เมื่อยอม มันก็หลุดได้


ถ้าผู้ปฏิบัติมองเห็นมันเป็นธรรมชาติ
แต่ละอัน  แต่ละอย่าง แต่ละชนิด 
จิตก็จะรู้จักวาง รู้จักยอมรับ 
จิตที่ยอมรับได้ เรียกว่ามันปลง 
มันปลงก็คือมันลง มันยอม 
เมื่อยอม มันก็หลุดได้ 

คนเรานั้นถ้าไม่ยอม ก็มีแต่ทุกข์เพิ่ม 
เหมือนคนที่ถูกมัดไว้แล้วดิ้น 
ยิ่งดิ้นก็ยิ่งบาดเจ็บ 
ยิ่งดิ้นก็ยิ่งบาดเจ็บ 

ถ้าเราโดนโซ่มัดไว้ 
โดนลวดหนามมัดไว้ 
ถ้าเราดิ้นจะเจ็บมากขึ้นอีก 

แต่ถ้าเราอดใจ ข่มใจ 
ควบคุมใจ ตั้งสติ
ทำตัวเองให้อยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ 
มันก็จะไม่บาดเจ็บ 
แล้วมันก็จะหลุดได้ 
หลุดด้วยทางจิตใจ

คนที่ติดคุก ติดตะราง 
ถูกขังในคุก 
ถ้าใจเขาวิตกวุ่นวาย 
เขาก็ติดคุกทางใจด้วย 
แต่ถ้าใจเขาไม่วุ่นวาย 
กายติดแต่ใจไม่ติด 
ใจมันก็ไม่ทุกข์ 

ตรงกันข้าม 
คนที่ร่างกายไม่ได้ติดคุก 
จะเดินไปไหน จะอยู่ที่ไหน 
ไปได้ตามใจชอบ 
แต่ว่าจิตใจยึดมั่นถือมั่น 
เขาก็กลับเป็นทุกข์...

ติดคุกทางใจ 
มันก็เป็นทุกข์ ทุกข์ใจนี่หนักกว่า 
อยู่ตรงไหนก็ทุกข์ที่นั่น 
แต่ทางใจนี้ เราสามารถฝึกหัด 
ปรับ พัฒนาขึ้นได้
...
พระภาวนาเขมคุณ วิ.
(พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี)

Image by ELG21 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

สัจธรรมจะไม่สูญหาย ถ้ารู้สึกตัวให้เป็น


พระพุทธเจ้าเน้นย้ำเรื่องความรู้สึกตัว... 
การรู้สึกตัว รู้ที่กายก็ได้ ที่ใจก็ได้ 
รู้กายเคลื่อนไหวก็ได้ หรือว่ารู้ใจ นึกคิดก็ได้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อบุคคลรู้สึกตัวอยู่ 
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น 
อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป 
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้สึกตัว 
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ 
เพื่อความดำรงมั่น  เพื่อความไม่เสื่อมสูญ 
เพื่อความไม่อันตรธานแห่งพระสัทธรรม” 
เพราะฉะนั้นสัจธรรมจะไม่สูญหายไปไหน 
ถ้าพวกเรากลับมารู้สึกตัวให้เป็น

พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณโณ

Image by anirudhsingh2342 from pixabay


ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

ก็จะไม่มีผู้ทุกข์หรือผู้สุขจริง



ถ้ารู้จักว่าอะไรเป็นสมมุติ ไม่มีตัวตนเราเขาจริง
ทุกอย่างบังคับบัญชาไม่ได้ 
ก็จะไม่มีผู้ทุกข์หรือผู้สุขจริง ก็คงหมดเรื่อง
ไม่ต้องไปทะเลาะกัน
ทั้งเรื่องทางโลกทางธรรม ไม่หิวแสง 
และ ไปในโลกและจักรวาลอื่นๆ หรือ 
ย้อนอดีตเมื่อร้อยปีเป็นอะไร กี่กัปป์
หรือ อนาคตกี่ปีแสง ก็ไม่สำคัญ 
จะต้องเป็นอะไรๆ เป็นใคร 
เพราะไม่มีใครอยู่จริง 
ที่มีเธอ เพราะความหลงเป็นขณะๆ ของเธอเอง 
เมื่อไม่เห็น ก็เป็นเธอเป็นเขาไป

พระอาจารย์ปกรณ์นันทน์ ฐิตธัมโม

Image by Juergen57BS from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

ทำให้ทางเดินในวัฏสงสาร ยาวไกลไม่รู้สิ้นสุด

...มีแต่ผู้ที่หลงตัวเองว่า กำลังเป็นสุขนั้น
อยู่ดาษดื่นทั่วทั้งโลก ด้วยอุบายตื้นๆ เช่นนี้ 
กิเลสก็หลอกครองโลกได้ทั้งหมดทั่วไตรภพ 
คือ ตลอดกามภพ รูปภพ และอรูปภพ 
เมื่อเข้าใจเช่นนั้นว่าเป็นสุข 
สรรพสัตว์ก็จึงหลงเสาะแสวงหา 
จึงได้แต่ภาพลวงตา ภาพลวงใจ 
เวียนว่ายตายเกิด อยู่มิรู้สิ้นสุด 
ความไม่รู้จริง คือรู้ผิด 
เพียงเท่านี้ก็ทำให้ทางเดินในวัฏสงสาร
ยาวไกลไม่รู้สิ้นสุด 
เมื่อรู้จักคิดรู้จักพิจารณา
เพียงรู้ความจริง 
ว่างจากตัวจนได้จริง 
เพียงเท่านี้ การเดินทางอันยาวไกลในวัฏสงสาร
ก็จะสิ้นสุดลงได้ จบกรรม

ท่าน ก.เขาสวนหลวง

Image by Juergen57BS from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




 

ย่อมรู้ว่าจะหยุดทุกข์ได้อย่างไร


การปฏิบัติที่ถูกตรงจะต้องไม่รู้สึกว่าได้อะไร 
แต่จะทำให้ชีวิตเย็น 
เป็นความว่างเย็นเบาสบาย 
ซึ่งอาจอธิบายเป็นคำพูดได้ไม่ครบถ้วน
หมดจดต่อสิ่งที่จะได้รับ 
แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง 
เป็นสติอนาสวะจริง เป็นสติสัมโพชฌงค์จริง 
เป็นสติปัฏฐานสี่จริง 
ทุกคนจะมีความรู้สึกเหมือนๆ กันคือ 
รู้สึกว่าพบสิ่งที่ดีที่สุด 
ความรู้สึกว่าพบสิ่งที่ดีที่สุดนี่แหละ
จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้ชีวิต 
ใครมีความรู้สึกว่าพบสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว 
เมื่อชีวิตมีความเครียดมีความบีบคั้น
มีความกดดันมีความทุกข์ 
ย่อมรู้ว่าจะหยุดทุกข์ได้อย่างไร

สมสุโขภิกขุ

Image by kcssm from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




 

การรู้แจ้งที่สมบูรณ์


จงรักษาจิตชนิดที่ไม่ต้องอิงอาศัยอยู่กับอะไรเลย
นี่คือธรรมกายที่แท้ของทุกคน
เรียกว่าการรู้แจ้งที่สมบูรณ์
ถ้าไม่เข้าใจอย่างซึมซาบในประเด็นนี้ 
แม้จะมีความเพียรต่อการกระทำตามความคิด
มากมายเพียงใด 
ก็ยังคงล้มเหลวต่อการลุถึงจิตเดิมแท้อยู่นั่นเอง  
แล้วเธอจะกลายเป็นพุทธะได้อย่างไร
หากปราศจากการรู้แจ้งจิตเดิมแท้ของตนเอง

หลวงพ่อโพธินันทะ

Image by flutie8211 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

ความจริงแล้ว บุญคือความเสียสละ


ส่วนใหญ่คนเรายังเข้าใจคำว่าบุญผิดไปหนอ
มักจะเข้าใจว่า บุญคือการบริจาค
ซึ่งความจริงแล้ว บุญคือความเสียสละ
ในความเสียสละย่อมมี เมตตา กรุณา
ไม่อิจฉา รู้ปล่อยวาง ในพรหมวิหารย่อมมีกตัญญูรู้คุณ
มีความสุภาพ ความให้เกียรติกันและกัน
เหล่านี้ทั้งหมดล้วนคือบุญ
ซึ่งหากโลกใบนี้ขาดเสียแล้วซึ่งสภาวะแห่งบุญในหัวใจ
หมู่ผู้คนจะเข่นฆ่ากันและกันไม่เหลือเลยทีเดียว
โลกขาดบุญหาได้ไม่

ครูบาไตรภพ วัดป่าโคกเจริญธรรม

Image by jplenio from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

หนทางที่จะเดินไปสู่ความพ้นทุกข์



หนทางที่จะเดินไปสู่ความพ้นทุกข์

๑. ศรัทธา ความเชื่อ ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
๒. จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อความจริงใจ 
มีการให้ทาน เป็นต้น
๓. รักษาศีล คือรักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย
๔. สมาธิ ความตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว
๕. ปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขารตามความเป็นจริง
..
หลวงปู่คูณ สิริจันโท

Image by jplenio from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

เพียงแต่ดูให้เขาแสดงธรรม


อย่าปฏิเสธอารมณ์ที่ขุ่นมัว
หรืออารมณ์ที่ไม่ดีต่างๆ
ให้ตามรู้ต่อไป
เหมือนเป็นสิ่งที่ถูกดูอยู่
เราเพียงแต่รู้ว่าเกิดขึ้น
และเพียงแต่ดูให้เขาแสดงธรรม
แสดงไตรลักษณ์ให้เราดู
แต่ถ้าไม่หายแล้วรู้สึกเครียด
ก็ให้หันมาดูกายแทน
อย่าไปแช่อารมณ์ไว้
ที่เดียวนานๆ
เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นการ
เผลอดู
หลงดู
ตรงนั้นนับว่าอันตราย

พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

Image by ShiftGraphiX from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

เมื่อนำไปเทียบกับความรู้จากญาณ


...เหตุผล (reason) 
ซึ่งใครๆ พากันยกย่องหนักหนานั้น
เมื่อนำไปเทียบกับความรู้จากญาณแล้ว
(intuition knowledge)
เหตุผลต่ำเตี้ยลงไปถนัด
ตราบใดที่เขายังวุ่นวายอยู่กับการหาเหตุผลนั้น 
แสดงว่าเขายังไม่รู้ความจริง
ถ้ารู้ความจริงแล้วก็ไม่ต้องหาเหตุผลอีกต่อไป
เพราะเขาได้ถึงจุดหมายปลายทาง
ที่เหตุผลต้องการจะไปถึงเสียแล้ว
"ญาณนี้เกิดขึ้น
ด้วยการพัฒนาจิตใจให้เกลี้ยงเกลาสูงส่ง"
ขอพวกเราจงมาฝึกปฏิบัติวิปัสสนา
เพื่อให้เกิดญาณกันเถอะ
จะได้พบสัจธรรมที่แท้จริง (ultimate reality)

#ไตรลักษณ์และปฏิจจสมุปบาท
อาจารย์วศิน อินทสระ

Image by Tumisu from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

แค่ไม่ยึดตัวตน


แค่ไม่ยึดตัวตน ไม่ยึดความรู้สึกแห่งตัวตน ..
ก็ถึงธรรมอย่างง่ายดาย
.
.
เพราะทุกคนเป็นธรรมชาติเดิมแท้อยู่แล้ว..
เพียงแต่มีสิ่งบดบัง คือ การยึดติดในเราในเขา
และในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นของเราของเขา.. 
เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่บดบังธรรมชาติเดิมแท้ในเราทุกคน..
.
เมื่อเอาออกด้วยการสละออก..
สิ่งเดิมแท้นั้นก็จักปรากฎแจ้งชัดแก่ใจทุกคนเอง..
เป็นของเดิมของทุกคนเอง..
และทุกคนสามารถลุถึงสิ่งนี้ได้ 
ด้วยธรรมชาติเดิมแท้ภายในของทุกคนเอง..
มีอยู่แล้ว ใช่ว่าต้องทำให้เกิดมีเพิ่มไม่ 
มีอยู่แล้ว แค่รอการเปิดออก
.
เปิดออกด้วยการเอาสิ่งที่บดบังออก 
เอาออกด้วยการไม่ยึด คือ การเอาสิ่งที่บดบังออก 
หรือ เรียกอีกอย่างว่า ทะลุ(บรรลุ).. 
ทุกคนก็พร้อมรู้แจ้ง(ประจักษ์แจ้ง) 
และพบในสิ่งที่ตามหามานานแสนนานแล้ว..
---------------
ฟากปถุชน: โลกนี้มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น 
มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ดับลงไป..
อริยะ(อริยบุคคล) : ทุกข์ไม่เคยมี 
ทุกข์ไม่เคยปรากฎ..
ฟากนิพพาน (พุทธะ) : หลุดพ้นตลอดสาย..
----------------
ในความเป็นสมมติ กฎแห่งกรรมยังคงทำงาน
ยังมีถูก ยังมีผิด ยังมีบุญ 
ยังมีบาป ยังมีตัว ยังมีตน
ในดวงตา (กฎ) แห่งความเป็นสมมติ..
ใครกระทำสิ่งใดไว้ก็ยังจะต้องได้รับ
ผลแห่งการกระทำนั้น 
ในเมื่อยังมีตัวตนของตนเป็นผู้กระทำ
.
แต่ความ "ไม่มีถูก ไม่มีผิด" 
สิ่งนี้ คือนัยยะแห่งวิมุติ 
ซึ่งเป็นนัยยะที่เหนือไปจากสมมติ
มันจึงเหนือบุญเหนือบาปไป..
เหนือถูก เหนือผิด และเหนือกาลเวลา
.
อันสัจธรรมเดิมแท้นี้ ปุถุชนมิอาจจะเข้าถึงได้เลย 
นอกจากจะยินยอมพร้อมใจ
ที่จะละกิเลสจนหมดสิ้น..ดับจนหมด 
ไม่มีเลยความโลภ ความทะยานอยาก
ใน กิน กาม เกียรติ
หมดสิ้นจนไม่มีแม้แต่กายเนื้อนี้ก็มิใช่ของเรา
.
นิ้วมือที่กำลังพิมพ์ ดวงตาที่กำลังอ่าน 
ความคิดที่กำลังคล้อยตามนี้ก็ไม่ใช่ของเรา
นี่น่ะ จึงจะเรียกว่าพ้นตัวตน
เมื่อพ้นตัวตน (ตัวกูของกู)..
คือ การทำอย่างไร้ผู้ทำ 
มันจึงพ้นความผิดถูกดีชั่วบุญบาป (พ้นไป=เหนือขึ้นไป)

อิโตมิ จัง

Image by l69858207 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

เป็นเพียงความเป็นไปของธรรมชาติล้วนๆ


ไม่ว่ากายนี้จะเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลง
จิตนี้จะคิดหรือไม่คิด มันก็เป็นเพียงขันธ์ทำงาน 
อายตนะจะกระทบกันแล้วจะคิดหรือไม่คิด 
ก็เป็นเพียงกระบวนการแห่งขันธ์ทำงาน
(พระอาจารย์) เห็นเป็นเพียงอย่างนั้น 
ไร้ความยึดมั่นสำคัญหมายใดๆ ในสิ่งเหล่านั้น 
ถ้าว่า ความว่างๆ ที่พูดกัน 
พระอาจารย์ก็เข้าใจความว่างอันนี้แหละ 
ว่างจากการยึดมั่นสำคัญหมายใดๆ 
จึงว่างจากการมีตัวตนใดๆ 
เป็นเพียงความเป็นไปของธรรมชาติล้วนๆ

พระอาจารย์ครรชิต อกิญจโน

Image by ELG21 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

ถึงจะสักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง


...รู้ลูกเดียว รู้ไปเรื่อยๆ 
ส่วนมันไม่เป็นกลาง 
รู้แล้วมันยินดี รู้แล้วมันยินร้าย 
ก็ให้รู้ว่ายินดียินร้าย 
ยินดียินร้ายเป็นอารมณ์ปัจจุบัน 
เกิดขึ้นใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ เราก็รู้ไปอีก 
ในที่สุดวันหนึ่งก็เป็นกลาง
การเป็นกลางเนี่ย เกิดจากมีปัญญา 
มันเห็นว่าทุกสิ่งชั่วคราว 
ทุกสิ่งเกิดแล้วก็ดับ ทุกสิ่งชั่วคราว 
ไม่มีอะไรดีกว่าอันไหน 
ไม่มีอะไรเลวกว่าอันไหน 
เนี่ยปัญญาขนาดนี้เกิดนะ 
ถึงจะเป็นกลางอย่างแท้จริง 
ถึงจะสักว่ารู้สักว่าเห็นอย่างแท้จริง

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

Image by ELG21 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 


อยู่กับความว่างอย่างผู้มั่งมี
อยู่กับความมั่งมีอย่างผู้ปล่อยวาง

ชีวิตย่อมพบความสุข

อาจารย์ปู่ เอกธาตุ

Image by AlLes from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

อย่าทำสิ่งที่ผิดไปจากธรรม


ไม่ว่าการกระทำใดที่เธอเกี่ยวข้อง
อย่าทำสิ่งที่ผิดไปจากธรรม
ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อ
สั่งสมบุญกุศลและปัญญา
อย่าปรารถนาสิ่งใด
นอกเหนือไปจากความเป็นพุทธะผู้รู้
พร้อมทั้งยังประโยชน์แก่สรรพสัตว์
อย่ายึดมั่นถือมั่นสิ่งใด
เพราะล้วนเป็นรากแห่งพันธนาการ
คำสอนทั้งปวงล้วนมีพื้นฐานเป็นหนึ่งเดียว
เหมือนความเค็มของเกลือ
จงอย่าวิพากษ์วิจารณ์ยานที่สูงกว่าหรือต่ำกว่า
เพราะทุกยานล้วนคือมรรควิถีที่ใช้เดินทางดุจเดียวกัน
เปรียบได้ดังขั้นบนบันไดฉะนั้น

ท่านคุรุ รินโปเช
---------------------------
Master Padma said: Whatever actions you engage in, do not do anything non-dharmic that fails to become the accumulation of merit and wisdom.
Do not desire anything other than omniscient Buddhahood and benefiting sentient beings.
Do not be attached to anything. Attachment itself is the root of bondage. 
All the teachings are ultimately indivisible, like the taste of salt.
Do not criticize any of the higher or lower vehicles. They are identical in being the path to be journeyed, just like the steps on a staircase.

~ Guru Rinpoche, from Dakini Teachings:

Image by ELG21 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

ข้ออ้างของกิเลส


จิตถ้าไม่ฝึกจะกลายเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของเรา 
เพราะว่าหนีเท่าไหร่ก็หนีไม่พ้น 
ศัตรูที่เป็นคนข้างนอก เรายังพอมีโอกาสหนีได้บ้าง 
หาคนมาคุ้มกันได้บ้าง 
แต่ถ้าศัตรูอยู่ในใจเรา ไม่มีทางที่เราจะหนีพ้น 
ไม่ว่ายามหลับหรือยามตื่น 
.
เพราะฉะนั้น การฝึกจิต โดยเฉพาะการเจริญสติ 
จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิต 
หลายคนก็รู้ มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติ 
แต่พอกลับไปแล้วเจอสภาพแวดล้อมเดิมๆ 
เจอภารกิจการงานในครอบครัว ในที่ทำงาน 
รวมทั้งสิ่งเย้ายวนใจ และกิจกรรมต่างๆ 
ที่ชวนให้หลงใหล 
สุดท้ายหลายคนก็จะบอกว่า “ไม่มีเวลาปฏิบัติ”
.
บ่อยครั้งคำว่า "ไม่มีเวลาปฏิบัติ" 
เป็นข้ออ้างของกิเลส 
เราเคยถามตัวเราเองบ้างไหมว่า 
ในเมื่อไม่มีเวลาปฏิบัติ 
แต่ทำไมมีเวลาโกรธ ไม่ได้โกรธเป็นชั่วโมงนะ 
โกรธเป็นวันๆ บางทีเป็นอาทิตย์ 
ทำไมมีเวลาเศร้า มีเวลาเครียด มีเวลาวิตก 
ทำไมเรามีเวลาให้กับสิ่งเหล่านี้ 
ทั้งๆ ที่มันบั่นทอนจิตใจ 
แต่ว่าสิ่งดีๆ ที่ทำแล้วจะกอบกู้ชีวิตจิตใจเรา 
กลับบอกว่าไม่มีเวลา

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

Image by FelixMittermeier from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




 

หลบอยู่ในธรรมของพระพุทธเจ้า หลบพ้น


กรรมใครกรรมมันนะ อย่าลืม 
ใครเขาอยากจะตีให้เขาตีไป 
เราหลบได้เราหลบ หลบอยู่ในธรรม
ธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีตัวมีตน 
หลบพ้นนะลูก 
.
ถ้าหลบไม่พ้นก็ให้รับอย่างพระโมคคัลลานะ 
รับอย่างคนฉลาด อย่ารับอย่างโง่ ๆ 
รับแล้วไปนิพพาน คือ 
รับด้วยจิตผ่องใสบริสุทธิ์ 
ไม่ใช่รับด้วยความขัดข้องหมองใจ 
.
จิตไม่บริสุทธิ์ การไปของจิตก็บริสุทธิ์ไม่ได้ 
อย่ารับอย่างคนโง่ 
เพราะมีอบายภูมิ ๔ เป็นที่ไป

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

Image by flutie8211 from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา

https://www.facebook.com/Jaturataweep/



 

นี่คือมงกุฎธรรม


อาจารย์กำพลถามหลวงพ่อคำเขียน
ว่า เทคนิคในการดู เราควรทำอย่างไร
หลวงพ่อตอบว่า ทำตัวดูให้เด่น 
ให้เห็นกายเห็นจิต แล้วหัวเราะเยาะมันได้
ตัวดูเด่น นั่นแหละ มันจะเป็นวิมุตติ
การทำตัวดูให้มันเด่นนี่ 
มันคิดไม่ได้หรอก ต้องเจริญสติให้มาก 
จิตที่เป็นผู้ดู มันก็จะเด่นขึ้นเอง
“การเป็นผู้ดู” อย่าเข้าไปเป็น 
ท่านบอกว่า นี่แหละสำคัญมาก
ท่านว่าเป็นเพชรแห่งธรรม 
สุดท้ายแล้วถึงขั้นที่ว่า “การไม่เป็นอะไร กับอะไร” 
นี่คือมงกุฎธรรม
ท่านบอกว่า “ เอาไปบอกเขาด้วยนะอาจารย์กำพล 
ช่วยเอาไปบอกต่อๆ กัน”

อ.กำพล ทองบุญนุ่ม

Image by Lancier from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา

https://www.facebook.com/Jaturataweep/




 

ให้อภัย...


ให้อภัยเพราะจริงๆ ก็รักมาก
แค่เขาไปทำในสิ่งที่ตนไม่ชอบ  
=  ยังเป็นโมหะและจะยังโกรธอีกบ่อยๆ  
.
ให้อภัยเพราะเข้าใจว่าเป็นบุญ 
เป็นการเจริญเมตตา 
= ได้ความเป็นเทวดา เป็นพรหม  
แต่ยังเสื่อมได้ และยังเป็นปุถุชน 
ที่ต้องเทียวเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
.
ให้อภัยเพราะทราบว่าความยึดมั่น
ในอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้นเป็นแดนเกิด  
จึงทิ้งความยึดมั่นนั้น เป็นอภัยทาน 
=  พัฒนาเข้าสู่ระบบอริยวิถี 
คือต่ำสุดได้ความเป็นพรหมที่เข้าใจอริยธรรม  
จะไม่เสื่อมถอยอีก  
จะดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นตามลำดับ

ครูบาไตรภพ วัดป่าโคกเจริญธรรม

Image by felix_merler from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

จับหลักธรรมะให้ได้


จับหลักธรรมะให้ได้
เรื่องไม่มีอะไร นอกจาก ระวัง! 
เรื่องที่จะเข้ามาใน “จิต” 
ทางตา ทางหู ทางจมูก 
ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อะไรก็ตาม 
และ อย่าให้เรื่องนั้นมันเข้าไป “ปรุงแต่ง” 
ใน “จิต” เป็น “ตัวกู ของกู” 
เท่านั้นเอง มีเท่านั้นเอง 
สูตรไหน ก็สูตรนั้น มีความมุ่งหมายอย่างนี้
“ตัวกู” เป็นของหนัก 
ยิ่งกว่าโลกทั้งโลก

ท่านพุทธทาสภิกขุ

Image by Arcaion from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

เป็นการปฏิบัติโดยที่ไม่ต้องปฏิบัติ


การมีสติอยู่กับปัจจุบัน
มีสติรู้กายในกาย
เป็นดั่งเครื่องป้องกันทุกข์
และกำจัดทุกข์ที่กำลังเกิดเป็นปัจจุบันทันด่วน
ความรู้สึกในกาย 32 ช่วยให้ชีวิตเกิดความสำรวม
มีศีลในตัวอัตโนมัติแม้ไม่ถือศีลก็ตาม
เป็นการปฏิบัติโดยที่ไม่ต้องปฏิบัติ
แต่ไม่ห่างไปจากการปฏิบัติ
อิโตมิ จัง
Image by Pexels from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา