เคล็ดลับของการปฎิบัติคือ
อย่าเข้าไปเป็น ให้เป็นผู้รู้ เป็นผู้ดู
อย่าเข้าไปเป็นมัน
ถ้าเข้าไปเป็นมัน ไม่ใช่นักปฏิบัติ
เพราะเวลาเราไม่ปฏิบัติ
เราก็เข้าไปเป็นอยู่แล้ว
.
เวลาเกิดความโกรธ เราก็โกรธ
เวลาเกิดความรัก เราก็รัก
แต่นักปฏิบัติจะต้องเห็น เห็นความโกรธ
เห็นความรัก เห็นความเบื่อ
เห็นความขี้เกียจ
แต่ไม่ได้เข้าไปเป็นผู้ขี้เกียจด้วย
นี่ปลอดภัยแล้ว
.
ทุกข์จะเกิดขึ้นที่กายมากน้อยแค่ไหน
แต่ใจเป็นผู้เห็น ความคิดจะปรุงแต่ง
ให้ใจเราเศร้าหมองแค่ไหน
ใจเราก็ไม่ได้ไปเศร้าหมองด้วย
เป็นแค่ผู้เห็น ปลอดภัยแล้ว
.
ถ้าเราฝึกบ่อยๆ เจริญสติบ่อยๆ
รู้สึกบ่อยๆ บริกรรมในความรู้สึกบ่อยๆ
ต่อไปจิตจะรู้เอง
สติจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
ต้องทำบ่อยๆ แล้วเขาก็จะเกิดขึ้นเอง
เหมือนเราสอนให้เขารู้สึกตัว
ต้องอาศัยความเพียร ความอดทน
จึงจะเห็นผล แล้วต้องต่อเนื่องด้วย
.
ไม่ใช่ขณะปฏิบัติเอาจริงเอาจัง
แต่พอออกไปทานข้าว ฟุ้งเหมือนเดิม
ต้องให้ต่อเนื่อง จะได้ประโยชน์มาก
เหมือนเราตำน้ำพริก ตำครั้งเดียวก็ยังกินไม่ได้
ต้องตำหลายๆ ครั้ง จึงจะกินได้
ทานข้าวคำเดียวก็ยังไม่อิ่ม
ต้องทานหลายๆ คำ
.
การปฏิบัติก็เหมือนกัน
ต้องรู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ จึงจะได้ผล
เรื่องธรรมะไม่ใช่เรื่องยากเย็น
เรื่องยากคือความคิด ปฏิบัตินี่ไม่ยากหรอก
มันยากตอนที่จะไม่ได้ปฏิบัติ
.
ง่ายๆ แค่รู้สึก
เวลากายเคลื่อนไหวก็รู้ เวลาใจคิดก็รู้
แค่รู้เฉยๆ
ก็เป็นการปฏิบัติธรรมที่สมบูรณ์แล้ว
จบลงที่ความรู้สึกตัวเท่านั้น
อ.กำพล ทองบุญนุ่ม
Photo by Eneko Uruñuela on Unsplash
ที่มา : เพจมนษิธาร Monsitharn
(บ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา เดิม)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น