อริยทรัพย์มีค่าเหนือทรัพย์ทั้งปวง




ความเป็นเศรษฐีมีจนคนอนาถา 
ก็มิได้เป็นอุปสรรคแก่การจับจ่ายอริยทรัพย์ 
ของผู้มีศรัทธาปัญญา
ฉะนั้นอริยทรัพย์จึงเป็นของมีคุณค่าเหนือกว่าทรัพย์ทั้งปวง


                                                               หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

การเห็นจิตของเรานี่แหละดี




                          การเห็นจิตของเรานี่แหละดี มันคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบ คิดละเอียด ก็รู้
   ดูจนกระทั่งมันวางลง ถ้าเห็นอยู่เสมอๆ แล้วก็วางหมด รู้สิ่งอื่นไม่สามารถจะชำระจิตของตนได้ 
                                    รู้จิตของเรานี่แหละ จึงจะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์

                                                      
                                                            หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
                                                           

ศรัทธา มีมากเกินไป...





ศรัทธา มีมากเกินไป ขาดปัญญา กลายเป็น “งมงาย”
ปัญญา มีมากเกินไป ขาดศรัทธา กลายเป็น “ทิฏฐิมานะ”
สมาธิ มีมากเกินไป ขาดปัญญา กลายเป็น “โมหะ”
ปัญญา มีมากเกินไป ขาดสมาธิ กลายเป็น “ฟุ้งซ่าน”
วิริยะ มีมากเกินไป ขาดสมาธิ กลายเป็น “เหน็ดเหนื่อย”
สมาธิ มีมากเกินไป ขาดวิริยะ กลายเป็น “เกียจคร้าน”
สติ มีมากเท่าไหร่ยิ่งดี มีแต่คุณ ไม่มีโทษ

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ใจรู้ทันอารมณ์ จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้


 "ใจ" นี้แหละเป็นผู้สร้างปัญหา
ไปหลงอารมณ์ว่าเป็นตัวเป็นตน เลยถูกอารมณ์ผูกรัดเอาไว้ 
"ใจ" จึงว้าวุ่นหาความสงบในชีวิตไม่ได้
ผู้มีปัญญาท่านจึงศึกษาอารมณ์ เพื่อแก้จิตแก้ใจไม่ติดข้องกับมัน
เห็นอารมณ์ก็ตั้งอยู่ตามสภาพของมัน
เป็นเพียงสภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเท่านั้น
สุขเกิดขึ้นก็รู้ ทุกข์เกิดขึ้นก็รู้
จิตตามรู้อารมณ์ทุกขณะ
ถ้าจิตโน้มไปหาสุข เราก็ดึงมันไว้
ถ้าจิตเอียงไปทางทุกข์ เราก็ดึงมันไว้
จะดึงมันด้วยวิธีใด? 
ที่จริงไม่ใช่การดึงอะไรหรอก 
เพียงรู้ทันอารมณ์ทั้งสุขและทุกข์ว่ามันเป็นตัว "วัฏฏะ"
หมุนวนแปรเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย
เมื่อรู้เท่าธรรมดาของโลกอยู่อย่างนี้ โดยไม่ติดข้องในอารมณ์ทั้งปวง
จะเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
                                                                  หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ศาสนาตั้งต้นที่กายกับใจ




          "...ศาสนาตั้งต้นที่กายกับใจ  เทวดา อินทร์ พรหม ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ เพราะเหตุว่ามันสุขเกินไป เราเกิดมาเป็นมนุษย์นับว่าดีอักโขแล้ว ขอให้รักษามนุษย์ธรรมไว้ ถ้ารักษาเอาไว้ไม่ได้ มันจะเลวลงไปกว่ามนุษย์อีก ไปเกิดเป็นสิงสาราสัตว์ แต่ละภพแต่ละชาติมันนานเหลือหลาย..."

                                                                                              หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

วิปัสสนาจริง ไม่ต้องคิดต้องนึก




          วิปัสสนาจริงแล้ว ไม่ต้องคิดต้องนึก ไม่ต้องปรุงแต่ง มันเป็นเอง มันเกิดของมันต่างหาก เมื่อมันเกิดแล้ว จะต้องชัดแจ้งประจักษ์ในพระไตรลักษณญาณด้วยตัวของตนเองต่างหาก

          เมื่อปัญญาวิปัสสนาเกิดขึ้นในขณะจิตเดียวนั้น สิ้นสงสัยในธรรมทั้งหลาย เห็นสรรพสัตว์ในโลกเป็นสภาพอันเดียวกันหมดเลย ไม่มีต่ำ ไม่มีสูง ไม่มีน้อย ไม่มีใหญ่ ไม่มีหญิง ไม่มีชาย มีแต่ธาตุ ๔ เกิดขึ้นแล้วดับไปเท่านั้น

                                                                                               หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ปัญญาวิปัสสนา




      ปัญญาวิปัสสนา คือเห็นสิ่งทั้งปวงหมด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งเหล่านั้นเป็นของไร้สาระ เป็นโทษ เป็นทุกข์ เป็นภัย อันตรายแก่จิตใจ จึงปล่อยวางทอดธุระในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อันนี้เป็นปัญญาอันวิเศษสูงสุด เพราะคนจะพ้นจากโลกได้ก็เพราะ เห็นที่สุดของโลก คือ เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

                                                                                          หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ปล่อยวางอายตนะ




        วิสัยของอายตนะทั้งหกนั้น มีชอบกับไม่ชอบเท่านั้น ปล่อยวางเสีย ไม่ไปยึดเอามาเป็นอารมณ์ จิตก็จะกลายมาเป็นเฉยอยู่กลางๆ นั่นแหละ จึงเป็นธรรม เห็นธรรม ไม่เป็นโลก อยู่เหนือโลก พ้นจากโลก

                                                                                     หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

บ่วงของมาร



บ่วงของมารได้แก่อะไร

         อาการของจิตที่เที่ยวไปตามอารมณ์นั้น ย่อมมีทั้งอารมณ์ดีและอารมณ์ร้าย จึงต้องมีความสุขบ้าง ทุกข์บ้างเป็นธรรมดา ตามวิสัยของปุถุชน จิตที่เที่ยวไปนั้นจะต้องประสบของ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ซึ่งเรียกว่า กามคุณ ๕ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นบ่วงของมาร

          จิตของปุถุชนทั้งหลายเมื่อเที่ยวไปประสบอารมณ์ทั้ง ๕ นั้นหรือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดความยินดีพอใจก็ดี หรือเกิดความเสียใจเป็นทุกข์ดี เรียกว่าเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว คำว่า "ติด" ในที่นี้ หมายความว่า สลัดไม่ออก ปล่อยวางไม่ได้ บ่วงของ มารผูกหลวมๆ แต่แก้ไม่ได้ ถ้าดิ้นก็ยิ่งแต่จะรัดแน่นเข้า

         จิตที่สำรวมได้แล้วจะพ้นจากบ่วงของมารได้อย่างไร ปุถุชน เบื้องต้นเมื่อเห็นโทษภัยในการเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว จึงต้องพึงสำรวมในอายตนะทั้งหลาย มีตา หู เป็นต้น พระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ใครสำรวมจิตได้แล้ว จักพ้นจากเครื่องผูกของ มารดังนี้

         ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นโคจรที่เที่ยวแสวงหาอารมณ์ของจิต เมื่อเราปิดคือ สำรวมมีสติระวังอย่าให้จิตหลงไปในอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นได้แล้ว เป็นอันว่ามารผูกมัดเราด้วยบ่วงไม่ได้ 

                                                                                               หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ผู้ไม่มีบุญและบาปเรียกว่าโลกุตระ




บุญกุศลที่สร้างสมถึงที่แล้ว มันจะหมดเรื่อง 
ไม่มีอะไรอีก และไม่เอาไปด้วย 
บาปก็ไม่เอา บุญก็ไม่เอา 
ผู้ที่ยังเอาอยู่จึงได้บุญ ได้บาป 
เป็นภพเป็นชาติขึ้น 
ผู้ทอดธุระแล้ว ไม่มีบุญและบาปแล้ว 
จึงได้เรียกว่า โลกุตระ เหนือโลก


หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

คนเรากลัวตาย ไม่กลัวเกิด




คนเราเกิดมามีแต่กลัวความตาย
แต่หาได้กลัวต้นเหตุ คือความเกิดไม่
จึงพากันหลงแก้ที่ปลายเหตุ
ไปแก้ที่ความแก่
ไปแก้ที่ความเจ็บ
และไปแก้ที่ความตาย
เมื่อแก้ไม่ถูกจุดมันจึงวุ่นวาย
เดือดร้อนไม่จบสิ้นสักที
ตายแล้วกลับมาเกิดอีก/แก้กันอีก

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ของทิ้งแล้วของพระพุทธเจ้า


          คนเราเกิดมาแล้วมาแย่งมาชิงกันว่า กิเลสเหล่านั้นเป็นของดิบของดี วิเศษวิโส แย่ง แข่งดี แข่งเด่น แย่งชิงความเป็นใหญ่เป็นโตกัน แย่งลาภ แย่งยศ ความสรรเสริญทั้งปวง กลัวแต่จะไม่ได้เป็นของเรา แท้จริงแล้วมันเป็นของทิ้งของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระอริยเจ้าทั้งหลาย พระองค์ทิ้งไปแล้ว เรายังหาว่าเป็นของดีอยู่หรือ

                                                                                      หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

พาลและบัณฑิตอยู่ในตัวเรา



ถ้าอยากจะเห็นพาลและบัณฑิตแล้ว 
ให้เอากระจกส่องหน้าของเรา 
ก็จะพบได้ 
มันมีครบอยู่ในตัวเรานี่เอง

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ยึดความนึกคิดจึงทุกข์




        ผู้ใดทำให้ใจถึงความเป็นกลางได้ ผู้นั่นจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ผู้ที่จะพ้นจากทุกข์ได้ในโลกนี้ก็ล้วนแล้วแต่ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นเหตุทั้งนั้น

      แท้จริงความนึกคึดไม่ใช่ทุกข์ แต่การไปยึดความนึกคิดมาเป็นของตน จึงเป็นทุกข์

                                                                               หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

อยู่ที่ใดก็สงบ หากใจสงบ



         ถ้าสงบแล้ว อยู่ในบ้านก็สงบ อยู่ในวัดก็สงบ อยู่ในป่าในรกก็สงบ อยู่ในถ้ำในเหวก็สงบ สงบหมดทุกหนทุกแห่ง เราสงบคนเดียวเท่านั้นแหละ สิ่งอื่นๆ ทั้งหมดในโลกอันนี้มันจะวุ่นวายสักเท่าไร มันก็ไม่เอาเรื่องเอาถ่าน เรื่องคนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่น

                                                                                หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

หลักความดี




ทำสิ่งใด หากว่าดี ถูกต้องนั้น
ไม่เป็นเครื่องกระทบกระเทือนทั้งตนและคนอื่น
คือไม่ทำความเสียหายแก่ตนและคนอื่น
ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ตนและทั้งคนอื่นด้วย
นั่นแหละหลักความดี อย่าไปเอาดีแต่ตนฝ่ายเดียว
ถ้าตนเห็นว่าดีแล้ว 
คนอื่นอาจกระทบกระเทือนก็ได้
อันนั้นไม่ใช่ของดี

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

อย่ายึดเรื่องคนอื่นเป็นอารมณ์




คนเราเกิดมาในเมืองมนุษย์
ต้องพบมนุษย์อยู่ร่ำไป
พระพุทธเจ้าสอนให้อยู่
ด้วยความสงบวิเวกด้วยใจ
อย่าไปยึดเอาเรื่องของคนอื่น
มาไว้เป็นอารมณ์ของใจ
แล้วก็จะวิเวกอยู่คนเดียว
ถ้าใจไม่สงบแล้วจะอยู่ในป่าคนเดียว 
มันก็ไม่สงบอยู่ดีๆ นั้นเอง

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ธรรมะหลวงปู่เทพโลกอุดร



ธรรมะหลวงปู่เทพโลกอุดร

 ๑. ธรรมะของท่านต้องเกิดจากการปฎิบัติเท่านั้น 

 ๒. ต้องมีสติอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก 

 ๓ อยากรู้ธรรมะหรือคำสอนของท่าน ให้ดูจิตตนเอง 

 ๔. ให้รักผู้อื่นเหมือนที่รักตน 

 ๕. ให้ทำตัวเหมือนน้ำ 
   น้ำไปได้ทุกสถานที่  อยู่ในน้ำ  ในอากาศ   
   ในดิน   น้ำอยู่ได้ทุกสภาวะ  เป็นไอน้ำ 
   เป็นน้ำ  เป็นน้ำแข็ง  น้ำให้ความชุ่มชื่น  
   สดชื่น  แก้กระหาย  น้ำให้ชีวิต และทำลาย
   ชีวิต น้ำให้ความความเย็น  ให้ความร้อน 
   น้ำมีรูปร่างต่างๆ กันตามรูปร่างของภาชนะ 
   น้ำใช้ล้างความสกปรกให้สะอาด ฯลฯ 

สมมุติ-วิมุตติ



รู้สิ่งใดแล้วติดสิ่งนั้น 
ก็เป็นสมมุติ รู้สิ่งใดแล้วไม่ติดสิ่งที่รู้ 
ก็จะเป็นวิมุตติโดยอัตโนมัติ

หลวงปู่ทา จารุธัมโม


แม้ภูเขาสูงแสนสูง



แม้ภูเขาสูงแสนสูง หากบุคคลผู้มีความเพียร
พยายามปีนป่ายขึ้นไปจนถึงยอด 
ภูเขาสูงแสนสูงก็ต้องอยู่ใต้ฝ่าตีนของคนผู้นั้น

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร



เรียนทางโลก ยิ่งหนาไปเรื่อย




เรียนทางโลก เรียนไป ๆ ก็ยิ่งหนาไปเรื่อย ไม่เบาบางได้เลย
  เรียนทางธรรม เรียนละ 
ละโลภ ละโกรธ ละหลง ละกิเลสตัณหา มันก็เบาไปๆ 
จนไม่มีภาระ หมดภาระ

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

มีสุขอยู่ที่ไหน มีทุกข์อยู่ที่นั่น




มีสุขอยู่ที่ไหน มีทุกข์อยู่ที่นั่น 
หาสุขจากกาม หาสุขในโลก 
จะได้มาจากไหน 
มันคือการหาสุขในทุกข์
สุขไม่มี ตัวของเราไม่มีในนั้น


หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

สัตว์เดรัจฉาน “มันดีกว่าคน”




สัตว์เดรัจฉาน “มันดีกว่าคน”
ตรงที่มันไม่มีมายา ไม่หลอกลวงใคร
มีครูอาจารย์ก็คือคน 
เป็นสัตว์ที่น่ารักน่าสงสาร
คนเราซิโง่ เป็น“พุทธะ”ได้ 
แต่หลอกลวงตนเองว่า เป็นไปไม่ได้ 
ร่างกายก็มีให้พิจารณาว่าเป็นของเน่า
เป็นของเหม็น 
แต่เราพิจารณาว่าเป็นของหอมน่ารัก 
“โง่ไหมคนเรา” 

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม


ธรรมะอยู่ที่ตัวเรา



ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
พวกเรามองข้ามไปเสียหมด อยู่ที่ตัวของเรานี้เอง มิใช่อื่น
พุทธะคือผู้รู้ ก็ตัวของเรานี้เอง มิใช่ใครอื่น
เช่นเดียวกันกับไข่ ไข่อยู่ข้างในของเปลือกไข่
ทำให้เปลือกไข่แตก เราก็ได้ไข่
พิจารณาร่างกายของเราให้แตก 
แล้วเราก็จะได้ธรรมะ

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม


นกยูงทอง



          นกยูงทองบินไปได้ ก็อาศัยขนปีก ขนหาง ถ้านกยูงขาดขนปีกขนหาง บินไม่ได้ ใจบ่มีพุทโธ จะไปสวรรค์ ก็บ่ได้ ใจบ่มีธัมโม ไห้หาสวรรค์ ก็บ่ได้ ใจบ่มีสังโฆ ไปบ่ได้ ทั้งนั้น

                                                                                               หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม

ผู้มีภาวนาเป็นหลักใจ




          ผู้มีภาวนาเป็นหลักใจ จะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ ไม่เสี่่ยง และไม่เกิดความเสียหายแก่ตนและผู้เกี่ยวข้อง การภาวนาจึงเป็นผลเพื่อในปัจจุบันและอนาคต


                                                                                       หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

อย่าติดความสงบ




          เมื่อจิตก้าวเข้าสู่ความสงบคือสมาธิแล้ว...อย่าพึงติดความสงบคือติดสมาธิ...เมื่อพิจารณาธรรมทั้งหลาย ก็อย่าให้เกินกว่าเหตุ ให้มีเวลาพักเข้าสงบบ้าง เพื่อเป็นกำลังหนุนปัญญาให้คมกล้าแก่การตัดฟันกิเลส ซึ่งเป็นเหมือนยางเหนียว เมื่อสมถะกับวิปัสสนาดำเนินเคียงคู่กันไปโดยสม่ำเสมอ ไม่ให้ยิ่งหย่อนข้างใดข้างหนึ่ง จะพึงถึงฝั่งแห่งสันติธรรม โดยปราศจากอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น

                                                                                        หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ความตายคือครู




สำหรับผู้ใฝ่ธรรม ความตายจึงไม่ใช่ศัตรู 
หากคือครูที่เคี่ยวเข็ญให้เราดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง 
คอยกระตุ้นเตือนให้เราอยู่อย่างไม่ประมาท 
และไม่หลงเพลิดเพลินกับสิ่งที่มิใช่สาระของชีวิต

พระไพศาล วิสาโล



ปัญญาคือสรณะอันแท้จริง




คนเรามักคิดว่าวัตถุภายนอก เช่น ภูเขา
ป่าไม้ รุกขเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งรวมไปถึงทรัพย์สมบัติ 
ชื่อเสียงจะเป็นสรณะให้กับเราได้ แต่แท้จริงแล้ว 
ธรรมะต่างหาก โดยเฉพาะปัญญาที่เข้าใจในอริยสัจสี่
ต่างหาก ที่จะเป็นสรณะของเราอย่างแท้จริง

พระไพศาล วิสาโล