การปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน
ท่านอนุญาตให้คิดได้ เพราะว่าสิ่งสำคัญ
ไม่ได้อยู่ที่ว่าคิดน้อยหรือคิดมาก
สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่ารู้ทันความคิดหรือเปล่า
นี่สำคัญกว่า
.
คิดน้อยแต่ไม่รู้ทัน
หรือสงบแต่ไม่รู้ตัวว่าสงบ
หรือหลงในความสงบ อันนี้ไม่ดี
แต่ถ้าไม่สงบรู้ว่าไม่สงบ อันนี้ดีกว่า
มันจะคิดน้อยคิดมาก ก็ไม่สำคัญ
เท่ากับว่ารู้ทันความคิดนั้นหรือเปล่า
อันนี้เป็นการฝึกให้รู้ทันความคิด
.
และไม่ใช่แค่ความคิดอย่างเดียว
รู้ทันอารมณ์ด้วย
ไม่ว่าอารมณ์ฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบ
แค่รู้ทันก็ทำให้ความคิด
และอารมณ์เหล่านั้นมันสงบ
หรือว่ามันหมดพิษสงลง
เพียงแค่รู้ทันมันก็ทำให้จิตสงบได้
.
เป็นความสงบไม่ใช่เพราะไม่รู้
เป็นความสงบไม่ใช่เพราะห้ามคิด
แต่เป็นความสงบเพราะรู้ คือรู้ทัน
รู้ทันความคิดและอารมณ์
รวมทั้งรู้จักธรรมชาติของใจด้วย
…
หลวงพ่อเทียนท่านเคยพูดว่า “ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้”
คิดในที่นี้หมายถึงคิดฟุ้งซ่าน
เพราะฉะนั้นปล่อยให้มันคิดฟุ้งซ่านไป
รู้ที่ว่านี้คือรู้ทัน
ใหม่ๆ คิดฟุ้งซ่านไปสัก ๑๐๐ เรื่อง
อาจจะรู้ทันสัก ๑๐ - ๒๐ เรื่อง หรือ ๑๐ - ๒๐%
แต่พอทำไปๆ มันก็จะรู้ทันมากขึ้น ๓๐-๔๐%
ต่อไปมันก็จะรู้ทันมากขึ้นเป็น ๕๐- ๖๐% เป็นต้น
แล้วพอรู้ทันมันก็ทำให้ใจสงบลงได้ไม่ยาก
.
อันนี้มันเป็นวิธีการหนึ่ง
ที่ช่วยทำให้เรามีความพร้อม
ในการรับมือกับความไม่สงบ
หรือพร้อมเจอความไม่สงบเมื่อมันเกิดขึ้น
คือเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็รู้ทันมัน
ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาครอบงำใจ
หรือไม่ไหลไปตามมัน
แล้วพอเราพร้อมเจอความไม่สงบ
ในที่สุดเราจะพบกับความสงบเอง
…
“ฝึกใจให้พร้อมเจอความไม่สงบ”
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
Image by neelam279 from pixabay
Cr.Fb.Achara Klinsuwan
ที่มา : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา