.การทำจิตใจให้มีกำลัง
การทำกายให้มีกำลังก็คือ การออกกำลังกายบริหาร มีการกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง...การทำจิตใจให้มีกำลังก็คือ ทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน
หลวงปู่ชา สุภัทโท
อารมณ์บังจิต
อารมณ์ 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ จึงเปรียบเหมือนลม 6 จำพวก
ทวาร 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และหทัยวัตถุ เปรียบเหมือนฝั่งมหาสมุทร
จิตใจของคนเราก็เปรียบเหมือนน้ำในมหาสมุทร
เมื่อลม 6 จำพวก เกิดเป็นพายุใหญ่ในเวลาฝนตก
ทำให้น้ำในมหาสมุทรเกิดเป็นคลื่นแล้วระลอกใหญ่โต
เรือ แพ หลบไม่ทันก็ล่มจมเสียหายขึ้นนี้ฉันใด
อุปมัยดังพาลชนไม่รู้เท่าทันโลก ไม่รู้เท่าทันอารมณ์
ปล่อยให้โลกเข้ามาประสมธรรม
ปล่อยให้อารมณ์เข้ามาประสมจิต จึงเกิดราคะ โทสะ โมหะ ...
ถ้าอยากเห็นวิมุตติ ก็ให้เพิกถอนสมมุติออกให้หมด
เพราะโลกบังธรรม อารมณ์บังจิตฉันใด
สมมุติก็บังวิมุตติฉันนั้น
คนเราควรใช้สติปัญญาเป็นกล้องส่องใจ
จะได้รู้ว่าสภาพที่แท้จริงของจิตเป็นอย่างไร”
หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส
ไม่ติดดี ติดชั่วในคำพูดคน
เขาพูดว่าเราดี เราก็ไม่ดีเหมือนคำเขาพูด
เขาพูดว่าเราชั่ว เราก็ไม่ชั่วเหมือนคำเขาพูด
ถ้าเราไม่ยึด...เราไม่มี...จะเอาอะไรไปดีไปชั่ว
หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
อยากไปนิพพาน ต้องไม่ติดอะไรทั้งนั้น
อยากไปพระนิพพาน ก็ต้องไม่ติดอะไรทั้งนั้น ดี-เลว,ติดกลิ่น, ติดสี,ติดรส,ติดสถานที่, ติดร่างกายของครูบาอาจารย์ซึ่งไม่เที่ยงทั้งสิ้น อะไรที่เข้ามากระทบทางทวารทั้ง ๖ หรืออายตนะ ๖ ต้องวางให้ได้ รู้อารมณ์ตามจริตที่เกิดให้ได้ ศึกษากรรมฐานแก้ให้ดีๆ ต้องคล่องจริงๆ จึงจะชนะอารมณ์ตามจริตได้
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
ปฏิบัติธรรม ต้องปฏิบัติที่กายและใจ
การปฏิบัติธรรม ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไหน
ในเมื่อกายยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ นี้แลเป็นตัวธรรม
เป็นตัวโลก เป็นที่เกิดแห่งธรรม เป็นที่ดับแห่งธรรม
เป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อาศัยบัญญัติไว้ซึ่งธรรมทั้งปวง
แม้ใครใคร่จะปฏิบัติธรรม ก็ต้องปฏิบัติที่กายและใจนี้
หาได้ปฏิบัติที่อื่นไม่
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ต้องปฏิบัติจนถึงสิ่งที่ไม่มี
ในทางโลกเขามีสิ่งที่มี แต่ในทางธรรมมีสิ่งที่ไม่มี
คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่
ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติจนถึงสิ่งที่ไม่มี และอยู่กับสิ่งที่ไม่มี
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
สติตามหลักสติปัฎฐาน คือรู้ซื่อๆ
ความรู้สึกตัวตามหลักของสติปัฎฐาน
ไม่เหมือนสติธรรมดา สติธรรมดาใครๆ ก็มีได้ สัตว์ก็มีสติ
สติตามหลักของสติปัฎฐานนั้น คือรู้ซื่อๆ ไม่มีผิดถูก ไม่มีสุขทุกข์
รู้ซื่อๆ รู้เห็น ผิดก็เห็น ถูกก็เห็น สุขทุกข์ก็เห็น
มีสติเห็น ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ เหนือผิดเหนือถูก
ผิดถูก สุขทุกข์ ไม่มีค่าอะไร
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ
ปล่อยวางไม่ใช่ปล่อยทิ้งหน้าที่
ครูบาอาจารย์ท่านสอนเรื่องการปล่อยวาง
แต่การปล่อยวางนั้นไม่ใช่การปล่อยทิ้งหน้าที่ของเรา
แต่หมายถึงการปล่อยวางความหวังในผลของการกระทำ
ไม่ใช่การปล่อยวางในการสร้างเหตุในการกระทำ
ชยสาโรภิกขุ
เรื่องของจิตคือการตั้งสติ
เรื่องจิตไม่ใช่เรื่องอะไร นอกจากการตั้งสติ ไม่ให้เผลอ
จะทำกิจอันใด ก็ทำด้วยความรู้
ไม่ใช่ทำด้วยโมหะ คือความหลงความไม่รู้
เมื่อเราไม่รู้ มันก็ปรุงเราแต่งเรา
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
ทุกคนมีพุทธะอยู่ในใจ
ทุกคนมีพุทธะอยู่ในใจ ไม่ยกเว้น
ถ้าใครมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ที่ถูกต้อง
สามารถพิสูจน์เห็นอริยสัจได้ทุกคน
เสมือนว่าเรามีขุมทรัพย์แห่งความสุข
อยู่ในบ้านของตนเองอย่างมหาศาลแล้ว
เพียงแต่เรารู้จักวิธีขุดขึ้นมาใช้เท่านั้นเอง
เราก็จะไม่ทุกข์อีกตลอดไปชั่วกัปชัวกัลป์
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท
วาง คือสติปัฏฐานด้านปฏิบัติ
กังวลอะไรของเธอในอดีต ..วาง
กังวลอะไรของเธอในอนาคต ..วาง
กังวลอะไรของเธอในปัจจุบัน ..วาง
ลองทำดูซิ คงได้ผล ไม่มากก็น้อย
โดยปริยัติ ก็คือว่า วางกังวล
ลองเจริญสติอันนี้ดูเถอะ
นี่คือ สติปัฏฐานด้านปฏิบัติ
วางได้ ก็เรียบร้อยเท่านั้น
หลวงปู่บุญฤทธิ์ บัณฑิโต
ร่างกายไม่ใช่ของใคร
ร่างกายของเรา เราก็คิดว่าของเรา แต่เมื่อมันเกิดสิ่งแทรงซ้อนต่างๆ มีโรคภัยไข้เจ็บ มีเชื้อโรคต่างๆเกิดขึ้นในร่างกาย เชื้อโรคต่างๆ เค้าก็ว่าร่างกายนี้เป็นของเขา เมื่อมีหลายโรค โรคทุกโรคก็ว่าเป็นของเขาทุกโรค แม้แต่พยาธิในลำไส้ เค้าก็ว่าร่างกายนี้เป็นของเขา เป็นที่อยู่หากินของเขา
ส่วนเราที่มีร่างกายอยู่นี้ มีจิตของเราอยู่ในนี้ เราก็ว่าร่างกายนี้เป็นของเรา ต่างคนก็ต่างแย่งกันว่าเป็นของเรา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ของใคร เป็นเพียงที่อาศัยอยู่ชั่วครูชั่วคราวเท่านั้น
หลวงพ่อไม อินทสิริ
ใจสงบไม่ได้ เพราะไม่ทันอารมณ์
เมื่ออารมณ์เราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องฝึกเพื่อให้ความสงบเกิดขึ้นกับเรา อะไร ๆ ก็ได้มาแล้ว แต่ใจที่สงบยังไม่ได้ เพราะเรายังไม่ทันอารมณ์ตัวเอง การที่เราไม่รู้เท่าทันใจตัวเองนี่ ทำให้ไม่สงบ ...จึงจำเป็นที่เราจะต้องฝึกให้มีสมาธิในใจบ่อย ๆ การที่เราฝึกใจให้รู้จักความสงบนั่นแหละมันเป็นกำไรชีวิต...เราจะมีคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจเราก็ต้องมีความสงบ พอเราไม่สงบแล้วจะนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็นึกไม่ออก เพราะจิตเราไปอยู่กับโลกภายนอกหมด
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
โลกนี้มีแต่ทุกข์ทั้งหมด
โลกนี้มีแต่ทุกข์ทั้งหมด หาใช่สุขไม่
จงมาเห็นความจริงกันเสียเถิด
อย่าได้หลงเกิดให้ทุกข์อีกต่อไป
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
ข้อคิดเมื่ออยู่วัด
อยู่วัด..สำคัญที่สุดอย่าไปตั้งความหวังกับคน สถานที่ดีแค่ไหนก็ตาม ครูบาอาจารย์ดีแค่ไหนก็ตาม คนรอบข้างก็ยังเป็นคนอยู่ ถ้าไปคิดว่าวัดดีแล้วคนต้องดี คิดว่าครูบาอาจารย์ดีแล้วเขาต้องดี เดี๋ยวก็อกหักดังกร๊อบ ในเมื่อคนจะอยู่ที่ไหนก็ยังเป็นคน ก็อยู่ที่เราว่าเราปล่อยวางได้มากเท่าไร สรุปง่าย ๆ ว่าอย่ายุ่งกับเรื่องของคนอื่น ทำหน้าที่เราให้ดีที่สุดก็จบ จะได้ดูว่าเราเองปล่อยวางสักกายทิฐิได้มากเท่าไร? ตัวกูของกู มานะยังมีเยอะไหม? ถ้าไม่มีก็อยู่สบาย ถ้ามีก็กระแทกอยู่เรื่อย
หลวงพี่เล็ก สุธมฺปญฺโญ
คนรู้แจ้งต้องดูความคิด
คนส่วนมากเข้าใจปัญญา เพียงรู้จำรู้จักเท่านั้น น้อยคนรู้แจ้ง รู้จริง คนที่จะรู้แจ้งรู้จริงนั้น ต้องมีความพยายามอยู่เสมอ ไปไหนมาไหน ก็ดูความคิดตัวเองอยู่เสมอ เข้าห้องน้ำห้องส้วม ทานอาหารก็ดูความคิดเสมอ เมื่อดูมาก ๆ เหมือนแมวคอยจ้องจับหนู เมื่อความคิดมันปรากฏ สติหรือปัญญามันจะเห็นแจ้งทันที อันนี้เรียกว่า ปัญญากำจัดกิเลสอย่างละเอียด...จะรู้จักทุกศาสนา ศาสนาไหน สอนเรื่องอะไรมันจะเห็นเอง เข้าใจเอง ไม่ว่าจะเป็น ฮินดู สอนเราก็เข้าใจ คริสต์สอนก็เข้าใจ ที่เราไม่เข้าใจ เพราะเราไปจดจำ ตำรามันเป็นประวัติศาสตร์ชนิดหนึ่ง บัดนี้เรามาศึกษาที่ตัวเรา ไม่ต้องไปศึกษาที่ตำรา ของจริงมันอยู่ที่เรา หนังสือตำรามันเป็นเพียงคำพูดของคนนั้นคนนี้เท่านั้น
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
ความสบายใจอยู่ที่การยอมรับ
ความสบายใจไม่ได้อยู่ที่การพยายามทำทุกสิ่งให้ได้ดั่งใจ
แต่อยู่ที่การยอมรับว่าไม่มีอะไรจะได้ดั่งใจเราทั้งหมด
ชยสาโรภิกขุ
คนชั้นยอด ต้องอ่อนน้อม
ยอดไม้ เป็นส่วนที่อ่อนของต้นไม้ แต่อยู่ยอด
โคนไม้ เป็นส่วนที่แข็งของต้นไม้ แต่ก็อยู่แค่โคน
ฉะนั้นใครอยากเป็นคนชั้นยอด ต้องเป็นคนอ่อนน้อม
อ่อนน้อมทางกาย อ่อนหวานทางวาจา และอ่อนโยนทางจิตใจ
หลวงปู่บุญกู้ อนุวฑฺฒโน
ความก้าวหน้าของวิปัสสนาญาณ
ความก้าวหน้าของวิปัสสนาญาณ คือ เมื่อกิเลสเข้ามาในดวงใจหรือดวงจิตของเรา เราสามารถรู้เท่าทันมัน แล้วรู้ว่ามันขังอยู่ในใจของเรานานแค่ไหน คือ เรารู้เท่าทันมันตลอด จากนั้นกิเลสสามารถตกลงไปได้ไวที่สุด พูดง่ายๆ คือ เมื่อกิเลสเข้ามาปุ๊ป แล้วมันตกลงไปจากใจได้ไวที่สุด นี่จึงเรียกว่าความก้าวหน้าของด้านวิปัสสนาญาณในระดับต้นโดยการอาศัยสติ สติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
พระอาจารย์ยุคลธรณ์ ธัมมปุตโต
ทำบุญด้วยจิตผ่องใสจึงได้บุญ
จะเดิน.. นั่ง.. กิน.. แม้แต่ตอนนอน ภาวนาไว้ อย่าได้ขาด..
ปฏิบัติ ทุกลมหายใจเข้าออก ทรงอารมณ์ดีดี
อย่าให้กระแสไม่ดี เข้ามากระทบ...
การบันทึกบุญอยู่ที่อารมณ์ หากอารมณ์ดี
ก็จะบันทึกบุญได้ตลอด หากอารมณ์ไม่ดี
จะบันทึกบุญไม่ได้เลย...
หลวงตาม้า(วรงคต) วิริยธโร
ทางโลกกับทางธรรม
ในทางโลก การได้มามากๆ
เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
แต่ในทางธรรม การสละสิ่งที่มีมากๆ
ให้หมดไป แม้แต่สิ่งละเอียดอ่อน
ภายในใจได้ … ท่านว่า ประเสริฐสุด
หลวงปู่จันทร์ศรี จันฺททีโป
อย่าให้จิตส่งออก
เมื่อจิตคอยจะเตลิดออกไปข้างนอก
เช่น คอยไปคิดนอกตัว ก็พยายามสำรวจให้จิตมารู้อยู่ในตน คือให้มาอยู่ที่กายที่ใจ
ให้เข้ามารับรู้รับทราบอยู่ในตัวเองไว้ ถ้าส่งจิตออกนอกตัวเมื่อไหร่
ก็ถือว่าเผลอแล้วไม่ถูกแล้ว ยิ่งถ้าจงใจปล่อยจิตคิดออกไปเอง
ตั้งใจออกไปเองอย่างนั้นก็ยิ่งไปกันใหญ่ แต่ถ้าเมื่อได้สติขึ้นมาก็ต้องกลับเข้ามา
น้อมเข้ามา โอปะนะยิโก คือ พึงน้อมเข้ามาใส่ตน รู้ในตน
พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี
พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี
ความสุขที่แท้ คือสุขในธรรม
ความสุขของเราไม่ได้อยู่ที่ใครจะมาสรรเสริญว่าเราดีเช่นนั้นเช่นนี้
นั่นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
เพราะความสุขที่แท้จริงคือ
การที่เรามีความสุขในพระธรรมของพระพุทธเจ้า
มีความสุขในการประพฤติปฎิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า
นั่นคือความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่มั่นคง
เป็นความสุขที่ไม่มีใครขโมยไปได้
เป็นความสุขที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีดับ
พระอาจารย์ยุคลธรณ์ ธัมมปุตโต
มีธรรมะกับรู้ธรรมะ
บรรดานักปฏิบัติทั้งหลาย ท่านว่าให้เป็นผู้ที่ “มีธรรมะ” อย่าให้เป็นคน “รู้ธรรมะ” เฉยๆ ...ความรู้ธรรมะเรารู้ได้นะ ใครว่าอะไร อยู่ที่ไหน ได้ยินที่ไหน ก็จดจำระลึกได้ หรือไปอ่านตามตำรา คัมภีร์ ใบลาน หนังสือก็ยังได้ อันนี้เรียกว่า “รู้” “รู้ได้” “พูดได้” “เจรจาได้” แต่ไม่ใช่ “มีธรรมะ” ...คำว่า “ธรรมะ” ที่จะมีได้ ต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติ การกระทำ ทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ จนธรรมะปรากฏเกิดขึ้นในกาย ในวาจา ในจิตใจของเรา เป็น “สันทิฏฐิโก” ผู้ปฏิบัติย่อมรู้เอง...เป็นธรรมะของเราโดยเฉพาะ ไม่ใช่ธรรมะที่ขโมยมาจากตำรา
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
พระอริยะกลัวการเกิด
พระอริยะกลัวคำว่าการเกิด
ปุถุชนอธิษฐานเกิดแล้วเกิดอีก
เกิดอยู่นั่นแหละ
อธิษฐานเกิด ชั่วฟ้าดินสลาย...
พระอาจารย์สมชาติ ธมฺมโชโต
การเวียนว่ายตายเกิดคือสะสมทุกข์
การเวียนว่ายตายเกิดเป็นการที่เราสะสมทุกข์
เวรกรรมก็คอยจะสนองเราตลอดเวลา
บางชาติก็สุข บางชาติก็ทุกข์
ไม่มีความเที่ยงแท้ ไม่มีความแน่นอนอันใดเลย
แค่ปัจจุบัน ณ ขณะนี้ เดี๋ยวมีเงินทอง เดี๋ยวก็ไม่มี
เดี๋ยวมีความสุข เดี๋ยวก็ไม่มีความสุข
มันไม่มีอะไรเลยที่เราจะสามารถจับต้องได้ในโลกมนุษย์นี้
ไอ้ที่บอกว่าเป็นของๆ เรา
แท้จริงแล้วไม่มีอะไรเป็นของๆ เราเลย
ให้เราพิจารณาเช่นนี้ไว้เสมอ
พระอาจารย์ยุคลธรณ์ ธัมมปุตโต
โปรดใครไม่ได้ ก็ต้องวาง
ในที่สุดถ้าเราโปรดใครไม่ได้
เราก็ต้องวาง
ถ้าเราวางไม่ได้ เราก็ต้องทุกข์
เราสงสารใครเขาก็ได้
แต่อย่าให้จิตของเราเศร้าหมอง
พระอาจารย์สมชาติ ธมฺมโชโต
รักษากายพอประมาณ รักษาจิตให้มาก
เป็นธรรมดาที่สังขารร่างกายของเรา จะต้องเดินไปสู่ความเสื่อมความสลาย แม้จะป้องกันแก้ไขอย่างไรก็เป็นแต่ยืดเวลาออกไปเท่านั้น ที่จะห้ามไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายเลยนั้นไม่ได้ ฉะนั้น จึงให้มุ่งเอาจิตเป็นสำคัญ คือบำรุงรักษาร่างกายพอประมาณ แต่บำรุงรักษาจิตให้มากๆ เป็นการหาสาระจากสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารนั้นๆ ให้มากที่สุดที่จะทำได้ คือให้เร่งรัดบำเพ็ญกุศลเต็มสติกำลัง ทั้งทาน ศีล ภาวนา แม้ร่างกายจะแก่ จะแตก จะตาย ก็ไม่วิตกกังวล เพราะสมบัติดี ๆ มีไว้ เตรียมไว้แล้ว
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
ผู้ภาวนาย่อมรู้จักทุกข์
เมื่อผู้ใดมาภาวนา ทวนกระแสจิตเข้ามาภายใน มากำหนดรู้กายรู้จิตนี้อยู่ ก็ย่อมรู้จักทุกข์ เพราะร่างกายนี้มันแปรปรวนอยู่เรื่อยไป ไม่คงที่ แล้วจิตก็อาศัยอยู่ในร่างกายอันนี้ เมื่อร่างกายอันนี้มันแปรปรวนไป มันกระทบกระทั่งกับจิต จิตก็มีความรู้สึกเปลี่ยนแปลง ไม่ปกติ วุ่นวาย ถ้าจิตของท่านผู้รู้ทั้งหลายแล้ว ท่านไม่หวั่นไหว เพราะท่านรู้ว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อมันแปรปรวนไปก็เป็นเรื่องของมัน เราก็บังคับมันไม่ได้ หน้าที่ของจิตก็มีแต่กำหนดรู้เท่าตามความเป็นจริงอยู่เท่านั้นเอง เราจะไปบังคับให้มันเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ได้เลย
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
อานิสงส์จากการภาวนา
การอบรมภาวนาทางปัญญา จึงเป็นเรื่องละถอนกิเลส ตัณหา อาสวะ ที่มีอยู่ในจิตในใจ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝึก จะอบรมจิตใจของตนได้ หากเราตั้งใจ เห็นว่าเป็นของจำเป็นจริงจัง แต่ถ้าไม่ทำก็จะไม่เกิดประโยชน์ เกิดมาไม่ทำภาวนาเลย มันก็แก่ ก็ตายเหมือนกัน ผู้ทำภาวนา ถึงแก่ ถึงตาย จิตใจของท่านไม่มีการหวั่นไหว ไม่มีการเสียดายชีวิต ไม่ถือว่าเกิดมาเป็นโมฆะ ท่านมีความสุขความสบายในจิตในใจของท่าน ถึงกายมันจะแตกสลายไปเหมือน ๆ กัน แต่จิตใจท่านไม่หวั่นไหว ไม่ลุ่มหลง นี่คือ...อานิสงส์เกิดจากการภาวนา
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
ธรรมทุกอย่าง รวมอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ธรรมทุกอย่าง รวมอยู่ด้วยความไม่ประมาท
จงมีสติทุกเมื่อ เฝ้าดูการเกิดดับของจิตปัจจุบัน
รู้แจ้งปล่อยวาง เป็นทางออกจากทุกข์
มีปีติในธรรม ชุ่มฉ่ำอยู่ภายใน
เบาใจเบากาย หายกังวล
จิตสงบระงับดับเย็น
เห็นแจ้งนิพพานเอยฯ
ครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร
ชนะกามกิเลส ชนะได้หมด
ให้พิจารณาเรื่องกามกิเลส
ชนะอันนี้ได้ชนะได้หมด ไม่ชนะอันนี้อย่ามาคุย
คุยได้ก็ไม่รู้เรื่อง นี้แหละ สุดยอดแห่งกรรมฐาน
มนุษย์สร้างภพสร้างชาติ ก็เพราะตัวนี้แหละ
ไม่พิจารณาตัวนี้ จะพิจารณาอะไร
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
ยึดสมมุติทางโลกจึงทุกข์
ผ้าจีวร ให้เป็นผ้าขี้ริ้ว ผ้าราคาถูกแค่ไหน แพงหรือดีแค่ไหน กายมันก็ไม่รู้อะไรด้วย เอามาคลุมกาย กายมันก็เฉยๆ อยู่ ไม่เห็นว่าอะไร มีแต่กิเลสมันไปยึดโน่นยึดนี่ ยึดสมมุติทางโลก ต้องอย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี แล้วก็ทุกข์เอง
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
อย่าไปยินดียินร้าย
รูปก็สักว่ารูป เสียงก็สักแต่ว่า อย่าไปยินดียินร้าย มีความรู้ชัดอยู่อย่างนั้น ให้ดูความรู้ให้ดีๆ จี้ลงไปๆ จะเกิดความมหัศจรรย์
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
ควรระลึกความตายอย่างน้อยวันละ ๕ ครั้ง
วันหนึ่งๆ ควรระลึกถึงความตาย อย่างน้อยสัก ๕ ครั้ง ใจคนเราก็จะมีความหยุดชะงักบ้าง การกระทำความชั่วลามกทั้งหลาย หรือความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม การลืมเนื้อลืมตัว ก็จะมีสติสตังบ้าง เพราะป่าช้ามีอยู่กับตัว เราต้องตายสักวันหนึ่ง.......
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
อดทนกับกิเลสในใจของตนเองดีกว่า
อดทนกับกิเลสในใจของตนเองดีกว่า อย่าไปตำหนิจริยาของใคร อย่าไปสร้างความพอใจ หรือไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับจิตใจของตนเอง ปล่อยวางพฤติการณ์รอบด้านให้เป็นไปตามความเป็นจริง จิตใจอย่าไปฝืนกรรมของใคร ใจก็จักเป็นสุข ไม่เดือดร้อนกับความทุกข์หรือความสุขของใคร เท่านั้นแหละได้ชื่อว่าจิตใจเริ่มจักเข้าสู่ทิศทางที่จักเพียรตัดกิเลสในจิตใจของตนเอง มิใช่ไปเพียรติดกิเลสของชาวบ้าน จำคำหนึ่งที่พระอรหันต์ท่านให้กันอยู่เป็นปกติ เป็นคติประจำใจ ทุก ๆ ยุค ทุก ๆ สมัยว่า ช่างมัน ๆ ๆ แล้วพวกเจ้าจักสบายใจ
สมเด็จองค์ปฐม
อย่าไปรับไฟของคนอื่นมาใส่ใจตน
จงอย่าไปรับไฟของคนอื่นมาใส่ใจตน การทำงานในพระพุทธศาสนานี้ ขอให้มั่นใจในพุทโธ อัปมาโณ ธัมโม อัปมาโณ สังโฆ อัปมาโณ แต่ในขณะเดียวกันก็จงเห็นเป็นปกติธรรม ไม่มีใครสามารถทำให้คนทั้งโลกรักได้ ทุกคนย่อมมีทั้งคนรักและคนชัง โลกเป็นปกติธรรมอยู่อย่างนี้ พระตถาคตเจ้าทุกพระองค์ก็ถูกโลกธรรมเล่นงานมาแล้วทุกพระองค์เหมือนกันหมด ห้ามโลกไม่ให้เป็นไปอย่างนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ พระตถาคตเจ้าจึงห้ามใจตนเองไม่ให้ไปหมกมุ่นอยู่กับโลก ด้วยจิตใจที่ปราศจากกิเลส
สมเด็จองค์ปฐม
ทุกข์หายไปเพราะรู้จักใจตน
ทุกข์หายไปเพราะรู้จักใจตน
ใจที่ไม่ยึดถืออันใด
ใจ ที่ปราศจากอุปทาน
ใจที่ไม่ห่วงอันใดอีกแล้ว
หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ
การเบียดเบียนตัวเอง เป็นของที่เห็นได้ยาก
การเบียดเบียนตัวเอง เป็นของที่เห็นได้ยาก ความเบียดเบียนตนเองเกิดจากความเห็นแก่ตัว กลัวว่าตัวเองจะไม่ได้รับความสุข เช่นจะรักษาศีลแปดก็กลัวจะหิวข้าวเย็น กลัวไม่ได้ทาน้ำอบหอม กลัวไม่ได้นอนเบาะฟูกสบาย จะนั่งสมาธิก็กลัวเมื่อย เลยไม่กล้าทำความดี นี่แหละเป็นการรักตัวเองไม่จริง เป็นการเบียดเบียนตัวเองโดยมองไม่แลเห็น
ท่านพ่อลี ธัมมธโร
ให้ใจยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์
พุทโธ พุทโธ หมายความว่า ให้ใจยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้จิตออกไปสู่อารมณ์ภายนอก เพราะอารมณ์ภายนอกมันชอบไปจดจ่ออยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความถูกต้องทางกาย หากทุกสิ่งทุกอย่างมันไปจดจ่ออยู่ที่นั่น จิตมันจะไม่รวมลง นี่แหละ เรียกว่า มาร คือ ไม่มีสติ
หลวงปู่ขาว อนาลโย
หัวใจของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่สติ
หัวใจของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่ สติสัมปชัญญะ ตัวเดียว เราทำสมาธิขั้นใด ได้ฌานขั้นใด ญาณขั้นใด หรือรู้เห็นอะไร วิเศษวิโสแค่ไหน จุดสำคัญ ก็คือ สติ
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นแม่เหล็กใหญ่ของโลก
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นแม่เหล็กใหญ่ของโลก จะดึงให้มาเกิดอีก ตัวแก้คือปัญญา อยู่กับโลกแต่ไม่ติดกับสิ่งเหล่านี้
หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
การพิจารณา ต้องทำใจได้
การพิจารณาที่สำคัญคือต้องทำใจได้ เพราะถึงแม้จะพิจารณาถูกต้องตามเป็นจริงแต่ทำใจไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์
หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
ข้อคิดเกี่ยวกับการให้ทาน
บารมีแปลว่าทำให้มันเต็ม
หรือทำอะไรด้วยความเต็มอกเต็มใจไปทุกเรื่องนั้นเอง
เมื่อใดยังทำอะไรด้วยความไม่เต็มใจ บารมีในเรื่องนั้นก็ยังขาด
เช่น การให้ทานด้วยความไม่เต็มใจ
ให้น้อยๆ อาจจะเต็มใจให้ แต่ถ้าให้มากๆ ก็ชักลังเล
เช่น ให้หนึ่งบาท ก็มีใจให้เต็มที่
แต่ถ้าให้แสนบาท อาจจะต้องคิดมากหน่อย
และอาจให้อย่างไม่เต็มใจก็ได้
แต่ถ้าเรามีความเต็มใจให้เสมอเหมือนกันว่าจะให้หนึ่งบาท
หรือแสนบาทก็เต็มใจเท่ากัน
นั่นเรียกว่าทานบารมีเต็มแล้ว เพราะจะให้มากหรือน้อยก็ให้ได้...
ไม่มีความแตกต่างว่าให้มากหรือน้อย
นั่นคือความหมายของคำว่า บารมี
แม้ตัวอื่นๆ ก็มีนัยยะเดียวกัน...
หมายถึง การให้อภัยทาน การให้ธรรมทาน ด้วย
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท
ให้พิจารณาละอารมณ์เสมอ
การที่ภาวนาจิตใจให้มันสงบลงไปได้ ก็เพราะมันเตือนใจของตนให้ละเรื่องภายนอกอยู่เสมอ ในเวลาที่ไม่ได้นั่งสมาธิภาวนา ก็ต้องเตือนใจให้ละอารมณ์ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันกระทบมาเวลาใด เราก็พิจารณากำหนดละมันในเวลานั้นไปเรื่อยๆ ให้จิตนี้เป็นปกติอยู่เสมอ
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
อัปปิจฉตา เป็นผู้มักน้อย
อัปปิจฉตา เป็นผู้มักน้อย
การมักน้อยที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น
ไม่ใช่มักน้อยอะไร
มักน้อยในอารมณ์สัญญา
มักน้อยในกิเลสตัณหา
มักน้อยในสังขารการปรุงคิด
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)