อยู่ในแต่อยู่เหนือ



          อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อม แต่รู้เท่าทันและสามารถกำหนดรู้ที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม...การรู้เท่าทัน และสามารถกำหนดวิธีการได้เช่นนี้ จึงว่า “อยู่ใน” แต่ “อยู่เหนือ”...เหมือนหยดน้ำบนใบบัว อยู่บนใบบัว แต่ไม่เกาะติดอยู่ในใบบัวนั้น...นี่คือใจความสำคัญของสภาวะการรู้แจ้งธรรมอันสูงสุด และเป็นแก่นแท้ของพุทธธรรม

                                                                            ปรมาจารย์ตั๊กม้อ


                                         

ความรู้สึกตัว



ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก...
พระอรหันต์ก็ไม่ใช่ใครอื่น
นอกจากผู้ที่มีสติสมบูรณ์ทุกอิริยาบถเท่านั้น
คือท่านรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะจิตเท่านั้น...
แต่ปุถุชนส่วนใหญ่จะลืมตัว
พลัดหลงไปจากตัว ไม่รู้สึกตัว
แต่ไปหมกหรือตกอยู่ในความคิดเสียเป็นส่วนใหญ่  
 เรียกว่าไม่รู้สึกตัวของตัว...
ปรมาจารย์ตั๊กม้อ

พึงตัดคำว่าอยาก



 อยากได้ยิ่งหนี อยากมียิ่งยาก
ฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญาพึงตัดคำว่าอยากออกเสีย
ก่อนที่จะลงมือกระทำการใดๆ
จะช่วยให้งานนั้นเสร็จเร็วยิ่งขึ้น
ปรมาจารย์ตั๊กม้อ

ในน้ำเน่ามีน้ำบริสุทธิ์



ในน้ำเน่านั้น น้ำบริสุทธิ์ยังมีเจือปนอยู่
ผู้ที่ฉลาดรู้จักหาวิธีกลั่นกรอง
จะสามารถหาน้ำบริสุทธิ์จากน้ำเน่าได้เสมอ
ปรมาจารย์ตั๊กม้อ

ใจสงบ



                                  เมื่อละทิ้งความคิดเพ้อเจ้อ ใจย่อมสุขสงบเองตามธรรมชาติ
                             “ใจสงบก็คือ ความรู้สึกเหมือนหินตกลงบนพื้นโลกอันกว้างใหญ่"



                                                                  ปรมาจารย์ตั๊กม้อ

ยิ่งยากยิ่งเข้าใจ



ยิ่งยากยิ่งเข้าใจ
มีน้ำแข็งมากเท่าใด... ก็มีน้ำมากเท่านั้น
ยิ่งยากลำบากเท่าใด... ก็ยิ่งเข้าใจชีวิตมากเท่านั้น
ปรมาจารย์ตั๊กม้อ

คนที่เข้าใจเรื่องจิตตนเอง



คนที่เข้าใจเรื่องจิตของตนเอง
  สามารถบรรลุได้โดยใช้ความเพียรไม่มาก
           ส่วนคนที่ไม่เข้าใจ เรื่องจิตของตนเอง
                ปฏิบัติไปก็ไร้ประโยชน์   ความดีความชั่วทุกอย่าง มาจากจิตของท่านเอง
   การค้นหาสิ่งที่อยู่ภายนอกจิตนั้น เป็นไปไม่ได้
ปรมาจารย์ตั๊กม้อ

จิตเปรียบเหมือนพระราชา



 จิตเปรียบเหมือนพระราชา
อารมณ์ทั้งหลายเปรียบเหมือนเสนา
เราอย่าเป็นพระราชาที่หูเบา

ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก

ต้องปล่อยวางให้เคย


สักวันหนึ่งความตายจะมาถึงเรา
มาบีบบังคับให้เราปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง
ฉะนั้น เราต้องหัดปล่อยวางล่วงหน้าให้มันเคย
ไม่อย่างนั้น พอถึงเวลาไปจะลำบาก
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก


ถ้าใจเป็นโทษ



ถ้าใจเราเป็นโทษเสียแล้ว
จะไปทำบุญทำทานอะไรก็ไม่ได้ผล
เหมือนกับเราขนปุ๋ย
ไปใส่ต้นไม้ที่ตายแล้ว
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

ผู้ปฏิบัติควรกระตือรือร้น



ผู้ปฏิบัติ ควรกระตือรือร้น
ขวนขวายช่วยตน ให้เข้าถึงกระแสธรรม
ถ้าใครไม่ตั้งใจปฏิบัติจริงแล้ว
ย่อมไม่รู้รสเสียเลย จะเปรียบได้
เหมือนนายโคบาลที่รับจ้างเลี้ยงโค
ไม่ได้ดื่มรสแห่งนมโค ฉะนั้น
พระพุทธศาสนา ท่านก็ชี้ไว้ว่า
ปริยัติ-เรียนรู้คัมภีร์
ปฏิบัติ-ดีรู้ทันกิเลส
ปฏิเวธ-รู้แล้วละวาง
ดังนี้
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

อามิสบูชากับปฏิบัติบูชา



อามิสบูชา มีน้ำหนักเพียง ๕ กิโลกรัม
แต่ ปฏิบัติบูชา มีน้ำหนักถึง ๑๐๐ กิโลกรัม
อามิสบูชาจึงเป็นสิ่งที่ทำได้เฉพาะกาลเท่านั้น
ส่วน ปฏิบัติบูชา ทำได้ไม่จำกัดกาลเวลา สถานที่ หรือบุคคล
เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่า
ปฏิบัติบูชา เป็นการบูชาอันเลิศ
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

มีศีล มีทาน ไม่มีภาวนา


คนที่มีศีล มีทาน แต่ไม่มี "ภาวนา"
ก็เท่ากับถือศาสนาเพียงครึ่งเดียว
เหมือนคนที่อาบน้ำแค่บั้นเอว
ไม่ได้รดลงมาแต่ศีรษะ
ก็ย่อมจะไม่ได้รับความเย็นทั่วตัว
เพราะไม่เย็นถึงจิตถึงใจ
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

พระคือสติ



พุทโธ ธัมโม สังโฆ นั้น
เป็นเพียงวัตถุหรือเครื่องหมายของพระ
ไม่ใช่องค์พระจริงๆ
ส่วนพระจริงๆ นั้นคือ สติ
ถ้าเรามีสติอยู่เสมอ
ก็เท่ากับเราได้สร้างพระ
ไว้ในตัวของเรา
พระท่านก็จะช่วยให้เรา
มีความสุขกาย สุขใจ ตลอดเวลา
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

ศีลต้องรักษาเท่ากับหัว




ศีล เราต้องรักษาให้เท่ากับหัวของเรา
ศีลขาดก็ต้องเท่ากับคอขาด
ศีลขาด ดีกว่าไม่มีศีลเลย
เพราะคนนุ่งผ้าขาด ย่อมดีกว่าคนเปลือยกาย
ความดี เป็นของผู้ทำ
ไม่ใช่ของคนโง่ คนฉลาด คนมี หรือคนจน
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

คนไม่มีทาน ศีล ภาวนา



คนที่ไม่มี ทาน ศีล ภาวนา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นคนยากจน
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

ความเจ็บไข้เป็นของดี



ความเจ็บไข้นั้นเป็นของดี
เป็นเครื่องค้ำจุนพระศาสนา
ถ้าคนเราไม่เจ็บไม่ป่วย
ก็คงไม่มีใครนึกถึงพระพุทธเจ้า
ไม่นึกถึงวัดวาอารามกัน
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

ภาวนามยปัญญา


ภาวนามยปัญญา ไม่ต้องฟังต้องคิด
อาศัยความสงบระงับของจิตอย่างเดียว
ก็จะเกิดปัญญา
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

เสียงติชม ใครยึดถือก็โง่



เสียงติชม ใครยึดถือก็คือคนโง่
เหมือนกินลมปาก กินน้ำลายของคนอื่นเขา
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

บารมีเหมือนกับปุ๋ย


บารมี เหมือนกับปุ๋ยที่ช่วยให้ต้นไม้งอกงาม
แต่ถ้าใครคอยเฝ้าบารมีอยู่ ต้องตายเปล่า
บารมี นั้น เกิดมีอยู่ที่วิธีการ
แขน ๒ ขา ๒ ปาก มือ ตา นี่แหละ
เป็นตัวสร้างบารมีทั้งนั้น ทำดีลงไปสิ
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

สมาธิเปรียบเหมือนตะปู



สมาธิเปรียบเหมือนตะปู
ปัญญาเปรียบเหมือนค้อนที่ตอกตะปู
ถ้าตะปูเอียงไป ค้อนก็ตีผิดๆ ถูกๆ
ตะปูนั้นก็ไม่ทะลุกระดานนี้ฉันใด
ใจเราจะบรรจุธรรมชั้นสูงทะลุโลกได้จะต้องมีสมาธิเป็นหลักก่อน
แล้วจึงเกิดญาณ ญาณนี้จะได้แต่คนทำสมาธิเท่านั้น
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

ละบาปกับทำบุญ


เมื่อเราละบาปแล้ว บำเพ็ญบุญเพิ่มเข้ามาทีละน้อย
ก็มีหวังที่บารมีจะเต็มได้
เหมือนกะละมังที่ตั้งหงายอยู่กลางแจ้ง
แม้ฝนจะตกมาใส่ทีละหยดๆ
มันก็มีโอกาสที่จะเต็มได้

เมื่อเราทำบุญ แต่ยังไม่ละบาป
ก็เหมือนกับเราเอากะละมังไปคว่ำไว้กลางแจ้ง
ฝนตกลงมาถูกก้นกะละมังเหมือนกัน
แต่มันถูกข้างนอก
ไม่ถูกข้างใน น้ำก็ไม่มีโอกาสที่จะเต็มกะละมังนั้นได้

                                                                 หลวงปู่ชา สุภัทโท