ถือเอาความไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นสรณะให้ถึงที่สุด


...คำสอนในพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์  สรุปเหลือประโยคเดียวว่า… 
“สิ่งทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู” 
.
มันเป็นของธรรมชาติ... 
ยึดมั่นอะไรว่าเป็นตัวกูของกูเมื่อไร ก็เป็นความทุกข์เมื่อนั้น.
จงปล่อยไว้เป็นธรรมชาติ จะกินจะใช้จะทำอะไรก็ทำไป
.
พวกคริสเตียน เขาก็สอนว่า… 
“มีภรรยาก็จงเหมือนกับไม่มีภรรยา
มีทรัพย์สมบัติก็จงเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ
มีความสุขก็จงเหมือนกับไม่มีความสุข
มีความทุกข์ก็จงเหมือนกับไม่มีความทุกข์
ไปซื้อของที่ตลาดแล้วอย่าเอาอะไรมา”. 
.
...มันเป็นคำสอนที่ลึกที่สุด 
เช่นเดียวกับคำสอนที่ลึกถึงที่สุด ในฝ่ายเราเหมือนกัน.
.
การมีภรรยาก็มีไปตามหน้าที่ที่จะต้องทำ 
แต่อย่ามั่นหมายสำคัญว่าภรรยาของเรา :
 มันของธรรมชาติ มันของพระเจ้า จะตู่ว่าเป็นของเราไม่ได้ 
เป็นเพียงของให้ยืมใช้ชั่วคราวโดยธรรมชาติ.
ทรัพย์สมบัติก็เหมือนกัน  ความสุขความทุกข์ก็เหมือนกัน
ของที่ตลาดซื้อมาด้วยเงินของเรา ตามกฎหมายเป็นสิทธิของเรา 
ถือเอามาบ้าน แต่ใจอย่ากล้าโง่ว่านี้มันของเรา
ที่แท้มันของธรรมชาติ มันของพระเจ้า 
มันเปลี่ยนมือมาที่เรา เพื่อให้เอาไปกินไปใช้ 
แล้ววนเวียนกันอยู่อย่างนี้  ใจอย่าโง่ถึงกับว่า นี้ของกู.
.
สรุปว่า ลูกเมียทรัพย์สมบัติ 
สิ่งของ เงินทอง เกียรติยศชื่อเสียงอะไรก็ตาม 
อย่าโง่ว่าของกู แล้วก็อย่าโง่เอากลุ่มนี้ว่าตัวกู 
อย่าโง่เอากลุ่มนอก ๆ ว่าของกู.
.
นี่แหละคือการถือสรณะที่ถึงที่สุด 
ถือเอาความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ
เป็นสรณะให้ถึงที่สุด
.
ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ 
เป็นคุณธรรมเป็นคุณสมบัติ ของความสะอาด สว่าง สงบ 
พอยึดมั่นถือมั่นก็สกปรกทันที มืดมัวทันที เร่าร้อนทันที
พอไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ สะอาด สว่าง สงบ ทันที.
.
ท่านพุทธทาสภิกขุ

Image by dannaragrim from pixabay

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น