ทุกข์ให้กำหนดรู้



         ทุกข์เมื่อเกิดขึ้นมาให้กำหนดรู้ว่า อนิจจาไม่แน่นะ ไม่ใช่ละทุกข์นะ ละไม่ได้ง่ายๆ ถ้าหากรู้แล้ว เห็นโทษ เห็นภัยมันแล้ว มันจะละเองวางเอง ให้กำหนดรู้ไว้ มันจะละเอง

                                                                                              หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ

การปฏิบัติธรรม อย่าได้อยากเห็นอยากเป็น




          การปฏิบัติธรรม อย่าได้อยากเห็น อยากเป็นใดๆ เลย ให้รู้มันอยู่อย่างเดียว มีอะไรก็ช่าง รู้อยู่อย่างเดียว ถ้าอยากก็ไม่ไปไหน เป็นสมาธิอยู่ก็หลุดจากสมาธิ เราปฏิบัติเพื่อความปล่อยวาง เพื่อละความยึดมั่นต่างๆ เพื่อละความยินดียินร้าย เราเป็นผู้ดู ไม่ใช่ผู้บังคับให้มันเป็น

                                                                                       หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

พัฒนาจิตหรือพัฒนาหายนะของจิต



ถึงจะขี้เกียจ ก็ให้พยายามปฏิบัติไป
ขยันก็ให้ปฏิบัติไป ทุกเวลาและทุกหนทุกแห่ง
นี่จึงเรียกว่า การพัฒนาจิต ถ้าหากว่า
ปฏิบัติตามความคิดความเห็นของตนเองแล้ว
ก็จะเกิดความคิดไปความสงสัยไปมากมาย
มันจะพาให้คิดไปว่า เราไม่มีบุญ เราไม่มีวาสนา
ปฏิบัติธรรมก็นานนักหนาแล้ว ยังไม่รู้ ยังไม่เห็นธรรมเลยซักที
การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ไม่เรียกว่าเป็นการพัฒนาจิต
แต่เป็น การพัฒนาหายนะของจิต....

หลวงปู่ชา สุภัทโท

ปล่อยวางกับปล่อยปละละเลย



           ผู้คนมักเข้าใจว่า ปล่อยวางหมายถึงวางเฉย หรือปล่อยปละละเลย  นี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกิดจากความสับสนระหว่าง “ทำจิต” กับ “ทำกิจ”  ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิต  มุ่งแก้ความทุกข์ทางใจ   แต่คนเราไม่ได้มีแต่ความทุกข์ทางใจ เรายังมีความทุกข์ทางกาย ตลอดจนปัญหาอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัว  ซึ่งต้องอาศัยการทำกิจควบคู่กับการทำจิต   เช่น ถ้ารถเสียหรือหลังคารั่วก็ต้องซ่อม ขณะเดียวกันก็ควรรักษาใจไม่ให้ทุกข์  ตรงนี้แหละที่การทำจิตเข้ามามีบทบาท   แต่ถ้ารถเสียหรือหลังคารั่วแล้วไม่ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่ยังต้องใช้มันอยู่และอยู่ในวิสัยที่ซ่อมได้  อย่างนี้แหละเรียกว่า วางเฉย หรือปล่อยปละละเลย  ไม่ใช่ปล่อยวาง

                                                                                                 พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

สมาธิ สำคัญที่รู้ปัจจุบัน



          เวลาทำสมาธิ ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก ให้รู้ลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องบังคับลมหายใจ ตามรู้ลมหายใจเข้าออก สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น

                                                                                                        คุณแม่จันดี โลหิตดี

วัตถุมงคลเป็นเพียงวัตถุ


          วัตถุมงคลก็เป็นเพียงวัตถุเท่านั้น ของจริงก็คือ พระสัจจธรรมทั้งปวง มีวัตถุมงคลแล้วไม่ทำตัวให้ดีไม่ทำใจให้เป็นกุศล ก็หวังอะไรไม่ได้สักอย่าง มีวัตถุมงคลแล้วต้องทำความดีด้วย จึงจะเกิดผลต่างๆเป็นนานาประการ หากหวังพึ่งวัตถุมงคลอย่างเดียวโดยไม่สร้างบุญกุศลย่อมไม่ได้อะไรขึ้นมา

                                                                                                   หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

การปฏิบัติธรรมสูงสุดคือการไม่ยึดมั่น



การปฏิบัติธรรมสูงสุดคือการไม่ยึดมั่น 
และเข้าสู่สภาวะความว่างเปล่า

พระอาจารย์สมชาติ ธมฺมโชโต

อนัตตามีอยู่ แต่ไม่มีสาระ



สุขก็ไม่ใช่ของใคร
มันเกิดขึ้นมาประเดียวประด๋าวแล้วมันก็หายไป
เดี๋ยวทุกข์อื่นเกิดขึ้นมาอีกแล้วมันก็หายไป
ไม่ใช่ของใครทั้งหมด
มันเป็นของประจำกายอยู่อย่างนั้น จึ่งว่าเป็นอนัตตา
อนัตตาไม่ใช่ของไม่มีอยู่
อนัตตาเป็นของมีอยู่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้แหละ 
แต่เป็นของไม่มีสาระ

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

วิธีปฏิบัติให้ก้าวหน้า



ถาม : การปฏิบัติของเราไม่ก้าวหน้าเลย ?

ตอบ : ก็มัวแต่กังวลแล้วจะก้าวหน้าได้อย่างไรเล่า วิธีที่ดีที่สุดคืออยู่กับปัจจุบัน อย่าไปคิดฟุ้งซ่านกับเรื่องเก่า คนอื่นเขาจะทำอย่างไรกับเรา ไม่ต้องไปคิด ที่ผ่านมาแล้วช่างมัน ยังมาไม่ถึงช่างมัน อยู่กับลมหายใจเข้าออกในปัจจุบัน ถ้ารักษาอารมณ์นี้ได้ความก้าวหน้าจะมี ถ้าหลุดจากตรงนี้เมื่อไรจะเริ่มทุกข์ ความก้าวหน้าจะหาไม่ได้อีกต่างหาก

ถาม : เวลาอยู่คนเดียวไม่มีอะไรให้ยึด ?

ตอบ : นึกถึง พระพุทธเจ้า ที่ไหนก็ได้สักองค์หนึ่งที่เราเคารพมากที่สุด บารมีพระครอบคลุมอยู่ทุกอณูในจักรวาลนี้ เพียงแต่เราระลึกถึงท่านหรือเปล่า ? ถ้าเราระลึกถึงท่าน ท่านก็อยู่ในจิตในใจเรา พร้อมที่จะสนับสนุนช่วยเหลือเรา ต่อให้เรารู้หรือไม่รู้ก็ตาม ขอให้เราเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นแล้วยึดท่านเป็นที่พึ่ง

สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
ณ บ้านวิริยบารมี ต้นเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๖

สิ่งที่รักมาก เป็นศัตรูมาก


สิ่งใดที่เรารักมาก ก็เป็นศัตรูแก่เรามาก
สิ่งใดที่เรารักน้อย ก็เป็นศัตรูแก่เราน้อย
สิ่งใดที่เราไม่รักเลย ก็เฉย

 ท่านพ่อลี ธัมมธโร

อารมณ์ไม่ใช่จิต



          ...สุขทุกข์เป็นเรื่องอารมณ์ภายในใจ ยังไม่ใช่จิต เป็นอารมณ์เกิดดับได้ คนไม่เข้าใจไปเข้าใจจิตคืออารมณ์ อารมณ์คือจิต เปรียบเหมือนแก้วน้ำใส ใส่อะไรลงไปแก้วน้ำก็เป็นอย่างนั้น เทออกก็เป็นแก้วน้ำอย่างเดิม จิตเราก็เหมือนกัน

                                                                                              พระอาจารย์สมชาติ ธมฺมโชโต

เป็นมนุษย์สุดดีอยู่ที่จิต



เป็นมนุษย์สุดดีอยู่ที่จิต
ทำพูดคิดในแนวธรรมพระพร่ำสอน 
จะดีอื่นหมื่นแสนยังแคลนคลอน 
ดีแน่นอนที่ดวงจิตปิดอบาย 

พระอาจารย์สมชาติ ธมฺมโชโต

รู้ที่เกิดจากจิต คือ รู้จริง



รู้ที่เกิดจากจิต คือ รู้จริง
รู้ที่เกิดจากสมอง คือ รู้หลอก
พุทโธ คือ ยาชลอความหลง

ผู้ใดหมั่นพิจารณาจิต ผู้นั้นจะพบธรรมแท้ 
สุขแท้ นั่นคือ ที่สุดของผู้หยุดวัฏฏะ..

คุณแม่จันดี โลหิตดี 




กาลเวลาให้โอกาสแก่เราเสมอ



กาลเวลาให้โอกาสแก่เราเสมอ 
ความผิดพลาดบางอย่าง
อาจเป็นโอกาสที่ดีกว่าของชีวิตได้
...อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ...

หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป 

“การเอาใจ” ไม่ใช่ “กตัญญูกตเวที”



“การเอาใจ” ไม่ใช่ “กตัญญูกตเวที” 

“การเอาใจ” นั้นเป็นไปได้ทั้งทาง “ที่ควรและไม่ควร” 
แต่การแสดง “กตัญญูกตเวที” นั้น เป็นไปได้ใน “ทางดีทางเดียว” 

ผู้มีพระคุณทำไมดีไม่ชอบ จะแสดงกตัญญูกตเวที 
ต้องช่วยวิธีใดก็ตามเพื่อให้เลิกทำเช่นนั้น 

ไม่จำเป็นจะต้องให้ถูกใจอย่างเดียว จะขัดใจบ้างหรือแม้จะขัดใจอย่างยิ่งก็ควรทำ 
หากด้วยการทำเช่นนั้นจะสามารถช่วยให้ผู้มีพระคุณหยุดทำไม่ดี หันมาทำดีได้ 

ไม่มีการตอบแทนพระคุณใดจะงดงามเท่า 
การช่วยให้ท่านมีโอกาส “ได้ทำดีทำชอบ” ... 

การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ 
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ผู้มีปัญญาไม่สนใจสุขของโลก



สุขในโลกนี้มันมีเกิดดับ
เป็นสุขอันมีประมาณน้อยนิดเดียว ไม่คงทนไม่ถาวร
ท่านผู้มีปัญญา
ท่านไม่ประมาทแม้แต่ประการใด ๆ
ท่านไม่สนใจสุขของโลก
แต่...ท่านใส่ใจในสุขอันดีมีคุณค่ามากกว่านั้น
คือ...เป็นสุขที่พ้นไปได้จากเกิด - แก่ - เจ็บ - ตาย

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

ภัยที่ร้ายกาจที่สุดคือ รัก



          ภัยที่ร้ายกาจที่สุดคือ รัก เมื่อไม่มีรัก ความลำเอียงก็ไม่เกิดขึ้น ความเป็นธรรมที่ทุกคนใฝ่หาจะเบ่งบานแทนไฟแห่งภัยร้าย คือ รัก 

                                                                                                      คุณแม่จันดี โลหิตดี 

สมาธิต้องเป็นปัญญา จึงจะนิพพาน



ผู้ที่เป็นสมาธิ
ถ้าไม่ออกพิจารณาทางด้านปัญญา 
จะเป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นตลอดไป
จนกระทั่งวันตาย 
ก็หาเป็นนิพพานได้ไม่

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ความสงบไม่มีสุขไม่มีทุกข์



          ความสงบนั้น .. "สุขก็ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี" ตามความเป็นจริงแล้ว เลิกสิ่งทั้งสองอย่างนี้ ก็เป็น "ความสงบ"

                                                                                                       หลวงปู่ชา สุภัทโท

อย่าทิ้งโอกาสของการปฏิบัติธรรม



การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก 
หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไป เราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้ 
แล้วจะต้องหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน 
เพื่อจะได้พบธรรมอันเดียวกันนี้

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ผู้ที่ภาวนาได้ยาก...



ผู้ที่ภาวนาได้ยาก
เพราะมองออกแต่ข้างนอก
ไม่ดูใจตัวเอง จิตจึงไม่สงบ

คุณแม่จันดี  โลหิตดี

อย่าพึ่งความสงบภายนอก



ถ้าเราเอาใจไปพึ่งความสงบของสิ่งแวดล้อม
เช่น...ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่อึกทึก 
ไม่มีเสียงดัง ใจฉันจึงจะสงบได้ 
ความสงบแบบนี้ จะไม่ยั่งยืนเลย
เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัว 
ใช่จะสงบเงียบไปได้ตลอด 
แม้แต่อยู่ในป่า ก็ยังมีเสียงรบกวน

พระไพศาล วิสาโล

ให้พยายามแยกจิตออกจากกาย



สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้
ไม่มีล่วงพ้นความแก่ ความเจ็บ ความตายไปได้
เราต้องหัดพิจารณา มีสติ มีปัญญาพิจารณา
ให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริง
ของร่างกายของเรานี้
พยายามแยกจิตออกจากร่างกายนี้ 
เพราะร่างกายนี้ ไม่ใช่จิตนี้หรอก
จิตนี้ก็ไม่ใช่ร่างกายนี้

พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตโต

เมื่อร่างกายนี้ เขาตายจากเรา...



...เมื่อร่างกายนี้ เขาตายจากเรา แล้วทำไมเราไม่ตายจากร่างกายบ้าง...

พระอาจารย์สมชาติ ธมฺมโชโต

จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรม



          การปฏิบัติธรรมนั้นมิใช่การปฏิบัติเพื่อได้อะไรมันเป็นไปเพื่อความออกจากทุกข์ใจต่างหาก เป็นเรื่องตนเห็นจิตตนซึ่งภาษาธรรมเรียกว่า "ปัจจัตตัง"

          1.อยู่กับกิเลสได้โดยใจไม่เป็นทาสของกิเลส
          2.อยู่กับทุกข์กาย โดยไม่ทุกข์ใจ
          3.อยู่กับงานวุ่นโดยใจไม่วุ่น
          4.อยู่กับการรีบด้วยใจสบาย
          5.อยู่กับความสมหวังและความผิดหวังได้โดยใจไม่ทุกข์อีกต่อไป
          6.อยู่กับโลกได้ด้วยใจเป็นธรรม กายส่วนกายใจส่วนใจแต่อาศัยกันอยู่เท่านั้นเอง
          7.อยู่กับหน้าที่โดยไม่ยึดหน้าที่ เพียงแต่จะทำหน้าที่นั้น ให้ดีที่สุดเท่าที่ตนจะทำได้ในขณะปัจจุบัน นั้นเท่านั้นเอง ที่ทำไม่ได้ก็ปล่อยไป

                                                                                       หลวงตาม้า (วรงคต) วิริยธโร

วิธีทำจิตให้ว่างจากกาย



          ถึงแม้จิตจะยังอาศัยอยู่ในกาย แต่จิตไม่หลงรักว่ากายเป็นอันเดียวกับจิต อย่าเอาจิตไปนึกว่ามันมี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ปล่อยไปเพียงแต่ผ่านมาผ่านไปเท่านั้น ถ้าทรงอารมณ์อยู่จิตไม่สนใจขันธ์ ๕ ของใคร วางเฉยไม่ทุกข์ร้อน ทำงานทุกอย่างตามหน้าที่ อารมณ์เฉยเป็นเอกัคตารมณ์ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีสำหรับเรา เราไม่มีสำหรับกาย จิตจะสะอาดเบิกบานผ่องใสพ้นจากความยึดมั่นในของปลอมของทุกข์ ของร้อน พระท่านเรียกว่า จิตของพระอรหันต์

          วิธีทำจิตให้ว่างจากกายเรากายเขาแบบนี้ เป็นวิธีลัดแบบง่าย มีแต่พรหมวิหาร ๔ ไม่ยึดถืออารมณ์ใดๆ มาไว้ในจิต มีความจำได้หมายรู้ก็เหมือนไม่มีความจำ เพราะความจำอยู่ได้ไม่นานไม่ช้าก็ลืม ประสาทสมองลืมง่าย ความคิดความจำ ความฟุ้งซ่าน วิตกกังวลเป็นเรื่องของกายให้สลัดทิ้ง ให้จิตเต็มไปด้วยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จิตจะเบาบริสุทธิ์สะอาด จิตอันนี้เราจะตามรอยพระพุทธบาทเมื่อกายพังแตกสลาย ผู้เพียรทำจิตให้ว่างจากร่างกาย หรืออารมณ์ต่าง ๆแบบนี้ เป็นแบบของพระอริยเจ้า เป็นสมาธิเป็นวิปัสสนาญาณอยู่ด้วยกัน ทำได้ทุกเวลา ทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ทำได้ทั้งที่อยู่คนเดียวและอยู่แบบหมู่คณะ เป็นทางหลุดพ้นทุกข์ได้อย่างแน่นอน เป็นทางลัดตรงไปสู่จุดหมายปลายทางคือ พระนิพพาน

                                                                                              หลวงปู่ดาบส สุมโน

จงมอง "ตนเอง" เพื่อแก้ไข...



...จงมอง "ตนเอง" เพื่อแก้ไข 
...และ มอง "คนอื่น" เพื่อให้อภัย
...จะอยู่สุขใจ และเป็นอิสระ..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร

ปล่อยวาง จิตก็มีความสุข




          เมื่อจิตใจไม่คิดมากไปหลายเรื่องหลายราว แล้วจิตก็จะมีความสุขเกิดขึ้น เหมือนกับบุคคลนี่แหละ ถ้าไม่ถือสิ่งของหลายอย่าง ถือแต่ของเบาๆ ก็เดินไปสบาย หรือปล่อยวางหมดเดินแต่ตัวเปล่าๆ ไป

                                                                                          หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

วิธีสลายความโกรธ



เมื่อความโกรธเกิดขึ้น
เรากลั้นลมหายใจเสีย ความโกรธนั้นก็หายไป
แล้วจะเหลือแต่ใจเดิม คือความรู้สึกเฉยๆ
อย่าลืม ทำบ่อยๆ ก็เห็นใจเดิม
แล้วความโกรธก็ค่อยๆ หายไป

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

มีเราก็มีอวิชชา



..อะไรเป็นปัจจัยของอวิชชา เรานั่นแหละเป็นปัจจัยของอวิชชา 
อะไรเป็นปัจจัยของเรา อวิชชานั่นแหละเป็นปัจจัยของเรา 
ถ้ามีอวิชชาก็มีเรา ถ้ามีเราก็มีอวิชชา..

พระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) 

สมาธิคือ ทำจิตให้มีสิ่งรู้


          การทำสมาธิ หลักโดยทั่วไปก็คือ ทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก จิตรู้อะไรก็ให้มีสติ บริกรรมภาวนาก็ให้มีสติ จะพิจารณาก็ให้มีสติ ทีนี้ในขณะใดจิตต้องการจะสงบนิ่งว่าง ก็ปล่อยให้ว่าง ขณะใดจิต ต้องการคิด ปล่อยให้คิด แต่ให้มีสติตามรู้ไป....สรุปลงแล้ว แผนของการปฏิบัติสมาธิอยู่ตลอดเวลาโดยไม่เลือกกาลเวลา ให้ถือเอาการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์จิต ให้มีสติรู้ พร้อมอยู่ทุกขณะจิตทุกลมหายใจ จะไปเอาเฉพาะเวลานั่งหลับตามันไม่ เพียงพอ เวลามันน้อย   ดังนั้นถ้าหากว่าเราฝึกสติให้มันรู้พร้อมอยู่ที่การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เราจะได้สมาธิ ได้พลัง สติสนับสนุนจิตอันเป็นเรื่องชีวิตประจำวันได้ตลอดกาล

                                                                                               หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

นักปฏิบัติสมัยนี้ ไม่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า



          นักปฏิบัติสมัยนี้ ไม่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า (ว่าการปฏิบัติต้องมีขั้นมีตอน และต้องครบถ้วนทั้งศีล สมาธิ และปัญญา) จะเอาแต่ปัญญา ๆ ท่านอัญญาโกณทัญญะท่านฟังธรรม บรรลุธรรม ก็เพราะท่านมีทุนเดิมคือศีล สมาธิ ที่มากพอแล้ว ไม่ใช่ไม่มี หรือไม่ต้องใช้

                                                                                         หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร

เห็นอนิจจัง ได้โสดา...



          เห็นอนิจจัง ได้โสดา เห็นทุกขังอ่อนๆ ได้สกิทาคา เห็นทุกขังชัดได้อนาคา เห็นอนัตตาได้อรหันต์ คือหมดอนิจจัง ทุกขัง

                                                                                               หลวงปู่จันทร์ สิริจนฺโท

สมาธิคือทำจิตให้สงบจากอารมณ์


สมาธิก็คือการทำใจให้สงบ สงบจากอะไร 
สงบจากอารมณ์ เครื่องก่อกวนทั้งหลาย 
เมื่อไม่มีอะไรมารบกวน ถ้าเป็นน้ำก็จะ
ใสสะอาดดุจน้ำฝน ที่ตกลงมาจาก
ท้องฟ้า ยังไม่มีอารมณ์ภายนอกมา
รบกวน ก็จะเป็นจิตที่ใสสะอาด
หมดจด แต่ขณะนี้จิตของเราถูก
กิเลสหรืออารมณ์ภายนอกเล่นงาน
แทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว.......
การทำจิตให้ปราศจากอารมณ์
ภายนอกนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร...
แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่เราจะทำได้

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

เห็นนิมิต ไม่ใช่บรรลุธรรม



พวกที่ภาวนาแล้วเห็นภาพนิมิตต่างๆ มาปรากฏ 
ก็พากันเข้าใจไปว่าตนได้ญาณบรรลุมรรคผล
ทำให้เกิดความหลงงมงาย
ผลที่สุดก็เสื่อมไป โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากธรรมะเลย

หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ

ควรตั้งสติ มองดูจิตตนตลอดเวลา



            ควรจะต้องตั้งสติ มองดูจิตของตนตลอดเวลา ไม่เลือกกาล ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกหนาว เลือกร้อน เลือกฝนตก เลือกแดดออก เลือกสบาย หรือเลือกป๋วยไข้ ต้องเป็นผู้มีสติอยู่ทุกเวลา ทุกสถานที่ และทุกอิริยาบถ

                                                                                              หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

เห็นธรรม เห็นอย่างไร



         เห็นธรรม คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนันตา ทำอย่างไรเราจะพ้นจากกองทุกข์ เห็นว่าของทุกอย่างไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา แม้ร่างกายที่อยู่ร่วมกันก็ไม่ใช่เราเลย มันอยากเจ็บ มันก็เจ็บ มันอยากแก่ มันก็แก่ มันอยากตาย มันก็ตาย ห้ามมันไม่ฟัง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นไม่กลัวตาย ตายเมื่อไรช่างมัน ทำความดี..ดีกว่า

                                                                                                หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

ให้ปล่อยทั้งชอบ-ไม่ชอบ



ท่านให้ปล่อยทั้งชอบ และไม่ชอบ
อย่าไปเกี่ยวข้องกับมัน
แต่ให้รู้มัน 
"มีสติอยู่-สงบอยู่"
เท่านี้แหละ

หลวงปู่ชา สุภัทโท

เอาสติอยู่กับตัว...



เอาสติอยู่กับตัว รู้ก็สักแต่รู้ เห็นก็สักแต่เห็น ทำเพียงเท่านี้ก็ไปนิพพานได้


หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต

ทำบุญ ให้บอกบุญ


          ทำบุญด้วยตนเอง สร้างด้วยตนเอง ไม่บอกให้ใครรู้ เราได้บุญโขก็จริง แต่ไร้ข้าบริวารเพื่อนมิตร อยู่แต่ตนเอง อย่างคนปัจจุบัน เวลาทำบุญไม่ยอมบอกใคร อยู่ด้วยตนเองไม่มีเพื่อน ถ้าหากเราอยากทำเองจริงหมด ให้ประกาศนะว่า พี่น้องทั้งหลายทุกคนจงโมทนาในบุญข้าเจ้าด้วยนะ ใครอยากทำไรเสริมร่วมกะข้าเจ้าก็ทำ ในที่สุดมาก็ขอโมทนาด้วยกันนะ เราก็เป็นใหญ่มีบริวารมากมายเยี่ยงต๋าป๊ะอิน (พระอินทร์) พูดไหนก็ได้นั่น หากเขาไม่ทำไม่เป็นไร เราบอกเขาแล้ว อานิสงส์มันเกิดแล้วเน้อ

                                                                                      หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา

ใจที่มีความสุขเป็นฉันใด



ใจไม่นึก ใจไม่ถือ ใจวางเสียนั้นแหละ เรียกว่า ได้รับความสุขกายสบายใจ

หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป

มีธรรมแล้วจะเห็นโทษของสุข



มีธรรมแล้วจะเห็นโทษของสุข
เห็นคุณประโยชน์ของทุกข์

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

อย่าขี้เกียจภาวนา



          ขอให้ "ภาวนา" อย่าได้ขี้เกียจภาวนา" ภาวนาจนจิตสงบ จิตรวมลงเหมือนเส้นด้ายพุ่งเข้ารูเข็มให้ได้เสียก่อน แล้วจึงหมุนสู่ขั้นปัญญา สมาธิก็เหมือนการรวบรวมทรัพย์ เมื่อมีมากจนเพียงพอแล้ว ก็เอาทรัพย์ออกไปใช้ คือ เอาปัญญาออกไปฆ่ากิเลส เข้าใจมั้ย...

                                                                                         หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร

ความสงสัยในการปฏิบัติธรรม หายได้ด้วยการปฏิบัติของตน



          บางคนมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับการปฏิบัติ เพียรถามคนนั้นคนนี้ตรงนี้ ท่านอาจารย์ชาเคยกล่าวสอนเอาไว้อย่างหนึ่งว่า "ความสงสัยในการปฏิบัติธรรมไม่เคยหายไป ด้วยคำพูดคำอธิบายของคนอื่น แต่จะหายไป ก็ด้วยการปฏิบัติของตนเอง"

                                                                                                         ชยสาโรภิกขุ

อย่าประมาทในสุขทางโลก


สิ่งไม่น่ายินดีมักมาในรูปของสิ่งที่น่ายินดี 
 สิ่งที่ไม่น่ารักมักมาในรูปของสิ่งที่น่ารัก
 ความทุกข์มักมาในรูปของความสุข 
 เพราะฉะนั้นคนจึงประมาทกันนัก”

สุปปวาสาสูตร 

ปฏิบัติให้รู้ที่ตัวเรา



          ดังนั้น จึงปฏิบัติให้รู้ที่ตัวเรา ไม่ต้องไปรู้ใครที่ไหน ไม่ต้องไปรู้เทวดา ไม่ต้องไปรู้สวรรค์ ไม่ต้องไปรู้นรก ไม่ต้องไปรู้ใครทั้งนั้น ...หลักธรรมคุณที่ว่า สันทิฎฐิโก อันผู้รู้จะพึงเห็นเอง มันไม่ใช่ไปรู้จากตำรับตำรา เรารู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง ...อกาลิโก แปลว่า ไม่ประกอบกาล และเวลา จะเป็นเวลาไหนก็ตาม การปฏิบัติธรรมะ ต้องปฏิบัติอยู่ทุกลมหายใจ ถ้าเรามีลมหายใจอยู่ ก็ต้องปฏิบัติธรรมะ ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรมะ ก็ชื่อว่าเราหมดลมหายใจ เป็นอย่างนั้น

                                                                                   หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ


ติดตำรา เลยไม่รู้ตัวเรา



          การปฏิบัติธรรมะข้อแรกที่สุดนั้น เราต้องปฏิบัติที่ตัวเรา เพื่อให้รู้ที่ตัวเรานี่เอง ที่เราศึกษาในตำรับตำรา นั่นก็ชี้เข้ามาที่ตัวเรา แต่เราเลยไปติดตำรับตำรา ก็เลยไม่รู้ที่ตัวเรา

                                                                                            หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

มีสติคุมใจคือตั้งตนไว้ชอบ



อัตตสมมาปนิธิ ตั้งตนในที่ชอบ 
ท่านกล่าวว่าเป็นมงคลอันประเสริฐสุด
ให้มีสติควบคุมใจของตน 
อันนี้ก็ชื่อว่าตั้งตนไว้ในที่ชอบอย่างสูงสุด

หลวงปู่ขาว อนาลโย

คนกลัวตาย ไม่กลัวเกิด



          คนเกิดมามีแต่กลัวความตาย แต่หาได้กลัวต้นเหตุคือความเกิดไม่...พระพุทธองค์จึงสอนให้แก้ตรงจุดเดิม คือผู้เป็นเหตุให้นำมาเกิด ได้แก่จิตที่ยังหุ้มห่อด้วยสรรพกิเลสทั้งปวง ให้ใสสะอาด ไม่มีมลทิน นั้นแล จึงจะหมด เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องวุ่นวายอีกต่อไป"

                                                                                                หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

เมตตากรุณากับรัก


"...เมตตากรุณา กับ รักนั้น เหมือนกันหรือต่างกัน
ต่างกันมาก อย่างละอริยสัจจ์ ทีเดียว
ความรักนั้นเป็นสมุทัย เมตตา กรุณาเป็นมรรค....."

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต