อย่าไปหนีความไม่สงบ



ถ้าไม่สงบ เราก็พิจารณาความไม่สงบ 
ว่ามันเป็นอย่างไร จึงไม่สงบ
ภาวนาไปกับความไม่สงบนั่นแหละ หนักเข้าๆ มันก็สงบไปเอง
อย่าไปหนีความไม่สงบ อย่าไปกลัวความไม่สงบ
เราก็ต้องต่อสู้กับความไม่สงบนั้น
ผลที่สุดความไม่สงบก็กลายเป็นความสงบขึ้นมา

 หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ

รู้ทุกอิริยาบถ จึงชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติ




เรื่องของการทำกรรมฐานนี้ ยืนอยู่ก็ทำได้
นั่งอยู่ก็ทำได้ ขอให้เรามีสติสัมปชัญญะ ทำความรู้ทุกอิริยาบถ 
ให้ความรู้อยู่อย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติ
"ตัวรู้" นี้แหละ ไม่ต้องกลับมาเวียนเกิด เวียนแก่
เวียนเจ็บ เวียนตายอีก


หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก

ไม่ยึดความนึกคิด ว่าจะไม่ยึดมั่นถือมั่น




การดำเนินทางพระพุทธศาสนานั้นคือ การพัฒนาปัญญา...
...ปัญญาในที่นี้ คือความสามารถที่จะเฝ้าสังเกตความยึดมั่นถือมั่น
และทำความรู้ความเข้าใจ แล้วก็ปล่อยวางไป
ไม่ไปยึดอยู่กับความนึกคิด ว่าจะไม่ยึดมั่นถือมั่น
เพราะการยึดอยู่กับความนึกคิดเช่นนั้น ...
ก็เป็นการยึดมั่นถือมั่นอีกเช่นกัน


พระอาจารย์สุเมโธ

ปัญหาภายในเกิดจากความเห็นไม่ตรงกับความจริง




ปัญหาภายนอกเวลาอยู่รวมกัน 
เกิดจากความเห็นไม่ตรงกัน
ปัญหาภายในเกิดจาก...
ความเห็นไม่ตรงกับความจริง (สัจธรรม)

หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ

เตรียมตัวเตรียมใจ รับความเป็นจริงของชีวิต



เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้
เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้
เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้

การพิจารณาเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นการแช่งตัวเอง 
อย่างที่คนบางคนหรือประเพณีความเชื่อบางแห่งเข้าใจ 
แต่เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจที่จะรับกับความเป็นจริงของชีวิต 
ซึ่งสิ่งนี้จะต้องเกิดกับทุกๆ คนอย่างแน่นอน 
ดีกว่าไปคิดเพ้อฝันถึงอนาคตที่สดใส 
ซึ่งไม่เป็นจริงอย่างที่ปรารถนา

พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

คนที่ไม่ยอมให้อภัย คือ คนที่กอดหมาเน่าไว้



คนที่ไม่ยอมให้อภัย
คือ คนที่กอดหมาเน่าไว้ 
แล้วคร่ำครวญว่าเหม็นเหลือเกินๆๆๆ
น่าสมเพช น่าสมน้ำหน้า
การให้อภัย จึงเป็นการล้างใจขั้นสูง...

ที่น่าปฏิบัติอย่างยิ่ง...

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ค่าที่สูงสุดมันอยู่ข้างใน



เรื่องข้างนอกเป็นเรื่องหลอก เรื่องข้างในเป็นเรื่องจริง 
ดูเข้าไปให้มันรู้จริงๆ ให้ได้ ถ้ามองข้างในทะลุไปได้ 
จะรู้ได้เองว่าบรรดาสิ่งในโลก ไม่มีค่าสักนิดเดียว 
เพราะว่า ค่าที่สูงสุดมันอยู่ข้างใน
อยู่ที่จิตมีความรู้แจ่มแจ้ง มีความสะอาด 
มีความสว่าง มีความสงบ 

ท่าน ก.เขาสวนหลวง

บทเรียนส่วนใหญ่ในชีวิต



บทเรียนส่วนใหญ่ในชีวิต
คือการเรียนรู้เพื่อเผชิญสิ่งที่ไม่ถูกใจ 
ในตัวเราเองและโลกรอบๆ ตัวเรา
โดยให้รู้จักอดทน และรู้จักมีเมตตา
ไม่ฉุนเฉียวไปกับความรู้สึก
ทางประสาทสัมผัส
ที่ไม่ได้ดังที่ใจต้องการ

พระอาจารย์สุเมโธ

รูปร่างที่เราเห็นว่าสวยว่างาม




...รูปร่างที่เราเห็นว่าสวยว่างามนั้น 
ข้างในเต็มไปด้วยของไม่สะอาด 
ก็เหมือนกันกับโลงผี
ที่แต่งให้สวยงามข้างนอก 
แต่ข้างใน น่าเกลียดน่ากลัวนัก...


พระอาจารย์วัน อุตตโม

หากวางจิตไว้ในปัจจุบันขณะ จะไม่มีความทุกข์



ปัจจุบันขณะ ประเสริฐสำหรับทุกคน 
หากวางจิตไว้ในปัจจุบันขณะ จะไม่มีความทุกข์
เพราะเหตุแห่งทุกข์มาจาก 
การปล่อยให้ความชอบชังในอดีตมากรีดใจ 
หรือปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านไปในอนาคต 
ปัจจุบันขณะจึงเป็นธรรมวิหาร
ใจไม่ขุดคุ้ยหาซาก
พักพิงใจที่ปลอดภัย ไกลทุกข์

พระอาจารย์ณรงค์ อาจาโร

มองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น จะเข้าใจธรรม





ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม 
ความจริงก็ดำรงอยู่ตามธรรมดาของมันอย่างเป็นกลางๆ 
พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้คือ ค้นพบความจริงนั้นแล้วนำมาเปิดเผยไว้... 
ผู้ที่มองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น 
ไม่ใช่มองตามที่ตนอยากหรือไม่อยากให้มันเป็น ...
จึงจะเข้าใจความจริงที่เป็นกลางนี้ได้ 
เมื่อเข้าใจธรรมที่เป็นกลางนี้แล้ว 
ก็ย่อมมองเห็นความจริงอย่างกว้างๆ 
ครอบคลุมทั่วไปทั้งหมด มีทัศนะเปิดกว้าง 
หลุดพ้นเป็นอิสระอย่างแท้จริง

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

เห็นตามเป็นจริง ท่านเรียกมีปัญญา



ถ้าใจไม่เห็นตามเป็นจริง แล้วจะเกิดปัญหาอยู่เรื่อยไป
ถ้าใจเห็นตามเป็นจริง ท่านเรียกมีปัญญา 
สามารถรักษาใจของตัวไม่ให้เอนเอียงไปตามเรื่องต่างๆ...
ไม่มีอะไรที่จะสงสัยว่าโลกมันจะเป็นไปอย่างไร 
เพราะมันเคยเป็นมาอย่างไร มันก็เป็นไปของมันอย่างนั้น 
ตามหน้าที่ของมัน ไม่มีอะไรที่จะใหม่ในโลกนี้...

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

อย่าได้ไปยึดความเกิด ความดับ


          กาย..วิมุติได้ วาจา..วิมุติได้ ใจ..วิมุติได้ มันไม่มีใครยึดใคร อย่าได้ไปยึดความเกิด ความดับ เป็นสัตว์ เป็นสังขาร เป็นเรา เป็นของเราเสีย...เท่านั้นเอง

                                                                                                หลวงปู่บุดดา ถาวโร

ไม่ต้องไปตัดเขาหรอกกิเลส



          ลูกศิษย์คนหนึ่งมาบ่นให้ท่านพ่อฟังว่า “ตัวเองปฏิบัติมาตั้งนานยังตัดกิเลสไม่ได้สักตัว” ท่านพ่อหัวเราะบอกว่า “ไม่ต้องไปตัดเขาหรอกกิเลส ไปตัดเขาได้หรือ เพราะกิเลสอยู่ในโลกนี้มาก่อน  เรามาหาเขาเองต่างหาก ไม่ว่าเราจะมาหรือไม่มา  เขาก็อยู่ของเขาเช่นนั้น และใครเป็นคนเรียกเขาว่ากิเลส เขาเคยบอกหรือว่าเขาชื่ออะไร เขาก็อยู่ของเขา ให้พิจารณารู้จักกับเขา มองทั้งดีทั้งชั่วของเขา”

                                                                                                       ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก

ศาสนาอยู่ที่กายกับใจ



          คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านวางไว้ ท่านไม่ได้วางศาสนาไว้ในป่าดง ต้นไม้ ภูเขาเลากา  วางไว้ที่กาย ที่ใจของเราเท่านั้น ท่านก็ให้พิจารณากายกับใจของเราเท่านั้น... 

                                                                                                       หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ยึดไว้ก็ไม่เป็นไปตามความอยากของเรา



          พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปล่อยวาง เพราะไปยึดแล้วมันทำให้เป็นทุกข์ เพราะของที่เกิดขึ้นทั้งหมดมันดับไปทั้งนั้น จะยึดไว้ไม่อยากให้เขาเสียหาย ไม่อยากให้เขาหมดสิ้น ไม่อยากให้เขาดับไป ยึดไว้ยังไงก็ไม่เป็นไปตามความอยากของเรา เพราะธรรมชาติที่เกิดขึ้นเขาจะต้องดับไปทั้งนั้น

                                                                                                    หลวงปู่แบน ธนากโร

ความสุขจากการเป็นอิสระจากกิเลส



ความสุขจากการเป็นอิสระจากกิเลสนั้น 
เหนือกว่าความสุขทางโลกอย่างหาที่เปรียบไม่ได้

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า 

ไม่ย้อนดูจิตด้วยสติปัญญา...



          ...อย่าดูสิ่งใดว่าสิ่งนั้นไม่ดี สิ่งนี้ไม่ดี นอกไปจากจิตตัวคึกคะนอง เพราะเป็นตัวกิเลสโดยตรง ปรุงออกไปว่าสิ่งนั้นไม่ดีสิ่งนี้ไม่ดี ตัวผู้ปรุงนั้นแลตัวไม่ดีเอง ตัวคึกคะนอง ตัวเลวร้าย อยู่ไม่เป็นสุข หาเรื่องหาราวใส่สิ่งนั้นสิ่งนี้ คนนั้นคนนี้ ไม่ย้อนดูจิตด้วยสติปัญญา ก็ชื่อว่าปล่อยให้พิษร้ายอันนี้แสดงฤทธิ์แสดงอำนาจบนหัวใจ มรรคผลนิพพานจะหวังเอาจากอะไรที่ไหน เมื่อมีแต่สิ่งเหล่านี้ออกหน้าออกตาอยู่ทุกอาการที่เคลื่อนไหวของจิตและของกายวาจาอยู่แล้ว...

                                                                                   หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เรื่องโลกไม่เป็นสาระแก่นสาร



         ..ใจของคนเรานี่ มันคลุกคลีอยู่แต่ด้วยเรื่องโลกๆ ต่างๆ นานา และก็ทำให้ไม่สบายใจ ทำใจให้วุ่นวายเดือดร้อน กระวนกระวาย เพราะเราเข้าใจว่า เรื่องโลกนั้นเป็นสาระแก่นสาร จึงทุ่มเทจิตใจเข้าไป อย่างไม่มีการตรึกตรองพิจารณา ถ้าเปรียบอย่างหนึ่งเปรียบเหมือนแมลงเม่า เมื่อได้เห็นเปลวไฟอย่างนั้นแล้ว พากันบินโถมเข้าไป ผลที่สุดก็ไหม้ ลงร่วงอยู่ในกองไฟทั้งหมด ชีวิตของเราก็ย่อมเป็นเช่นนั้น ไม่เป็นสาระแก่นสาร

                                                                                                  หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

ให้จิตเป็นกลาง



          ...ถึงจะชอบใจมากแค่ไหน ก็ไม่สมควรจะตื่นเต้นตาม ถึงจะไม่ชอบใจสักเท่าไร ก็ไม่สมควรปล่อยให้จิตใจเศร้าหมอง...เราต้องพยายามให้จิตเป็นกลาง ที่เป็นกลางนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีความรู้สึก ไม่มีอารมณ์เลย แต่ว่าเป็นกลางโดยมีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดต่างๆ มีความมั่นคงท่ามกลางความรู้สึกต่างๆ...

                                                                                                       พระอาจารย์ปสันโน

ผู้ใดคลายความพอใจรักใคร่ได้ ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์



          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “กามคุณ ๕ มีใจเป็นที่ ๖  ผู้ใดคลายความพอใจรักใคร่ได้ ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ ใครจะถามเราร้อยครั้งพันครั้ง เราก็บอกอยู่แค่นี้ว่า ผู้ใดตัดความรักใคร่พอใจในร่างกายตน และตัดความรักใคร่พอใจในกายผู้อื่นได้  ผู้นั้นก็พ้นทุกข์ถึงนิพพาน”

                                                                                           หลวงพ่อกนฺตสิริ (กนฺตสิริ ภิกฺขุ)

ตามลมหายใจอย่างมีสติ




...วิธีที่จะตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันขณะ
เราเพียงแต่กลับมา...ตามลมหายใจอย่างมีสติ
ทำ..เพียง..เท่านั้น
เรา...ก็สามารถที่จะนำกาย นำใจของเรา... 
กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกัน

...
ท่านติช นัท ฮันห์

อย่าหนีโลกธรรม



          ทุกคนหนีโลกธรรมไม่พ้น จึงอย่าหนีมัน เพราะมันเป็นของธรรมดา คนส่วนใหญ่คิดว่าตนฉลาด (พระองค์ตรัสว่า เป็นคนโง่ตั้งแต่เริ่มคิด เพราะเป็นอารมณ์หลง) ดังนั้น เมื่อถูกด่า-ว่า-หรือติ หรือนินทา จะมีอารมณ์ไม่พอใจ โกรธ เก็บเอามาคิดปรุงแต่ง เกิดอาฆาต-พยาบาท-จองเวร เพราะอารมณ์โง่ โมหะหรือหลง หรือมิจฉาทิฏฐิ จึงทำร้ายตนเอง เผาตนเอง เบียดเบียนตนเอง ขาดเมตตาต่อตนเอง เหมือนกินยาพิษ เพราะโมหะ (โง่) แต่ใครเชื่อพระองค์ก็เป็นสุข เพราะถือเป็นของธรรมดา ให้ตั้งไว้ในอารมณ์ช่างมัน หรือวางเฉย หรือสักแต่ว่า หรืออุเบกขา จนถึงสังขารุเบกขาญาณในที่สุด

                                                                                           หลวงปู่หลุย จันทสาโร

เราจะทุ่มเทให้กับการปฏิบัติธรรมไม่ได้เชียวหรือ?



ชีวิตของเราที่เหลือไม่ได้มีมาก
ถ้าคิดแบบประมาทก็คือมีแค่วันนี้ 
ถ้าคิดแบบไม่ประมาทก็คือมีแค่ชั่วลมหายใจนี้  
ในเมื่อเวลาเรามีแค่นิดเดียวเท่านั้นเอง 
เราจะทุ่มเทให้กับการปฏิบัติธรรมไม่ได้เชียวหรือ? 
เราเหนื่อยแค่ตอนนี้เอง 
แต่ถ้าเหนื่อยแล้วพ้นทุกข์...คุ้มค่าหรือไม่?

หลวงพี่เล็ก สุธมฺปญฺโญ 

ความเป็นผู้คงแก่เรียนหรือมีความรู้




...ความเป็นผู้คงแก่เรียนหรือมีความรู้ 
ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งไร้สาระเท่านั้น
ยังเป็นสิ่งที่บดบังความรู้สึกตัวของท่านเองด้วย

ปรมาจารย์ตั๊กม้อ

คำสอนโดยย่อของการฝึกจิต...


          คำสอนโดยย่อของการฝึกจิตคือ ให้มีสติตามดูพฤติกรรมของจิดูเฉยๆ ดูแล้วดูอีก ให้ดูอยู่อย่างนั้น อย่าปรุงแต่ง ให้พุทธะภาวะมีลักษณะเป็นสัพพัญญู คือรู้เท่าทันอาการของใจทั้งหมด จนสิ้นสงสัย
          อุบายแสวงหาตัวดูคือ ให้รู้สึกตัว รู้อยู่กับลมหายใจ หรืออิริยาบถการเคลื่อนไหวของอวัยวะในร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ เป็นการบ่มเพาะตัวรู้ หรือปลูกฝังพืชพันธุ์โพธิจิต และเอาความรู้สึกตัวมารู้ใจหรือดูใจ รู้อยู่อย่างนั้นจนกว่าว่ามันจะรู้แจ้ง

                                                                                   หลวงตาสุริยา วัดป่าโสมพนัส
                                                                                           (ส.มหาปัญโญภิกขุ)

ทุกข์นั้นแท้จริงก็แฝงอยู่ในสุข



ทุกข์นั้นแท้จริงก็แฝงอยู่ในสุข ถ้าเราเพลิดเพลินยินดีในสุขมาก
วันหนึ่งความทุกข์ก็มาเยือนและปรากฏให้เห็น
ทุกข์ก็ตาม สุขก็ตาม ต้องมีสติควบคุม
ฝึกใจไม่ให้ยินดียินร้ายและหลงไปหรือเพลิดเพลิน

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ระวังจิตให้ตั้งเฉยอยู่ในตัวเอง



...จิตของเราก็เช่นเดียวกัน อย่าให้ความดีร่วงหล่นไปตามนิวรณ์
จึงต้องคอยระวังจิตให้ตั้งเฉยอยู่ในตัวของเราเอง 
จนรู้สึกว่าไม่มีสิ่งอะไรมารบกวนหรือทำลาย

ท่านพ่อลี ธัมมธโร 

ภายในนั้น มันเกิดเอง ดับเอง



          “..มันอยู่ในจิตนี้แหละลูกเอ๋ย โง่มันก็มาจากจิต ปัญญามันก็เกิดจากจิต อย่ามัวเสาะหาที่อื่นที่ไกล อย่าไปแต่งไปเติมเสาะหามาใส่ อย่าไปอยากรู้ อยากเป็น อยากเห็น ทำไปก่อน มันจะต้องเกิดของมันเองได้ ลูกแม่ต้องพึ่งตัวเอง หาเอาเอง  ทำเอาเอง ปฏิบัติเอาเอง เพราะภายในนั้น มันเกิดเอง ดับเอ

                                                                                                        แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ

จงอย่าเชื่อสังขาร



สังขารความคิดปรุงแต่ง มันไม่ใช่เรา 
แต่มันลากเราให้ติด ให้ทุกข์
ไม่รู้จักจบจักสิ้น 
เพราะฉะนั้น จงอย่าเชื่อสังขาร

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่ต้องนำมาใช้ทั้งหมด



ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น
เวลาจะเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์
ไม่ต้องไปเอาหมดทุกถ้อยกระทงความ
อุบายธรรมอันใดเมื่อเราเอามาสอนใจของเราได้
ก็ให้จดจำเอาอุบายธรรมอันนั้น
มาสอนใจของเรา ให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนาให้จงได้
อันนั้นแหละจะเกิดประโยชน์

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

อย่าพยายามหยุดความคิด ให้รู้สึกตัว



อย่าพยายามหยุดความคิด แต่ให้ทันการ อย่าเข้าตามความคิดไป 
กลับมาที่ความรู้สึกตัว กลับมาที่การเคลื่อนไหว
เล่นกันอยู่อย่างนี้สักพักใหญ่ ในที่สุด
สัญชาตญาณชนิดหนึ่ง คือสัญชาตญาณการป้องกันตน
จะป้องกันสติไม่ให้คล้อยไปตามความคิด ไม่ให้ความคิดมันลากไป ...
ในที่สุดจะดีขึ้นภายในช่วงเวลาสั้นๆ 
ถ้าปฏิบัติต่อเนื่องจริงๆ ผมกล้ารับรองสามวันเท่านั้นรู้เรื่อง 
รู้เรื่องในที่นี้หมายความว่า ความทุกข์ทุเลาเบาบาง 
เพราะความคิดมันบางลง แต่สติมันไวขึ้นนั่นเอง

ท่านเขมานันทะ (อ.โกวิท อเนกชัย)

จิตประเสริฐ จิตเกษม




มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ 
มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์... 
แปดอย่างนี้ พระพุทธเจ้าและสาวก 
ไม่มีความยินดีและโศกเศร้า 
ไม่มีความหวั่นไหว ...
ไม่มีความยินดี ยินร้าย กับอารมณ์แปดอย่าง 
นี่ละ จึงว่าจิตประเสริฐ จิตเกษม

หลวงปู่ขาว อนาลโย 

จิตอยู่ในจิต จะเกิดความสงบ



          การกำหนดจิต แม้แต่ในธรรมขันธ์ก็บอกอยู่แล้ว แม้ในอภิธรรม ๗ เขาก็บอกอยู่เหมือนกัน เขาบอกว่าถ้าเราทำจิตของเรา ให้อยู่ในจิตของเรา อารมณ์จิตของเรา ให้มาอยู่ในอารมณ์หนึ่งให้ได้ ไม่ถึง ๑๐ นาที จิตนั้นจะเกิดความสงบ ถอดความสงบจะเกิดความแจ้งขึ้นมา...

                                                                                           หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล

ผู้มีความสุข ปราศจากความโศก



ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ 
ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก
เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี 
ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ในโลกไหนๆ

(๒๕/๑๗๖) วิสาขาสูตร

รู้เห็นอยู่ในกายกับจิตนั้น เป็นสัมมาทิฐิ



ถ้าส่งจิตรู้เห็นนอกกาย เป็นมิจฉาทิฐิ
ให้รู้เห็นอยู่ในกายกับจิตนั้น เป็นสัมมาทิฐิ

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

เมื่อจิตอยู่กับสติ จิตก็เป็นผู้รู้




จิตถูกสติกำหนดรู้ รู้อยู่ตลอดเวลา จิตก็อยู่กับสติ
เมื่อจิตอยู่กับสติ จิตก็เป็นผู้รู้...
เมื่อจิตเราเป็นผู้รู้จริงๆ แล้ว
ตัวปรุงแต่งมันจะแยกออกทันทีเลย

หลวงพ่อวิชัย เขมิโย

แสวงหาอริยสัจ 4 มาเลี้ยงจิตใจตนเอง



การเจริญสติที่อยู่กับปัจจุบันได้นานๆ 
อาจจะเรียกว่า “นิโรธ” ก็ได้
คือความทุกข์ดับทุกๆ ขณะ เมื่อมีสติทุกครั้ง
บางทีคนเรามัวแสวงหาแต่ปัจจัย 4 มาเลี้ยงกาย
แต่ไม่ได้แสวงหาอริยสัจ 4 มาเลี้ยงจิตใจตนเอง ด้วยวิธีง่ายๆ ...

คือศึกษาให้รู้จักดึงกายกับใจมาอยู่ด้วยกันเท่านั้น

หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท

หลักเจริญสติ 2 ข้อ



การเจริญสติมีหลักข้อแรกคือ ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น
ข้อที่สองก็คือรู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ร่างกายหนีเราไปทุกวัน



          เราควรรู้ว่า ร่างกายนั้นเขาวางเรา และหนีเราไปทุกวัน ๆ แต่เราสิไม่เคยหนีเขา ไม่ยอมวางเขาเลยสักที

                                                                                                        ท่านพ่อลี ธัมมธโร

ผู้ปฏิบัติธรรมได้ผลเร็ว



          ผู้ที่ยังไม่รู้หัวข้อธรรมอะไรเลย เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจัง มักจะได้ผลเร็ว เมื่อเขาปฏิบัติจนเข้าใจจิต หมดสงสัยเรื่องจิตแล้ว หันมาศึกษาตริตรองข้อธรรมในภายหลัง จึงจะรู้แจ้งแทงตลอด แตกฉานน่าอัศจรรย์ ส่วนผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน แล้วจึงหันมาปฏิบัติต่อภายหลัง จิตจะสงบเป็นสมาธิยากกว่า เพราะชอบใช้วิตกวิจารณ์มาก เมื่อวิตกวิจารณ์มาก วิจิกิจฉาก็มาก จึงยากที่จะประสบผลสำเร็จ...

                                                                                                               หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

การเจริญสติ ไม่กลัวความหลง



. . .กระบวนการปฏิบัติในการเจริญสติ เราจึงไม่กลัวเรื่องความหลง ให้หลงไป ยิ่งหลง ให้เรายิ่งรู้กับมัน ยิ่งหลง แล้วเรารู้ตัวว่ามันหลง นั่นแหละปัญญายิ่งจะคมเหมือนการลับมีด. . .

                                                                                          พระอาจารย์ครรชิต อกิญจโน

คนเราต้องรู้สึกตัว เมื่อไม่รู้สึกก็เป็นคนที่ลืมตัว



          คนเราต้องรู้สึกตัว เมื่อไม่รู้สึกก็เป็นคนที่ลืมตัว ทุกสิ่งทุกอย่างเราก็ลืมเจ้าของ เพราะฉะนั้นความพินาศฉิบหายต่างๆ จึงได้เกิดขึ้นแก่ตัวของเรา ก็เราไม่มีความคิดเฉลียวอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง คือไม่มีความระแวง ความระวังไม่มี ความเผลอตัวมันก็เกิดขึ้น ความลืมตัวมันก็เกิดขึ้น ก็เลยเป็นคนที่เกิดความเสียหายได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราอยู่ในความไม่ประมาท เป็นผู้ตื่นตัว รู้สึกตัวอยู่เสมอ มีความคิดระแวง ระวังตัวของเราอยู่ทุกวิถีทาง แล้วเราก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญได้

                                                                                               พระอาจารย์วัน อุตตโม

นิพพาน..เริ่มที่จิตไม่ยินดียินร้ายเมื่อตาเห็นรูป...



           จิตใจที่เป็นปกติ ไม่ยินดียินร้ายเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น นี้เรียกว่าผู้มีศีลเป็นปกติ เมื่อใจเป็นปกติ ไม่ยินดียินร้าย สงบ ความสงบของใจนี้เรียกว่า ใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ ความรู้แจ้งเห็นจริงที่เรียกว่าปัญญา ย่อมเกิดขึ้น เมื่อปัญญาเป็นเครื่องรู้แจ้งทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ความทุกข์ความทรมานย่อมหมดสิ้นไป จิตใจก็จะเข้าถึงธรรมที่ไม่ตาย เรียกว่านิพพาน

                                                                                              หลวงพ่อกนฺตสิริ (กนฺตสิริ ภิกฺขุ)

ถ้ามองแต่ข้างใน สติปัญญาเกิด




ถ้าเรามองแต่ข้างในกันแล้ว
สติปัญญามันเกิด 
แต่ถ้ามองภายนอก กิเลสมันเกิด


ท่าน ก.เขาสวนหลวง

เราปฏิบัติโดยอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่ง...



          …เราปฏิบัติโดยอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่ง แต่ว่าเป้าหมายอย่างหนึ่งของการปฏิบัติ ก็เพื่อให้คุณสมบัติของสรณะที่พึ่งของเรานั้น เกิดขึ้นในจิตใจอย่างสม่ำเสมอ...

                                                                                              พระอาจารย์ปสันโน

ใจเป็นผู้ให้ความหมายสิ่งที่รับรู้



สิ่งที่เราเห็นด้วยตาก็ดี 
ได้ยินด้วยหูก็ดี 
พึงน้อมเข้ามาสู่ใจให้ทราบว่า 
สิ่งทั้งหลายนั้นมีใจเป็นผู้รับรู้ 
เป็นผู้ให้ความหมายในสิ่งทั้งปวง 
ถ้าใจไม่เป็นผู้ให้ความหมายแล้ว 
สิ่งเหล่านั้นจะปรากฏความหมาย
ขึ้นโดยลำพังตัวเอง ย่อมเป็นไปไม่ได้

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

จิตหยุดคิด



          หากสามารถควบคุมให้จิตหยุดคิดได้อย่างช่ำชอง จนจิตเข้าสู่ความสว่างหรือความประภัสสรของจิตได้แล้ว การรู้เห็นสิ่งต่างๆ ของชีวิตตามความเป็นจริงก็จะตามมา จิตจะละความหลงที่เคยโง่เขลา หลงยึดมั่นสิ่งต่างๆ  เป็นเหตุให้ตัณหาเข้าไปอาศัย ครอบงำจิตอยู่อย่างยืดเยื้อยาวนาน จนเกิดอุปาทานยินดีพอใจต่อการเกิดในภพน้อยภพใหญ่. . .

                                                                                 พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

การฝึกสติ จุดมุ่งหมายเพื่อกายจิตอยู่ด้วยกัน



          การฝึกสตินี้ จุดมุ่งหมายก็เพื่อ ทำกายจิตนี้ให้มันอยู่ด้วยกัน คือ เดิน ยืน นั่ง นอน ด้วยกัน เมื่อมีสติควบคุมกายใจนี้ให้อยู่ด้วยกันได้แล้ว ก็จะรู้สึกว่า ชีวิตนี้มีความสุข สมจริงดังพุทธพจน์ว่า “สติมา สุขเมธติ” คนมีสติย่อมมีสุข . . .

                                                                                      หลวงพ่อกนฺตสิริ (กนฺตสิริ ภิกฺขุ)

นักปฏิบัติจะต้องเห็นคุณค่าของการภาวนา



        นักปฏิบัติจะต้องเห็นคุณค่าของการภาวนา,ไม่ติดอยู่ในภาษาคำพูด หรือคำสอนต่างๆ, คำสอนต่างๆ ที่เราจดจำมา, แม้เราจะรู้มากมายอย่างไร,เราก็ไม่มีทางที่จะเข้าถึงความจริงได้, เป้าหมายของพุทธศาสนา,ก็คือการปฏิบัติเพื่อละ, เพื่อวาง, เพื่อปล่อยความยึดถือต่างๆ,เพื่อเข้าถึงธรรมชาติที่สูงสุดที่เรียกว่า "บรมธรรม”

                                                                                            หลวงพ่อโพธินันทะ