การยึด "พระพุทธ" เป็นที่พึ่ง


การยึด "พระพุทธ" เป็นที่พึ่ง
คือการปฏิบัติเข้าถึงความเป็น "พุทธะ"
หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เป็น "ผู้รู้" คือ สักแต่ว่า "รู้"
ในสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
ไม่มีการคิดนึก ปรุงแต่งต่อ
ได้แก่ "การรู้เฉยๆ"...
เป็น "ผู้ตื่น" คือ ตื่นจาก "ความหลง"
ในโลกโลกียะ หรือใน "ทวิภาวะ" ทั้งหลาย
หากก้าวพ้นทวิภาวะไม่ได้
ก็ย่อมไปไม่ถึง "โลกุตตระ"...
คือฝั่งแห่งความหลุดพ้น หรือพระนิพพานได้
เป็น "ผู้เบิกบาน" ใจต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเลย
ใจจะต้องเป็นกลาง ไม่โอนเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง
เช่น ไม่ยึดทั้งสุข-ทุกข์
บุญ-บาป กุศล อกุศล เป็นต้น
เมื่อทำเช่นนี้ได้ ใจย่อมเบิกบานทุกเวลา

อ.ทวีศักดิ์ คุรุจิตธรรม

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


การหลุดพ้นคือการเห็นความเป็นจริง



การหลุดพ้น 
มิใช่แค่การนั่งหลับตาและตามลมหายใจ 
แต่การหลุดพ้นนั้นคือ 
“การเห็นความเป็นจริง ที่เป็นกลไกของมันเอง "
มิใช่ตามใจ ตามความคิด ที่ตัดสินและแบ่งแยกของเธอ
ความคิดก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆๆ เป็นขณะๆ ตามแรงส่ง
ไม่เคยหยุด สำหรับผู้ยังสนุกในวัฎฎะ
ให้ค่าความหมายไปเรื่อยๆ ดี ไม่ดี ใช่ ไม่ใช่
ตามใจ ตามทิฐิ ตามความเชื่อ ตามความเห็น
ก็เป็นได้แค่เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายในสังสารวัฎ
มิอาจข้ามผ่านหรือหลุดพ้นจากมายา
ที่ตนเองสร้างกับดักไว้ได้ 

พระอาจารย์ปกรณ์นันทน์ ฐิตธัมโม

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


ทุกคนสั่งสมความเห็นผิดกันมายาวนาน


เราทุกคนสั่งสมความเห็นผิดกันมายาวนาน ในทุกๆ เรื่อง
ไม่ว่าจะความเป็นเรา การเอาตัวรอดโดยถึงขั้นต้องเบียดเบียนผู้อื่น 
การเห็นว่าสิ่งเป็นทุกข์ เป็นสุข 
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง
แต่เรากลับพยายามจะฝืนกฎให้ได้
ทำให้มันเป็นนิจจัง เป็นอมตะ 
นี่คือเหตุที่ทำให้มนุษย์และสัตว์ทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด 
ยอมรับเถอะว่าสัจจธรรมความจริงคือ 
ธรรมชาติซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย 
เราทำเหตุใหม่ได้แต่ผลนั้นก็มาจากเหตุปัจจัยที่หลากหลาย
ไม่ได้เปลี่ยนได้ดังใจ พราะเหตุปัจจัยใหม่ที่เราทำเพียงอย่างเดียว 
คนเราทำให้ดีที่สุดในแต่ละขณะ 
เป้าหมายมี แต่อย่ายึดว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ 
เพราะนั่นเป็นทุกข์
กลับมาอยู่ที่วิถี อย่าแปะไว้ที่เป้าหมาย 
ไม่งั้นทุกข์ฟรีนะ เมื่อทุกข์ฟรีก็นรกฟรี

อ.ประเสริฐ อุทัยเฉลิม

 ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา


ชีวิตไม่ได้เป็นทุกข์ เพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้า


ชีวิตไม่ได้เป็นทุกข์ เพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้า 
แต่ชีวิตเป็นทุกข์ 
เพราะไม่รู้ว่า “สติ” อยู่ตรงไหน

ดังตฤณ

 ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา

จิตเกาะทุกข์จนลืมกำหนดรู้


ความกลัวทุกสิ่งทุกอย่าง
ก็ลงที่สักกายทิฎฐิตัวเดียว 
ในเวลาหิว ในเวลาป่วย
ในเวลาหนาว ในเวลาร้อน 
อะไรมันหิว มันป่วย มันร้อน มันหนาว 
เป็นเรื่องของกายทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องของจิต
ต้นเหตุเพราะจิตของเจ้าไปติดในกาย 
เกาะความรู้สึกว่ากายนี้มีในเรา 
เรามีในกาย เมื่อกายเป็นอะไรก็ทนไม่ไหว 
จิตเกาะทุกข์จนลืมกำหนดรู้ว่า 
กายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่มีในกาย 
แล้วพิจารณาโดยอริยสัจ
รู้เห็นตามความเป็นจริงของร่างกาย

สมเด็จองค์ปฐม

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




มหาสติ


..ที่จะห้ามไม่ให้คิดไม่ให้นึกนั้น ห้ามไม่ได้เด็ดขาด 
ธรรมดาของจิตมันต้องมีคิดมีนึก 
แต่หากมีสติควบคุมจิตอยู่เสมอ 
คิดนึกอะไรก็รู้ตัวอยู่ทุกขณะ 
เรียกว่า บริกรรมภาวนา
มีสติคุมจิตอยู่ทุกขณะ จนกระทั่งเป็นมหาสติปัฏฐาน 
จะยืน เดิน นั่ง นอน ในอิริยาบถใดๆ ทั้งหมด 
มีสติรอบตัวอยู่เสมอโดยที่ไม่ได้ตั้งใจให้มีสติ 
แต่มันเป็นของมันเอง สติ ควบคุมจิตไปในตัว 
เมื่อมีสติเช่นนั้นมันก็ไม่เกี่ยวข้องพัวพันกันกับสิ่งต่างๆ 
เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ลิ้นลิ้มรสต่างๆ 
กายได้สัมผัส มันก็เป็นสักแต่ว่า 
สัมผัสแล้วก็หายไปๆ 
ไม่ได้เอามาเป็นอารมณ์ ไม่เอามาคำนึงถึงใจ 
อันนั้นเป็น มหาสติ แท้ทีเดียว

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




ความสุขกับความจริงอยู่ด้วยกัน


พระพุทธเจ้าท่านว่า
ความสุขกับความจริงอยู่ด้วยกัน
นี่คือหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา
ต้องการความสุขต้องหาความจริง
ความสุขที่ไม่รับรู้ต่อความจริง
หลับหูหลับตาต่อความจริง 
เก็บกดความจริงบางประการ 
เป็นความสุขที่เราไว้ใจไม่ได้
เพราะฉะนั้นจะมองหาความสุข 
ไม่ใช่หาความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง 
แต่หาความจริง อยู่กับความจริง
ความสุขมันก็เกิดขึ้นเอง

พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ 

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา




กิเลสละไม่ได้



พูดถึงว่า ละ
ละนี่มันเป็นโวหาร คือการเทศนาเท่านั้น 
แต่แท้ที่จริงกิเลสอยู่ในจิตในใจนี่ 
เราจะไปตั้งใจละเอา ละเอา 
เหมือนอาบน้ำฟอกสบู่ให้มันสะอาดอย่างนั้นไม่ได้ 
เราต้องบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา 
ให้มันรวมลงสู่จุด คือ สติวินโย 
สติเป็นผู้นำตลอดเวลา 
กิเลสทั้งหลายเหล่านั้นมันจึงจะหมดไปได้
ความต้องการ ความปรารถนามันก็ยังมีอยู่ 
แต่อาการของกิเลส โลภ โกรธ หลง อย่างไม่มีขอบเขต 
มันก็จะค่อยเบาลงไป หายไป ในที่สุดมันก็หมดไปเอง

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา

เคล็ดลับเจริญสติคือรู้เฉยๆ


พระพุทธเจ้าทรงบอกวิถีทาง สู่ความไม่ทุกข์ด้วยการเจริญสติ..
ท่านให้เคล็ดลับในการเจริญสติมาด้วย 
คือให้รู้เฉยๆ ในสิ่งที่กำลังแสดงตัว ไม่ต้องไปทำอะไร
การรู้เฉยๆ สำคัญมาก 
เวลากายเคลื่อนไหว ถ้าเรารู้เฉยๆ 
การเคลื่อนไหวก็เป็นเพียงกิริยา เป็นเพียงอาการ 
ไม่มีเราเป็นผู้ทำ ไม่มีเราเป็นผู้รับกรรม..
เวลามีความคิดหรืออารมณ์ ถ้าเรารู้เฉยๆ 
มันก็เป็นเพียงอาการของจิต ที่วูบไหวขึ้นมาแล้วก็ดับไป 
ความคิดและอารมณ์นั้นจะไม่เป็นทั้งสิ่งดีหรือไม่ดี
แต่ถ้าเราไม่ยอมรู้เฉยๆ 
ความคิดนั้นจะกลายเป็นที่ตั้งแห่งความชอบหรือไม่ชอบ 
เราจะเข้าไปในเรื่องที่คิด แล้วก็จะเป็นทุกข์เป็นสุขกับมันทันที..
ถ้าเรารู้สึกตัวเป็นแล้ว ความรู้สึกตัวจะถอยออกมา 
เป็นผู้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาของกายและใจ 
จิตจะเห็นสภาพตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ
เมื่อเห็นบ่อยเข้าๆ จะเกิดความเบื่อหน่ายในกายและใจ
ที่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 
คลายความยึดมั่นถือมั่นลง และปล่อยวางสู่ความไม่ทุกข์

หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท
Cr.Fb: พระพุทธยานันทภิกขุ, Pum Methavee

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา

ทางพ้นทุกข์แท้ๆ



ไม่ใช่หน้าที่ที่เราจะเปลี่ยนแปลง
แต่ให้เห็นตามความเป็นจริง
ภาวะที่ดู
ดูแล้วเห็น
เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น
นี้คือทางพ้นทุกข์แท้ๆ

พระอาจารย์ปกรณ์นันทน์ ฐิตธัมโม

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา

ถ้าเฉยแล้วทุกข์มันดับ



ถาม : การเกิดทุกข์แล้วทำให้ดับไป ทำไมมันยากจัง
ตอบ : ถ้าเฉยแล้วทุกข์มันดับ
แต่ถ้าอยากให้มันดับ มันจะไม่ดับ
ความลับมันมีแค่นี้แหละ
จงอย่าใช้ความอยากไปดับความทุกข์
เพราะความทุกข์มันเกิดมาจากความอยากนั่นแหละ
ฝึกจิตรู้ผัสสะซื่อๆ เฉยๆ
ความอยากมันก็หยุดเองแหละ

หลวงตาสุริยา วัดป่าโสมพนัส

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา

จิตจะสลัดทิ้งเอง



จิตของคนเรา เวลามีความทุกข์ก็อยากวางนะ
อยากจะสลัดความทุกข์ออกจากจิตใจ 
เราไม่ต้องทำอะไรเลย 
จิตจะสลัดทิ้งเอง สลัดออกเอง 
แต่เราไปปรุงแต่งต่อเติมว่า ทำไมเราเป็นอย่างนี้? 
มันเป็นเวรกรรมอะไรของเราหนอ? 
เท่ากับว่าเราไปผูกเอาไว้ 
ไปผูกความทุกข์ให้อยู่กับจิตใจเรา 
ไปสงสัยว่า ทำไมหนอ? 
ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่น่าจะเป็นอย่างนี้
ความทุกข์จึงยืดยาวออกไปอีก

อ.กำพล ทองบุญนุ่ม

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา

แก่นสารจากพระธรรม



ใครมาศึกษาธรรมะแล้วจะเอาให้จิตดีตลอด 
มันไม่ได้หรอก เพราะว่าเราศึกษา
ก็เพื่อเข้าใจความจริงแล้วปล่อยวางสิ่งที่เรายืดมั่นถือมั่น 
ใครจะมาปฏิบัติธรรมแล้วจะเอาให้จิตดี
อย่างนั้นหาไม่ได้หรอก นั้นเป็นของปลอม 
จะเป็นคนดีเป็นผู้ทรงศีล อย่างนั้นทําไม่ได้จริง
สาระแก่นสารจริงๆ คือวิมุตติ ความหลุดพ้น 
ความปล่อยวางจากสิ่งที่เราเคยยึดถืออยู่
อะไรที่เราเคยยึดถืออยู่ มาศึกษาและปฏิบัติจนเข้าใจ
แล้วปล่อยวางลงได้ 
อย่างนี้จึงจะได้แก่นสารจากพระธรรม

อ.สุภีร์ ทุมทอง

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา

ความยินดียินร้ายเป็นปรปักษ์กับจิตใจเรา



การที่เราจะรักษาจิตใจของเรานั้น
จำเป็นต้องรู้พิษภัย 
โทษของสิ่งที่เป็นปรปักษ์กับจิตกับใจของเรา..
ก็คือ "ความยินดี" และ "ความยินร้าย"
ความยินดีฟังแล้วดูเหมือนว่า...

ไม่เห็นว่าเป็นปรปักษ์แก่จิตแก่ใจของเราเลย
ความยินร้ายต่างหากที่เป็นปรปักษ์แก่จิตแก่ใจของเรา
ตามความจริงแล้ว ทั้งความยินดี
และความยินร้ายก็มีราคาพอกัน
เป็นปรปักษ์แก่จิตแก่ใจของเราเช่นกัน
เพราะทำให้จิตใจของเรามีความกระเพื่อมจากความมั่นคง
ทำให้จิตใจของเรากวัดแกว่ง รวนเร 
ไม่มีหลักไม่มีฐาน จิตไม่มีที่ตั้งมั่น


ครูบาเจ้าเพชร วชิรมโน

ที่มา  : เพจบ้านจตุรทวีปประทาน เพื่องานพระศาสนา