นทุกข์กับเรื่องของโลก
ขั้นโท ก็มีศีลครบ มีเมตตา ทำบุญทำทาน
ขั้นเอกนี่ ดีมาก จิตก็มองดูทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมนุษย์ สัตว์ นรก 
เป็นทุกข์ มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วก็ตายสลาย ผุพังไปกันหมดสิ้น 

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

สุขเป็นความหลงของปุถุชน



ที่เราสมมุติว่าอันนั้นเป็นสุข อันนี้เป็นสุข 
ไม่จริงทั้งนั้น 
ถ้ามันสุขจริง ตายแล้วทำไมมันมาเกิด 
มันไม่มีหรอกเรื่องสุข 
สุขนั้นมันเป็นความหลงของปุถุชนคนใบ้
พระอริยเจ้าทั้งหลาย
ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องของความทุกข์
เป็นเรื่องของความไม่รู้ต่างหาก

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

คำว่าไม่มี หมายถึงจิตไม่เกาะเกี่ยว



          ตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น คำว่าไม่มีอะไร นั้นหมายถึงว่าจิตของเรานั้นไม่ไปเกาะเกี่ยวผูกพันกับของที่มีอยู่ มีผัวก็ไม่ไปเกาะเกี่ยวจนให้เป็นทุกข์ มีเมียก็ไม่เกาะเกี่ยวยึดติดจนให้เป็นทุกข์ มีลูกก็ไม่ไม่ไปเกาะเกี่ยวจนให้เป็นทุกข์ มีการ มีงาน มีรถ มีรา มีเงิน มีทอง ก็อย่าไปเกาะเกี่ยวจนจิตเป็นทุกข์ เมื่อจิตของเราไม่เป็นทุกข์ มีอะไรก็ได้ มีผัว มีเมีย มีลูกก็มีได้ มีบ้าน มีช่อง มีรถ มีรา มีเงิน มีทอง มีข้าว มีของ มีที่ มีทาง มีได้ทั้งนั้น มีแล้วจิตเราไม่มีทุกข์ ก็อาศัยสิ่งนั้นได้อย่างสบา

                                                                                                  ครูบาเจ้าเพชร วชิรมโน

วิธีสร้างบารมีทุกอิริยาบถ



          การสร้างบารมีอยู่ทุกอิริยาบถทุกขณะนี้ ถ้าเผลอสติไปก็กลับมารู้ใหม่ เผลอไปกลับมารู้ใหม่ เผลอไปยึดถืออะไรขึ้นมา พอรู้ก็ปล่อยวาง ทำกันอยู่อย่างนี้ ย้ำกันอยู่อย่างนี้ แล้วบารมีจะเป็นไปเอง จะมีสติปัญญาพอที่จะทำลายกิเลส ตัณหา อุปาทานให้อ่อนกำลังไปทุกวี่ทุกวัน ทุกขณะไปทีเดียว...

                                                                                             ท่าน ก.เขาสวนหลวง

ไม่มีสิ่งใดได้อย่างใจ



          ขนาดกายใจที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด ยังไม่ได้อย่างใจ แล้วสิ่งที่อยู่นอกกายนอกใจ
มีหรือจะได้อย่างใจเรา

                                                                               พระอาจารย์ ครรชิต อกิญจโน

ความรู้สึกตัวเหมือนไม้กวาด



ความรู้สึกตัวเหมือนไม้กวาด
ไม้กวาดผ่านไปตรงไหน 
ตรงนั้นก็สะอาด

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

ความพอดีมีอยู่เฉพาะที่ "ใจ" เท่านั้น



ความสุขในโลกนี้อยู่กับความพอดี 
จะหาความพอดีในโลกนี้ไม่ได้เลย 
เพราะความพอดีไม่มีอยู่ในโลกนี้
แต่ความพอดีมีอยู่เฉพาะที่ "ใจ" เท่านั้น 


 หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ

ผู้ที่มองเห็นโลกว่าไม่จีรัง



ยถา ปุพฺพุฬกํ ปสฺเส
ยถา ปฺสเส มรีจิกํ 
เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ
มตฺจุราชา น ปสฺสติ

ผู้ที่มองเห็นโลกว่าไม่จีรัง 
และหาสาระอะไรมิได้
เช่นเดียวกับคนมองฟองน้ำและพยับแดด
คนเช่นนี้ พญามารย่อมตามหาไม่พบ

ขุทกนิกายธรรมบท ฯ๑๗๐ฯ

ถ้ารู้ทุกข์ตามความเป็นจริง



พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า
ถ้าเรากำหนดรู้ “ทุกข์”
ตรงตามความเป็นจริงแล้ว 
ในขณะนั้นเราก็ได้ละ “สมุทัย” 
ทำ “นิโรธ” ให้แจ้ง 
และเจริญ “มรรค” ให้ถึงพร้อมไปด้วย

พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

รู้ธรรมแต่ปัจจุบันเท่านั้นพอแล้ว



มีสติ ไม่ยึดถือ ไม่เพลิดเพลิน 
ความเพลิดเพลินเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย 
เป็นตัววัฏสงสาร เวียนว่ายตายเกิด 
รู้ธรรมแต่ปัจจุบันเท่านั้นพอแล้ว 
สติ-นิพพาน เห็นสักแต่เห็น ได้ยินสักแต่ได้ยิน 
นิพพานัง ปรมัง สุขขัง

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต 

การนั่งสมาธิ ไม่ต้องรู้อะไรมาก




การนั่งสมาธิ ไม่ต้องรู้อะไรมาก
รู้แต่ว่าหายใจเข้าสบาย
หายใจออกสบายก็พอแล้ว


หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม

รู้ตัวตลอดเวลา คือทำสมาธิตลอดเวลา




การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด 
ถ้าเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา 
เราก็ได้ปฏิบัติสมาธิอยู่ตลอดเวลา

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

พระอริยเจ้าท่านรู้อะไร



           พระอริยเจ้าที่ท่านรู้ ท่านรู้อะไร ท่านก็รู้ทุกข์ แล้วทุกข์มันไม่มีกับเราหรือไง มันก็มี เพราะฉะนั้นทำไมเราจะรู้ไม่ได้

                                                                                                 หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพื่อความสงบอย่างเดียว




การปฏิบัติธรรมนั้น 
ไม่ใช่เพื่อให้ใจพบกับความสงบ
หรือความสุขเท่านั้น 
แต่ยังเพื่อให้เรา สามารถอยู่กับความไม่สงบ 
และความไม่สุขได้ โดยใจไม่ทุกข์


พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

มองเห็นตัวเรา จะมองเห็นโลก



          ....โลก เป็นของกว้างขวาง และหมุนอยู่เสมอ ยากที่จะมองเห็นได้ง่าย ท่านจึงสอนให้เราหยุดหมุนตามโลก ให้มองแต่ตัวของเราอย่างเดียว แล้วเราก็จะมองเห็นโลกได้... 

                                                                                                        ท่านพ่อลี ธัมมธโร 

สติและความรู้สึกตัวต่อเนื่อง จะ "รู้เท่าทัน"



ถ้ากำลังสติหรือว่าความรู้สึกตัวของเราต่อเนื่อง 
เราก็จะ “รู้เท่าทัน”

พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร

เรื่องของกามตัณหาอยู่ที่เราปรุงแต่งเอง



เรื่องของกามตัณหานั้น มันอยู่ที่เราปรุงแต่งเอง
เพราะเราไม่รู้จักสำรวมระวังในหู ตา 
จมูก ลิ้น กาย และใจของเรา
จึงทำให้เกิดความพอใจยินดีในสิ่งต่างๆ นั้น
ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดกามตัณหาขึ้น
และเมื่อเกิดกามตัณหาขึ้น
อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในกามนั้นก็เกิดขึ้น
ขอให้เรามีสติระวังรักษาในผัสสะต่างๆ ของเรา
ได้เห็นได้รู้ได้ยินในสิ่งไหน ก็ให้สักแต่ว่า
เราย่อมปราศจากทุกข์โทษใดๆ

หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร

คิดขึ้นแล้วมีสติ มันก็ดับไปทันที



          ตัวสตินี่สำคัญ ถ้ามีสติ ก็มีปัญญาพร้อมกัน คิดขึ้นรู้พร้อม คิดดีก็ตาม คิดชั่วก็ตาม หลงก็ตาม โกรธก็ตาม คิดขึ้นแล้วมีสติ มันก็ดับไปทันที ไม่ต้องไปคุมมัน

                                                                                                    หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

รู้กายใจตามจริง จะละความยึดมั่นได้



คนเรา ให้รู้กายรู้ใจของตนเองตรงกับความเป็นจริง 
จะทำให้ละความยึดมั่นถือมั่น เพราะมันคือตัวทุกข์

หลวงปู่บุญมา สุชีโว

เห็นกายตามจริง เพื่อกำจัดสิ่งหลอกลวง




...เห็นกายในกาย ที่พระพุทธเจ้าท่านให้เห็นตามความเป็นจริง 
ก็เพื่อกำจัดสิ่งที่หลอกลวง สิ่งที่ไม่จริง ที่มีอยู่ในจิตใจ ที่เคยหลงมาก่อน 
เพราะความจริงเท่านั้น ทำให้เรายึดมั่นได้ เป็นที่พึ่งได้ กำจัดภัยได้
เพราะความรู้จริงเห็นจริง ตามสภาวะธาตุสภาวะธรรม 
ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ที่ทำให้เราและสัตว์ทั้งหลายเข้าใจผิด...
สำคัญผิด ยึดถือไปผิด เลยได้รับทุกข์
จากความรู้ผิดเข้าใจผิด มาเป็นเวลายาวนาน...


หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

หลงพอใจ คือจิตมีราคะ



          ถ้าหากเรามีความพอใจ เราหลงเพลิดเพลินแล้ว เรายึดมั่นว่ามีความสุขแล้ว เราก็รู้ทันทีว่า เดี๋ยวนี้จิตของเรากำลังอยู่ในราคะ ตั้งอยู่ในราคะ ความกำหนัด ความยินดี เราควรที่จะรู้อย่างนั้นทันที ถ้าเมื่อเรารู้แล้ว เราก็ควรที่จะปล่อยวาง ว่าอันนี้เป็นราคะเกิดขึ้นมา ถ้าหากเรายึดมั่นถือมั่น ทุกข์จะตามมาหาเรา เพราะเราติดอยู่กับสิ่งนั้น

                                                                                        หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

ความดีแบบติดดีต้องละ



          คนเราเมื่อละความชั่วได้แล้วมันก็ติดความดี สร้างความดีมันก็ไปติดความดี ติดความดีมันก็ยังเป็นอัตตาอยู่ ...อัตตาคือสำคัญว่าเป็นตัวเป็นตน...ถ้าเมื่อมันมีตัวมีตน มันก็มีภพมีชาติขึ้นมา มันก็ไม่พ้นทุกข์อยู่นั่นแหละ ... ที่นี้เมื่อเราไม่ต้องการทุกข์มันก็ต้องทำลายอัตตาทั้งหมด อัตตานั้นก็ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นความชั่วแล้วเป็นอัตตา ความดีไม่เป็นอัตตา ไม่ใช่ มันเป็นเหมือนกันหมด เราก็ต้องละเท่านั้นแหละ ความดีนั้นก็ต้องละ ความดีแบบติดดีต้องละ...แต่การปฏิบัติความดีนั้นไม่ละ โดยที่พระอรหันต์แม้แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงละไปจากศีล สมาธิ และปัญญา มีอยู่อย่างนั้น...

                                                                                             หลวงพ่อทอง จนฺทสิริ

แม้แต่ความดีก็จงอย่ายึดถือ



           จุดมุ่งหมายของพระองค์มุ่งสอนคนให้พ้นทุกข์ เพื่อไปพระนิพพาน จึงสอนเพื่อละ ไม่สอนเพื่อยึด สอนให้เหมาะกับจริตในหมู่ชนที่พระองค์ทราบดีว่าสอนแล้วมีผล เขารับฟัง แล้วสามารถไปถึงนิพพานได้ แต่ในหมู่ชนที่พระองค์เห็นว่าเขาไปไม่ได้ ยังมีกำลังบารมีไม่พอ พระองค์ก็สอนให้เขาละความชั่ว ทำแต่ความดี แล้วพยายามทำจิตให้ผ่องใสไว้เสมอเพื่อกันนรก สำหรับผู้ที่ไปได้ก็สอนด้วยหลักเดียวกัน คือ ให้ละชั่ว-ทำดี-ทำจิตให้ผ่องใส แต่สอนให้ละเอียดขึ้นว่า แม้แต่ความดีก็จงอย่ายึดถือ (จงทำดีแต่อย่าติดในความดี) เพราะผู้ที่ทำบุญ (ทำดี) แล้วติดบุญ ก็ไปได้แค่สวรรค์ ผู้ทำจิตให้สงบแล้วติดในความสงบ ก็ไปได้แค่พรหม หากจะไปนิพพานนั้นต้องละทุกอย่าง จึงจะไปได้ถึง

                                                                                                          หลวงปู่บุดดา ถาวโร