ร่างกาย สังขารภพชาติไม่เป็นของที่เที่ยงแท้แน่นอน



ร่างกาย สังขารภพชาติไม่เป็นของที่เที่ยงแท้แน่นอน
มีแต่โทษอย่างนั้น เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร
ไม่มีวันที่จะเป็นสุข เกิดในภพนี้ ทุกข์ในกายนี้
ตายแล้วยังมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เป็นสัตว์เดรัจฉานอีก 
เป็นเปรตอสูรกายอยู่ตามความโลภหลงของตัวเอง
ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดอยู่อย่างนี้ 
เราจะหลงอยู่อย่างนี้เหรอ
วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอยู่อย่างนี้เหรอ 
หาทางพ้นทุกข์ไม่ได้เหรอ 
พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ทำไมเราไม่เอา เรายังต้องการอยู่อย่างนี้เหรอ

หลวงพ่อไม อินทสิริ

จงปฏิบัติอย่างคนโง่



จงปฏิบัติอย่างคนโง่ 
อย่าปฏิบัติอย่างคนรู้มาก 
เพราะเป้าหมายของการปฏิบัติ 
คือ เพื่อความว่างจากกิเลส 
ว่างจากความยึดมั่นหมายมั่น
ต่างๆ เพื่อความเบาสบาย ...
ความปลอดโปร่งและไม่ต้องแบก...
แม้กระทั่งความดี

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

ผู้ดู




ผู้ดู

คิดรู้ คิดรู้
จงเป็นผู้ดู
อย่าเป็นผู้แสดง
ผู้รู้เพียงแต่ดู...
ผู้เขลาเข้าไปแสดง

พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณโณ
หนังสือน้อมสู่ใจ เล่ม๑

การภาวนายิ่งอยากได้ สิ่งนั้นยิ่งวิ่งหนี



ให้พิจารณาที่ใจ ภาวนาก็ให้มีสติระลึกรู้ 
ทำการงานใดก็ให้มีสติระลึกรู้ 
ใช้สติใช้ปัญญาในการพิจารณาไปเรื่อยๆ
จนกว่าอินทรีย์จะแก่กล้า 
แล้วมหาสติ มหาปัญญา ...
จะหมุนเข้ามาสู่ใจ 
เมื่อสามารถฆ่ากิเลสให้พังไปแล้ว 
ญาณทัศนะหรืออาสวักขยญาณที่กว้างไกล
ก็บังเกิดขึ้นมาเอง การภาวนายิ่งอยากได้ 
สิ่งนั้นยิ่งวิ่งหนี และตรงกันข้าม
เมื่อไม่อยากได้สิ่งใด แต่ปรากฏว่าสิ่งนั้น
กลับวิ่งเข้ามาหา ญาณทัศนะรู้แจ้งก็เช่นกัน

หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร

มีสติคือภาวนา



เมื่อเรายังมีสติอยู่ เมื่อนั้นแหละเราได้ภาวนาอยู่

หลวงปู่ชา สุภัทโท

อย่าไปสำคัญมั่นหมาย ในสิ่งรู้ทั้งหลาย



ตอนใจที่จิตของเรามีความแน่วแน่
บริสุทธิ์จริง ความรู้มันก็จริง
ถ้าช่วงใดที่จิตของเรามันไม่แน่วแน่
และมีกิเลสเจือปน
หรือเราอยากรู้อยากเห็น
มันจะโกหกเราทันที 
เพราะฉะนั้นทางผิดทางถูก
อย่าไปสำคัญมั่นหมาย
ในสิ่งรู้ทั้งหลายเหล่านั้น

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย 

การทำความเพียร ให้กำหนดสติ อย่ากำหนดเวลา



          การทำความเพียร ให้กำหนดสติ อย่ากำหนดเวลา ถ้าสติเผลอเมื่อใด ก็รู้ว่า เราขาดความเพียรไปแล้วเมื่อนั้น ถ้าสติตั้งลงที่ตรงไหน ก็ย่อมเป็นธรรมขึ้นมาตรงนั้น ถ้าไม่มีสติแล้ว ก็จะไม่เป็นธรรมทั้งคืนทั้งวัน

                                                                                                   หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล

ปฎิบัติบูชามีค่ากว่าวัตถุ



ทำบุญให้ทานไม่รู้กี่ครั้ง กฐินผ้าป่ากี่สิบกี่ร้อยกอง 
มันก็ไม่ได้บุญเท่าจิตเราสงบรวมเป็นสมาธิ 
เพราะว่าอันนั้นมันไปถึงบ่อบุญแท้ 
ถึงเราอาศัยวัตถุทาน อาศัยข้าวอาหารปัจจัย 
แต่มันก็เป็นวัตถุที่มีอายุสั้น 
ถ้าเราทำจิตของเราให้สงบได้ 
ท่านบอก “ปฎิบัติบูชามีค่ากว่าวัตถุ เทียบกันไม่ได้” 
เราต้องเข้าใจของเราอย่างนี้

หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร

อย่าหยุดเพียงการให้ทาน รักษาศีล



การให้ทานและการรักษาศีล
คือความดีที่น่าภาคภูมิใจ
แต่การหยุดอยู่ พอใจกับความดีแค่นั้น 
ก็ทำให้เราย่อมเข้าไม่ถึงความดีสูงสุด
ที่รู้ได้ด้วยการภาวนาเท่านั้น

พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

การปล่อยวางเริ่มจากจิตสงบ



การจะปล่อยวางได้ 
การจะละคลายความยึดถือ 
การจะหายจากความยึดมั่นสำคัญหมาย 
ต้องทำจิตให้สงบเสียก่อน 
เพราะอาศัยความสงบของจิตนั้นเอง 
วิปัสสนาญาณจึงจะเกิดได้

หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ 

ธรรมะทวนกระแสโลก



ธรรมะของพระพุทธองค์
เป็นธรรมะที่ทวนกระแสทางโลก
เป็นธรรมะที่ขัดใจตัวเอง
เป็นธรรมะที่เข้ามาแก้ไขตัวเอง
เป็นการมองเข้ามาหาตัวเอง
เป็นปริญญาที่สูงสุดที่ทุกคน
เกิดมาเป็นมนุษย์ควรจะได้รับ
ปริญญาภายนอกเรียนเท่าไหร่ก็ไม่จบ
แต่ปริญญาของพระพุทธเจ้านั้นเรียนจบ
มันหมดความเวียนว่ายตายเกิด

หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม

สติเป็นแม่บทแห่งธรรมทั้งหลาย



ปัญญาก็เกิดจากสตินั่นเอง สมาธิก็เกิดจากสตินั่นเอง 
เมื่อสติเราฝึกไม่ได้ ก็ไม่สามารถได้อะไรเลยในพระศาสนา 
สติจึงเป็น “แม่บท” เหมือนภาษาไทยก็ต้องมีก. ไก่ ... 
พระพุทธเจ้าตรัสว่าในป่าใหญ่มีเท้าสัตว์จำนวนมาก 
มีเท้าสิงโตเป็นต้น  ย่อมรวมลงในเท้าช้างทั้งหมดป่านี้ฉันใด 
สติจึงเป็นแม่บทแห่งธรรมทั้งหลาย สติเหมือนเท้าช้าง 
ธรรมทั้งหลายเหมือนเท้าสัตว์ทั้งหลาย 
รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายย่อมเล็กกว่าเท้าช้าง ย่อมรวมอยู่ในเท้าช้าง 
เมื่อเราจับเท้าช้างได้  เท้าอื่นก็ลงหมด

ครูบาเจ้าเพชร วชิรมโน

การอยู่ในโลกนี้ เหมือนอยู่ในกองไฟ



..การอยู่ในโลกนี้ 
เหมือนอยู่ในกองไฟ 
และเหมือนอยู่ในคุกตะราง 
ให้รีบเร่งแสวงหาทางออกเสมอ 
อย่าได้นิ่งนอนใจ และ
หลงยินดีเพลิดเพลินอยู่..

หลวงปู่ครูบาพรหมา พรหมจกฺโก


ผู้ที่ปฏิบัติธรรมคือผู้กล้าทวนกระแสโลก



ผู้ที่ปฏิบัติธรรมคือผู้กล้าทวนกระแสโลก
ต้องเด็ดเดี่ยวไม่ยอมหนีจากความทุกข์ 
ไม่หลับหูหลับตาต่อความจริง
ไม่เอาหูไปบาร์เอาตาไปห้าง 
กำลังใจในการปฏิบัติ...
จะเกิดได้อย่างไร 
ก็เกิดด้วยการพิจารณาเห็นโทษ 
และความไร้แก่นสารสาระ
ของชีวิตที่ขาดธรรมะ 

พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

จิตเดิมใสสะอาด มีอำนาจ



สภาพของจิตนั้น เดิมก็ใสสะอาดปราศจากมลทิน
เป็นสิ่งที่มีอำนาจอยู่แล้ว
แต่เมื่อเข้ามายึดถือในอัตภาพร่างกาย อันเต็มไปด้วยกิเลสต่างๆ 
จิตก็เศร้าหมองขุ่นมัว
หากชำระให้หมดไป จิตก็จะใสสะอาด...
มีพลัง และมีอำนาจ สามารถทำอะไรๆ ได้ตามกำลังของจิต

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ถ้าเข้าใจ ร่างกายจะไม่ทำให้ใจเป็นทุกข์



เรื่องทุกข์เรื่องสุขมันเป็นเรื่องของจิตใจ 
แต่เรื่องของร่างกายก็มีส่วนทำให้จิตใจ
เป็นทุกข์หรือเป็นสุขมาก...
ถ้าหากว่าพิจารณาเข้าใจชัด
ตามความเป็นจริงของเขาแล้ว..
ร่างกายอันนี้แหละจะไม่ทำให้
จิตใจของเราเป็นทุกข์อีก

หลวงปู่แบน ธนากโร

ร่างกายหรือขันธ์ ๕ เป็นขยะ



ไอ้พวกนี้มันชอบห่วงขยะ 
สมบัติที่มีอยู่ก็คือขยะ แม้แต่ร่างกาย
หรือขันธ์ ๕ ท่านก็ถือว่าเป็นขยะ 
จุดนี้หากคิดถึงคำตรัสของ
สมเด็จองค์ปฐมที่ว่า ร่างกาย (ขันธ์๕) 
ที่เราเห็นอยู่นี้เป็นของใครก็ไม่รู้ 
มันเป็นสมบัติของโลก 
ไม่มีใครสามารถเอาไปได้ 
ปัญญาก็จักเกิดขึ้น 
อารมณ์ห่วงขยะ
ก็จักลดน้อยลงได้ตามลำดับ

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ

ผู้ที่ปฏิบัติตามธรรมะ ไม่แบกทุกข์ภายนอก



ผู้ที่ปฏิบัติตามธรรมะของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้จักแบ่งเบาที่จะให้ทุกข์ขัางนอกก็เป็นทุกข์ข้างนอก
ไม่ให้มาบรรทุกไว้ในจิตใจ
แบ่งเบาออกไปเสียจากจิตใจ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจจึงจะมีความสุข
แม้จะอยู่ในท่ามกลางความทุกข์ภายนอก
และเมื่อจิตใจมีความสุข ก็สามารถที่จะมีสติปัญญา
แก้ความทุกข์ข้างนอกได้ตามที่สามารถจะแก้ได้
แต่ถ้าจิตใจรับเอาความทุกข์ข้างนอกมาไว้เสียเต็มที่แล้ว
ก็เป็นอันหมดหนทางที่จะแก้ไข

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วิปัสสนา-เห็นธรรม คือเห็นความคิด



...การทำวิปัสสนา-เห็นธรรมนั้น จึงต้องเห็นความคิดของเรานี่เอง
 ไม่ใช่ไปเห็นแสงสี ผีเทวดา...

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
หนังสือพลิกโลก เหนือความคิด

พระพุทธเจ้าสอนเพื่อให้ "ละ"



พระพุทธเจ้าสอนเพื่อให้ "ละ" 
ไม่ได้เพื่อให้ "เอา" 
พระพุทธเจ้าสอนว่าการทำบุญ
ที่ให้แล้วมีเยื่อใย 
หวังผลในชาติหน้า 
เป็นบุญที่มีอานิสงส์น้อย

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

วิธีหยุดความคิด




         การจะนั่งลงแล้วคิดโน่นคิดนี่ตลอดเวลานั้น มันง่ายกว่านั่งลงแล้วไม่คิด เพราะเราติดนิสัยอย่างนั้นมานานแล้ว แม้ความคิดที่ว่า “จะไม่คิด” มันก็ยังเป็นความคิดอย่างหนึ่งอยู่ดี ถ้าจะไม่คิด เราต้องมีสติ แล้วเพียงเฝ้าสังเกตและฟังการเคลื่อนของจิต แทนที่จะคิดเรื่องจิต เราจะเฝ้าดูมัน และแทนที่จะไปติดอยู่กับความคิดความฝัน เราจะรู้ทันมัน ความคิดเป็นการเคลื่อนไหว เป็นพลังผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่เที่ยง เราเพียงแต่รู้ไว้ว่าความคิดก็เป็นเพียงความคิด โดยไม่ต้องไปประเมินคุณค่าหรือแยกแยะแต่ประการใด แล้วมันจะเบาบางลงไปและจะระงับไปในที่สุด นี้ไม่ได้หมายความว่าจงใจไปประหัตประหารมัน แต่ยอมให้ระงับไปเอง เป็นลักษณะของความเมตตา นิสัยที่ชอบคิดจะเหือดหายไป ความว่างอันไพศาลชนิดที่ไม่เคยประสบมาก่อนก็จะปรากฎแก่ท่าน

                                                                                                   พระอาจารย์สุเมโธ

สิ่งที่น่ากลัวในโลกนี้คือ “คนขาดสติ”



          สิ่งทั้งหลายที่น่ากลัวในโลกนี้คือ “คนขาดสติ” เพราะคนขาดสตินี้มันจะหมุนเข้าไปในสังสารวัฏฏ์ เข้าไปอยู่ในอำนาจการปรุงแต่ง ในการยึดมั่นถือมั่น ในอุปาทานที่มันเป็นภพ เป็นชาติของชีวิต...จิตขณะนั้นไม่เป็นตัวของตัวเอง แล้วแต่อำนาจของกิเลสตัวไหนเข้าครอบครองใจ

                                                                                    หลวงตาสุริยา วัดป่าโสมพนัส 
                                                                                            (ส.มหาปัญโญภิกขุ)

ถ้าตั้งใจภาวนา อย่าส่งจิตไปทางอื่น



ถ้าตั้งใจที่จะภาวนา 
อย่าส่งจิตไปทางอื่น 
ให้ “รู้” อยู่ในกาย 
ในใจของเรานี่แหละ 
ถ้ายังตามความคิดอยู่
ไม่ใช่ภาวนา

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

เมื่อจิตไหล ก็ให้รู้ ดูที่จิต




มื่อจิตไหล ก็ให้รู้ ดูที่จิต
หลงครุ่นคิด ก็ให้รู้ ดูเอาไว้
เมื่อจิตเผลอ ก็ให้รู้ ดูเข้าไป
ผลสุดท้าย มีแต่รู้ "กู" ไม่มี

พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณฺโณ

มรรค 8 ข้อ รวมที่ความรู้สึกตัว



สติที่บริสุทธิ์ เป็นธรรมชาติ มีอุเบกขา ตั้งมั่น 
คือ ความรู้สึกตัว นั่นเอง
ความรู้สึกตัว ที่ปรากฏขึ้นนี่เแหละ 
มันจะเฉลยทุกอย่าง พาเราผ่านไปเห็นทุกอย่าง 
อย่างไม่เข้าไปเป็น...
ขณะที่เรารู้สึกตัว หนึ่งขณะ ๆ 
จึงเป็นการรวม “มรรค" ทั้งแปดข้อ
รวมเป็นหนึ่งเดียว เราไม่ได้เจริญมรรคทีละข้อ
แต่เราเจริญมรรคในฐานะที่เป็นองค์รวม
คือรวมไปที่ "ความรู้สึกตัว”

พระอาจารย์ครรชิต อกิญจโน

ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เขาเป็นธาตุ ๔



         ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เขาเป็นธาตุ ๔ ไม่วันหน้าก็วันนี้ เขาจะแตกจะดับกลับไปตามเรื่อง เถียงไม่ขึ้น เขาจะเลือกคืนวันไหนก็ได้ ไม่ใช่ของเราเลย
                                                                                                 หลวงปู่สาย เขมธัมโม

ยิ่งสละ ยิ่งได้



ยิ่งสละ ยิ่งได้
ยิ่งเอายิ่งอด
ยิ่งสละให้หมด
ยิ่งได้มากมาย
ต้นไม้ยิ่งสลัดใบ...
ยิ่งแตกผลิ
งูยิ่งลอกคราบ
ก็ยิ่งโต

พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณฺโณ
หนังสือน้อมสู่ใจ เล่ม ๑

ถ้าใจเผลอก็ให้รู้ว่าใจเผลอ




ต้องมีสติอยู่ตลอด 
ถ้าใจเผลอก็ให้รู้ว่าใจเผลอ 
ใจมีสติก็ให้รู้ว่าใจมีสติ
ใครที่กำหนดจิตที่เผลอได้บ่อยๆ 
ความเผลอมันจะสั้นลง
เคยเผลอยาว มันก็จะสั้นลง สั้นลง...
จนกระทั่งจะเผลอปุ๊บ ก็รู้ทันที

พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี

โง่อย่างนักปราชญ์ ฉลาดอย่างคนโง่



โง่ก็โง่อย่างนักปราชญ์ 
หากฉลาดก็จะฉลาดอย่างคนโง่ เข้าใจไหม ?
โง่อย่างนักปราชญ์คือยังไงล่ะ ?
นักปราชญ์ท่านศึกษาของจริงในจิตนี้
ฉลาดอย่างคนโง่ ก็คือรู้หมดสารพัด รู้ตามตำราผูกนั้นผูกนี้ 
นั่นล่ะ ฉลาดอย่างคนโง่ 
โง่อย่างนักปราชญ์ ฉลาดอย่างคนโง่ 
เราจะเอาอย่างไหน ?

หลวงปู่แบน ธนากโร

ไม่มีใครเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นแก่นศาสนา



...ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครแก่ ไม่มีใครเจ็บ ไม่มีใครตาย 
นั่นแหละเป็นแก่นศาสนา 
เป็นแก่นไม้สัก ไม้ยาง เป็นแก่นไม้ประดู่ลาย 
เราจะไปเอากระพี้หรือเปลือก ใบ เป็นศาสนา 
เอาใบลานเป็นศาสนา เอากระดาษเป็นศาสนา ถูกเหมือนกัน แต่มันถูกแต่ชื่อ
ถ้าถูกโดยว่าหมดอาสวะได้ ต้องถึงจิตถึงใจนั่นเอง 
จิตเป็นผู้ถึงธรรม ถึงมนุสสธรรม ถึงเทวธรรม ถึงพรหมธรรม ถึงโลกุตตรธรรม 
ถึงอริยมรรค ๔ ถึงอริยผล ๔ ถึงด้วยจิต ...

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

คนจะทำฌานได้ จิตต้องละความโกรธให้ได้



          ต้องพยายามเจริญเมตตาภาวนาให้จิตมันเย็นเรื่อยๆ เวลาทำฌานจะเป็นเรื่องง่ายมาก บางคนทำไม่ได้จริงๆ เพราะจิตมันร้อน เพราะฉะนั้นคนจะทำฌานได้ จิตมันต้องละความโกรธให้ได้ เอาความโกรธไปนั่งทำฌาน ก็ไปไม่ได้ เอาความพยาบาทไปนั่งทำฌาน ก็ไปไม่ได้ เพราะมันเป็นนิวรณ์ ตัวนี้เป็นเครื่องกั้นคุณธรรมชั้นสูงเลย...

                                                                                          พระอาจารย์สมชาติ ธมฺมโชโต

รู้เวทนาโดยไม่ปรุงแต่งมีอานิสงส์สูง



          ...การมีสติระลึกรู้ถึงความไม่เที่ยงของเวทนาทั้งหลายในกาย โดยไม่ปรุงแต่งตอบโต้ แม้ในชั่วขณะสั้นๆ ที่ดีดนิ้วเพียงครั้งเดียว ก็มีอานิสงส์สูงยิ่ง ...

                                                                ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า
                                                                 จากหนังสือ ศิลปะในการดำเนินชีวิต 

ทำตัวเองให้มีคุณธรรม คือทำให้โลกสงบ



การสำรวจตรวจตรา ตำหนิติเตียนความผิดของตัวเอง 
ใช่ว่าจะเป็นประโยชน์ เป็นความสุขสำหรับคนอื่นเท่านั้น
หามิได้ แต่เป็นการทำความสงบสุขให้กับตัวเองด้วย 
การปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา 
เริ่มจากตัวเราเป็นอันดับแรก
เมื่อทุกคนทำตัวเองให้มีคุณธรรมแล้ว 
ก็เท่ากับว่าทำโลกทั้งโลกให้สงบไปด้วย

หลวงปู่จันทร์ กุสโล

สุขทางโลก ซ้อนด้วยทุกข์



          พระพุทธเจ้าสอนว่า “นตฺถิ สนฺติปรมํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” หมายความว่า ความสุขอื่นมี เช่น ความสุขในการดูละคร ดูหนัง ในการเข้าสังคม Social ในการมีคู่รักคู่ครอง หรือในการมีลาภยศ ได้รับความสุข สรรเสริญ และได้รับความสุขจากสิ่งเหล่านี้ ก็สุขจริง แต่ว่าสุขเหล่านี้มีทุกข์ซ้อนอยู่ทุกอย่าง ต้องคอยปรับปรุงกันอยู่เสมอ ไม่เหมือนกับความสุขที่เกิดจากสันติ ความสงบ ซึ่งเป็นความสุขที่เยือกเย็นและไม่ซ้อนด้วยทุกข์ และไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงตกแต่งมาก เป็นความสุขที่ทำได้ง่ายๆ เกิดกับกายใจของเรานี่เอง อยู่ในที่เงียบๆ คนเดียวก็ทำได้ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมสังคมก็ทำได้ ถ้าเรารู้จักแยก ใจ หาสันติสุข กายนี้ก็เพียงสักแต่ว่า อยู่ในที่ระคนด้วยความยุ่ง สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นไม่ยุ่งมาถึงใจ

                                                                                    ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต

เห็นผีภายใน ได้หนทาง




ยามมีลม ชวนกันชม ว่ารูปสวย 
ทั้งร่ำรวย เครื่องประดับ และทรัพย์สิน
พอสิ้นลม หมดลวดลาย กลายเป็นดิน 
หมดทรัพย์สิน หมดญาติมิตร เคยติดพัน
จิตก็รู้ ใจก็รู้ ดูไม่เห็น 
ยังตื่นเต้น หลงใหล อยู่ในขันธ์...
ด้วยอำนาจ ความเห็นผิด จิตผูกพัน 
เพราะร่างขันธ์ ภายนอก หลอกคนเป็น
ผีภายนอก ไม่เห็นตัว กลัวกันมาก 
อสุภซาก อยู่ภายใน ไม่ใคร่เห็น
ทั้งผีสาง อยู่ในร่าง ของคนเป็น 
ถ้าใครเห็น จะประสบ พบหนทาง
พระบรมครู ให้พิจารณา ดูในกาย 
เพื่อทำลาย ความเห็นผิด จิตสว่าง
รีบกำจัด ตัวกามฉันท์ เครื่องกั้นกาง 
พบหนทาง ภายในตน ทุกคนเอย

หลวงปู่เปลื้อง ปัญญาวันโต

การเห็นจิตของเรานี่แหละดี



การเห็นจิตของเรานี่แหละ ดี 
มันคิดดี คิดชั่ว คิดหยาบ คิดละเอียด ก็รู้
ดูจนกระทั่งมันวางลง
ถ้าเห็นอยู่เสมอๆ แล้ว ก็วางหมด

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

บัณฑิตสละสมบัติในโลกเพื่อแลกอริยทรัพย์



บัณฑิตสละสมบัติในโลกเพื่อแลกอริยทรัพย์
สละความยึดมั่นเพื่อแลกอิสะเสรีทางจิต
เมื่อมองด้วยตาปัญญาแล้ว 
สมบัติในโลกไม่มีอันใดควรอาลัย
โลกนี้เป็นทุกข์ นิพพานเป็นสุข
แผนที่มีอยู่แล้ว ให้เร่งเดินทาง

พระอาจารย์ชุมพล พลปญฺโญ
หนังสือพุดตานกถา

จุดมุ่งหมายของการสวดมนต์ คือทำใจให้มีที่อยู่อาศัย



          จุดมุ่งหมายของการสวดมนต์ คือทำใจของเราให้มีที่อยู่ที่อาศัย ถ้ามันติดบทสวดมนต์ มันก็เอาบทสวดมนต์นั่นแหละเป็นที่อยู่ของมัน บางทีมีอารมณ์ขุ่นเคืองก็วิ่งเข้าไปสวดมนต์ ก็สบายใจไป คนเราที่ทุกข์ใจอยู่ไม่หยุดยั้งเพราะใจไม่มีที่พึ่ง ถ้ามีบทสวดมนต์เป็นที่พึ่ง เวลาทุกข์มันจะไปสวดมนต์ของมันเอง แล้วมันก็ลืมทุกข์ลืมยากไปได้

                                                                                                   หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

แสวงหาความสงบใจด้วยอภัยทาน




ผู้มีสติปัญญา...ย่อมหาความสงบสุขแก่ใจ ด้วยอภัยทาน

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

ขอให้ถือศีล ๑



          “คนเราจะถือศีล ๘ นั้น ไม่ค่อยจำเป็นนัก แต่ขอให้ถือศีล ๑ ก็แล้วกัน รู้จักไหม ศีล ๑

          “เป็นยังไงท่านพ่อ”

          “ศีล ๑ ก็คือ การไม่ทำชั่วนั่นแหละ ยึดข้อนี้ไว้ให้มั่น”

                                                                                             ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก

คนส่วนใหญ่ไม่ยอมสละกิเลส



          คนส่วนมากขยันหมั่นเพียร ในเรื่องการทำมาหากิน ยอมเสียสละแทบทุกอย่าง เพื่อความเจริญทางโลก แต่แทบจะไม่ยอมเสียสละกิเลสแม้แต่นิดเดียว

                                                                                            พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

อิทธิบาท คือ มีอิทธิฤทธิ์



          คนที่มีอิทธิบาททั้งสี่ประจำอยู่ในจิต ไม่ว่าจะทำการงานชนิดใด หยาบละเอียด ยากง่ายขนาดไหน คนนั้นจะทำสำเร็จไปได้ ท่านจึงว่า อิทธิบาท คือ มีอิทธิฤทธิ์ สามารถที่จะทำสิ่งที่ตนปรารถนาให้สำเร็จไปได้ตามความต้องการ คนที่ปฏิบัติไม่เห็นไม่เป็น ทำอะไรไม่สำเร็จลุล่วงไป ก็เพราะใจขาดอิทธิบาท ถ้ามีอิทธิบาททั้งสี่อยู่ในจิตในใจคนใดแล้ว ไม่ว่าฝ่ายโลก ไม่ว่าฝ่ายธรรม เขาคนนั้นทำอะไรจะต้องสำเร็จตามความประสงค์ของเขา

                                                                                        พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

ใจของเราเป็นนักท่องเที่ยว



การปฏิบัติธรรมมีสิ้นสุด รู้แจ้งเห็นจริง
ปล่อยวางที่ใจ หลุดพ้นที่ใจ ใจของเราเป็นนักท่องเที่ยว
วนเวียน เวียนเกิดเวียนตายในวัฏสงสาร ไม่มีที่สิ้นสุด 
ลุ่มๆ ดอนๆ สูงๆ ต่ำๆ วกวนเวียน พลิกคว่ำพลิกหงาย
พวกเราพิจารณาให้ดี ไม่เบื่อบ้างหรือ
เราจะอยู่อย่างนั้นไปถึงเท่าไร
เราจะทำยังไงให้ใจของเราสั้นเข้า 
คือให้รู้เห็นตามความเป็นจริง 
สลัดกิเลสออกจากจิตใจ เป็นพระอรหันต์แล้วก็จบ
ไม่มาเวียนว่ายตายเกิดเป็นอนันตกาล

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก

เมื่อเขาเห็นของจริง เขาจะทิ้งของปลอม



พอเกิดอะไรขึ้น ไม่ต้องไปทิ้งมัน ดูๆ มันไป
พอถึงเวลา เขาจะทิ้งของเขาเอง
ท่านทั้งหลายไม่ต้องกลัวว่าเขาจะไม่ทิ้งท่านทั้งหลาย
เมื่อเขาเห็นของจริง เขาจะทิ้งของปลอม

‎หลวงพ่อวิชัย‬ เขมิโย

การปรารถนาในภพต่อๆ ไป...



การปรารถนาในภพต่อๆ ไปตั้งล้านๆ ขณะจิต
ไม่เท่าขณะจิตเดียวที่หวังพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

ให้วางใจเป็นกลางต่อสุขและทุกข์




แม้เรา จะรักความสุขมากมายเพียงใด 
ความสุขก็หาได้รักเราไม่
วันดีคืนดีความสุขก็จากเราไป 
ถึงจะกลับมาใหม่ ก็อยู่กับเราประเดี๋ยวประด๋าว
ส่วนความทุกข์นั้น แม้เราจะเกลียดเพียงใด 
แต่มันก็มักจะมาหาเราอยู่เสมอ......
ลองวางใจเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ดูบ้าง 
สุขมาก็ไม่ยินดี ทุกข์มาก็ไม่ยินร้าย...
ถ้าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นกับใจ ไม่ว่าบวกหรือลบ 
ก็แค่รับรู้เฉย ๆ ด้วยใจเป็นกลาง 
ดีใจก็รู้ว่าดีใจ ไม่ไขว่คว้าคลอเคลีย 
เสียใจก็รู้ว่าเสียใจ ไม่ปฏิเสธผลักไส 
ถือว่าต่างคนต่างอยู่
ไม่นานก็จะพบว่า พอไม่รักสุข สุขกลับมา 
พอไม่เกลียดทุกข์ ทุกข์กลับลาจาก

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

สติเป็นของสำคัญมากในทางความเพียร





สติเป็นของสำคัญมากในทางความเพียร
ถ้าขาดสติวรรคใดตอนใด 
เรียกว่าขาดความเพียรแล้ว
เดินจงกรมอยู่ก็ไม่มีความหมาย 
นั่งสมาธิอยู่ก็ไม่มีความหมาย

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

อย่าเอาจิตมาทุกข์สุขกับการทำงาน



ทำงานด้วยสตินะ
อย่าเอาจิตลงมาลุย อย่าเอาลงมาทุกข์มาสุขด้วย
ทำใจให้ถึงด้วยสติพร้อม งานจะสมบูรณ์แบบ

พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ

ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม...



ความหลง...
เป็นคุณสมบัติของปุถุชน
ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
เป็นคุณสมบัติของพุทธภาวะ

ปรมาจารย์ตั๊กม้อ