ปฏิบัติข้ามเวทนา



พวกเรายังมีความเข้าใจผิดในคำว่า  
ปฏิบัติให้มันข้ามเวทนาไปได้ จึงจะพ้นจากทุกข์ 
คำว่าเวทนามันไม่ใช่ว่า ทำไปให้มันพ้นความเจ็บปวด
ที่มันเกิดขึ้นมาในกาย ในเวลาพวกเราทำความเพียรอย่างนั้น
...เป็นเวทนาที่พวกเราได้เสวยอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมา
ในเวลาอายตนะภายในและภายนอกมันมากระทบกันเข้าแล้ว
เกิดความดีใจหรือเสียใจ หรือไม่ดีใจไม่เสียใจ 
เกิดขึ้นมาแล้ว ให้พวกเราเอามาพิจารณาดู 
ให้มันรู้มันเห็นไปตามความเป็นจริง 
แล้วก็วางลงสู่ไตรลักษณ์ 
ไม่ได้ยึดได้ถือไว้นั่นแหละจึงเรียกว่า "ปฏิบัติข้ามเวทนา" 

หลวงปู่คูณ สิริจันโท

เราปฏิบัติเพื่อปัญญาเห็นความจริง



         เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อความสงบอย่างเดียว แต่จุดหมายปลายทางอยู่ไกลกว่านั้น คือเกิดปัญญาเห็นความจริง จนปล่อยวางความยึดมั่นว่ามีตัวตนได้

                                                                                      พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

ต้องรักษาใจเป็นงานอันดับแรก



"...เวลาเราทำงานอะไรอยู่ 
ถ้าเราสังเกตว่าใจเราเสีย 
ก็ให้หยุดทันที 
แล้วกลับมาดูใจของตนเอง 
เราต้องรักษาใจของเราไว้
เป็นงานอันดับแรก.."

ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก

พระพุทธเจ้าสอนแต่ให้เห็นทุกข์



          พระพุทธเจ้าสอนแต่ให้เห็นทุกข์ และดับทุกข์ได้ ความทุกข์เกิดจากสภาวะที่เป็น ถ้า "เห็น" ชื่อว่าถูกต้องแล้ว เราเห็นมันคิดนั้นก็ถูกต้องแล้ว เห็นมันโกรธถูกแล้ว เห็นมันหลงนั้นเรียกว่าเห็นถูกแล้ว ถ้าเห็นธรรมชาติและเห็นอาการของรูปของนามก็ชื่อว่าเห็นถูกแล้ว ถ้ามีภาวะที่ “เห็น” ก็ลิขิตชีวิตตนเองได้ และเป็นบุญวาสนาแล้ว มีบารมีแล้ว ถ้า “เป็น” ถือว่าหลง ถ้า “เห็น” ถือว่ารู้ รู้ตนคือบัณฑิต ถ้ารู้ตนมาก ก็ถือว่ารู้ผู้อื่นเช่นกัน

                                                                                            หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

บางครั้ง...ไม่ใช่"ทุกข์"ที่อยู่ตรงหน้า



บางครั้ง...ไม่ใช่"ทุกข์"ที่อยู่ตรงหน้า
แต่เป็นความโง่ที่ไม่รู้จัก.."ปล่อยวาง"..

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ธรรมะแท้แห่งพุทธะ



ความมีสติรู้ตัวนั่นแหละ คือธรรมะแท้แห่งพุทธะที่เกิดขึ้นในจิตของเรา...

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

หลักธรรมของพุทธะ กับตัวหนังสือไม่เกี่ยวกัน



          หลักธรรมของพุทธะ กับตัวหนังสือไม่เกี่ยวกัน ตัวหนังสือเป็นเพียงเครื่องมือที่จะเรียนรู้ สิ่งที่จะเข้าใจหลักธรรมคือจิต คือตัวรู้ ไม่ใช่ตัวหนังสือ

                                                                                                             ท่านเว่ยหล่าง

พิจารณาอายตนะเป็นไตรลักษณญาณ..



          ผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลาย เมื่ออายตนะภายในและภายนอกมากระทบกันเข้า มีความรู้สึกเกิดขึ้น ย่อมพิจารณาเป็นไตรลักษณญาณอย่างนี้ทุกขณะ ไม่ว่าอิริยาบถใดๆ ทั้งหมด ถ้าพิจารณาจนชำนิชำนาญแล้ว มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติของมันเอง มีความรู้เท่าตลอดเวลา จนเห็นว่าอารมณ์ทั้งปวง สักแต่ว่าอารมณ์ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปตามสภาพของมัน..

                                                                                                 หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี..

ไตรลักษณญาณไม่เกิด ยังเป็นมิจฉาสมาธิ



ถึงแม้ว่าบุคคลใดจะทำสมาธิได้ดี 
จะได้รับความสุขขนาดไหนก็ตาม
หรือจะได้อภิญญาเพียงใดก็ตาม
ถ้า “ไตรลักษณญาณ” ยังไม่เกิดแล้ว
ก็ยังนับว่าเป็น มิจฉาสมาธิ
เป็นสมาธิที่ยังผิด ยังอยู่ในวงเขตที่ผิด

หลวงปู่คำดี ปภาโส

หยุดเพ่งโทษผู้อื่นเสีย



          "หยุดเพ่งโทษผู้อื่นเสีย" เขาจะพูดจะทำอะไรก็ตาม ที่เป็นการกระทบกระเทือนถึงตนเองจริงหรือไม่ก็ตาม อย่าไปเพ่งดู ให้ย้อนเข้ามาเพ่งดูใจตนเอง ว่ากำลังมีสุขทุกข์อย่างไร มีอารมณ์อย่างไร ใจจะสบายขึ้นได้ด้วยการเพ่งนั้น  

                                              สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเห็น


สิ่งใดมันเกิดขึ้นมาก็ดูมันไปๆ 
เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเห็น
อย่ามองเป็นสัตว์บุคคล
ตัวตนเราเขาให้มาก 
พยายามมองโลกนี้ให้เป็นของว่างเปล่า 
ไม่มีเราไม่มีเขา มองข้ามสมมุติบัญญัติ 
ปฏิบัติให้ได้ทุกกาลเวลาสถานที่นั้น
คือนักปฏิบัติอันแท้จริง 

หลวงพ่อวิชัย เขมิโย 

ให้เพียรดูจิตใจ



ให้เพียรดูจิตใจ ถ้าบาปครอบงำก็รู้ ถ้าจิตผ่องใสก็รู้
ถ้าใจจะเผลอ สติก็รู้ก็ระลึกได้
จะโกรธจะว่าใคร สติก็จะคอยเตือนคอยห้ามและไม่ยึด 
อโหสิกรรมให้เค้าไป บาปกิเลสก็จะเบาบาง
....ใจเศร้าหมองขุ่นมัว ก็คือทุกข์ คือบาป 
ใจผ่องใสเบิกบาน ก็คือบุญ

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

ไม่ควรตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความรัก



ไม่ควรปล่อยตนให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความรัก
เพราะการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักเป็นเรื่องทรมาน
แลเรื่องที่จะบังคับมิให้พลัดพรากก็เป็นสิ่งสุดวิสัย
ทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ
ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

หนังสือพระอานนท์พุทธอนุชา โดย อ.วศิน อินทสระ

จิตว่างจากตัวเรา เข้าถึงพระนิพพาน



เมื่อใดที่เราเห็นจิตประภัสสร 
หรือจิตว่างจากตัวเรา 
ขณะนั้นเราเข้าถึงพระนิพพานแล้ว

หลวงพ่อโพธินันทะ

ความรู้สึกตัวนำสู่สมาธิ ปัญญา



          ถ้าเราสามารถประคองความรู้สึกตัว อันเกิดจากสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่องยาวนานได้เท่าใด จิตก็เกิดญาณทัศนะ คือความรู้เห็นที่ชำนิชำนาญมากขึ้นเท่านั้น ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมจะแปรตัวเป็นสมาธิและปัญญาโดยกลไกธรรมชาติของมันเอง โดยไม่ต้องนึกคิดพิจารณาอะไรให้ยุ่งยากและซับซ้อน ตามที่หลวงปู่ดูลย์ท่านกล่าวว่า ยิ่งคิดก็ยิ่งไม่รู้ แต่เฝ้าดูก็ยิ่งรู้เห็นชัดแจ้ง อันนั้นเป็นความจริง 

          เพียงแต่ทำเหตุให้มันถูกเท่านั้น เดี๋ยวผลมันจะเป็นเอง



                                                                                           หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท

การทำความเพียรอย่ากำหนดเวลา ให้กำหนดสติ



การทำความเพียรอย่ากำหนดเวลา
ให้กำหนดสติ ถ้าสติเผลอเมื่อใด
ก็รู้ว่าความเพียรของเราขาดไปแล้วเมื่อนั้น
เมื่อสติตั้งลงที่ตรงไหน
ย่อมเป็นธรรมขึ้นมาตรงนั้น
ถ้าไม่มีสติแล้วก็จะไม่เป็นธรรมทั้งคืนทั้งวัน

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโณ

เพียงดูจิต ก็ทำลายโลภ โกรธ หลงได้



         วิธีที่จะจัดการกับ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น เราไม่ต้องไปคิดหาว่าความโกรธ ความโลภ ความหลง อยู่ที่ไหน เราเพียงกลับเข้ามาดูจิตดูใจของเรา ก็จะทำลายความโกรธ ความโลภ ความหลงได้เอง

                                                                                                        หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

จิตตั้งมั่น ปัญญาเกิด



ให้พวกเราหมั่นอบรมจิตใจ 
พระพุทธเจ้าสอนให้อบรมจิตใจให้ดี ให้สงบเสียก่อน 
เพราะจิตใจที่สงบตั้งมั่นแล้ว เป็นบาทของวิปัสสนา 
จิตตั้งมั่นแล้ว ปัญญามันเกิดขึ้น มันจึงรู้เท่าสิ่งทั้งปวง 
บรรดาสิ่งทั้งปวงในโลก มันตกอยู่ในไตรลักษณ์หมดทั้งนั้น 
รู้เท่าอันนี้ รู้เท่าสิ่งทั้งปวงแล้ว

หลวงปู่ขาว อนาลโย

การจัดการความโกรธ



          เราจะไม่จัดการกับความโกรธ โดยหันเหความสนใจไปที่สิ่งอื่น หรือเก็บกดความโกรธเอาไว้ที่ส่วนลึกของจิต...เมื่อเราเฝ้าสังเกตเวทนาอย่างมีอุเบกขา ก็จะพบว่า ความโกรธที่เกิดขึ้นนั้น ค่อยๆ อ่อนกำลังลงเรื่อยๆ จนดับไปในที่สุด

                                                                                                   ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

ความสุขไม่ได้มี มีเพียงอาการเวทนา...



          ความสุขไม่ได้มี  มีเพียงอาการเวทนาที่เกิดขึ้น  ตั้งอยู่แล้วดับไป  และปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นก็เพราะว่าไม่เกิดการประจักษ์แจ้งสัจจะ  อวิชชาคือความไม่รู้แจ้ง ก็ให้เกิดโมหะ คือความหลงในอาการของจิต  แล้วเกิดติดอารมณ์.......กิเลสตัณหาอุปาทานยึดติดผูกมัดจิตที่เรียกกันว่าสังโยชน์  

          หากสติไม่เจริญเติบโตเป็นสมาธิ กลายเป็นญาณทัศนะ พัฒนามาเป็นอภิญญาวิชชาสาม ก็ไม่อาจสามารถต้านกิเลสสังโยชน์ รู้แจ้งตัดรากถอนโคนบาปกรรมที่เข้าไปฝังรากลึกอยู่ในกมลสันดานนี้ได้

                                                             หลวงตาสุริยา วัดป่าโสมพนัส (ส.มหาปัญโญภิกขุ)

ถ้าไม่พ้นเกิดตาย ก็ต้องทุกข์



ถ้าไม่พ้นเกิดพ้นตาย ก็ต้องทุกข์อยู่อย่างนี้แหละ 
กรรมวิบากวนเวียนอยู่นั่นแหละ จะเอาหรือ?

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

รสขมเป็นยาดี



สิ่งที่เป็น...รสขม
ย่อมถูกใช้เป็น...ยาที่ดี 

สิ่งที่...ฟังแล้วไม่ไพเราะหูนั้น 
คือ....คำเตือนอันจริงใจของผู้เตือนที่แท้จริง 

เพื่อแก้ไขความผิดให้กลับเป็นของถูก 
เราย่อมได้สติปัญญา 

แต่การต่อสู้เพื่อรักษาความผิดของตัวเองไว้ 
เราได้แสดงความหมายแห่งความมีจิตผิดปกติออกมา

ท่านเว่ยหล่าง

กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์



เวลากราบพระพุทธ กราบที่ไหนก็ตาม
ให้โยนิโสมนสิการ...
น้อมใจลงกราบใกล้ฝ่าพระบาทพระพุทธเจ้า
เสมือนกับท่านมายืนหรือประัทับนั่งอยู่ใกล้ๆ เรา 
เป็นพ่อติดตามดูแลเราทุกเวลา
กราบพระธรรม พระธรรมเหมือนแม่
คุ้มครองดูแลเราตลอดเวลา
กราบพระอริยสงฆ์ พระสงฆ์เป็นพระพี่เลี้ยง 
นำเราให้คิดดี พูดดี ปฏิบัติดี ด้วยกาย วาจา ใจในทุกสถานที่ 
คุณพระรัตนตรัยนี้
จะทำให้เราประสบความสุขความเจริญในชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป

หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล


กิเลสเหมือนผู้มาเยือน ไม่ช้าก็ไป



กิเลสเหมือนกับผู้มาเยือนเดี๋ยวไม่ช้าก็ไป เรียนรู้ตัวเรา ให้พบกับจิตที่ปรกติ...
พระพุทธศาสนาสอนให้เรา ฝึกปฏิบัติ ศึกษาเรียนรู้ “จิตปรกติ” ของตัวเอง

หลวงพ่อโพธินันทะ

คนมีบุญมากที่แท้จริง



อานุภาพแห่งบุญกุศลนี้
มันเป็นไปเพื่อความสงบ 
เพราะฉะนั้นผู้ใดมีบุญมากขึ้นมาแล้วก็สงบ
ไม่ชอบวุ่นวาย นี่เป็นลักษณะของผู้มีบุญมาก

เราต้องเอาเรื่องนี้แหละเป็นเครื่องวัด
จะเท่าแต่เอาแต่เงินแต่ทอง 
ข้าวของมากมายนั้นมาเป็นเครื่องวัดว่า เป็นคนมีบุญมาก
อย่างนั้นดูจะไม่ถูกเท่าไรนัก แต่ก็มีถูกอยู่บ้าง

แต่ถ้าจะให้ถูกตรงๆ จริงแล้ว
มันต้องหมายเอาบุคคลผู้ที่เบื่อหน่ายต่อความวุ่นวาย
ต่อความเละเทะต่างๆในโลก
แล้วก็ยินดีแสวงหาความสงบทางจิตใจ
นี่...อันนี้จึงเป็นที่แน่นอนว่าเป็นคนมีบุญมากจริง

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

เข้าใจอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาคือเคารพธรรมะ



          เมื่อใดก็ตามที่ท่านแสดงความเคารพโดยเข้าใจในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยประสบการณ์จริง ก็เท่ากับว่าท่านได้แสดงความเคารพต่อธรรมะ

                                                                                              ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นของเย็น


          ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นของเย็น เป็นของบริสุทธิ์ บุคคลผู้มีปัญญาจะไม่ปฏิเสธธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะธรรมถ้าอยู่ในจิตใจของผู้ใด ผู้นั้นย่อมมีความสุขความเจริญ

                                                                                                   หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

ถึงใจ ถึงพระนิพพาน



อ่านหนังสือและฟังอาจารย์พูด
แล้วเข้าใจ จำได้หมด แต่ไม่รู้สึกถึงใจ 
เป็นเพราะมันรู้แต่ข้างนอก 
ไม่รู้ตนเอง ไม่รู้จิตใจตนเอง
อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
ทุกขณะจิตปัจจุบันทั้งวันทั้งคืน 
จึงไม่พบใจ 
เมื่อไม่พบใจ...ก็ไม่ถึงใจ 
พบใจ พบธรรม 
ถึงใจ ถึงพระนิพพาน

หลวงปู่ทา จารุธัมโม


การฟังธรรมให้ตั้งใจฟัง จึงเข้าใจ จึงได้รับประโยชน์



          การฟังธรรมให้ตั้งใจฟังจึงเข้าใจ จึงได้รับประโยชน์ ภาชนะคือใจเป็นผู้รองรับเอาธรรมะ ถ้าใจยังวอกแวกอยู่ ใจยังแตกยังร้าวอยู่ ถึงจะเทน้ำใส่ภาชนะที่แตกที่ร้าว ที่รั่ว มันจะอยู่ได้นานขนาดไหน มันไหลหนีหมด ไม่ได้กักขังน้ำไว้ได้เลย

                                                                                                  หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

ความสุขเปรียบเสมือนเงา


          คนส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้ความอยาก ความดิ้นรนออกหน้าแล้วตนวิ่งตาม เหมือนวิ่งตามเงาของตนเองในเวลาบ่าย ยิ่งวิ่งก็ดูเหมือน เงาจะห่างจากตัวเราไปทุกที ทุกคนต่างมุ่งมั่นในความสุข แต่ความสุขก็เปรียบเสมือนเงานั่นเอง

                                                                                                            หลวงตาศิริ อินทสิริ

อย่าบำรุงสุขภาพกายอย่างเดียว



..จงอย่าพากันหลงระเริงลืมตัวมัวเมา 
บำรุงแต่สุขภาพทางกายอย่างเดียว 
จงให้พากันระลึกถึงสุขภาพทางใจบ้าง 
กายเป็นของแตกสลายดับสูญได้ 
ส่วนใจเป็นเจ้าของยังจะต้องได้รับผลต่อไป..

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ร่างกายนี้เป็นฐานะที่ยืมเขามา



ร่างกายนี้เป็นฐานะที่ยืมเขามาประกอบด้วย แก่ ชรา 
มรณะ คือยืมเขามาค้าขายหากำไรในบุญและบาป
และไม่รู้กำหนดที่จะต้องตายในเวลาใด
เมื่อถึงคราวตาย แปลว่าส่งคืนเขา

หลวงปู่หลุย จันทสาโร

เอาจิตไว้นอกกายเป็นเหตุแห่งทุกข์



จิตเอาไว้นอกกายเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อยู่ร่ำไป 
เอาจิตไว้ในกายนั้นแหละคือหนทางดับทุกข์

หลวงพ่อวิชัย เขมิโย

รากแก้วพุทธศาสนาอยู่ที่ "จิตตภาวนา"



รากแก้วพุทธศาสนาอยู่ที่ "จิตตภาวนา"
เวลานี้พวกเราชาวพุทธได้แต่ "กระพี้" ไม่ได้แก่น 
คือ การให้ทาน รักษาศีล ทำความดีประเภทต่างๆ เป็น "กระพี้" ทั้งนั้น
เมื่อเทียบเข้าไปหลัก "จิตตภาวนา" นั้นคือ "แก่นแท้" 
ถ้าใครได้ปฏิบัติเข้าไปตรงนี้แล้วได้สัมผัสกับ "แก่นแท้" มากน้อยเพียงไร
ความดีนี้จะกระจายออกมา ความละเอียดลออทุกอย่าง 
จะออกมาจาก "จิตตภาวนา" ทั้งนั้น

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เรามีทุกข์ เพราะไม่เดินตามพระพุทธเจ้า


ที่เรามีทุกข์ ทุกวันนี้ เพราะเราไม่เดินตามพระพุทธเจ้า 
นี่ถ้าเดินตามทางพระพุทธเจ้า ไม่มีใครบ่นเลยว่าทุกข์ 
จะไม่มีใครท้อถอยต่อชีวิตเลย 
จะไม่มีใครอ่อนแอเลย 
จะไม่มีใครโทษเลยว่าโลกนี้ทำให้เราเป็นทุกข์ 
จะไม่โทษพ่อ โทษแม่ โทษผัว โทษเมีย โทษสังคม 
เราจะรู้เลยว่า จะสุขจะทุกข์ เพราะใจเรา 
เพราะกรรมของเราที่เราทำ 
ทุกสิ่งทุกอย่างจะอยู่ที่เราคนเดียว 

พวกเราเป็นชาวพุทธต้องเข้าใจเรื่องนี้ 
ดังนั้น ถ้ามนุษย์อยากให้โลกนี้มีความเจริญ 
ก็ต้องสร้างกรรมดีขึ้นมา 
ทำกายวาจาใจตัวเองให้สงบก่อน 
แล้วความเจริญก็จะเกิดขึ้นกับสังคมของเรา 

หลวงพ่อสนอง กตปฺญโญ


จิตที่ดี



จิตที่ดีนั้น
ต้องไม่เกี่ยวข้องกับทุกข์หรือสุข

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง



เมื่อเห็นหรือได้ยิน 
โดยไม่เอาความจำต่างๆ 
มาปรุงแต่งความคิด 
เธอก็จะเห็นสิ่งต่างๆ 
ตามที่มันเป็น คือ
มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง

หลวงพ่อโพธินันทะ

การปฏิบัติธรรม จุดมุ่งหมายอยู่ที่ความมีสติสัมปชัญญะ



การปฏิบัติธรรม จะด้วยวิธีใดก็ตาม 
จุดมุ่งหมายอยู่ที่ความมีสติสัมปชัญญะ 
ในเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะเข้มแข็งดีแล้ว 
จิตจะกลายเป็นมหาสติ 
มหาสติเป็นสติอันยิ่งใหญ่ 
เป็นพละ เป็นกำลัง เป็นอินทรีย์ 
สติตัวนี้จะทำจิตใจให้มีความประพฤติ
ดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้องซึ่งเรียกว่า อริยมรรค 

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ฝ่าโลกธรรม ๘ ออกไปให้ได้



อยาก เมื่อไม่ได้อย่างที่อยาก ก็เป็นทุกข์
ไม่อยากได้ แต่ได้ ก็เป็นทุกข์
ใครจะว่าอะไร ไม่ต้องไปสนใจ
ใครเขาอยากได้อะไร เขาทำอะไร เขาก็ได้สิ่งนั้น
ใครอยากได้อะไร ก็ทำเอา ใครทำอะไร ก็ได้สิ่งนั้น
ไม่ต้องไปสนใจ ฝ่าโลกธรรม ๘ ออกไปให้ได้
เรื่องของโลกธรรม ๘ เรื่องมงคลตื่นข่าว
แตกซ่านกันไปไม่รู้จักจบ ฝ่าให้ได้ ทิ้งให้เร็วที่สุด

คุณแม่จันดี โลหิตดี

คนที่หลงจึงต้องแสวงหา



คนที่หลงจึงต้องแสวงหา
ถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหา
จะหาไปให้ลำบากทำไม
อะไรๆ ก็มีอยู่กับตัวเอง
อย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว 
จะตื่นเงา ตะครุบเงาไปทำไม
เพราะรู้แล้วว่า เงาไม่ใช่ตัวจริง

ตัวจริง คือ สัจจะทั้งสี่
ที่มีอยู่ในกายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ชนะตนเองเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก



          ชนะตนเองเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เราจ้องจะเอาชนะคนอื่นนั้นคือแพ้ใจตนเองแล้ว ชนะใจตนเองเป็นชัยชนะที่แท้จริง

                                                                                                   หลวงพ่อวิชัย เขมิโย

ศาสนาอยู่ที่ขันธ์ ๕



เกิดมาทำไมให้ต้องวนเวียน 
เกิดแล้วตายไม่สิ้นสุด จะเอาอีกหรือ?
เราชาวพุทธให้เร่งเจริญอริยมรรค ๔ อริยผล ๔ 
ศาสนาอยู่ที่ขันธ์ ๕ มิใช่อยู่ที่อื่นเลย

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

เจริญสติ ไม่ใช่เพื่อความสงบ แต่เพื่อความรู้ตัว



เจริญสติ เราไม่ได้ทำเพื่อความสงบ 
แต่เพื่อสร้างความรู้ตัว
รู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจ 
รู้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง 
ไม่ได้เอาความสงบ 
เพราะความสงบ มันไม่จีรังยั่งยืน 
มันขึ้นกับสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเรารู้แล้ววาง รู้แล้ววาง
ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถสงบได้ทุกที่ 

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

รู้ละวาง หมายถึงเราต้องมีสติ



รู้ละวาง หมายถึง เราต้องมีสติ
ดูแลรักษาจิตของเราด้วยความปล่อยวางอยู่เสมอ
ถ้าจิตมีการดูแล มีการปล่อยวางอยู่
จิตก็จะมีความสบาย มีความปลอดโปร่งโล่งใจ
มีความสุขขึ้น 

พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี

เจริญสติเป็นนิตย์ จะสิ้นอาสวะ



เยสญฺจ สุสมารทฺธา 
นิจฺจํ กายคตา สติ 
อกิจฺจํ เต น เสวนฺติ 
กิจฺเจ สาตจฺจการิโน 
สตานํ สมฺปชานานํ 
อฏฺฐํ คจฺฉนฺติ อาสวา ฯ ๒๙๓ ฯ 

 ...ชนเหล่าใด เจริญสติในกายเป็นนิตย์ 
ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำเฉพาะสิ่งที่ควรทำเสมอ  
สำหรับชนผู้มีสติ สัมปชัญญะพร้อมมูลเหล่านั้น 
อาสวะมีแต่จะหมดไป 

พุทธวจนในธรรมบท

ทำดีกับผู้อื่น เท่ากับทำดีกับตนเอง



ทำดีกับผู้อื่น เท่ากับทำดีกับตนเอง

หลวงพ่อวิชัย เขมิโย

มันดับไป ถ้ารู้เท่าทันมัน



มันเกิดขึ้นมาแล้ว
เกิดดีเกิดชั่ว เกิดผิดเกิดถูก
มันก็ดับไป ถ้ารู้เท่าทันมัน

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

คำตำหนิเป็นทุกข์เพราะยึดติด



คำตำหนิไม่ทำให้เราทุกข์ได้เลย
หากเราไม่ยึดมันเอาไว้ 
ที่จริงเวลาเรามีความทุกข์
เพราะอารมณ์หรือคำพูดเหล่านี้ 
ถ้ารู้ตัว และพิจารณาให้ดีจะพบว่า 
สาเหตุแห่งความทุกข์ที่แท้ก็คือ 
ค ว า ม ยึ ด ติ ด นั่ น เ อ ง

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

อย่าปล่อยให้จิตฟุ้งซ่าน



          อย่าปล่อยให้จิตฟุ้งซ่าน จนกำหนดไม่ได้ว่า ขณะนี้อยู่ในอารมณ์อะไร เพราะนิวรณ์ ๕ หากระงับมันไม่ได้ มันก็ทำให้ปัญญาถอยหลัง คือ โง่ทุกครั้งที่นิวรณ์ครองจิต

                                                                                                            สมเด็จองค์ปฐม

ให้รีบตัด รีบละกิเลส



          กิเลสกองไหน ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว ให้รีบตัด รีบละออกไปเลิกไม่ได้ ละไม่ได้ ก็ให้นึกถึงความตาย ใครจะดุร้าย ป้ายสี ก็ให้นึกว่า เขาจะต้องตาย เราคือกายกับจิตก็ต้องตายจากกันไป จะมาโกรธ มาโลภ มาหลง มายึดหน้าถือตา ยึดอะไรต่อมิอะไรไปทำไม จงปล่อยวางให้มันหมดสิ้นไป..

                                                                                                    หลวงปู่สิม พุทธาจาโร