การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การมานั่งสมาธิเท่านั้น
มันคือการใช้ชีวิตโดยมีธรรมะเป็นหลักของใจ
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ฝึกที่จะเป็นคนที่เสียสละออกไป
ฝึกที่จะเป็นคนที่ให้อะไรออกไป
ในทางสภาวธรรมแล้ว
ผู้ให้ย่อมลอยสูงขึ้น
เป็นวิถีของความสุขเบาสบาย
จิตที่คิดจะเอามันจะหนัก
.. จะดึงเราจมลงต่ำ
.. จะทำให้เราเจอแต่ความร้อน
.. ความหนัก ความอัดแน่นต่างๆ
จิตที่คิดจะให้มันจะเบา
แล้วมันจะลอยขึ้น
สภาวธรรมเป็นเช่นนั้นนะ
เพราะฉะนั้นญาติโยม
ปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีมีความสุข
.. ก็ฝึกฝนที่จะขัดเกลาตนเอง
.. ฝึกที่จะเป็นผู้ที่เสียสละ
.. สละแม้กระทั่งความสุขความสบายส่วนตัว
.. เพื่อผู้อื่น เพื่อส่วนรวมขึ้นมา
ฝึกที่จะเป็นผู้ให้
การให้การสละออก ให้โดยที่เรา
.. ไม่ได้คิดที่จะเอาอะไรกลับมา
.. ไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน
.. ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร
#เป็นการขัดเกลาจิตใจตัวเอง
.. ขัดเกลาความตระหนี่
.. ขัดเกลาความหวงแหน
.. ขัดเกลามลทินในจิตใจ
.. ขัดเกลาความโลภ
.. ขัดเกลาความโกรธความหลงในจิตใจ
ฝึกที่จะเป็นผู้ที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ฝึกที่จะทำอะไรเพื่อผู้อื่น
ทรัพย์สมบัติเงินไม่กี่บาทของเรา
อาจจะประทังชีวิตของใครหลาย ๆ คนก็ได้
ถุงอาหารถุงหนึ่งของเรา
ที่เราอิ่มแล้วเหลือพอแล้ว
อาจจะช่วยชีวิตต่อลมหายใจ
ของใครหลาย ๆ คนก็ได้
ยิ่งคนนั้นเขาเป็นหัวหน้าครอบครัว
เขาอาจจะไปต่อโอกาสให้ลูกเมียเขา
ในชีวิตอีกมากมายก็ได้
ฝึกที่จะทำอะไรเพื่อผู้คนอื่น
แทนที่เราจะมองแต่ตัวเอง
แล้วก็จม แล้วก็ทุกข์
มองไปถึงคนอื่นบ้าง
ที่เขาได้รับความทุกข์ต่าง ๆ
.. แล้วใจเรามันจะเบาขึ้น
.. ใจเราจะเบิกบานขึ้น
.. ใจเราจะกว้างขวางขึ้น
จิตใจที่คับแคบที่หมกมุ่นกับตัวเอง
จะมีแต่ความร้อนความหนักอยู่ร่ำไป
จิตใจที่คิดถึงผู้อื่น
จิตใจที่กว้างขวางออกไป
จะเป็นจิตใจที่เบาสบาย
และจิตใจที่เบิกบานออกมา
ความสุขไม่ใช่สิ่งที่หายาก
ถ้าเราเข้าใจวิถีของการฝึกปฏิบัติธรรม
มันไม่ได้หมายความว่า
เราต้องมีเงิน มีทรัพย์สมบัติมากมาย
เราถึงจะมีความสุข
เมื่อไหร่ที่จิตใจเราเป็นจิตใจที่ดีงาม
นั่นแหละความสุขก็เกิดขึ้น
เพราะจิตที่เป็นกุศลคือจิตที่มีความสุข
จิตที่เป็นอกุศลคือจิตที่มีความทุกข์
ตรงกันข้าม...
ต่อให้โยมมีทรัพย์สมบัติมากมาย
แต่มีแต่จิตที่เป็นอกุศล
โยมก็ไม่มีความสุขหรอก
จิตอกุศลบางจิตอาจจะมีความสุข
แต่มันเป็นความสุขแบบเร่าร้อน
เรียกว่าจิตที่ประกอบด้วยโลภะ
มันก็มีความสุขนะ เช่น
ไปทำอะไรสนองความต้องการตัวเอง
เหมือนจะมีความสุข แต่ว่ามันมีโทษภัย
มีความเร่าร้อนตามมามาก
มันมีความเสียหายตามมา
สุดท้ายโยมก็ต้องมาเจ็บปวด
มาเสียใจ มาทรมานอยู่ร่ำไป
มาตามล้างตามเช็ด ตามแก้ปัญหา
ไม่หวาดไม่ไหวทีเดียว
แต่สุขจากการทำความดี
จากการเพาะบ่มจิตใจที่ดีงาม
.. จิตใจที่อ่อนโยน
.. จิตใจที่โอบอ้อมอารี
.. จิตใจที่มีความเสียสละ
.. จิตใจที่เป็นผู้ให้ผู้สละออก
.. จิตใจที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
จะเป็นจิตที่เบาสบายเป็นจิตที่มีความสุข
เป็นจิตที่เป็นวิถีที่ลอยขึ้นมา
ตรงนี้แหละคือพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม
เริ่มต้นตั้งแต่ฝึกฝนขัดเกลาตนเอง
ตั้งแต่ในเรื่องกายภาพทีเดียว
.
ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
บ่ายวันที่ 20 พฤษภาคม 2566
Image by Rattakarn_from pixabay
ที่มา : เพจมนษิธาร Monsitharn
(บ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา เดิม)