วางใจเป็นกลาง ไม่ตีค่าไม่ตัดสิน


การดู การรู้ หรือการเห็นเฉยๆ นั้นมีพลังสามารถปลดเปลื้องอารมณ์ต่างๆ ออกจากใจได้ 
แต่เคล็ดลับอันนี้ผู้คนไม่ค่อยตระหนักเท่าไร 
.
ส่วนใหญ่จะพยายามกดข่ม ต่อต้าน เช่น เวลาเด็กกลัวก็บอกลูกว่าอย่ากลัวๆ พอเด็กโกรธก็บอกว่าอย่าโกรธๆ หรือแม้กระทั่งเวลาเกิดขึ้นกับตัวเองก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน อันนั้นเป็นวิธีหนึ่งแต่ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด 
.
วิธีที่ดีกว่านั้นคือการมีสติดูมัน เห็นมัน รู้เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไร 
.
การเจริญสติก็คือการฝึกจิตให้มีนิสัยที่จะรู้เฉยๆ เห็นอย่างที่มันเป็น ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ไม่ต้องตีค่าว่าดีหรือชั่ว เพราะถ้าตีค่าว่าดีก็อยากจะยึดครอง ถ้าตีค่าว่าชั่วก็อยากจะผลักไส 
ให้เห็นอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่เห็นตามที่เราอยากจะให้มันเป็น 
.
วางใจเป็นกลาง ไม่ตีค่าไม่ตัดสิน ช่วยให้เราเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง 
จนกระทั่งได้เห็นถึงสภาวะที่เป็นปรมัตถ์ของมัน 
.
การตัดสินอารมณ์ต่างๆ ว่าดีหรือชั่ว บวกหรือลบ อันนี้ยังเป็นสมมติอยู่ 
แต่ถ้าเราเห็นจนกระทั่งว่ามันเป็นแค่สภาวธรรมที่เกิดขึ้น 
.
ความโกรธกับความเมตตาที่จริงก็เป็นธรรมเหมือนกัน 
และก็ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์เหมือนกัน ความเมตตาที่เกิดขึ้นในใจก็สอนธรรมได้ 
ความโกรธที่เกิดขึ้นในใจก็สอนธรรมให้กับเราได้เช่นกัน เช่น สอนเรื่องไตรลักษณ์ 
สอนให้เห็นว่ามันไม่จีรัง มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน 
.
การเจริญสติเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องยกระดับเป็นวิปัสสนา 
คือการเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง โดยไม่มีการให้ค่าไม่ตัดสินตามสมมติ
.
แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเราก่อนถึงตรงนั้น คือทำให้เราอยู่เหนืออารมณ์ได้ 
ไม่ปล่อยให้มันมารังควานจิตใจ จนเกิดความรุ่มร้อน เกิดความรู้สึกบีบคั้น 
.
แค่เห็นมัน ดูมัน มันจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน จะมองมันว่าเป็นเพื่อนก็ได้ 
เป็นเพื่อนหรือแขกที่มาเยี่ยม อยากจะเข้ามาก็เชิญ 
เราไม่ผลักไส เราไม่ทำอะไรกับเธอทั้งสิ้น 

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

Image by Mihail_hukuna from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น