สมาธิไม่ใช่การหยุดความคิด



ปฏิบัติสมาธิเพื่อปลุกจิตสำนึกให้มันตื่นขึ้นมา 
สมองคนเรามันฝึกได้ 
แต่พอมานั่งสมาธิ จะคอยบังคับให้มันหยุดนิ่งๆ 
นั่นแหละ คือการทำลายสมองของตัวเอง
ที่ถูกแล้ว มันคิด ก็ปล่อยให้มันคิด 
แต่ว่าเรามีสติรู้ตัว 
เวลามันหยุด ก็มีสติรู้ว่ามันหยุด 
เป็นการปลุกให้มันตื่น มันสว่างขึ้นมา..

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

สติจะทำให้อารมณ์อ่อนกำลังลง



ตามธรรมชาติของจิต ถ้าเราสามารถตั้งสติไว้กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง 
มันจะทำให้อารมณ์นั้นอ่อนกำลังลง...
พอตั้งสติไว้ให้ดี กำหนดรู้ให้ดี ธรรมชาติของสติจะทำให้อารมณ์นั้นระงับ
แต่ตัวเราเองก็ไม่ยอมให้ระงับ กลับพอใจและยินดีกับความโกรธ
เพราะว่ามีเหตุผลของความโกรธ
เหตุผลของความลำเอียง เหตุผลของความหมั่นไส้
เมื่อเหตุผลนั้นมีกำลังมากกว่าสติ อารมณ์ก็เกิดขึ้นมา

พระอาจารย์ปสันโน

เราทำได้เพียงสร้างเหตุ




เราปลูกฟักแฟงแตงไทย 
ใครได้ไปแต่งดอกแต่งใบมัน มันไปของมันเอง ...
มีเหตุได้สัดส่วนของมัน มันงามเองเลย 
ลักษณะของจิต ของสติก็เหมือนกัน 
ไม่ใช่ว่าจะอยากได้ไวๆ ร้อนๆ ......
อยากให้เป็นไวๆ คิดคาดคะเนไว้ก่อน
ว่าอยากให้มันเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ 
อย่างนั้นทุกข์ใหญ่เลย 
เราจะไปแต่งเขาไม่ได้หรอก 
มีแต่สร้างเหตุ มันจะไปของมันเอง


หลวงปู่ศรี มหาวีโร

ให้มันอยู่แค่ "รู้"



มีอะไรมากระทบ 
ก็ให้มันอยู่แค่ "รู้" 
อย่าให้มันเข้ามาถึง “ใจ"

ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก

ยิ่งเรียนยิ่งไกลความพ้นทุกข์



คนที่หวังความเจริญทางโลก 
มุ่งการศึกษาเล่าเรียนก็ดีอยู่ 
แต่สำหรับแม่ ยิ่งเรียนมาก ยิ่งกิเลสมาก
มีแต่ทิฐิมานะ มีแต่อัตตาตัวตน
ผู้มุ่งทางธรรมแล้ว ยิ่งเรียนยิ่งไกลความพ้นทุกข์
เรื่องของโลก หาแต่ส่งจิตออกนอก
เกิดอีกหมื่นชาติแสนชาติ ก็เรียนได้ไม่รู้จบ
แม่เรียน “พุทโธ” คำเดียว
จบหมดสามแดนโลกธาตุ

คุณแม่จันดี โลหิตดี

การเข้าใจธรรมกับเข้าถึงธรรม




ภาวะการเข้าใจธรรมกับภาวะการเข้าถึงธรรม

ต่างกันที่ผู้เข้าใจธรรม มักหลงยึดว่าข้ารู้
ผู้เข้าถึงธรรมไม่มีอะไร มีแต่ใจที่สิ้นกังวล



ครูบาไตรภพ วัดป่าโคกเจริญธรรม จ.บุรีรัมย์

รู้อารมณ์ตัวเองดีกว่าให้คนอื่นมารู้ใจ



เวลาเราโกรธ เราเคยรู้ใจตัวเองไหมว่ากำลังโกรธ
เวลาเราเกลียด เรารู้ทันความเกลียดในใจเราไหม
เวลาเราเบื่อ เราเศร้า เราเคยรู้ทันความเบื่อความเศร้า 
ทั้งๆ ที่มันเกิดขึ้นอยู่กลางใจเราหรือไม่
รู้ใจอย่างนี้แหละที่สำคัญกว่า...
การไปกะเกณฑ์ ให้ใครต่อใครมารู้ใจเรา

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ใช้สติดูจิตใจ เห็นความคิดทันที



ใช้สติดูจิตใจ มีความคิดอะไรเกิดขึ้น เห็นมันทันที 
และเราจะรู้ถึงความหลอกลวง รู้ทันเวลา 
รู้การป้องกัน และรู้การแก้ไข รู้ถึงการเอาชนะความคิดปรุงแต่ง 
ศีลจะเกิดขึ้นภายในจิตใจเราเอง 
ไม่ใช่คนดอกที่รักษาศีล แต่ศีลต่างหากที่รักษาคน

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

ต้องปฏิบัติให้เต็มที่ตั้งแต่วันนี้



ข้อสำคัญที่สุดของการปฏิบัติคือ ต้องไม่ประมาท
ต้องปฏิบัติให้เต็มที่ตั้งแต่วันนี้ 
ใครจะรู้ว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อไหร่
เคยเห็นไหม เพื่อนเรา คนที่เรารู้จักตายไปแล้วนั่นนะ 
เขาเตือนเรา ถ้าเราปฏิบัติไม่เป็นเสียแต่วันนี้ 
เวลาจะตาย มันก็ไม่เป็นเหมือนกัน
เหมือนกับคนที่เพิ่งหัดว่ายน้ำ
เวลาใกล้จะจมจะตายนั่นแหละ 
ก็จมตายไปเปล่าๆ 

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

สติปัฏฐาน ๔ เพื่อกำจัดมูลแห่งวัฏฏะ



ความงาม ความสุข ความเที่ยง
และความเป็นตัวตน 
๔ อย่างนี้ เป็นมูลแห่งวัฏฏะ
ผู้ที่รู้ไม่ทันจะถูกล่อให้หลง
การปฏิบัติวิปัสสนาในแนวสติปัฏฐาน ๔...
ก็เพื่อกำจัดเสียซึ่งมูลแห่งวัฏฏะนี้เอง

หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล

พระพุทธเจ้าของเราทรงสร้างปัญญาในตัว



พระพุทธเจ้าของเราทรงสร้างปัญญาในตัว
แต่นักปราชญ์ของโลกสร้างปัญญานอกตัว 
จึงช่วยตัวเองไม่ได้
พระพุทธเจ้าของเราทรงมีปัญญาในตัว
สอนให้เราทุกคนสร้างปัญญาในตัวของเราให้ได้
ปัญญา คือ ความรอบรู้ รู้จริงทุกสิ่งในตัวเอง...

หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

ไม่มี “ตัวเรา” คือ เป้าหมายของพุทธศาสนา



ปัญหามันอยู่ที่ว่า “ตัวเรา” นี่แหละ
ตัวเราจะมีความสุขหรือมีความทุกข์ 
ถ้าไม่มี “ตัวเรา” ดำเนินชีวิต
นี่คือ เป้าหมายของพุทธศาสนา 
เราจะต้องทำลาย “ตัวเรา” ซึ่งมันเกิดจากอุปาทาน 
“ตัวเรา” นี่แหละคือ ต้นเหง้าของกิเลสต่าง ๆ 
ไม่ว่าเป็นความโลภ ความโกรธ 
ถ้าไม่มี “ตัวเรา” ความโลภ ความโกรธ พวกนี้ไม่มีหรอก. . .

หลวงพ่อโพธินันทะ

คำว่านิพพาน คือปราศจากความปรุงแต่ง



คำว่านิพพาน คือปราศจากความปรุงแต่ง 
ทำยังไงเราจะเห็นนิพพานน้อยๆ สำหรับการปฏิบัติของเรา 
คือ เราก็พยายามไม่ให้สังขารปรุงแต่งจิตใจของเรา 
เมื่อจิตของเราปราศจากความปรุงแต่ง ก็อิสระ ไม่ตกเป็นทาสของใคร

หลวงพ่อวิชัย เขมิโย

กิเลสกลัวปัญญาภายใน




ความจำ (ธรรมะ) นั้น
ถึงจะจำได้มากขนาดไหน กิเลสก็ไม่กลัว
แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติ เกิดปัญญาขึ้นภายใน กิเลสกลัวมาก
เพราะปัญญาเป็นสิ่งที่ตัดกระแสของกิเลสตัณหา

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

จิตไม่รู้ความจริง...




"จิตไม่รู้ความจริง" เป็นตัวสมุทัยที่สำคัญมาก

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

ทำจิตให้เป็นกลางวางเฉยต่ออารมณ์ คือการดับตัณหา



          ตัณหามันเกิดขึ้นจากไหน ต้องค้นหาเหตุมัน เหตุมันเกิดจากอายตนะภายในและอายตนะภายนอกมาสัมผัสกัน ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เพียรสำรวม เพียรละไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ทำจิตให้เป็นกลางวางเฉยต่ออารมณ์ นี่เรียกว่า การดับตัณหา 

                                                                                                      หลวงปู่ขาว อนาลโย

ทำกายให้เป็นวัด เจริญสติเข้าไปเยี่ยมพระ...



          ...พยายามเข้าวัดบ่อยๆ เข้าวัดประจำได้ยิ่งดี เข้าวัดทุกลมหายใจเข้าออก ตามความเป็นจริง ทำกายให้เป็นวัด เจริญสติเข้าไปเยี่ยมพระอยู่บ่อยๆ พระก็คือใจของเรานั่นแหละ ใจของเราไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีกิเลส ใจของเราก็เป็นพระ ไม่ใช่จะเป็นพระเฉพาะนุ่งเหลืองห่มเหลืองเท่านั้น อันนั้นพระเป็นพระในทางสมมุติ แต่ในทางหลักธรรมแล้ว พระก็อยู่ในใจ...

                                                                                          พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร

นิสัยของผู้จะหนีไปจากภพทั้งสาม



นิสัยของผู้จะหนีไปจากภพทั้งสามนั้น 
ไม่มีการต่อรองกับกิเลสตัณหาอีกต่อไป 
ไม่เป็นมิตรกับกิเลส ไม่เป็นเพื่อนกับตัณหา 
เพราะชาติภพที่ผ่านมา
เราเสียเปรียบกับกิเลสตัณหามาแล้ว ...
ในชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้ายของเรา 
กิเลสตัณหาจะเอาอะไรมาต่อรองอีก 
สติปัญญาจะไม่รับเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น

หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ

สติต่อเนื่อง อารมณ์จะแทรกไม่ถึง



         สติปัญญาจริงๆ ในภาคปฏิบัติมันไม่หนีจากกายจากใจในอิริยาบถทั้งหลาย ในหน้าที่การงาน เผลอแป๊บเป็นรู้ เผลอปุ๊บก็รู้ สติตรงนี้ควรส่งเสริมให้ต่อเนื่อง เมื่อมีสติต่อเนื่อง อารมณ์มันจะแทรกเข้าไปได้อย่างไร อารมณ์จะแทรกให้ใจหลงไปตามอารมณ์มันก็เข้าไม่ถึง เมื่อรู้อย่างนี้จะยอมเผลอสติให้โง่ทำไม

                                                                                             หลวงพ่อคำสด อรุโณ

ให้ภาวนาเอาให้รู้อย่างเดียว



          เป็นนักภาวนา ให้ภาวนาเอาให้รู้อย่างเดียว ใจเรามันชั่ว ปัญญาตัวรู้นี่แหละทำให้เราฉลาด อย่าเอาหลายอย่าง เอาตัวรู้อย่างเดียว จับปลาหลายมือ มันก็คว้าน้ำเหลว จับรู้อย่างเดียว หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้..

                                                                                            หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

ให้ดูแต่ใจ ให้ใจอยู่ที่พุทโธ



          การบำเพ็ญกัมมัฏฐานนี้ ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้น ไปรู้ไปเห็นอะไรเราอย่าไปดูห้ดูแต่ใจ ให้ใจอยู่ที่พุทโธ เมื่อกำลังภาวนาอยู่ หากมีความกลัวเกิดขึ้น ก็อย่าไปคิดในสิ่งที่น่ากลัวนั้น อย่าไปดูมัน ดูแต่ใจของเราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แล้วความกลัวมันจะหายไปเอง

                                                                                                    หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

เวลานั่งภาวนา อย่าตั้งความอยาก



เวลานั่งภาวนา อย่าตั้งความอยาก 
ให้ตั้งเหตุเอาไว้ ทำเหตุให้พอ ผลจะเกิด 
ถ้ามีความอยากอยู่อย่างนั้น มันจะไม่สงบ

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก

ปัญญา คือตัวตัดสิน



...พระองค์ย้ำว่า ปัญญา นี่แหละเป็นตัวตัดสิน
ศรัทธา ก็เพื่อปัญญา โดยเฉพาะศีลวัตรนั้นช่วยให้เกิดสมาธิ
สมาธิก็ต้องนำไปสู่ปัญญา
ถ้าไม่อย่างนั้น ก็เป็นเพียงสมาธิที่นำไปสู่ภาวะดื่มด่ำทางจิตเท่านั้น
เป็นเรื่องของสมถะ ไม่ถึงนิพพาน...

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

เจริญสติปัฏฐานคือการขัดเกลากิเลส



การที่เธอทั้งหลายกำลังทำความเพียร เจริญสติปัฏฐานอยู่นี่
เธอจะปรารถนาความสิ้นกิเลส หรือไม่ปรารถนาก็ตาม
แต่เธอกำลังได้ขัดเกลากิเลสอยู่
เธอไม่รู้หรอกว่า วันหนึ่งๆ เธอได้ขัดเกลาไปแค่ไหน
แต่นั่นคือได้ขัดเกลาอยู่
เหมือนลูกพรวนเรือที่เขาลากขึ้นบกลงน้ำในทุกๆ วัน
ก็ค่อยๆ สึกไปเรื่อย
แต่เราไม่เห็นว่ามันสึกไปวันละเท่าไหร่
ไม่เห็น ดูไม่ออก จนนานๆ ไป มันก็กลมเกลี้ยง

พระพุทธองค์

ต้องเห็นความจริง จึงเป็นปัญญา



“หมายเอา” ก็เป็น “สัญญา” 
“คิดเอา” ก็เป็น “เจตนา” 
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หมาย ไม่ใช่คิด 
ต้องเข้าไป “เห็น” ความจริง
ที่ปรากฏเฉพาะหน้า ...
จึงจะเป็น “ปัญญา” ได้ 

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

สมาธิเกิดขึ้น จากการมีสติเท่าทัน



สติที่ใหญ่มีกำลัง สมาธิก็เกิดขึ้น 
สมาธิเกิดขึ้น จากการมีสติเท่าทันนี่แหละ 
‎ถ้ามีสติเท่าทันต่อสภาวธรรม‬‎ทางกาย ทางใจ‬
‪‎ก็จะเกิดสมาธิขึ้นเอง‬ 
‪‎ความสงบในจิตใจก็เกิดขึ้น‬ 
‪จิตที่มันไม่สงบเ พราะเราขาดสติ‬ 
‪‎มันไม่มีสติตามดูรู้ทัน จิตก็จะปรุงแต่ง‬...
ปรุงแต่งในเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง‬ ‎หรือเรื่องที่ได้เห็น‬ 
‪‎ในเรื่องที่ได้คิดไว้ได้รู้ไว้‬ 
เอาไปปรุงแต่งในเรื่องต่างๆ เหล่านั้น 
‪‎จิตก็วุ่นวายสับสน สร้างความทุกข์‬‎ต่อจิตใจของตนเอง...

พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี

ความเพียรขึ้นอยู่กับสติ หรือปัญญา




          ความเพียรไม่ขึ้นอยู่กับการยืน การเดิน การนั่ง การนอน แต่ขึ้นอยู่กับสติ หรือปัญญา ถ้าเรามีสติประคับประคองจิตใจของเราอยู่เสมอ รู้ความเคลื่อนไหวของใจตนเอง ทั้งที่จะเป็นไปในทางที่ผิดและที่ถูก ชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียร

                                                                                          หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ยิ่งปล่อยวางได้ ก็ยิ่งใกล้พุทโธมาก



          ...การจะถึงพุทโธ หรือเห็นพระพุทโธ ณ ที่นี้ ก็ด้วยการสงบสังขาร ปล่อยวางสงบเมื่อใด ปล่อยเมื่อใด ก็ย่อมจะถึง หรือเห็นพุทโธเมื่อนั้น...และก็ไม่ต้องสงสัยหรอกว่า การปล่อย การวาง จะเป็นการเดินทางผิด เพราะทางถึงทางพ้นทุกข์ มีทางเดียว ทางอื่นไม่มี.......ยิ่งปล่อยวางได้ ก็ยิ่งใกล้พุทโธมาก ยิ่งนึกคิดมาก ยึดถือมาก ก็ยิ่งไกลพุทโธออกไป

                                                                                                                หลวงปู่ดาบส สุมโน

เราปฏิบัติเพียงเพื่อรู้แจข้งในปัจจุบันขณะ



ธรรมของพระพุทธเจ้านั้น
เป็นคำสอนที่ตรง  
การฝึกปฏิบัติของเรา
มิได้มีความมุ่งหมายที่จะ
ให้สำเร็จบรรลุมรรคผลอันใด  
แต่เพื่อให้รู้แจ้ง
ในปัจจุบันขณะเท่านั้น

พระอาจารย์สุเมโธ

มีสติครั้งหนึ่ง ก็ใกล้นิพพานไปอีกก้าวหนึ่ง



เรียนรู้ที่จะมีสติอยู่ในปัจจุบัน
ไม่ว่าเราจะทำอะไร...ให้มีสติ
สตินี้เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก
มีสติครั้งหนึ่ง 
ก็ใกล้นิพพานไปอีกก้าวหนึ่ง
มีสติบ่อยๆ พุทโธบ่อยๆ  
ก็เข้าใกล้พระพุทธเจ้าแล้ว

พระอาจารย์อนันต์ อกิญจโน

เฝ้าดูลมหายใจคือเฝ้าดูธรรมชาติ



          โลกที่แท้จริงนั้นดำเนินไปตามรูปแบบของการเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เช่นเดียวกับลมหายใจ...เมื่อเราเฝ้าดูลมหายใจก็เท่ากับเฝ้าดูธรรมชาติ  และเมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของลมหายใจ  เราก็เข้าใจธรรมชาติของสังขารทั้งหลาย  ถ้าเราจะพยายามทำความเข้าใจกับสภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งในแง่มุมอันหลากหลายแล้วละก็ จะเป็นเรื่องยุ่งยากยิ่งเกินกำลังที่จิตของเราจะทำได้  เราจึงเรียนรู้จากของง่ายๆ อย่างนี้ 

                                                                                                        พระอาจารย์สุเมโธ

เหยื่อคนแรกของกิเลส



          เมื่อใดก็ตามที่ท่านสร้างกิเลสขึ้นในจิตใจ ท่านย่อมตกเป็นเหยื่อคนแรกของความทุกข์ที่ท่านสร้างขึ้นเอง...

                                                                                                   ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

การปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่วัด




การปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่วัด หรือสถานที่ปฏิบัติธรรม 
กิเลสเกิดตรงไหน นั่นแหละที่เราต้องปฏิบัติ 
การชนะกิเลสที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน 
นี้คือการปฏิบัติอย่างอุกฤษณ์ของผู้ครองเรือน


พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

การเจริญสติเป็นหลักสากล



การเจริญสติเป็นหลักสากล 
ท่านจะมาจากศาสนาใด ชาติใด เพศใด วัยใดก็ตาม
ถ้าท่านหายใจเข้าออกรู้สึกตัวก็คือคนๆ เดียวกัน รู้อย่างเดียวกัน
นี่คือศาสนธรรม พบกันที่จุดนี้

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

เมื่อเราคุมจิตไม่ได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้



เป็นมนุษย์ต้องกระทบโลก
ด้วย รูป รส กลิ่น เสียง และธรรมารมณ์ 
เมื่อเราคุมจิตไม่ได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ... 
ถ้าเราไม่มีสติ จิตก็จะเกิดการปรุงแต่ง 
กรรมก็จะเกิดขึ้น 
ยินดีหรือยินร้าย หรือไม่มียินดียินร้าย 
กิเลสเกิดขึ้น 
เพราะไม่มีสติป้องกัน

พระอาจารย์สุมโนภิกขุ
สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำสองตา อ.ปากช่อง

ดูแลจิตไม่ให้ปรุงแต่ง คือการปฏิบัติ



ในชีวิตประจำวันผู้ครองเรือ
จะรักษาจิตให้นิ่งไม่ได้ 
แต่การดูแลจิตให้ดี 
ไม่ให้ปรุงแต่งในสิ่งกระทบ
ด้วยความยินดีหรือยินร้าย ...
ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีพิษมีภัย 
ตรงกันข้าม.....
กลายเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ 
คือวัตถุดิบในการผลิตปัญญา

พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

การภาวนาเริ่มที่ฝึกรู้สึกกายใจ



          การภาวนานั้นเริ่มต้นได้ไม่ยาก เพียงฝึกรู้สึกกายที่เคลื่อนไหว รู้ใจที่นึกคิด ในทุกๆ ขณะ โดยมี “สติ” เป็นผู้อารักขาจิต รู้ทันสภาวะแปลกปลอมที่เข้ามากระทบใจอย่างซื่อๆ โดยไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่เพ่ง ไม่จ้อง สติที่ฝึกดีแล้ว เมื่อเจริญให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น จะสามารถพัฒนาเป็นปัญญา มีพลังทำลายอวิชชาลงได้ และเข้าใจสรรพสิ่งทั้งมวลตามความเป็นจริง

                                                                                    พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณฺโณ

เราถึงพระพุทธเจ้าอย่างไร



เราถึงพระพุทธเจ้าอย่างไร ถึงพระธรรมอย่างไร ถึงพระสงฆ์อย่างไร 
ให้มาพิจารณาถึงกายของตน จิตใจของตน 
ถึงพระพุทธเจ้า หมายความว่าใจเบิกบาน 
ใจรู้เท่าต่อสิ่งทั้งปวง 
ไม่มีความดิ้นรนต่อสิ่งที่ไม่พอใจ 
สิ่งที่พอใจก็ไม่มีความฟูขึ้นไปตามอารมณ์ 
เรียกว่าพุทโธ เป็นผู้รู้ยิ่ง...

หลวงปู่ขาว อนาลโย

ความทุกข์ ความล้มเหลว คือมิตรที่มาในรูปศัตรู





ความทุกข์ ความล้มเหลว 
ความพลัดพรากสูญเสีย ความเจ็บปวด 
สิ่งเหล่านี้ใครๆ มองว่าเป็นศัตรู 
แต่ถ้าพิจารณาให้ดี มันคือมิตรที่มาในรูปของศัตรู 
เพราะมันสอนให้เราเกิดสติ เกิดปัญญา ...
เห็นแจ้งเข้าใจความจริงของชีวิต
จนสามารถปล่อยวาง และหลุดพ้นจากความทุกข์
ถ้าเรามองแบบนี้ เราก็จะอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่ไม่พึงปรารถนาได้

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล 

ปัญหาของมนุษย์คือความไม่รู้ ไม่เห็นตามความเป็นจริง



          ปัญหาของมนุษย์คือความไม่รู้ ไม่เห็นอะไรตามความเป็นจริง ที่เรียกว่าอวิชชา...เพราะจิตมันติดความรู้สึกที่เป็นตัวตน เรามองอะไรก็มองไม่ตรง เห็นอะไรก็ไม่เห็นตรง ไม่มีสภาพธรรมที่เป็นเห็นเฉยๆ ... “เห็นเฉย” คือ ตัวเห็นก็เฉยๆ ตัวจิตก็เฉยๆ เขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เป็นจิตที่ไม่มีอวิชชาครอบงำ ไม่มีความปรุงแต่งเข้าไปครอบงำ

                                                                                            หลวงตาสุริยา วัดป่าโสมพนัส
                                                                                                  (ส.มหาปัญโญภิกขุ)

การปฏิบัติธรรมคือมีสติรักษาใจให้ปกติสุข



แท้จริงการปฏิบัติธรรม
ใช้เพียงขณะปัจจุบันตรงหน้าเท่านั้น
ด้วยการมีสติรักษาใจให้ปกติสุข 
การปฏิบัติธรรมจึงมีความจำเป็น
ต้องเห็นทุกเหตุปัจจัยตรงปัจจุบัน ...
ปัญญาก็จะเกิดขึ้นตรงปัจจุบันนั้น
ความปกติสุขอันเป็นผลของการปฏิบัติ
ก็เกิดขึ้นตรงปัจจุบันนั้น

พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส

ความเพียรกับความมีสติ คืออันเดียวกัน



ความเพียรกับความมีสติ
คืออันเดียวกัน 
มีสติแล้วใจก็ผ่องใส 
เบิกบานไม่หลงไม่ลืม 
คิดอย่างไรขึ้น มันก็จะดับลงไป
พร้อมกับความคิดขึ้น นึกขึ้น 
ตัวสติจึงสำคัญยิ่งนัก...

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

พุทธะ คือสติสัมปฤดี



          พุทธะ เป็นคำสันสกฤต แทนคำที่ท่านเรียกว่า “สติสัมปฤดี” คือ ตื่นตัวอย่างปาฏิหาริย์ คืออาการยินยอมน้อมรับด้วยความรู้สึกตัวในอิริยาบถต่างๆ เช่น การพับตา การเลิกคิ้ว เคลื่อนไหวมือและเท้า ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมชาติแห่งการตื่นอย่างปาฏิหาริย์ของท่าน และธรรมชาตินี้ก็คือจิต  จิตนี้ก็คือพุทธะ และพุทธะก็คือมรรค...

                                                                                                        ปรมาจารย์ตั๊กม้อ

                                                                                           หนังสือโพธิธรรมคำสอน หน้า 27
                                                                                                แปลโดย พุทธยานันทภิกขุ

ทำ พูด คิด ให้รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา




เรื่องชีวิตประจำวันทั้งหมดนี่เป็นอารมณ์สมาธิ 
แล้วเราจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร 
สติตัวเดียว ทำ พูด คิด ฯลฯ ให้รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา 
ในตอนแรกๆ อาจจะสับสนวุ่นวาย 
แต่เราพยายามฝึกให้คล่องตัวชำนิชำนาญแล้ว ...
มันจะเป็นอัตโนมัติไปหมดเลย
เรื่องได้สมาธิขั้นใด ตอนใด อย่าไปสนใจ 
เอาสติตัวเดียวเท่านั้น
ทำงานอะไรต่างๆ นี้ เป็นอารมณ์สมาธิทั้งนั้น 
ขอให้เรามี “สติ” ลูกเดียว

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย 

ดูกายดูใจในปัจจุบัน คือการปฏิบัติธรรม



. . .ไม่ใช่เรื่องว่า 
เราจะต้องจดจำอะไรมากมาย 
แต่เป็นเรื่องการคอยดูกายดูใจ
ในปัจจุบันนี่เท่านั้น 
กายที่กำลังเป็นไปในปัจจุบัน 
จิตใจที่กำลังเป็นไปอยู่ในปัจจุบัน 
อย่างนี้เรียกว่าการปฏิบัติธรรม. . .

พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี

ถ้าเราไม่มีสติเฝ้าดูจิตใจ...




ถ้าเราไม่มีสติเฝ้าดูจิตใจแล้ว ความนึกคิดปรุงแต่งภายในจิตใจของเรา
ก็ปรุงแต่งไปในเรื่องที่ไม่ดี เป็นเรื่องซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร 
จิตเราก็วิ่งตามอารมณ์ไป ไม่สามารถที่จะเห็นความทุกข์
เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ หรือเห็นความดับทุกข์ 
หรือทำให้รู้จักข้อประพฤติปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์. . .


พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตโต

มีสติกับจิต คือพุทโธที่แท้จริง



          การภาวนาธรรม มีสติกับจิตนี้แหละคือ พุทโธที่แท้จริง ท่านแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าไม่มีสติ จิตใจก็ไม่อยู่ที่.. จะเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานไม่ได้ จะกลายเป็นความโง่เซ่อไปเท่านั้น ขอรักษาสติกับจิต จงดีๆ จะเกิดภูมิปัญญาธรรมขึ้นเอง

                                                                                                          หลวงปู่ดี ฉันโน

ความอยากคือพญามาร



          ...ค่อยทำค่อยไป คือไม่ให้ความอยากมันเข้ามาขัดขวางจิตใจของเรา เช่น อยากให้จิตมันสงบ อยากให้จิตเป็นสมาธิ อยากให้จิตมันสว่างไสว อยากให้จิตมันเห็นนรก สวรรค์ อันนี้เรียกว่าเป็นพญามาร คือเป็นข้าศึกอย่างสำคัญที่เข้ามากั้นไม่ให้เราบำเพ็ญคุณงามความดี... 

                                                                                              หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป

คิดถึงไตรลักษณ์คือการทำความดีทางใจ



           ...ได้รับผลดีของกรรมดี คือได้ประสบโลกธรรมฝ่ายดีเมื่อไร เมื่อนั้นให้คิดถึงไตรลักษณ์ทันที จะได้รับผลดีของกรรมดี ที่ดียิ่งกว่าผลดีทั้งนั้น การคิดถึงไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวน เปลี่ยนแปลง และไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ คือ การทำความดีทางใจ เป็นมโนกรรมที่ดี จึงย่อมได้รับผลเป็นความดีตรงตามเหตุที่ได้กระทำ

                                                สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

การกันไว้ดีกว่าแก้คือ การมีสติในขณะผัสสะ ๖



การกันไว้ดีกว่าแก้คือ
การมีสติในขณะผัสสะ ๖ 
ไม่หลงปรุงแต่งชอบ-ชัง 
ต่อผัสสะอันประณีต
หรือหยาบกระด้าง

พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส