“ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” ไม่ได้เป็นการปฏิเสธว่า “ที่นั่นไม่มีสุข”



คำพูดที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์”
ไม่ได้เป็นการปฏิเสธว่า “ที่นั่นไม่มีสุข” 
แต่เป็นการชี้ให้เห็นความจริงอีกแง่หนึ่งที่คนเรามักมองข้ามไป 
คือมักเห็นแต่ว่า ความรักทำให้เป็นสุข 
การมองเห็นความรักแต่แง่เดียว 
ทำให้คนเราไม่รู้จักเตรียมใจรับมือกับความทุกข์ 
โดยเฉพาะเมื่อเกิดความไม่สมหวังขึ้นมา..
พระพุทธเจ้ามิได้ปฏิเสธความรักของปุถุชน 
แต่ทรงเห็นว่ามันเป็นสุขที่เจือด้วยทุกข์ 
เช่นเดียวกับ กามสุข ซึ่งทรงเปรียบเสมือนคบไฟที่ทำด้วยหญ้าแห้ง
แม้จะให้แสงสว่าง แต่ก็มีควันที่ระคายเคือง 
บางครั้งก็เปรียบคนที่เพลินในกามสุขว่า 
เหมือนกับคนถือคบเพลิงทำด้วยหญ้าแห้งเดินโต้ลม 
หากไม่รู้จักวาง ก็จะโดนไฟไหม้มือและอวัยวะต่างๆ 
อย่างไรก็ตามหากพูดถึงสัดส่วนแล้ว ทุกข์นั้นมีมากกว่าสุข
เป็นเพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงส่งเสริมให้เรามีความรักที่ประณีตขึ้น 
นั่นคือ เมตตาหรือกรุณา เพราะเป็นความรู้สึกที่เจือด้วยกิเลสน้อย 
มุ่งประโยชน์สุขของอีกฝ่ายยิ่งกว่าผลประโยชน์ของตนเอง 
ไม่ปรารถนาการครอบครอง 
หากเรามีความรักแบบนี้มากๆ เราจะทุกข์น้อยลง 
นอกจากเราจะเป็นสุขแล้ว ยังทำให้อีกฝ่ายเป็นสุขอย่างแท้จริงด้วย
สรุปก็คือความรักเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตก็จริง 
แต่เราก็ต้องเห็นมันตามความเป็นจริง ว่ามันให้ทั้งสุขและทุกข์ 
อีกทั้งยังมีความรักที่ประเสริฐกว่าเสน่หา นั่นคีอเมตตากรุณา 
ยิ่งเป็นเมตตากรุณาของพระอริยเจ้าด้วยแล้ว 
ยิ่งให้แต่สุข ปราศจากทุกข์ เพราะไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไร
 เช่น ล้มหายตายจากไป หรือทำตัวไม่น่ารัก ท่านก็วางอุเบกขาได้ 
ขณะเดียวกันเมตตากรุณาก็ไม่ได้ลดลง ดังที่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
พระองค์ทรงมีเมตตาต่อพระเทวทัตเท่ากับที่ทรงมีต่อพระราหุล

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น