ภาวนา สำคัญที่รู้ภายใน
เรื่องการภาวนานั้น ไม่หมายเอาเพียงรูปร่างภายนอก... การนั่งแต่เพียงรูปร่างกายนั้นไม่ยุ่งยาก ข้อสำคัญอยู่ที่การทำจิตใจตั้งมั่นรู้อยู่ภายใน รวมอยู่ภายใน รู้ตามเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ มี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น จนไม่ยึดมั่นถือมั่นเสียได้
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
การภาวนา เครื่องค้นคว้าหาแก้วอันประเสริฐ
การภาวนา เป็นเหมือนเครื่องค้นคว้าหาแก้วอันประเสริฐ คนเรามีแก้วอันประเสริฐอยู่ในตัว แต่เมื่อไม่อาศัยการภาวนาก็ไม่สามารถค้นพบแก้วนั้นได้ พระพุทธศาสนามีคุณค่าสูงก็ด้วยสอนวิธีภาวนาทำใจที่มีกิเลสอาสวะเศร้าหมองอยู่ ให้หมดจดจากสิ่งเศร้าหมองกลับผ่องใสขึ้น
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
ให้ "ชอบ" ปฏิบัติก่อน
ถึงแม้ว่าการปฏิบัติของเรานั้น ยังไม่ถึงขั้นที่ว่า “การปฏิบัติชอบ” ก็อย่างน้อยที่สุด ขอให้เรา “ชอบปฏิบัติ” เสียก่อน
ชยสาโรภิกขุ
ศึกษาอารมณ์จิตตนเองให้ดี
การรู้อารมณ์คนอื่นพ้นทุกข์ไม่ได้ การรู้อารมณ์ตนเองพ้นทุกข์ได้ ให้พวกเจ้าศึกษาอารมณ์จิตของตนเองให้ดีๆ อย่าตำหนิอารมณ์จิตของใครว่าเลว ให้ตำหนิอารมณ์จิตของตนเองที่เลวเข้าไว้ก็แล้วกัน...หากไม่ศึกษาอารมณ์จิตของตนเอง เจริญกรรมฐานไปอีก ๒๐ ปีก็ไม่มีผล เพราะไม่รู้จักใจของตนเอง ก็คือไม่รู้จักทุกข์นั่นเอง...อารมณ์จิตนี่แหละ คือ ตัวรู้สึกถึงความสุข หรือความทุกข์ ไม่ใช่ที่ร่างกาย
สมเด็จองค์ปฐม
ให้พยายามภาวนาไปเรื่อย ๆ
ให้พยายามภาวนาไปเรื่อย ๆ ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ทำได้ตลอดเวลาถ้าเราจะทำ ดีกว่านั่งร้องเพลง จะซักผ้า หุงข้าว ต้มแกง นั่งรถ ทำได้ทั้งนั้น เขาเรียกว่าพยายามเกลี่ยจิตใจให้เข้าที่ ถ้าจะรอเวลาปฏิบัติ (นั่งสมาธิ) ทีเดียวมันยาก เพราะจิตมันแตกมาตลอด
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
ทำจิตให้เหมือนดูหนังดูละคร
ทำจิตให้เหมือนดูหนังดูละคร ผ่านไปแล้วก็ผ่านเลย หรือทำจิตให้เหมือนกระจกเงา อะไรผ่านเข้ามาก็เห็นหมด แต่เมื่อเลยไปแล้วกระจกเงาก็ไม่ได้ยึดภาพเหล่านั้นไว้เลย จำไว้จงเป็นเพียงผู้ดู ที่แล้วๆ มาพวกเจ้าลงไปแสดงร่วมกับเขาด้วย จึงเป็นการขาดทุนอย่างยิ่ง
สมเด็จองค์ปฐม
สติกับจิตต้องเป็นหนึ่ง
การภาวนาจะได้ผลหรือไม่นั้น ไม่คิดคำนึงให้เสียเวลา ทำความพยายามรักษาจิต คิดอย่างเดียวว่า ทำอย่างไรสติกับจิตจึงจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือระลึกรู้ทันกัน ในขณะที่จิตเคลื่อนไหวออกสู่อารมณ์ต่างๆ ไม่ปล่อยให้จิตเที่ยวกอบโกยอารมณ์มาเผาผลาญตน โดยไม่มีสติตามรักษา
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
หวังพ้นทุกข์ต้องสร้างบารมี 10
ผู้มุ่งหวังความพ้นทุกข์
ก็ต้องสร้างบารมีทั้ง ๑๐ ประการ เป็นพื้นฐานจิต
แล้วแต่โอกาสเวลาว่าในขณะใดที่เหมาะสม
ที่จะบำเพ็ญบารมีในลักษณะไหน
แต่โดยรวมแล้วนี่ มันเป็นสิ่งที่สนับสนุน
ในการบำเพ็ญศีลบารมี สมาธิบารมี ปัญญาบารมี
พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตโต
ปกติของธรรม คือว่าง
ปกติของธรรมจริงๆ แล้วว่าง ไม่มีอะไรเลย
จนเอามาพูดให้กันฟังไม่ได้
สิ่งที่รู้ได้ พูดได้นั้นก็คือสมมุติของโลกทั้งหมด
ยังเข้าไม่ถึงความดับได้จริงๆ
ถ้าเข้าถึงใจจริงๆ แล้วว่างหมด
โลกเป็นของมี ธรรมเป็นของว่าง
ไม่มีอะไรให้เห็น มีแต่รู้
หลวงปู่คูณ สิริจันโท
การมีสติรู้ตัวพร้อมคือทำความเพียร
การมีสติรู้ตัวพร้อม จึงเรียกทำความเพียร ไม่จำเป็นว่านั่งสมาธิ เดินจงกรม จึงเรียกทำความเพียร ถ้าไม่มีสติรู้ตัว ฟุ้งคิดไปเรื่อย ก็ไม่เรียกทำความเพียร เมื่ออิริยาบถใด จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน มีสติรู้ตัวพร้อม จึงเรียกทำความเพียร
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
การไม่รู้ทัน คือเสียท่า
คนที่สงบก็ไม่รู้ ไม่สงบก็ไม่รู้ นั่นเรียกว่า รู้ไม่ทัน การไม่รู้ทัน คือ การเสียท่ามัน เสียท่าใจดวงนี้เสียแล้วว่า "เผลอตัวไป"
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
พระโสดาบันหาคนเป็นไม่ค่อยได้
การเป็นพระโสดาบันไม่ยาก แต่หาคนเป็นไม่ใคร่ได้
เพราะขาดความเด็ดขาดในการตัดสินใจ
และความจริงใจมีไม่มาก
และก็ไม่เข้มแข็งพอ...
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
นิพพานไปไม่ถึงด้วยแรงอยาก
นิพพานนั้นเป็นเรื่องละเอียด
ต้องใช้ปัญญาเอามากๆ
ไม่ใช่ของที่จะถึงด้วยแรงอยาก
ถ้าเป็นของที่จะถึงได้ด้วยแรงอยาก
พวกเราคงตรัสรู้กันหมดแล้วทั้งโลก
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
รู้ก็สักแต่รู้ เห็นก็สักแต่เห็น
รู้ก็สักแต่รู้ เห็นก็สักแต่เห็น
ถ้าเห็นธรรมก็หายทุกข์
ถ้าแสงสว่างเกิดขึ้นเมื่อใด
ความมืดก็ดับ
เหมือนไฟฟ้า เมื่อไฟสว่าง
มืดก็ดับเป็นธรรมดา
แสงสว่างที่ดับมืด คือพ้นโลก
เป็นพุทธปัญญา
หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต
เวลาทุกข์เกิดขึ้นให้ดูเข้าข้างใน
เวลาทุกข์เกิดขึ้นให้ดูเข้าข้างใน (ดูจิต)
อย่าไปดูข้างนอก อย่าไปโทษคนโน้นคนนี้
ให้ดูกายกับใจของเรานี่แหละ
ดูให้เห็นว่าตัณหา อุปาทาน นี้แหละ
เป็นตัวต้นเหตุให้ทุกข์เกิด เป็นมาร
เป็นศัตรูที่ร้ายแรงที่สุด
ให้มีขันติ อดทนสู้อารมณ์นั้นๆ
ตามรู้อารมณ์นั้นๆ รู้แล้วก็ไม่หวั่นไหว
ไม่เดือดร้อนเป็นทุกข์ รู้แล้วไม่หลง ไม่ติด
มีแต่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
นั่นแหละ พระพุทธเจ้าอยู่ที่นี่เอง
ไม่ต้องไปหาที่ไหน
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
คนเสียสละไม่อับจน
อะไรก็ตามถ้าเราช่วงชิงไขว่คว้ามาใส่ตัว
จะไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันพอ
แต่ถ้าเรารู้จักเสียสละให้คนอื่นได้
เราจะกลายเป็นคนที่ไม่มีวันอับจน
หลวงพี่เล็ก สุธมฺปญฺโญ
พุทโธต้องมีสติกำกับ
...การบริกรรมพุทโธเป็นการกระทำภายในใจ
ต้องมีสติกำกับในการบริกรรม
ไม่ใช่บริกรรม พุทโธๆ แต่ไม่มีสติกำกับ
ถ้าหากว่ามีสติควบคุม ก็จะไม่หลงลืม
แล้วการบริกรรมพุทโธนั้นก็จะมีความละเอียด
หรือมีความสดใสเพิ่มขึ้น เป็นลำดับๆ
พุทโธกับสติ ก็มีโอกาสที่จะรวมเป็นอันเดียวกัน...
หลวงปู่แบน ธนากโร
ทำจิตให้ว่างจากอารมณ์คือการปฏิบัติธรรม
นักปฏิบัตินั้นต้องทำลายหรือละอารมณ์ทุกขณะจิต
ซึ่งเมื่อมีอารมณ์กิเลสเกิดขึ้น ตาเห็นรูป
หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น สิ้นสัมผัสรส
กายสัมผัสเย็นร้อน อ่อน แข็ง
เกิดความพอใจ เกิดความไม่พอใจ
ขณะจิตใดก็ตาม ในขณะจิตต่อมาต้องทำลาย
ละวางลงไปให้ได้ ทำจิตให้ว่างจากอารมณ์ให้ได้
นี่แหละจึงเรียกว่าการประพฤติปฏิบัติธรรม
หรือการพัฒนาจิตใจของเรานั้นให้ดียิ่งขึ้นไป
ในปัจจุบันธรรม ต้องต่อสู้อยู่ที่ใจของเรานี่แหละ
พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตโต
ทางเข้าออกของสมุนมาร
สำหรับ ผู้ปฎิบัติธรรม มารที่เข้ามาผจญนั้นมีมาก ต้องระวังด้วยสติปัญญา ทางเข้าออกของสมุนมาร คือ ตา...หู...จมูก...ลิ้น...กายและใจ ถ้าแม้เราอ่อนแอ เราสู้ไม่ได้ ชาตินี้เราก็หมดที่พักพิงเพราะ...อวิชชา...เป็นเหตุ
หลวงปู่คำดี ปภาโส
ว่างจากอารมณ์ยินดี ยินร้าย
ที่ว่าว่างๆ นั้น มันว่างจากอารมณ์ยินดี ยินร้าย แต่ความรู้ไม่ว่าง รู้ชัดทุกลมหายใจ หายใจเข้าก็รู้ชัด หายใจออกก็รู้ชัด รู้อยู่ตลอดเวลา แต่ว่างจากอารมณ์ยินดี ยินร้าย เหมือนดังชามที่ว่าง ไม่มีอะไรเลย
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
นิพพานชั่วขณะ
เมื่อเราเพียรเพ่งดูจิต ดูความคิด ความนึกของตัวตลอด ไม่ยอมให้หลุดจากจิตแล้ว เราจะเข้าใจสังขาร อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง มันปรุงให้เราดีใจ เสียใจ ร้องไห้ หัวเราะ โศกเศร้า มันปรุงเราได้ๆ...
เวลาไหน เราไม่ปรุง ไม่แต่งไปตามสังขาร ราคะ โทสะ โมหะ สังขารปรุงไม่ได้ เรียกว่านิพพานชั่วขณะ
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
การภาวนาไม่ต้องตั้งท่า
การภาวนาไม่ต้องตั้งท่า เดินไปเราก็ภาวนาของเราเรื่อยไป ภาวนาบ้าง ลืมไปบ้าง นั่งรถไป ภาวนาไป กระจุ๋มกระจิ๋ม นิดๆหน่อยๆ อย่างนี้ดีมาก ถ้าแบบนี้มันจะใช้อารมณ์ได้ทุกเวลา
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
พระพุทธเจ้าให้เรารู้จักอารมณ์
พระพุทธเจ้าให้เรารู้จักอารมณ์ ถ้าเราไม่รู้จักอารมณ์ เราจะเป็นคนไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา จะถูกอวิชชาชักลากจูงเอาไปเหมือนคนไม่มีเจ้าของ
หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
บังคับความคิดคือการทำลายสมอง
ปฏิบัติสมาธิเพื่อปลุกจิตสำนึกให้มันตื่นขึ้นมา
สมองคนเรามันฝึกได้ แต่พอมานั่งสมาธิ
จะคอยบังคับให้มันหยุดนิ่งๆ
นั่นแหละ คือการทำลายสมองของตัวเอง
ที่ถูกแล้ว มันคิด ก็ปล่อยให้มันคิด
แต่ว่าเรามีสติรู้ตัว
เวลามันหยุด ก็มีสติรู้ว่ามันหยุด
เป็นการปลุกให้มันตื่น มันสว่างขึ้นมา
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ความสงบคือบ้านที่แท้จริง
บ้านภายนอกไม่ใช่บ้านที่แท้จริง
บ้านที่แท้จริงของเราคือความสงบ
พระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักบ้านเรือนของตัวเอง
ให้เข้าถึงความสงบ ก็จะพบบ้านที่แท้จริง
หลวงปู่ชา สุภัทโท
จงหมั่นพิจารณาอสุภะภายใน
อสุภสัญญา จากภายนอก ยังเป็นเพียงสัญญา
จงหมั่นพิจารณาอสุภสัญญาภายในตน
นั่นคือทางแห่งปัญญาญาณ
...พระคิริมานนทสูตร
เมื่อแยกตัวจากอารมณ์ ใจอยู่เหนือสังขารโลก
ใจอันเป็นของเดิมนี้แล เป็นธรรมชาติผ่องใส มีปกติผ่อง มีรัศมี มีความใสสว่าง แต่เศร้าหมองแล้ว เพราะอารมณ์ และสรรพกิเลสที่จรเข้ามา...
ใจคือพุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่ตาย เมื่อแยกตัวออกจากอารมณ์แล้ว ใจก็อยู่เหนือสังขารโลก พ้นสิ่งที่เกิดดับ ไม่ต้องอาศัยอะไรอยู่ เหมือนฟ้าไม่ต้องอาศัยดินอยู่ รู้แล้ววาง วางแล้วว่าง ว่างแล้วอยู่ อยู่แล้วพุทธะ
หลวงปู่ดาบส สุมโน
อย่าไปยึดมั่นในสิ่งใดๆ แม้การปฏิบัติ
อย่าไปรีบ ไปเร่ง อย่าไปเคร่ง ไปเครียด
ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เวลาจะได้ มาเองนั่นแหละ
อย่าไปยึดมั่นในสิ่งใดๆ แม้การปฏิบัติ
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
จิตใจคนเรา ต้องมีสิ่งดีให้ยึดเกาะ
จิตใจคนเรา ต้องมีสิ่งดีให้ยึดเกาะ ไม่มีอะไรเกาะ ก็ไม่มีอะไรปล่อยวาง
การจะไปถึงนิพพานต้องปล่อยวางทั้งดีและไม่ดี
แต่ถ้าไม่ยึดเกาะสิ่งดีไว้ก็อาจทำให้ใจมุ่งไปเกาะในสิ่งไม่ดี เกิดโทษกับชีวิต
ฉะนั้นต้องเกาะความดีเอาไว้ พอได้จังหวะพอดีก็ค่อยปล่อย
เพื่อจะหลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิดไปสู่พระนิพพาน
หลวงพี่เล็ก สุธมฺปญฺโญ
สติตั้งที่ใจ
สติตั้งที่ใจ ดูอยู่ที่ใจ มองอยู่ที่ใจ
เห็นอยู่ที่ใจ เพ่งอยู่ที่ใจ กำหนดอยู่ที่ใจ
สติตั้งที่ใจ ดูอยู่ที่ใจ กำหนดอยู่ที่ใจ พิจารณาอยู่ที่ใจ
อิริยาบถ 4 ยืน เดิน นั่ง นอน
สติอันเดียว ก็ไม่หลาย
หลวงปู่ทา จารุธัมโม
ฝึกสติ สมาธิ ปัญญาเป็นเครื่องเอ็กซเรย์
เราต้องฝึกสติ สมาธิ ปัญญาเป็นเครื่องเอ็กซเรย์ เพื่อให้เห็นภาพของกิเลสตัณหาภายในใจ หาวิธีผ่าตัดเอากิเลสตัณหาออกจากใจให้ได้ ขณะนี้เราเป็นหมอหรือยัง มีปัญญารอบรู้ในกิเลสตัณหาหรือยัง ถ้าเราไม่รู้เห็นกิเลสตัณหา จะทำลายกิเลสตัณหาได้อย่างไร ผู้ที่ละกิเลสตัณหาอาสวะได้นั้น ต้องมีความพร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ที่สมบูรณ์ จึงจะกำจัดให้กิเลสตัณหาน้อยใหญ่หมดไปจากใจได้
หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
วัดตัวเอง ไม่อยู่ ไปหาวัดอื่นอยู่
วัดตัวเอง ไม่อยู่ ไปหาวัดอื่นอยู่
เท่ากับ ตัวเองยังไม่รู้จัก
แล้วจะไปรู้จักคนอื่นได้อย่างไร?
เท่ากับ มงคลตื่นข่าว
ใครว่าที่ไหนดี ไปหมด
เท่ากับ ไม่รู้ว่า พระธรรม
อยู่ที่ "กายกับจิต" ของตัวเอง
เท่ากับ ไม่รู้ว่า บุญคืออะไร?
บุญอยู่ที่ไหน? บุญเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เท่ากับ ยังหากิเลสของตน ไม่พบ!
ทั้งๆ ที่มันก็อยู่ที่ "ใจ" ของตนเอง
กินอยู่ หลับนอน เที่ยวกับมันตลอด
ทุกอย่างเกิดขึ้นข้างใน ไม่ใช่ข้างนอก
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
รู้ตนแล้วจะรู้สิ่งทั่วไป
อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ
พึงรู้ตนแล้วก็จะรู้ในสิ่งทั่วไป
เพราะ ตนนั่นแหละ เป็นเหตุ
เป็นต้นเหตุแห่งทุกสิ่ง
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
จิตว่างคือสภาวะนิพพาน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้กลัวต่อคำว่านิพพานเลย เพราะนิพพานคำนี้ เป็นชื่อของความสุข ที่แท้นิพพานก็อยู่ที่จิตหลุดพ้นปราศจากนึกคิด ที่เรียกว่าสังขารนั่นเอง
หลวงปู่ดาบส สุมโน
พึงติเรา ชมเรา
ไปหาติคนอื่น บางทีมีปัญหา ติเรา ติเรา การติเรานั่นล่ะคือการแก้ปัญหา เป็นการแก้ปัญหาที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าถูกต้อง ต้นไม้ในโลก มีทั้งมีแก่นและไม่มีแก่น คนในโลกก็เช่นเดียวกัน มีทั้งแข็งแกร่งและอ่อนแอ มีทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ ธรรมดาธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนั้น จึงไม่ต้องไปติ ไม่ต้องไปชมอะไรกัน ถ้าหากว่าจะติจะชม พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการติเราชมเรา
หลวงปู่แบน ธนากโร
ฝึกใจให้ปฏิเสธ
ของทุกอย่างให้ฝึกใจปฏิเสธว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ของๆ เราที่แน่นอนตายตัว เป็นสมมติโลก เราจะไม่หลงในสมมติโลกนี้ เราจะปฏิเสธว่า สิ่งนี้เป็นเพียงวัตถุธาตุอาศัยประจำชีวิตหนึ่ง ขณะที่เราเกิดมาเท่านั้น เมื่อถึงกาลเวลาเราก็ต้องแยกทางจากกันไป... ที่เราเกิดมากับโลกนี้ เพราะเราไม่เคย “ปฏิเสธ”
หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
ปล่อยวาง คือใจไม่ผูกพัน
คำว่า “ปล่อยวาง” เราไม่แสดง (อกิริยา) ไม่มีใครรู้ การปล่อยวาง คือ จิตรู้เท่าเห็นจริง แต่การปฏิบัติภายนอกเราทำหน้าที่ไปตามเดิม (กิริยา) ส่วนอกิริยาเป็นความลับสุดยอดส่วนตัว คือ ใจเราไม่ผูกพันของสิ่งใดๆ
หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
ความคิดทำให้เกิดกิเลส
ตา - หู - จมูก - ปากลิ้น - กาย - ใจ มิใช่กิเลส
รูป - เสียง - กลิ่น - รส - ผัสสะ - อารมณ์ มิใช่กิเลส
อายตนะนอก - อายตนะใน มิใช่กิเลส
ความดำริของใจเจ้าโง่นี้ต่างหาก
ที่มันพาให้เกิดเป็นกิเลส
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ
สมาธิที่ถูกต้องได้ไตรลักษณญาณ
ถึงแม้ว่าบุคคลใดจะทำสมาธิได้ดี จะได้รับความสุขขนาดไหนก็ตาม
หรือจะได้อภิญญาเพียงใดก็ตาม ถ้า “ไตรลักษณญาณ” ยังไม่เกิดแล้ว
ก็ยังนับว่าเป็น มิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ยังผิด ยังอยู่ในวงเขตที่ผิด
หลวงปู่คำดี ปภาโส
ทานคือการลดความยึดมั่น
บุญที่ทำในรูปของการถวายทานนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเงินก็ตาม จุดหมายสูงสุดอยู่ที่การลดความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกู ยิ่งลดได้มากเท่าไรก็ยิ่งเข้าใกล้นิพพานอันเป็นประโยชน์สูงสุด แต่หากทำบุญเพราะหวังแต่ประโยชน์ส่วนตน อยากได้เข้าตัวมาก ๆ แทนที่จะสละออกไป ก็ยิ่งห่างไกลจากนิพพาน หรือกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นนิพพานด้วยซ้ำ
พระไพศาล วิสาโล
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)