อย่าเลี้ยงความไม่สบายใจ



          คำว่า “ไม่สบายใจ” อย่าใช้ และอย่าให้มีขึ้นในใจต่อไป “Let it go , and get it go!” ปล่อยให้มันผ่านไป อย่ารับเอาความไม่สบายใจไว้ ถ้าเผลอไปมันแอบเข้ามาอยู่ในใจได้ พอมีสติรู้สึกตัวว่าความไม่สบายใจเข้ามาแอบอยู่ในใจ ต้อง Get it out! ขับมันออกไปทันที อย่าเลี้ยงความไม่สบายใจไว้ในใจ มันจะเคยตัว
                                                                       ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต

กฎของจิตตานุภาพ



          จงจำไว้ว่า ถ้าปรารถนาความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจ จากผู้อื่น ก็ควรส่งกระแสใจที่ประกอบด้วยความเมตตา  และความเห็นอกเห็นใจไปยังท่านเหล่านั้น แล้วก็จะได้รับ ความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจจากท่านเหล่านั้น เช่นเดียวกัน นี่เป็นกฎของจิตตานุภาพ แล้ว ความสำเร็จทั้งหลายที่ปรารถนา ก็จะบังเกิดแก่ตนสม ประสงค์ทุกประการเป็นแน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลย


                                                                                ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต

เคราะห์เป็นครูของเรา



ให้รู้สึกว่าเคราะห์นั้นทำให้เราดีขึ้น
เป็นครูของเรา เป็นผู้เตือนเรา ...
อย่าเห็นว่าเคราะห์กรรมเป็นของเลว
ไม่น่าปรารถนา ควรคิดว่าเป็นของดี
ที่ทำให้เราเข้มแข็งมั่นคงขึ้น
ให้รู้สึกเสมอว่าเราเกิดมาเรียน
ทั้งเคราะห์ร้ายและเคราะห์ดี
เคราะห์เป็นบทเรียนของเรา
ที่จะทำให้เราแจ้งโลก
แล้วจะได้พ้นโลก
ดังนี้ เราจะไม่รู้จักเคราะห์ร้ายเลยในชีวิต
อย่างไรก็ดีอย่าปล่อยชีวิต
ให้เป็นไปตามยถากรรม
โดยมิทำการต่อสู้เลยเป็นอันขาด


                                                           ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต

เมื่อถึงความสงบ



          เมื่อถึงความสงบแล้วยังไม่จบนะ ภพยังไม่สิ้น ชาติยังมีอยู่ พรหมจรรย์ไม่จบ ที่มันไม่จบก็เพราะยังมีทุกข์อยู่ ให้เอาตัวสมถะ ตัวสงบนี่พิจารณาต่อไปค้นหาเหตุผล จนกระทั่งจิตไม่ติดในความสงบ เพราะความสงบก็เป็นสังขารอันหนึ่ง ก็เป็นสมมุติ ก็เป็นบัญญัติอีก ที่ติดอยู่นี้ก็ติดสมมุติติดบัญญัติ เมื่อติดสมมุติติดบัญญัติ ก็ติดภพติดชาติ ภพชาติก็คือความดีใจในความสงบนั่นแหละ เมื่อหายความฟุ้งซ่าน ก็ติดความสงบ ก็เป็นภพอีก เกิดอยู่อย่างนี้ ภพชาติเกิดขึ้นมา ทำไมพระพุทธเจ้าจะไม่รู้

                                                                            ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต

คนที่ไม่เหมือนโลกนิยม



คนที่ทำอะไรไม่เหมือนที่โลกนิยม
ก็จะมีคนว่าบ้า โดยคนที่พูด
 ไม่ได้เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า
 อย่างไรจึงบ้า อย่างไรจึงดี
 .ท่านบอกว่าคนเราที่เกิดมานี้
 มีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งที่พึงกระทำ
 คือการทำตนให้พ้นทุกข์
 ถ้าไม่ทำก็เท่ากับว่า
 ไร้ประโยชน์ในการเกิดมา
 เพราะจะต้องเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นเอง

                                                             ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต

การปฏิบัติธรรม 2



การที่จะรอให้สิ่งที่มายุ่งสงบลงก่อน จึงจะปฏิบัติธรรม
ก็เหมือนกับว่า เราจะรอให้ทะเลหมดคลื่นก่อน
เราจึงปฏิบัติธรรม มันไม่หมดหรอก
ความสงบ คือ ความพร้อมที่จะปฏิบัติ
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก
แต่ขึ้นอยู่กับศรัทธาภายในจิตในใจของเรา
... นี่แหละ คือ การปฏิบัติธรรม
ชยสาโรภิกขุ

เงื่อนไขของการใช้จิต



เงื่อนไขของการใช้จิต
หรือใช้สติปัญญาให้เกิดผลที่ดีคือ
จิตใจที่ปราศจากความพอใจและไม่พอใจ
ความยินดีและความยินร้าย
นี่แหละคือบทบาทของสมาธิภาวนา
ชยสาโรภิกขุ

ศูนย์กลางจักรวาล



                                              เมื่อเราเอาตัวเอง เป็นศูนย์กลางของจักรวาล
                                                             เราก็จะต้องทุกข์ทุกครั้ง
                                              ที่สิ่งต่างๆ และคน ไม่ยอมโคจรรอบตนเอง


                                                                     ชยสาโรภิกขุ

ศาสนาไม่ได้อยู่ที่วัด


        ในพระพุทธศาสนา วัดเป็นสถานที่สำคัญ แต่ศาสนาที่แท้ไม่ติดอยู่ที่สถานที่ ศาสนาไม่ได้อยู่ที่วัด ไม่ได้อยู่ที่ตู้พระไตรปิฎก ไม่ได้อยู่ที่ไหน มันอยู่ที่เรา อยู่ที่เราแต่ละคน


                                                                                ชยสาโรภิกขุ

ธรรมะไม่ได้เกิดอยู่ที่อื่นไกล



           ธรรมะไม่ได้เกิดอยู่ที่อื่นไกล หากเกิดที่กาย ที่วาจา ที่ใจของเราแต่ละคน แต่เราจะน้อมธรรมะเข้ามาสู่ใจเพื่อประโยชน์สุขของเรา ครอบครัว และสังคมที่เราอยู่อาศัย ไม่ใช่ของง่ายเลย ต้องฝืนความเคยชินและนิสัยเก่าพอสมควร ในเบื้องต้นเรายังอ่อน ต้องการกำลังใจจากข้างนอกค่อนข้างมาก ท่านจึงให้เราคบผู้ที่ศึกษาดีแล้ว ปฏิบัติดีแล้วเพื่อได้วิธีที่ถูกและเพื่อได้ความมั่นใจว่า การปฏิบัติมีผลจริง ไม่เหลือวิสัย ส่วนมากผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน มักเป็นนักบวช ท่านจึงให้เราเข้าวัด เข้าวัดต้องเข้าให้เป็น ถ้าหากเราไม่คิดทำความเข้าใจกับธรรมชาติของตัวเอง ไม่สนใจชีวิตของเราว่า มันคืออะไรกันแน่ ไม่อยากพัฒนาตน การเข้าวัดก็จะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เหมือนคนกำลังไม่สบาย เข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อบริจาคทรัพย์บำรุงโรงพยาบาล โดยไม่คิดรักษาโรคของตัวเอง

                                                                                                            ชยสาโรภิกขุ


การปฏิบัติธรรม



          การปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่จะช่วยให้เราเป็นอิสระจากกิเลสได้ การทำบุญอย่างเดียว ไม่ปฏิบัติ ถึงจะทำให้มีสิ่งยึดเหนี่ยวอยู่ในใจบ้าง แต่มันไม่มั่นคง ลึก ๆ แล้วเราจะยังอยู่ในสภาพเดิม คือเคว้งคว้างอยู่เหมือนเรือเล็ก ๆ กลางทะเลอันกว้างใหญ่ มีเข็มทิศก็ใช้ไม่ค่อยเป็น มีสมอก็ไม่รู้จักทอด เอาแต่ประดับประดาเรือก่อนอับปาง ชาวพุทธเราควรสนใจวิธีอุดรู วิธีวิดน้ำบ้าง จะได้เราตัวรอดได้ หากไม่สนใจศึกษาเรื่องตัวเอง เข้าวัดแล้วสักแต่ว่าไหว้พระพอเป็นพิธี ทำบุญบำรุงวัดตามประเพณี แล้วออกไปชมต้นไม้บ้างก่อนกลับ ไม่ใช่ว่าไม่ดี ดีอยู่หรอก แต่ยังดีไม่พอ
                                                                                     ชยสาโรภิกขุ

ความมุ่งมั่นของธรรมะ


     ในพระพุทธศาสนา เราทุกคนต้องเป็นนักศึกษา การศึกษาคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นก็คือ การตั้งใจศึกษาเรื่องของเราเอง เพราะธรรมะของพระองค์ทั้งหมดทั้งสิ้น มีความมุ่งมั่นอยู่แต่ในสองเรื่อง คือ

    หนึ่ง การเปิดเผยธรรมชาติของมนุษย์ และ
    สอง การชี้แนะแนวทางปฏิบัติต่อธรรมชาตินั้นให้ถูกต้องเพื่อการพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง......สองเรื่องเท่านั้น



                                                                                  ชยสาโรภิกขุ

การทำบุญ-การละบาป



                                      การทำบุญ นั้น "โจรมันก็ทำได้" มันเป็นปลายเหตุ
                                             การละบาปต่างหากที่ต้องทำก่อนอื่นใด
                                                       เพราะมันเป็น "ต้นเหตุ"


                                                         หลวงปู่ชา สุภัทโท