ความห่วงใยของจิต
เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอุปสรรคได้อย่างมากมาย
เวลาจะพรากจากขันธ์
นักปราชญ์ท่านจึงสอนให้ระวังจิต
ไม่ให้เป็นอารมณ์ห่วงใยกับสิ่งใดๆทั้งสิ้น
กลัวจิตจะประหวัดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ซึ่งเป็นที่รักบ้าง เป็นอารมณ์ขุ่นมัวในใจบ้าง
เช่น ความโกรธแค้นให้กับผู้หนึ่งผู้ใด
.
ขณะจิตจะออกจากร่าง
เป็นขณะที่สำคัญมาก
อาจไปเกาะเอาอารมณ์ที่ไม่ดีเข้า
แล้วก็กลับมาเป็นไฟเผาตัว
จากนั้นก็ไปเกิดในทุคติภพ
มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งล้วนเป็นภพกำเนิดที่ไม่พึงปรารถนา
และให้ความทุกข์ร้อนตลอดภพนั้นๆ
ฉะนั้นการฝึกอบรมจิต
เมื่ออยู่ในฐานะที่ควรทำได้ จึงควรสนใจอย่างยิ่ง
.
ฝึกให้รู้เรื่องของจิตเสียแต่ยังเป็นคนที่รู้ๆ เห็นๆ
เรื่องของตนอยู่ทุกขณะนี้ เป็นความชอบแท้
เมื่อทราบว่ายังบกพร่องส่วนใด
จะได้รีบแก้ไขดัดแปลงเสีย
เวลาเข้าตาจนแล้ว จะได้มีทางรักษาตัวทันกับเหตุการณ์
ไม่ต้องวิตกวิจารณ์ว่าจะเสียท่าเสียที
ให้ความชั่วทั้งหลาย เข้ามาเหยียบย่ำทำลายได้
.
ยิ่งฝึกให้ขาดความสืบต่อกับอารมณ์
ดีชั่วทั้งหลายอย่างประจักษ์แล้ว
ยิ่งประเสริฐเลิศโลก ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
Image by KELLEPICS from pixabay
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น