ผู้ปฏิบัติจะพ้นได้ ต้องสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ



...ผู้ปฏิบัติจะพ้นได้ ต้องสำรวมตา หู จมูก 
ลิ้น กาย ใจของตน อย่าได้ยินดียินร้าย
และมั่นคงในศีล ๕ และกรรมบถ ๑๐
เมื่อเจตนาละเว้นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
บริสุทธิ์ทั้ง ๓ ไม่ทำบาปในที่ลับและที่แจ้ง
เจตนาทำบาปไม่มี จึงพ้นอบายภูมิ
เราพาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้าสู่บารมี
ทศบารมี ทศอุปปารมี ทศปรมัตถปารมี
ให้เต็มรอบเพียงใด เราก็จะพ้นภัยเกิดตายนั่นเอง

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

ไม่ได้ละกิเลส กิเลสมันละไปเอง




กิเลสทั้งหลายเราจะไปนึกละ เราก็ละไม่ได้ 
พระพุทธเจ้าก็ตาม พระอรหันต์ก็ตาม... 
ท่านก็ไม่ได้ละกิเลส แต่ท่านทำให้รู้...เห็นทุกข์ 
ให้เห็นกิเลสและทุกข์ และอุปาทาน... 
ไม่ได้ละกิเลส กิเลสมันละไปเอง 
มันละไปเพราะอำนาจของปัญญาที่ได้รู้เห็นว่า 
กิเลสและทุกข์ และอุปาทาน ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ตน 
รู้เห็นชัดได้อย่างนั้น กิเลสและทุกข์ และอุปาทานมันก็ดับไป

หลวงปู่เจือ สุภโร 

การฝึกสติแบบพุทธ เป็นไปเพื่อละความเพลิน



การฝึกสติแบบพุทธ เป็นไปเพื่อละความเพลิน 
เป็นไปเพื่อละความยึดติดในอารมณ์ เป็นไปเพื่อละความยึดถือในขันธ์ 
สลัดความเพลินในอารมณ์นั้นๆ ออกเสียได้ 
ภพคือแดนเกิด ชาติคือการเกิด ย่อมหมดสิ้นไป 
ไม่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏทุกข์นี้อีก 
ความเพลินใดๆ คือบ่อเกิดแห่งตัณหา ตัณหานั้น คือวัฏจักรทุกข์ 
ละความเพลินเสียได้ ย่อมดับวัฏสงสารสิ้นแล

ครูบาไตรภพ วัดป่าโคกเจริญธรรม
มูลนิธิวิศวาธารอโรคยาธรรมศาลฯ

เพียงกลับเข้ามาดูจิตใจ



เราเพียงกลับเข้ามาดูจิตใจของเรา
ก็จะทำลาย ความโกรธ 
ความโลภ ความหลงได้เอง

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

เมื่อรู้อยู่ ปัญญาก็ตามมา




สติคือความระลึกได้ 
สัมปชัญญะความรู้อยู่
ตัวรู้ก็คือตัวพุทโธ 
ตัวพระพุทธเจ้านั่นแหละ
พอมีสติสัมปชัญญะรู้อยู่ 
ปัญญาก็วิ่งตามมาเท่านั้น


หลวงปู่ชา สุภัทโท

การปฏิบัติที่แท้จริง...



การปฏิบัติที่แท้จริงนั้น
คือการมีสติ
ทุกลมหายใจเข้าออก

พระอาจารย์ปสันโน

ดูจิตตนเสมอ ย่อมเห็นธรรม



ผู้เพ่งอยู่กับความแปรปรวนของจิต 
(ผู้มีสติ เพ่งดูจิตของตนเองอยู่เสมอ) 
ย่อมรู้ธรรม เห็นธรรม

หลวงปู่หลุย จันทสาโร

หลุดพ้นจากทุกข์ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ



...คำว่า “ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์” นั้น
จึงไม่ได้เกิดจากอิทธิฤทธิ์ใดๆ 
หรือ เรื่องเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด 
แต่เกิดจากปัญญาเข้าใจเหตุปัจจัยในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิต 
คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส กาย และ ธรรมารมณ์ 
โดยเห็นลักษณะของความไม่คงที่  ไม่ใช่ตัวตนนั่นเอง...

พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส

วิปัสสนาคือรู้ความจริง แล้วทำให้ใจปล่อยวาง



วิปัสสนานั้นแปลว่า รอบรู้ รู้พิเศษ รู้ชัดเจน รู้แจ่มแจ้ง
“วิ” แปลว่า วิเศษ “ปัสสนา หรือ ปัสสนะ” 
แปลว่า รู้ หรือแปลว่า เห็น
เห็นก็คือรู้ เห็นด้วยใจ ไม่ได้เห็นด้วยตา
เห็นด้วยใจก็คือ รู้วิเศษ เข้าไปรอบรู้...
คือไปรู้ความจริง แล้วทำให้ใจปล่อยวาง 
ทำให้ใจไม่ยึดถือ

พระอาจารย์มานพ อุปสโม

ความรู้สึกตัว จะเป็นที่พึ่งให้แก่ตน



ชีวิตของเราท่านทั้งหลาย 
จงสร้างสรรค์ตนคือความรู้สึกตัว 
ความรู้สึกตัวนี้แหละ จะเป็นที่พึ่งให้แก่ตน 
อย่ามัวแต่ไปคิดอย่างอื่น ทำอย่างอื่น 
จงปรารภความเพียร มีสติรู้กายรู้จิตใจ 
ถ้ารู้กายรู้จิตใจแล้ว ก็จะรู้สิ่งอื่น อย่างอื่นตามไป  
รู้จบ รู้ครบถ้วน

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

สุข ดี สงบ ไม่ใช่เป้าหมายปลายทาง



สุข…ดี…สงบ 
3 ตัวนี้ …ไม่ใช่เป้าหมายปลายทาง
เป้าหมายปลายทาง คือ
ให้เกิดปัญญาเห็นว่า… 
สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง ...
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

ต้องสำรวจจิตเสมอ



ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน 
ก็ต้องพยายามน้อมเข้าไปสํารวจจิต 
เรียกว่าปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรม 
นี่ก็เป็นการทําบุญให้กับตัวเองตลอดเวลา 

พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร

ศีล-สมาธิ-ปัญญา ไม่อาจแยกจากกันได้



ศีล คือ อาการที่จิตเป็นปกติ จึงไม่ก่อให้เกิดการพูดผิด และทำผิด
สมาธิ คือ อาการที่จิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามปรากฏการณ์
หรืออารมณ์ต่างๆ ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ปัญญา คือ อาการที่จิตรู้เท่าทันอารมณ์ รู้ทันปรากฏการณ์
ต่างๆ นั้น ไม่หลงไปตามกระแสโลก
ศีล-สมาธิ-ปัญญา จึงไม่อาจแยกจากกันได้ 
เพราะความปกติ ตั้งมั่น 
และรู้เท่าทันอารมณ์นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน

พระอาจารย์มหาวิเชียร ชินวังโส

เราไม่ศึกษาความจริง จึงรู้ธรรมะไม่จริง




...แม้ว่าความจริง ได้เกิดอยู่ทุกขณะก็ตาม 
แต่เราเองกลับไม่รู้ไม่เห็น อาทิเช่น 
เกิดทุกวัน แก่ลงทุกวัน 
เจ็บอยู่ทุกวัน ตายอยู่ทุกวัน 
เราไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้ ...
จึงทำให้รู้ธรรมะไม่จริง...

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

กรรมฐานคือฝึกสติ



การทำกรรมฐานที่จะฝึก ไม่ใช่ฝึกร่างกายของเราให้นิ่งได้นาน
แต่เราจะฝึกสติของเราต่างหาก จับจุดให้ดี

หลวงตาม้า(วรงคต) วิริยธโร

ใจว่าง ไม่มีกิเลสปรุงแต่ง มันก็เป็นสมาธิ



การทำสมาธิแบบปล่อยวาง หรือวิธีธรรมชาติ 
ไม่ต้องเข้า ไม่ต้องออกจากสมาธิ คือมันเป็นของมันเอง 
ถ้าจิตของเราว่างและมีสติสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่  
เดิน ยืน นั่ง นอน  มันจะมีความรู้สึกตัวทุกอิริยาบถ 
สมาธิโดยวิธีธรรมชาติ ไม่มีท่านั่ง  จะนั่งอย่างไรก็ได้...
เพียงแต่คอยระวังใจไม่ให้กำหนัดขัดเคืองในอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดขัดเคือง ระวังใจมิให้ลุ่มหลงมัวเมา (ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลงมัวเมา) 
ใจว่าง ไม่มีกิเลสปรุงแต่ง มันก็เป็นสมาธิ 
ไม่ต้องเข้าไม่ต้องออกสมาธิ รักษาจิตให้อยู่กับตัวตลอดเวลาก็พอ

หลวงพ่อกนฺตสิริ (กนฺตสิริ ภิกฺขุ)

อย่าปล่อยให้วันคืนล่วงเลยไปเฉยๆ




อย่าปล่อยให้วันคืนล่วงเลยไปเฉยๆ 
ต้องให้มันผ่านไปด้วยการปฏิบัติธรรม
กำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากจิต 
เหลือแต่ของจริง คือแก่นแท้ของธรรม


หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

การยอมรับความจริงที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา...



การยอมรับความจริงที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา
เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

คนฉลาดปล่อยทุกอารมณ์...



          อารมณ์ทั้งหลายนั้นจะเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจก็ตาม...มันก็เหมือนกับงูเห่านะ งูเห่ามันมีพิษมาก.....ถ้าไม่มีอะไรมาขวางมันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน แม้พิษมันจะมีอยู่ มันก็ไม่แสดงออกมา ไม่ได้ทำอันตรายเรา ดังนั้น ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้ว..ก็จะปล่อยหมด สิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ไม่ชอบใจก็ปล่อยมันไ เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าตัวที่มีพิษร้ายนั้น ปล่อยให้มันเลื้อยไป ...มันก็เลื้อยไปทั้งพิษที่มีอยู่ในตัวมันนั้นเอง..

                                                                                                              หลวงปู่แสง ญาณวโร

รักจะพ้นทุกข์ อย่าหลงอารมณ์ตนเอง



ถ้าเรารักที่จะพ้นทุกข์จริงๆ อย่าไปหลงอารมณ์ตนเอง
เราไม่เชื่อมันอย่างเดียว...
มันจะมาท่าไหน กำหนดรู้เข้าไว้...

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก

เราเลือกเฝ้าดู...แล้วกำหนดรู้อย่างมีสติได้



เราไม่สามารถเลือก...สิ่งที่จะเข้ามากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจได้ 
แต่เราเลือกที่จะเป็นผู้เฝ้าดู...แล้วกำหนดรู้อย่างมีสติได้

หลวงพ่อประจาก สิริวณฺโณ

จิตตั้งมั่น เห็นไตรลักษณ์




ให้รู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น ให้รู้ทันจิตที่มันไหลไป
จิตที่ไหลไป...แสดงว่ามันไม่ตั้งมั่น
พอรู้ว่ามันไม่ตั้งมั่น มันจะตั้งมั่นพอดี
ตั้งมั่นแล้วจะได้อะไร?
...จิตที่ตั้งมั่นนี่มีความสงบด้วย ...
แต่เป็นสงบจากนิวรณ์
ไม่ใช่สงบแบบไหลไปอยู่กับอารมณ์นิ่งๆ
จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ดู เห็นอารมณ์เปลี่ยนแปลงเกิดดับ
มันก็เห็นไตรลักษณ์สิ !

พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล 

เห็นความรู้สึก ความเป็นเรามันก็หยุดหมด



ก่อนนี้ เราไม่เคยเห็นความรู้สึก ก็เพราะมันมีความเป็นเรา 
เป็นว่าเราทำ ปฏิบัติธรรมก็เรา นั่นละ กิเลสมันแย่งทำไปหมด 
แต่พอเรามาเห็นความรู้สึก ความเป็นเรามันก็หยุดหมด 
มันไม่มีเรา คนที่ไม่ได้ดูจิต จะคิดว่าเอ๊ะ ไม่มีเราได้ไง 
นั่นเพราะเขาอยู่กับความมีเรา ...
เขาติดอยู่กับความมีเรามานานแสนนาน

หลวงพ่อสมบูรณ์ ฉตฺตสุวณฺโณ

การตั้งสติอยู่กับตัวเอง เป็นกุญแจดอกแรกสู่มรรคผล



          การตั้งสติอยู่กับตัวเอง เป็นกุญแจดอกแรกสู่มรรคผล ถ้ากุญแจดอกนี้ยังเปิดไม่ได้ อย่าหวังเลยจะรู้แจ้งเห็นจริงในอรรถในธรรม ที่จะพ้นทุกข์ในวัฏสงสารถึงแดนพระนิพพาน มองไม่เห็นทาง . . .

                                                                                               หลวงพ่ออินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก

แม้มีทุกข์ เราก็สามารถมีสุขได้ในทุกข์



การฝึกใจให้รู้ และอยู่กับความจริง
ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
แต่ไม่ยอมจำนนต่อปัญหาอุปสรรค
มีสติปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาชีวิต
โดยไม่สร้างเหตุแห่งทุกข์
ขณะเดียวกันก็สร้างเหตุแห่งสันติสุข
ให้เกิดขึ้นในใจของเรา
แม้มีทุกข์ เราก็สามารถมีสุขได้ในทุกข์

พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

ยิ่งเห็นกายไม่งาม จิตยิ่งสงบ



เห็นความไม่งาม จิตยิ่งมีความสุข
เห็นความไม่งามในกายนี้มากเท่าไหร่ 
จิตยิ่งสงบ มันจะกลับกันอย่างนี้ 
ถ้าเมื่อก่อนเราเห็นกายนี้งาม 
กายภายนอกงาม จิตไม่สว่าง 
จิตมันมืด จิตมันเป็นกิเลส
ถ้าเราเห็นความไม่งามเข้ามา 
จิตมันงาม จิตมันสว่างไสวขึ้นมา
มันเห็นตามความเป็นจริง. . .

พระอาจารย์อนันต์ อกิญจโน

ถ้าทำสติตามรู้ความคิดได้ การปฏิบัติจะสะดวก



          ...คนที่ปกติคิดมาก แต่ถ้าทำสติความรู้ความคิดได้ การปฏิบัติจะรู้สึกสะดวกกว่าบุคคลซึ่งไม่ค่อยจะมีความคิด เพราะโดยปกติจิตของเราคิดอยู่แล้ว เราเพียงแต่ว่าทำสติกำหนดตามรู้มันเรื่อยไป เมื่อสติตามรู้ความคิดทันแล้ว ความสงบจะเกิดขึ้น เมื่อความสงบเกิดขึ้นแล้ว ก็มีปิติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง เช่นเดียวกับการบริกรรมภาวนาได้....

                                                                                                     หลวงพ่อพุธ ฐานิโย 

เวลานั่งภาวนา เจ็บมันปวดขึ้นมาอย่าเลิก



เวลานั่งภาวนา มันเจ็บมันปวดขึ้นมาอย่าไปเลิก 
ให้มองดู ให้วิจัยวิจารณ์ ให้ขบ ให้คิด ให้พิจารณาให้มันเกิดปัญญา
ว่าอะไรที่มันเจ็บ อะไรที่มันปวด มันเจ็บปวดตรงไหน 
ใครเป็นผู้รู้ว่ามันเจ็บปวด ให้มันได้คำตอบออกมา

หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม

ตัวเราแท้ๆ นั้น ไม่มีอะไรเลย




นิพพานัง ปรมัง สุขัง เป็นสุขยอดเยี่ยม
รู้สังขารไม่เที่ยง วางกังวลทั้งหมด
นิพพานเท่านั้น “จริง” อย่างอื่น “ไม่”
ตัวเราแท้ๆ นั้น ไม่มีอะไรเลย


หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต

ยอดแห่งธรรมะ คือสติปัฏฐาน ๔



ยอดแห่งธรรมะ คือสติปัฏฐาน ๔
คือความไม่ประมาทนั่นเอง
เจริญสติให้อยู่กับปัจจุบันขณะ
ไม่หลงโลภ ไม่หลงโกรธ ไม่หลงลืมนั่นแหละ
จะทำให้กำจัดอวิชชาให้ออกไปได้
ด้วยการกำหนดรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดกับตัวเรา

หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล

ยอมรับนับถือกฎของกรรม คือมองตามความเป็นจริง



          การทำงานในเขตพระพุทธศาสนานี้ จงอย่ามีความหนักใจ ทำไปใจเย็นๆ ก็แล้วกัน...ยอมรับนับถือของกฎของกรรมมากเท่าไหร่ จิตก็เข้าสู่ความเป็นพระอริยะเจ้าได้มากขึ้นเท่านั้น คำว่ายอมรับนับถือกฎของกรรม คือมองตามความเป็นจริง โดยจิตไม่ดิ้นรน กระสับกระส่ายไปด้วยการฝืนกฎของธรรมดา...และจิตเยือกเย็นมีความเป็นสุข อารมณ์หนักใจสักนิดหนึ่งก็ไม่มี

                                                                                                        หลวงพ่อฤาษีลิงดำ

ไม่สลัดความพอใจในสังขาร ทุกข์ย่อมติดตาม



สัตว์โลกเกิดมา ก็นำความทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย
ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก
ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ
เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่
ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว

พุทธโอวาทก่อนดับขันธ์ปรินิพพาน

การฝึกสติ คือ “การตามดู แต่ไม่ตามไป”



การฝึกสติ คือ “การตามดู แต่ไม่ตามไป”
เช่นการตามดูรู้ลมหายใจ ก็เพียงดูรู้ว่า
ลมหายใจเข้า หายใจออก ไม่ตามไปปรุงแต่งต่อว่า 
ทำไมลมจึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
เพียงแค่รู้เข้า รู้ออก รู้สั้น รู้ยาว รู้สั่นไหว 
รู้นิ่งสงบ รู้อย่างนี้ก็พอ 
นี่คือการฝึกสติ ฝึกกรรมฐาน เป็นการละความเพลินของจิต 
ดึงจิตมาอยู่กับกายปัจจุบัน ไม่หลงเพลินคิด 
ทำบ่อยๆ จิตจะมีพลัง มีความเฉียบคม ไม่หลงอารมณ์

ครูบาไตรภพ วัดป่าโคกเจริญธรรม

ถ้าสติสัมปชัญญะรู้พร้อม ก็สักแต่ว่าคิด




          ถ้าสติสัมปชัญญะมันรู้พร้อม มันก็สักแต่ว่าคิด คิดแล้วปล่อยวาง ...จิตฟุ้งซ่าน ปล่อยให้มันไปตามธรรมชาติของมัน มันอยากคิด ให้มันคิดไป แต่ว่าเรามีสติกำหนดตามรู้ ๆๆ เรื่อยไป เอาความคิดนั้นแหละเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ ตอนนี้สมาธิมันเป็นเองโดยตามธรรมชาติ ปัญญาก็เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

                                                                                                    หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ความทรงจำ ความคิด อารมณ์...ไม่ใช่เรา




ความทรงจำ ความคิด อารมณ์
ความรู้สึกและความเห็นต่างๆ เหล่านี้
ไม่ใช่เรา หรือสิ่งที่เป็นตัวเราเลย
แต่เป็นแค่เพียงรูปแบบต่างๆ
ของประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามา แล้วก็ผ่านไป

พระอาจารย์สุเมโธ

จะหาความสุขใส่ตน...



จะหาความสุขใส่ตน
ก็มีแต่ฝึกฝนทรมานตนนั่นแหละ

หลวงปู่ขาว อนาลโย  

จิตส่งออกนำไปเกิดในวัฏสงสาร



จิตที่ส่งออกไปข้างนอก 
คือ จิตที่นำเราไปเกิดในวัฏสงสาร 
จิตที่เป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตา 
คือ จิตที่รู้จักอารมณ์ รู้จักความคิด 
ให้เราตั้งมั่นไว้ให้ดี

หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม

ต้องให้มีสติรู้เท่าทันตลอดเวลา



สติควบคุมจิต นั่นคือ รวบรวมจิตให้อยู่ในอำนาจของสติ
ทุกอิริยาบถ ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน 
การเคลื่อนไหวไปมา แม้จะคิด จะพูด จะทำ 
ก็ให้มีสติปกครองจิตไว้ให้มันรู้เท่า 
ต่อการกระทำของเราทุกอย่าง 
ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น 
ลิ้นลิ้มรส กายได้รับสัมผัส จิตได้รับอารมณ์ 
ต้องให้มีสติรู้เท่าทันตลอดเวลา 
เมื่อผัสสะกระทบ ให้มีสติรู้เท่าทัน
อย่าให้มันซึมลงถึงจิตได้ 

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

มีสติปัญญา ย่อมรู้เท่าทันอารมณ์



เมื่อมีสติ มีปัญญา อารมณ์อะไรมากระทบเข้า 
มาผัสสะเข้า ก็เป็นอันรู้เท่าทัน 
ตั้งผู้รู้ ให้รู้ประจัญหน้า คือไม่ปล่อยใจของตนให้ออกไปภายนอก 
เป็นโลภบ้าง เป็นโกรธบ้าง เป็นหลงบ้าง เป็นราคะบ้าง
ไม่ปล่อยออกไปจนหมด วันคืน (กลางวัน-กลางคืน) รู้ตัวเอง 
แม้มีความคิด ก็มีปัญญากำกับ แม้มีอารมณ์ ก็มีสติคอยยับยั้ง
นี่คือการฝึกฝนอบรม...

หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ 

ผู้เพลินในโลกมาก จะเป็นผู้เศร้าโศกมาก




ผู้เพลินในโลกมาก จะเป็นผู้เศร้าโศกมาก
ผู้เพลินในธรรมมาก จะนำความเศร้าโศกออกมากมาย
ผู้เห็นภัยในสงสาร ผู้ไม่ไว้ใจในสงสาร
ก็คือผู้ถือกุญแจเปิดประตูพระนิพพานนั้นแล

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

ฝึกสติเป็นอัตโนมัติ จิตจะถึงธรรมเอง



ธรรมะ 84,000  ก็มาจากจิตดวงนี้ดวงเดียวนี่ละ
ถ้าเรามีสติอยู่กับจิต 
เราก็พร้อมที่จะรู้เห็นธรรมตลอดเวลา
จะเห็นใบไม้ร่วงก็เป็นธรรม จะเห็นถนนมันพังก็เป็นธรรม
ถ้าจิตเป็นธรรมแล้ว อะไรก็เป็นความรู้ความเห็น เป็นปัญญาไปหมด
ดังนั้น ให้เราฝึกสติให้มาก ให้บ่อย 
ให้มันกลายเป็นอัตโนมัติ 
นั่นละ จิตเราจะถึงธรรมเอง

หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล

การทำกิจการงาน...



การทำกิจการงาน ให้เอาใจใส่ 
แต่ “อย่าเอาอะไรมาใส่ใจ”

พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

ต้องมีสติทันทีไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน




การเจริญสติไม่ต้องคอยเวลา ไม่ต้องเสียเวลา...
ไม่ว่ากายจะอยู่อย่างไร ใจจะเป็นอย่างไร
จะทำอะไรอยู่ก็ตาม พอจะระลึก ก็ระลึกรู้ทันที
จับความรู้สึกเข้าไปในขณะนั้นทันที
ไม่ใช่คอยว่าเดี๋ยวไปนั่งให้เรียบร้อยก่อน แล้วจะเริ่มเจริญสติ
ระหว่างที่เดินไปไม่ใส่ใจ ไม่ระลึกรู้ ขณะที่ขยับตัวจะนั่ง ก็ไม่ระลึกรู้
ไปนั่งเรียบร้อยแล้วถึงจะเริ่มเจริญสติ
อย่างนี้ก็พัฒนาไปช้า เพราะทิ้งช่วง ผ่านการเผลอไปมาก 
ต้องมีสติทันทีไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน


พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี

ให้เอากายเป็นเครื่องอยู่ของจิตตลอดเวลา



          ถ้าไม่พิจารณากายให้เห็นแจ้ง และเอากายเป็นเครื่องอยู่ จิตก็จะส่งออกนอกทางอายตนะ ๖ คือตา หู ฯ ตามความเคยชินของเขา เมื่อเห็นรูป ได้ยินเสียงฯ ที่ชอบที่ถูกใจ มีความยินดี ราคะก็เกิดขึ้น เมื่อเห็นรูป ได้ยินเสียงที่ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ มีความยินร้าย โทสะก็เกิดขึ้น ถ้าไม่รู้สึกว่ายินดีหรือยินร้าย โมหะก็เกิดขึ้น ดังนั้น “การที่จิตส่งออกนอกกายจึงเป็นสมุทัย เป็นกิเลส เป็นเหตุแห่งทุกข์” เมื่อไม่ต้องการความทุกข์ ต้องการดับทุกข์ ต้องไม่ส่งจิตออกนอกกาย “ให้เอากายเป็นเครื่องอยู่ของจิตตลอดเวลา” ราคะ โทสะ โมหะ ก็ครอบงำจิตไม่ได้ ความคิดปรุงแต่งก็ดับไป ทุกข์ก็ดับไป และในที่สุดก็สามารถพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง

                                                                                         พระอาจารย์จรัญ ทักขญาโณ

สุขหรือทุกข์มีค่าแค่ "รู้"



...ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ชอบหรือชัง 
ก็ล้วนมาจากเหตุอันเดียวกัน คือตัณหา 
อันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ทั้งสิ้น...
ควรปรับใจตนเองเสมอว่า ไม่ว่าสภาวะใดเกิดขึ้น 
สุขหรือทุกข์ก็ตาม ก็มีค่าเท่ากัน 
คือมีค่าแค่ให้ผู้ปฏิบัติได้ “รู้” เท่านั้น

พระอาจารย์มหาวิเชียร ชินวังโส

ดีก็อย่าไปติดดี ร้ายก็อย่าไปติดร้าย



ความจริงคือ ความไม่เที่ยงนี้
ความจริงที่มันสั้นๆ กว้างๆ ถูกๆ นี้
ไม่ค่อยพิจารณากัน เห็นไปอย่างอื่นเสีย
ดีก็อย่าไปติดดี ร้ายก็อย่าไปติดร้าย 
สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ในโลก
เราจะปฏิบัติเพื่อหนีจากโลกอันนี้ 
ให้มันสิ้นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ . . . 

หลวงปู่ชา สุภัทโท

จิตไม่รัก ไม่ยึด เป็นสุข



จิตเมื่อรู้เห็น ละถอน ปล่อยวางสิ่งต่างๆ
ไม่หึงหวง ไม่รัก 
จิตก็มีความสุขความสบายอย่างนั้น 
ทั้งๆ ที่ของอยู่ในตัวก็ตาม 
ของอยู่นอกตัวก็ตาม
เมื่อจิตไม่มีการรัก การยึด 
มันสบาย มันเป็นสุข

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

จิตเป็นตัวมารแท้



ถ้าเราเข้าใจว่าบาปมารประหารเราอยู่ภายนอก 
ไม่ย้อนกลับความรู้เข้ามาดูจิตผู้เป็นตัวมารแท้ 
ข้าศึกของเราจะหาวันสงบได้ไม่ 
จงทราบว่าเรื่องทุกข์ที่เป็นไปในกาย
แลจิตของเราตลอดเวลา ...
ถ้าเรามองข้ามทุกข์ก้อนนี้ไป 
อริยสัจคือของจริงอันประเสริฐ
ก็เป็นอันว่าเรามองข้ามไปเช่นเดียวกัน

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

อย่าปล่อยให้จิตสยบในอารมณ์ที่ชอบ...



สตินั้นต้องสังวรอยู่เสมอในตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น 
ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัสสิ่งที่ถูกต้อง ใจรู้ธรรมารมณ์ 
อย่าปล่อยให้จิตสยบในอารมณ์ที่ชอบ 
ไม่เคียดแค้นในอารมณ์ที่ไม่ชอบ 
ตั้งสติเเละจิตไว้ในวงกาย 
พิจารณาค้นหาความจริงด้วยสติเเละปัญญา

หลวงปู่ศรี มหาวีโร

จงรู้เฉพาะหน้าเฉพาะใจอยู่เสมอๆ



จิตดวงในนี้อยู่ภายในนี้แล้ว ไม่ต้องไปหาที่อื่น
จงรู้เฉพาะหน้าเฉพาะใจอยู่เสมอๆ ให้รู้ได้ทุกอิริยาบถ
ทั้งนั่ง ทั้งนอน ตั้งมั่นอยู่ในจิตดวงที่รู้อยู่นี้
นอกจากจิตที่รู้อยู่นี้ ทั้งหมดเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน
นอกจากจิตที่รู้อยู่นี้ เป็นทุกข์ นอกจากจิตที่รู้อยู่นี้ไม่ใช่ตัวตนของเรา...
ไม่ควรลุ่มหลงไปกับเรื่องใดๆ ทั้งหมด 
ควรรู้อยู่เห็นอยู่ ในเวลาปัจจุบันอย่างเดียว . . .

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

รู้เท่าแล้ว "ว่าง" เอง




ไม่ต้องทำจิตให้ “ว่าง”
“รู้เท่า”แล้วก็ว่างเองตามธรรมชาติเลย ... 

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต