คนไข้ติดอกติดใจในของแสลง


การที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงว่า
ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้น
เป็นการเผยความจริงออกมาให้เห็น
เสมือนหมอบอกเหตุแห่งโรค
แก่คนไข้และให้เว้นของแสลงเสีย
แต่คนไข้ติดอกติดใจในของแสลงอยู่
จึงหาเชื่อฟังหมอไม่
เขาคงกินของแสลงไปกินยาไป
ในที่สุดโรคก็ไม่หาย

อ.วศิน อินทสระ

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม



พุทธภาษิตที่ว่า
“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
ความหมายที่แท้จริงก็คือ 
เมื่อมีปัญญา เข้าใจความจริง 
ปัญญานั้นก็จะรักษาใจไม่ให้ทุกข์
ถึงแม้จะสูญเสียทรัพย์สมบัติ แต่ใจไม่ทุกข์
ถึงแม้ร่างกายเจ็บป่วย แต่ใจไม่ทุกข์..
เมื่อเห็นความจริงของชีวิตและโลก 
ก็ไม่ยึดติดถือมั่น 
พร้อมยอมรับความแปรเปลี่ยนได้
ตระหนักดีว่าชีวิตเหมือนกระแสน้ำ 
ทุกอย่างที่เกิดขึ้น มาแล้วก็ผ่านเลยไป
ไม่สามารถที่จะยึดให้มันอยู่นิ่ง
หรือให้เป็นของเราตามใจเราได้

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


ทุกคนไม่เคยหยุดอยาก มีแต่อยากจะไป "หยุด"


พระพุทธเจ้าสอนให้เราดับต้นเหตุ
ที่ทำให้เกิดทุกข์ ก็คือ ตัวสมุทัย 
เหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งก็คือตัณหานั่นเอง ได้แก่
กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา 
เราจึงต้องมาดับตัณหา
ก็คือ ความอยากได้และความไม่อยากได้ 
ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดทุกข์ 
เราต้องมาหยุด "อยาก" ทุกคนไม่เคยหยุดอยาก
มีแต่อยากจะไป "หยุด"กัน .. 
อยากจะไปหยุดธรรมชาติให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ที่เราเดือดร้อนกันทุกวันนี้ 
ไม่ได้เดือดร้อนเพราะอะไรเลย 
เดือดร้อนเพราะมาฝืนธรรมชาติ 
หากทุกคนมาปลดปล่อยธรรมชาติทั้งหมด
ให้มันเป็นธรรมชาติเสีย 
เพื่อเราจะได้เป็นธรรมชาติ 
เมื่อปล่อยธรรมชาติทั้งหมดนี้ให้อิสระ 
เราก็จะได้อิสระจากธรรมชาติ 
แค่นี้ก็ต่างอันต่างอยู่ต่างอันต่างจริง
ไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน

พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


อย่าไปบังคับ ข่มขี่จิต


นักภาวนามีหน้าที่เพียงแค่ 
ตั้งใจนึก บริกรรม ภาวนา เท่านั้น
ไม่มีสิทธิ์ที่จะบีบบังคับ ข่มขี่ 
ให้จิตเกิดความสงบและเกิดความรู้
ถ้าเรามีความตั้งใจ ที่จะบังคับ กดขี่ 
ให้จิตเกิดความสงบ
ก็เป็นกิริยาแห่งความอยาก 
คืออยากให้จิตมันสงบ อยากให้จิตมันเกิดความรู้
เมื่อเราปฏิบัติด้วยความอยาก 
จิตของเราจะสงบได้อย่างไร 
เพราะความอยากเป็นตัวกิเลสที่คอยปิดกั้น
ดังนั้น นักภาวนาควรจะได้ทำจิตของตนเอง 
เพียงแค่นึกคำภาวนา และมีสติรู้ 
อยู่กับคำบริกรรมภาวนาเท่านั้น
เรื่องความสงบหรือไม่สงบ ให้เป็นเรื่องของจิตเอง 
อย่าไปบังคับ ข่มขี่

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่แท้จริง


ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่แท้จริง
เกิดจากการลดความยึดมั่นในทิฏฐิและความเห็น
ความถ่อมตนงอกงามเมื่อเราไม่ต้องกังวล
ต่อภาพลักษณ์ตนเองในสายตาคนอื่น
และเห็นว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย

 พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป


คำว่า "จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป"
ประโยคสั้นนิดเดียว ครอบคลุมธรรมะมหาศาล
ทำอะไร ทำญาณ
"ญาณ" คือ ปัญญา
ไม่ใช่บอกว่า จงมีสติเห็นจิตนะ
จงมีญาณเห็นจิต ญาณคือปัญญา
ญาณเป็นตัวปัญญาเห็นไตรลักษณ์

ถ้าสติเห็นตัวสภาวะ ตัวปัญญาเห็นไตรลักษณ์
-สติ เห็นสภาวะ เช่น เห็นตัวความโกรธ..สติเป็นตัวรู้
-ปัญญา เป็นตัวเข้าใจถึงความเป็นไตรลักษณ์
ว่าสิ่งที่สติไประลึกนั้นล้วนแต่ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้นการดูจิตนี้ไม่ใช่ใช้สติไปดู
แต่ใช้ปัญญาไปดู
คือดูให้เห็นไตรลักษณ์
ดูความเป็นไตรลักษณ์ของจิต
ไม่ใช่ดูตัวจิต..
เพราะฉะนั้น เราเห็นจิตเหมือนตาเห็นรูป
หมายความว่า จิตเป็นอย่างไรก็เห็นเป็นอย่างนั้น
ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซง
แต่เห็นด้วยญาณ สภาวะจิตเป็นอย่างไร
ทุกๆ สภาวะนั้นล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์
ดูเข้าไปตรงนี้ 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




ทิ้งโลกออกจากใจ ไม่ใช่หนีโลก


จากหนังสือ เพียงแค่รู้สึกตัว โดย พระอาจารย์เจษฎา คุตฺตจิตฺโต

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


ผู้เห็นการณ์ไกลควรหัดเสียสละ


ผู้เห็นการณ์ไกลควรหัดเสียสละ
คราวละเล็กละน้อย
เป็นการสร้างนิสัย อุปนิสัย 
และอัธยาศัยที่ดีให้แก่ตน 
นิสัยนั้นจะค่อยๆ หยั่งรากลงลึก
เป็นอุปนิสัยสันดานที่มั่นคง ทำลายยาก 
ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และการเสียสละ
จะค่อยๆ แผ่ขยายวงกว้างออกไป 
จนสามารถทำสิ่งที่
คนทั้งหลายอื่นทำได้โดยยาก
เช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความดี
และความสุขของโลก

อ.วศิน อินทสระ

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



การยอมเขา ใช่ว่าเรายอมแพ้


การยอมเขา ใช่ว่าเรายอมแพ้ 
แต่เราจะแก้ ฝึกตัวฝึกใจให้จิตสงบ 
สยบอยู่ภายใน ด้วยการให้อภัย 
ไม่รบใครนั้น
ชนะใจตน

เกร็ดธรรมะจากวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


อยู่"ให้" ... จึงจะเป็นสุข


อยู่"ให้" ... จึงจะเป็นสุข
ถ้าอยู่ "เอา" ความสุขจะหายไปโดยธรรมชาติ...
แม้แต่ธรรม 
คิดแต่จะ "เอาธรรม" ก็เลยพยายามจะ "ทำเอา"
ทำเอาธรรม อาจทำได้
แต่ก็เพียงแค่ "ได้ทำ"
ไม่มีทาง "ได้ธรรม" ...
ความสุข ความสงบ ความสันติน่ะ มันคือผล
แล้วตามหลักธรรมชาติ
สิ่งทั้งหลายล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย
แล้วหนึ่งในเหตุปัจจัยแห่งความสุข
ก็คือ ก า ร เ ป็ น ผู้ ใ ห้ นี่ ล่ ะ . . .

พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

Cr.Facebook Lovely Ole

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


ผู้เห็นทุกข์จริง ย่อมอยู่เหนือทุกข์..


ผู้เห็นทุกข์จริง ย่อมอยู่เหนือทุกข์.. 
จึงมองเห็นทุกข์ได้ชัดเจนว่า 
ทุกข์เป็นของปกติของกาย 
เวทนา (สุข - ทุกข์) ต่างก็ทำหน้าที่ของตนไปตามปกติของกาย 
จิตมองเห็นทุกข์ของกายด้วยปัญญา 
จิตไม่ยอมหลงยึดว่ากายนี้เป็นเราเป็นของเรา 
จิตในขณะนั้นจึงพ้นทุกข์ได้ 
เลยมีความสุข เพราะอยู่เหนือทุกข์ 
มองเห็นทุกข์กายดุจมองเห็นบ้านที่กำลังไฟไหม้ 
แต่เจ้าของบ้านไม่ร้อน ไม่ทุกข์ 
เพราะยืนอยู่นอกบ้านที่กำลังไฟไหม้ 
นี่คือพุทธพจน์

หลวงปู่หลุย จันทสาโร

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


วางได้ สบายมากเหมือนดังคนที่ตายแล้ว


ใจวิมุตติหลุดพ้น ไม่ยึดไม่ถือ 
วางแล้วสบาย 
ทำใจให้วางอยู่ทุกวัน 
มีชีวิตอยู่ก็วางอยู่ วางแต่ยังไม่ตาย 
วางได้ สบายมากเหมือนดังคนที่ตายแล้ว 
หัดทำใจให้เป็นไปอย่างนี้เสมอๆ วางอยู่เสมอๆ 
เราก็จะไม่มี เราก็จะไม่ทุกข์ ไม่สุข 
ไม่หวง ไม่ห่วง ไม่ติดในห้วงมหรรณพ 
สักว่าแต่อยู่ สักว่าแต่ใช้อาศัยไปเฉยๆ

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


อารมณ์เป็นเชื้อโรคทางด้านจิตใจ


สำหรับนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย 
อารมณ์เป็นเชื้อโรคทางด้านจิตใจอย่างร้ายแรง 
ถ้าท่านปล่อยให้จิตใจของท่าน
เสพอารมณ์อยู่ตลอด 
จิตใจของท่านก็จะไม่มีพลัง 
หาความเป็นหนึ่งไม่ได้ 
หาความเป็นสมาธิก็ไม่ได้ 
มั่วสุมมืดบอดอยู่กับอารมณ์..
ผลที่ได้รับก็เป็นการต่อภพต่อชาติไม่มีที่สิ้นสุด 
นรกบ้างสวรรค์บ้าง...

พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



อย่าเสียเวลาไปสนใจสังโยชน์


ถาม: มีพระรูปหนึ่ง พูดเรื่องสังโยชน์ 10 และบอกว่าให้หนูไปทำความเข้าใจ เพื่อจะได้รู้ความก้าวหน้าของตัวเอง..

ตอบ: นี่แหละเป็นสาเหตุให้การสอนพุทธศาสนาในเมืองไทยไม่ก้าวหน้า เพราะไปสนใจที่ผลลัพธ์ สังโยชน์ 10 คือผลลัพธ์ เหมือนอิ่มข้าว เราจึงอย่าไปสนใจ ที่สนใจคือการกินอาหาร เมื่อกินมากพอมันอิ่มเอง...เราไม่จำเป็นต้องมานั่งดู ว่าเราอิ่มมากอิ่มน้อย อิ่มไปกี่กิโลกี่ขีด ไปดูทำไม การดับทุกข์ก็เช่นกัน อย่าเสียเวลาไปสนใจสังโยชน์ เมื่อถึงเวลา มันละของมันเอง การไปมัวสนใจดูนั่นแหละ กิเลสตัวเป้ง อยากมีอยากเป็นอยากได้โผล่มาทักทายทุกครั้งที่ดู... อย่าไปปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้...จงปฏิบัติเพื่อหมดทุกข์ ใช้ความหมดทุกข์เป็นเครื่องวัดผลการปฏิบัติ ถูกต้องแน่นอนที่สุด ใช้สังโยชน์ชี้วัดมันคลาดเคลื่อน ไม่แน่นอน และก่อกิเลสได้ตลอดเวลา

สมสุโขภิกขุ จากหนังสือ คู่มือวิปัสสนา หน้า ๕๖

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


บุคคลของธรรม สลดแต่ไม่โศก


มีคำพูดว่า “บุคคลของธรรม สลดแต่ไม่โศก” 
มีเรื่องที่เป็นเหตุให้ทุกข์มันก็ทุกข์ แต่มันทุกข์เฉยๆ 
มันไม่ได้ทุกข์แบบคร่ำครวญตีอกชกหัว
เรียกร้องสิ่งที่แตกสลายให้คืนมา 
อย่างวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน 
พระอรหันต์ที่หลุดพ้นแล้วท่านปลงธรรมสังเวช 
คือท่านไม่มีทุกข์ในใจ 
ส่วนพระอานนท์นี่ไปยืนร้องไห้อยู่คนเดียว 
แต่ท่านทุกข์เฉยๆ ไม่ได้ตีอกชกหัว 
คนที่รู้ความจริงชีวิตแล้ว โศกแต่ไม่เศร้า 
ทุกข์แต่ไม่ทรมานใจ ใจมันเฉยๆ 
เมื่อดีใจก็ดีใจแบบเฉยๆ ไม่ได้ดีใจแบบคลั่ง 
เสียใจก็เสียใจเฉยๆ 
นานเข้าก็ไม่มีคำว่า ดีใจ หรือ เสียใจ 
เมื่ออุเบกขาปรากฏอย่างต่อเนื่อง 
ทั้งดีใจและเสียใจก็ไม่ต่างกัน 
พรมแดนระหว่างดีใจและเสียใจมีไม่มาก

ท่านเขมานันทะ

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา

วิธีภาวนาแบบรู้ที่จิต


จากหนังสือ เพียงแค่รู้สึกตัว โดย พระอาจารย์เจษฎา คุตฺตจิตฺโต

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



ถ้าปราศจากความสละละวาง



ถ้าปราศจากความสละละวางและความสลัดคืนในสิ่งทั้งปวงแล้ว 
ชีวิตไม่มีทางจะพบความสวัสดีปลอดภัยได้เลย

พระอาจารย์ชุมพล พลปญฺโญ

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


อนัตตานุปัสสนา


 ..มองดูขันธ์ ๕ นี้ก็เห็นชัดเลย
ว่าเป็นของว่างเปล่าจากสัตว์จากบุคคล 
ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนเป็นของตนจริงจังอะไร..
มองดูนอกขันธ์ ๕ นี้ออกไป
ก็มองไม่เห็นว่าอะไรจะเป็นแก่นสาร 
เป็นของเที่ยงของยั่งยืน..
มีแต่ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น
แล้วก็แปรปรวนแตกดับไปอยู่อย่างนั้น..
ถ้าเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมาอย่างนี้เสมอๆไป 
นั้นแหละท่านเรียกว่า “อนัตตานุปัสสนา” 
แปลว่า เห็นแจ้งในธรรมทั้งหลาย
ในสรรพสิ่งทั้งหลายว่าเป็น “อนัตตา”..
นี่แหละ..มีพระธรรมหรือว่ามีคุณธรรม
เป็นวิหารธรรม-เครื่องอยู่ภายในจิตใจ..
เมื่อใจมันมั่นอยู่ในธรรมเหล่านี้เสมอๆ ไปมันก็ทิ้งโลกได้ 
อาศัยอยู่กับโลกแต่ไม่ติดอยู่กับโลก 
เหมือนกับน้ำไม่ติดอยู่ในใบบัว 
ธรรมดาใบบัวจะหนีน้ำไม่ได้เลย 
ต้องแช่อยู่ในน้ำนั่นแหละ 
แต่ว่าใบบัวหากไม่ติดอยู่ในน้ำ 
น้ำไม่ซึมซาบเข้าใส่ในใบบัวได้ 
ฉันใดมุนีทั้งหลายก็ไม่ข้องอยู่ในอารมณ์ฉันนั้นแหละ 
ไม่ข้องไม่ติดอารมณ์ทั้งหลาย
ไม่ได้ซึมซาบเข้าสู่จิตใจของมุนีผู้รู้ทั้งหลายก็ฉันนั้น

 หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



เรามีปัญหาเมื่อไหร่ มันจะมีปัญหาไปหมด


ปัญหามันไม่มีอะไรกับเราหรอก
เราอย่าไปมีกับมัน
เพราะเราไปมีปัญหากับมัน ปัญหามันถึงได้มีกับเรา
ถ้าเราไม่มีปัญหากับมัน ต่อให้คนมาฆ่าเรา
เราก็ไม่มีปัญหาระหว่างเขากับเรา
ทุกอย่างยุติ สันติสุขทั้งคู่ ไม่มีเวร ไม่มีภัยต่อกัน
เรามีปัญหาเมื่อไหร่ มันจะมีปัญหาไปหมด

ครูบาเจ้าเพชร วชิรมโน

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



จิตที่ว่างจากอุปาทาน ว่างทุกข์โดยอัตโนมัติ


คำว่า "สุญญตา" (ความว่าง) ก็มีทั่วไปในพระไตรปิฎก 
และยังตรัสกำชับไว้ว่า 
ข้อความเรื่องใดไม่เกี่ยวกับเรื่องสุญญตา 
ข้อความเรื่องนั้นไม่ใช่ตถาคตภาษิต..
เรื่องสุญญตานี้มิใช่เล็งถึงแต่ความว่างเฉย ๆ 
แต่เล็งถึงการทำให้จิตว่าง
จากสิ่งที่มากลุ้มรุมหุ้มห่อจิตให้เศร้าหมอง 
ให้มีจิตว่างจากกิเลสโดยเฉพาะ 
คืออุปาทานอันเป็นตัวการแห่งทุกข์โดยตรง 
ดังพระพุทธภาษิตว่า 
" จงเห็นโลกโดยความเป็นของว่างทุกเมื่อเถิด" ดังนี้เป็นต้น 
จิตที่เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่างอยู่นั้น 
คือจิตที่ว่างจากอุปาทานซึ่งย่อมจะว่างทุกข์ด้วยโดยอัตโนมัติ 
ซึ่งในที่นี้เราเรียกว่า "จิตว่าง" ..
การปฏิบัติเพื่อทำจิตให้ว่างจากอุปาทาน 
ประเด็นเดี่ยวนี้เท่านั้น ที่เป็นเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา 
การปฏิบัตินอกนั้นมีทั่วไปแม้ในศาสนาอื่น 
ดังนั้นพระไตรปิฏกที่แท้จะมุ่งสอน
แต่เรื่องทำจิตให้มีสุญญตาแต่อย่างเดียว 
และสุญญตาถึงที่สุดนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน

ท่านพุทธทาสภิกขุ

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


ตนเป็นที่พึ่งของตน ก็คือจิตนี่แหละ


ทำไมพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า อัตตาหิ อัตโน นาโถ
ทำไมต้องบอกว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
คนอื่นใครจะพึ่งได้ ทำไมพูดอย่างนี้
แล้ว ตน คือใคร?
ตน ก็คือจิตที่เราฝึกนี่ไง
ตนเป็นที่พึ่งของตน ก็คือจิตนี่แหละ
เมื่อผู้ใดตามรักษาจิต
ผู้นั้นชื่อว่ารักษาตน
ผู้ใดรักษาตน
ผู้นั้นย่อมพ้นจากบ่วงของมารได้

พระอาจารย์ธัมมทีโป

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


ใครรู้สึกสติขาดบ่อยบ้าง ถ้ารู้สึกอย่างนี้ดี


มีสติ เดี๋ยวก็ขาดสติอีกแล้ว
ใครรู้สึกสติขาดบ่อยบ้าง
ถ้ารู้สึกอย่างนี้ดี
ถ้าใครรู้สึก สติฉันไม่เคยขาดเลย สติเที่ยง
อันนี้เวรกรรมแล้ว
จริงๆ แล้ว มันเกิดดับตลอดเวลา
กระทั่งจิตก็เกิดดับ 
จิตไม่ได้เที่ยง อย่าไปเข้าใจผิด
ถ้าเห็นว่าจิตเที่ยง เป็นมิจฉาทิฏฐิ
เรียกเป็น "สัสสตทิฏฐิ"...

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


ปล่อยวางแม้กระทั่ง "สิ่งที่ถูก"


ความหลุดพ้น ปล่อยวางแม้กระทั่ง "สิ่งที่ถูก"
อย่าปล่อยวางโดย "ความยึดมั่นถือมั่น" 
อย่ายึดมั่นถือมั่น แม้กระทั่งในสิ่งที่ถูกต้อง
เมื่อเห็นว่าเราถูกแล้ว ก็เห็นว่าเราไม่ผิด
แต่ความเป็นจริงแล้ว "ความผิด" มันฝังอยู่ใน "ความถูก" 
แต่เราไม่รู้จัก นี่คือ "ทิฏฐิมานะ"
"ทิฏฐิ" คือความเห็น "มานะ" คือความยึดไว้ถือไว้
ถ้าเรายึดในสิ่งที่ถูกก็เรียกว่ามันผิด 
ถือถูกนั่นแหละ ยึดมั่นถือมั่นในความถูก 
ไม่เป็นการปล่อยวาง
เมื่อปัญญารู้แจ้งเห็นจริงแล้ว “วางทันที” 
วางตัวปัญญานั้นอีกที  เข้าสู่ "ความว่าง” 
อยู่กับ “ความว่าง”

หลวงปู่ชา สุภัทโท

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น มันก็ละลายของมันไป


อะไรๆ ที่มีการปรากฎ มีการเกิด ย่อมดับเอง
มันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็สลายไปเองเรื่อยๆ
แต่ความรู้สึกของเรามันจะลวงหลอกไป
การปรุงมันเกิดมาจากอวิชชา
ให้เกิดสังขาร ก็เลยปรุงแต่งขึ้นเรื่อยๆ 
ไม่ให้เราหยุดสักที เมื่อมันปรุงขึ้นมาอีก 
เราก็ว่า อันนี้เป็นของไม่แน่นอน ตัดบทมันไปเลย
ตัวที่ไปตัดก็เป็นสังขาร
มีเราหลงไปจัดการตามความคิด
เลยไม่หยุดซักที 
ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น มันก็ละลายของมันไป.. 

พระอาจารย์ปกรณ์นันทน์ ฐิตธัมโม

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


ความสุขยิ่งไม่สนใจยิ่งดี


สุขที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม นี่ไม่ต้องปฏิเสธ แต่ไม่ต้องไปสนใจมัน 
เหมือนเราปฏิบัติไปแล้วเกิดความรู้สึกปลอดโปร่งอิ่มเอมขึ้นมา
แค่นั้น ไม่ต้องไปสนใจมัน 
ความสุขยิ่งไม่สนใจยิ่งดี 
พอไปสนใจมันเข้าก็ยึดถือ พอยึดถือมันก็หายไป 
พอมันหายไป ก็คร่ำครวญ แปรเป็นความทุกข์
เมื่อสุขเกิดเราไปยึดเข้านี่มันกลับเป็นความตึงเครียด 
เราควรจะมีความสุข แต่เป็นความสุขเฉยๆ 
ทุกข์ก็ทุกข์เฉยๆ 
มีความเฉยๆ อยู่ในสุข – ทุกข์ 
ดีใจเฉยๆ ไม่ได้ดีใจจนเสียสติ 
เสียใจก็เสียใจเฉยๆ คนที่รักตายจากไปก็เสียใจ 
แต่ก็เสียใจเฉยๆ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

ท่านเขมานันทะ

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



เราจะรู้ว่าอะไรเป็นแก่นสาร เมื่อเรารู้สึกตัว


การที่เราไม่เห็นจิตประภัสสร
เพราะมีจิตสังขาร (การปรุงแต่ง) บังอยู่ 
ให้เรารู้ทันมัน
อย่าไปติดแค่เปลือกสังขาร..
เราจะรู้ว่าอะไรเป็นแก่นสาร เมื่อเรารู้สึกตัว
การปรุงแต่งมันเป็นที่พึ่งอะไรไม่ได้เลย
หมั่นรู้สึกตัวออกมาจากการปรุงแต่งทันทีที่รู้สึกตัว 
เช่นนี้แหละเราจะสามารถเห็นจิตที่ประภัสสร
เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ ที่มีอยู่ในทุกคนได้..
เห็นความจริงว่า ไม่ว่าปรุงแต่งดี หรือปรุงแต่งร้าย
ล้วนเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เกิดดับ
แฝงอยู่ในความว่าง
จิตธาตุรู้เป็นเพียงธาตุธรรมชาติที่ไร้เจ้าของ
ไม่มีของใครอยู่ในนั้น
หากไม่หลงเปลือกปรุงแต่งความคิด
ธรรมชาติเดิมที่สะอาด สว่าง สงบ
ก็เปิดเผยตัวออกมา..

พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



สุดยอดแห่งการรู้เห็น



จากหนังสือ เพียงแค่รู้สึกตัว โดย พระอาจารย์เจษฎา คุตฺตจิตฺโต

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา