มนุษย์ไม่เป็นสุขเพราะหลงยึดมั่น



         โดยปกติชีวิตของมนุษย์ไม่เป็นสุข เพราะหลงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา การฝึกให้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ถอดถอนอุปทาน จนจิตเป็นอิสระพ้นการบีบคั้นของกิเลส คือการเข้าถึงความสุขที่แท้จริง 

                                                                                              ชยสาโรภิกขุ 

การทำความดีให้กับตัวเองก็คือการมีสติ



การทำความดีให้กับตัวเองก็คือการมีสติ 
การเจริญสติเป็นอาชีพทางจิตวิญญาณ 
มีวิหารธรรมเป็นที่อยู่ 
ถ้าขาดสติก็คือความอาภัพอับจนทางจิต

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

อุปสรรคคือเรื่องธรรมดา



อุปสรรคต่างๆ มันจะมีขึ้นได้
มันก็ต้องสลายตัวได้เหมือนกัน 
ต้องถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา 
ทุกอย่างถ้าเราเอาจิตเข้าไป
จับธรรมดาเสียอย่างเดียว 
จิตมันก็มีความสุข

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ

สงบจิตได้ปัญญา..



สงบจิตได้ปัญญา สงบตัณหาได้ความสุข

หลวงปู่จันทร์ กุสโล

ใครมีความพอได้ คนนั้นก็จะมีความสุขได้



..ใครมีความพอได้ คนนั้นก็จะมีความสุขได้ 
 พอจริงก็สุขจริง พอได้มากก็สุขได้มาก 
 หัดวางเสียบ้าง หัดวางเสียหน่อย 
 ก่อนที่สังขารจะบังคับให้วาง 
 ก่อนที่ความเฒ่าชรา และความตาย 
 หรือโรคร้าย จะเป็นผู้บังคับให้วาง
ถ้ายังไม่หัดวาง จะเป็นผู้ที่เหนื่อยจนตาย 
 แล้วก็ขนอะไรไปด้วยไม่ได้เลยในที่สุด...

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร 

จิตที่ตั้งไว้ผิด จะทำร้ายตัวเรา...



          จิตที่ตั้งไว้ผิด จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเรายิ่งกว่าศัตรูคู่เวร ไม่มีใครทำร้ายเราได้มากเท่ากับเราทำร้ายตนเอง ไม่มีใครต้มตุ๋นเราเท่ากับเราต้มตุ๋นตนเอง ไม่มีใครหลอกลวงเราเท่ากับเราหลอกลวงตนเอง ก็คือกิเลสหลอกจิตนั่นเอง 

                                                                              หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

พระอรหันต์คือแบบอย่าง



พระอรหันต์ครั้งกระโน้นหรือครั้งไหนๆ ก็ตาม
มิได้มีชีวิตอย่างเกียจคร้านโดยผู้อื่นมิรู้เท่าทัน
หรือเอาเปรียบมหาชนด้วยการหลีกออกหาความสุขแต่ผู้เดียว
ที่แท้ท่านเป็นตัวอย่างแห่งบุคคลที่มีใจสุขให้มหาชนดู
เป็นตัวอย่างแห่งความอดทนหนักแน่น และพากเพียร
อาจยืนยิ้มได้ระหว่างกองเพลิง ซึ่งกำลังลามเข้ามาเผาตัวอยู่แล้ว

หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม

คนอ่อนน้อมถ่อมตนเปรียบดังน้ำพร่องแก้ว



          สภาวะของจิตที่มีกุศลธรรรมจึงล้วนกระทำออกไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างแท้จริงเพราะยอมรับว่าทุกคนล้วนแต่มีสภาวะแห่งธรรมญาณเหมือนกันหมด และคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนจึงเปรียบได้เช่นน้ำพร่องแก้วสามารถเติมน้ำได้ตลอดเวลา แต่คนที่ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นเช่นน้ำล้นแก้ว ไม่อาจเพิ่มเติมน้ำได้อีก ผู้ที่ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงไม่อาจสร้างบุญกุศลใดๆ ได้เลยเพราะมีแต่ยโสโอหังดูแคลนผู้อื่นว่าต่ำกว่าตนเสมอ 

                                                                                                          ท่านเว่ยหล่าง


          อย่ามองข้ามความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะเป็นโอกาสในการเติมเต็มสติปัญญา และเป็นการทำบุญ ดังปรากฏในบุญกิริยาวัตถุ 10 ข้ออปจายนมัย

                                                                                                          วัสสวดี

จิตนั้น เมื่อมันอยู่กับที่แล้ว...



จิตนั้น เมื่อมันอยู่กับที่แล้ว มันวางอารมณ์ภายนอกได้แล้ว 
ก็จะเกิดปัญญา

หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป

สิ่งที่เอาไปได้ ไม่ยอมทำ



สิ่งที่เอาไปได้ ไม่ยอมทำ
สิ่งที่เอาไปไม่ได้ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เอากันจะเป็นจะตายจริงๆ
สิ่งที่หาอยู่ ต่อสู้กันอยู่จะเป็นจะตายนี้ 
ก็จะโมฆะจบสิ้นก็ตอนไม่มีลมเข้าลมออกนี่แหละ

พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ

ธรรมชาติของตนคือพุทธะ



การจะค้นพบพระพุทธเจ้า
สิ่งที่ท่านจะต้องทำก่อน
คือการค้นตนเองให้พบ
เพราะธรรมชาติของตนเอง
นั่นแหละ คือ พุทธะ

ปรมาจารย์ตั๊กม้อ

เมื่อจิตไม่ต้องการอะไร



เมื่อจิตไม่ต้องการอะไร จึงได้ทุกสิ่ง

พระอาจารย์ชุมพล พลปญฺโญ

พึงเป็นคนมีสติ



พึงเป็นคนมีสติ อย่าถือมั่นกังวลในโลกทั้งปวง 
ความเสื่อมปัญญา นักปราชญ์ท่านติเตียน 
ความเจริญปัญญา เลิศกว่าความเจริญทั้งปวง

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

อะไรเกิดขึ้นที่จิตก็ให้รู้ไป



อะไรเกิดขึ้นที่จิตก็ให้รู้ไป 
ไม่ต้องไปแบ่งแยกให้ค่าว่า 
อันนี้ถูก อันนี้ผิด
ถ้าหลุดพ้นจากการให้ค่าพวกนี้ได้ 
ก็จะเข้าใจจิตได้

ปรมาจารย์ตั๊กม้อ

การทำจิตให้บริสุทธิ์...



การที่บุคคลจะทำจิตให้บริสุทธิ์ได้ จะต้องคลายความยึดถือในตัวตน 
ในรูปนามและในอารมณ์ทั้งหลาย ที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะ ๖ 
ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ 
ให้เป็น ๑ อยู่เสมอ อย่าให้กลายเป็นเลข
๒-๓-๔-๕ ฯลฯ ไปได้

ท่านพ่อลี ธัมมธโร


วิธีแก้ความวิตกกังวลและหวาดกลัว



         เลิกแสวงหาการชื่นชมยินดีและการยอมรับจากผู้อื่น จะทำการใดก็ตามให้เราเตรียมตัวอย่างดีที่สุดและทำให้ดีที่สุดโดยไม่ต้องกังวลว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ในทางกลับกัน ในขณะที่เรามีความกลัวว่าจะดูไม่ดี ดูไม่ฉลาดในสายตาของผู้อื่น สติและสมาธิของเราจะแตกกระเจิง ผลที่ออกมาก็ย่อมต้องล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำเลยเสียด้วยซ้ำ

                                                       วิธีแก้ความวิตกกังวลและหวาดกลัว โดยท่านดาไลลามะ

จิตที่ไม่ต้องรักใคร เป็นสุขกว่า



จิตที่ไม่ต้องรักใคร และไม่ต้องการให้ใครมารัก 
เป็นสุขยิ่งกว่าจิตที่สมหวังในรัก หลายพันเท่านัก

 พระอาจารย์ชุมพล พลปญฺโญ

ร่างกายคือต้นศาสนา



ร่างกายคือต้นศาสนา
กว้างศอกยาววาหนาคืบนี่เอง
นี่แหละตู้พระธรรม
แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
ก็อยู่ในตู้นี่แหละ

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร



เราปฏิบัติไม่ใช่เพื่อบุญบาป



เราปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ เราไม่ได้จะมาเอาบาปเอาบุญเป็นหลักนะ 
แต่จะปฏิบัติเอาเพื่อความบริสุทธิ์ของจิต
จิตใจ ถ้ามีความบริสุทธิ์แล้ว มันก็ทิ้งทั้งบุญทั้งบาป
ความบริสุทธิ์ของจิตนั้นแหละ จะพาเราเข้าสู่พระนิพพาน

พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ

เราสามารถถึงวิมุตติได้เป็นขณะๆ



เราสามารถถึงวิมุตติได้เป็นขณะๆ
เมื่อสามารถหลุดพ้นจากอารมณ์ ความคิดปรุงแต่ง
และความสำคัญมั่นหมายต่างๆ
ซึ่งสามารถทำได้ หากมีสติรักษาใจ

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล 

รักษาสติให้สม่ำเสมอ...



รักษาสติให้สม่ำเสมอ
เห็นเท่าที่เห็น ได้เท่าที่ได้
อย่าไปบังคับจิตให้เป็นไป 
อยากไปก็ไม่ได้ อยากดีมันก็กิเลสเหมือนกันทั้งนั้น
เห็นเท่าที่เป็น และ ทำไปเรื่อยๆ 
ให้ต่อเนื่อง อย่าไปทิ้ง
ถ้าทิ้งก็ป่วยการ เสียดายเวลามีชีวิตเป็นมนุษย์ เข้าใจไหม

พระอาจารย์ ชายแดน สีลสุทโธ

การงานที่มีสาระแท้จริง



การงานที่มีสาระที่แท้จริงก็คือ 
การงานที่ทำเพื่อเป็นปัจจัยแห่งการพ้นโลกเท่านั้น

พระอาจารย์ชุมพล พลปญฺโญ

การงานทางโลก เพียงเป็นไปเพื่อเลี้ยงชีวิตในชาติหนึ่ง แล้วจบไป สาระสำคัญของการเกิดมา คือการทำงานทางจิต เพื่อพ้นทุกข์จากวัฏสงสารอย่างถาวร

วัสสวดี

ให้ตั้งสติกำหนดจิตใจของตน



         ธรรมะก็อยู่ที่ใจ ให้ตั้งสติกำหนดจิตใจของตน    
ให้รู้ว่าขณะนี้จิตมันอยู่ที่ไหน

หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป

การบำเพ็ญธรรมต้องให้มีสติ



การบำเพ็ญธรรมต้องให้มีสติ ถ้าขาดสติได้ชื่อว่าขาดความเป็นธรรม

หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล

มีสติเสมอคือสมาธิ



มีสติคุ้มครองอยู่เสมอ นี่แหละคือสมาธิ
การทำสมาธิภาวนา คือการมีสติรอบคอบ
และการมีจิตเป็นปกติตามธรรมชาติ
ในการกระทำทุกอิริยาบถ

หลวงปู่ชา สุภัทโท

การปล่อยใจตามอารมณ์คือสิ่งน่ากลัว



จงควบคุมจิตในรูปต่างๆ ของท่านด้วยความระมัดระวัง 
การปล่อยจิตปล่อยใจไปตามอารมณ์นั่นแหละ
เป็นสิ่งที่ควรกลัวยิ่งกว่างูพิษ ควรกลัวยิ่งกว่าสัตว์ป่า 
ควรกลัวยิ่งกว่าโจรใจทมิฬ หรือควรกลัวยิ่งกว่ามหาอัคคีภัย

หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม

ไม่เพลิดเพลินสิ่งที่เป็นทุกข์ ย่อมพ้นทุกข์


ภิกษุทั้งหลาย !
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ในรูป
 ผู้นั้น เท่ากับไม่เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ในเวทนา
 ผู้นั้น เท่ากับไม่เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ในสัญญา
 ผู้นั้น เท่ากับไม่เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ในสังขารทั้งหลาย
 ผู้นั้น เท่ากับไม่เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ในวิญญาณ
 ผู้นั้น เท่ากับไม่เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์
 เรากล่าวว่า
“ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์
 ผู้นั้น ย่อมหลุดพ้นไปได้จากทุกข์” ดังนี้.

สังยุติตนิกาย ขันธวราวรรค

จิตไม่ปรุงแต่งคือการหักกงล้อแห่งวัฏจักร


          การทำจิตไม่ให้หมุนไปตามอายตนะหก คือปรุงแต่งส่งส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ นั้น เป็นการหักกงกำแห่งล้อของวัฏจักร นักปฏิบัติผู้ฝึกหัดได้อย่างที่อธิบายมานี้ ถึงหักกงกำ แห่งวัฏจักรไม่ได้อย่างเด็ดขาด ได้เพียงชั่วครู่ชั่วคราว ก็นับว่าดีอักโขแล้ว ดีกว่าไม่รู้วิธีหักเสียเลย

                                                                                          หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

รักก็ทุกข์ เกลียดโกรธก็ทุกข์...


รักก็ทุกข์ เกลียดโกรธก็ทุกข์ อะไรทุกข์ทั้งนั้น
ขึ้นชื่อว่ากิเลสผลิตขึ้นมาแล้ว 
ไม่มีอะไรเป็นสุข มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น  
นอกจากมันเคลือบด้วยน้ำตาลล่อนิดหนึ่ง 
เหมือนกับเขาเสียบเหยื่อใส่ปลายเบ็ดแล้วก็ล่อปลา 
ถ้ามีแต่เบ็ดล้วน ๆ ปลาก็ไม่กิน ต้องเอาเหยื่อล่อ  
พอเหยื่อล่อปลากินแล้วก็ตวัดทีเดียวเสร็จไม่มีเหลือ 
นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันล่อเรามาตั้งนานเท่าไร 
เมื่อไรเราจะเห็นโทษของมันกันบ้างเล่า?

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

สุขทุกข์ไม่ต่างกันในทางธรรม



          ความทุกข์ก็ดี ความสุขก็ดีนั้น ไม่มีความต่างกันในความหมายแห่งธรรม นั่นคือ มันก็อยู่บนพื้นฐานแห่งความเปลี่ยนแปลง อันจะนำให้เกิดความทุกข์ต่อจิตในที่สุด ความสุข คือ ความทุกข์ที่ละเอียด ตราบใดที่ยังเห็นว่า ยังรักสุข รังเกียจทุกข์ ก็พึ่งรู้ตัวว่า เรานี้ก็ยังจะมีชาติภพต่อไปอีกอยู่นั่นเอง ไม่จบไม่สิ้น 

                                                                                        พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ

ผู้ฉลาด เรียนรู้จากกายจิต



ผู้ฉลาด เรียนรู้จากกายจิต 
ผู้อยากรู้ผิด เรียนภายนอก ...

คุณแม่จันดี โลหิตดี

ถ้าใจเป็นอย่างใบบัว...



เมื่อจิตเราไม่ยึด ก็เรียกว่า จิตมันไม่รับ
เหมือนกับใบบัวที่เราเทน้ำลงไป
น้ำก็ไม่สามารถที่จะซึมซาบ
เข้าไปในใบบัวนั้น
ฉันใดก็ดี อารมณ์ต่างๆ 
จะเป็นอารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี
เมื่อมันเข้ามาถึงใจเราแล้ว
ถ้าใจเราเป็นอย่างใบบัว
อารมณ์นั้นก็ไม่ติดอยู่ในใจ


หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป

สัมผัสสิ่งใดอย่างรู้เท่าทัน จึงเป็นสุข



          ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมแล้วชีวิตจะราบรื่นเป็นมอเตอร์เวย์แปดเลนไปตลอดทาง ไม่ใช่ว่าทำความดีจะเจอแต่สิ่งดีที่ถูกใจเสมอไป โลกธรรมต้องมีอยู่เหมือนเดิมเพราะเป็นของของโลกที่เราอยู่อาศัย คนดีเข้าป่ายุงไม่ได้กัดน้อยกว่าคนชั่ว เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องของโลกให้จัดเจน โดยเฉพาะโลกธรรม ถ้าเรารู้เท่าทันโลกธรรม มันจะทำให้ใจเราไม่ต้องไปขุ่นมัวกับมัน สัมผัสสิ่งใดอย่างไม่รู้เท่าทัน สิ่งนั้นจะนำทุกข์มาให้ สัมผัสสิ่งใดอย่างรู้เท่าทัน สิ่งนั้นจะนำสุขมาให้

                                                                                                             ชยสาโรภิกขุ

นิพพานไม่ใช่ภาวะที่ไม่มีอะไรเลย



          นิพพานไม่ใช่ภาวะที่ไม่มีอะไรเลย หรือภาวะซึ่งถูกทำลายล้างจนหมดสิ้น แต่เป็นเสมือนความว่าง เป็นการเข้าไปในความว่างแห่งจิต  ที่ซึ่งท่านไม่ยึดมั่นเหนี่ยวรั้ง  ไม่หลงไปกับปรากฎการณ์ของสิ่งทั้งปวง ไม่เรียกร้องอะไรจากโลก  ท่านเพียงแต่รู้จักมันเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป  

                                                                                               พระอาจารย์สุเมโธ  

สุขแท้เกิดจากปล่อยวาง


          พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” หมายถึง จิตใจสงบระวังจากกิเลส
ปล่อยวางความหลง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของเรา ในอารมณ์ภายในจิตใจของเรา ในวัตถุธาตุทั้งหลายที่คิดว่าเป็นของเรา ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไปจากจิตใจของเรา จึงจะพบกับความสุขที่แท้จริง

                                                                            พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตโต

          ความสงบที่นำสุขแท้มาให้ ไม่ใช่สงบเงียบ แต่เป็นความสงบ เพราะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง

                                                                             วัสสวดี

ไม่ว่าจะสูญเสียอะไรไป...



ไม่ว่าจะสูญเสียอะไรไป 
ถ้าจิตใจดีขึ้น จัดว่าเป็นกำไร 
และไม่ว่าจะได้อะไรมา 
ถ้าจิตใจเลวลง ถือว่าเป็นการขาดทุน

หลวงปู่บุญกู้ อนุวฑฺฒโน

คนพาล-นักปราชญ์




คนพาลพูดขึ้นในที่ใด
ในที่นั้น แม้ไม่ถูกผูกมัด ก็ถูกผูกมัด
ส่วนนักปราชญ์พูดขึ้นในที่ใด
แม้ถูกผูกมัดแล้ว ก็หลุดพ้นในที่นั้น

พันธนโมกขชาดก 


          เรื่องของคนพาลนั้น ในมงคลสูตรข้อแรกสอนไว้ว่า "อเสวนา จะ พาลานัง" หมายถึง อย่าคบคนพาล หากพิจารณาดูให้ดี คนพาลที่เป็นคนตัวเป็นๆ นั้น พอเรารู้ เราก็คงหนีให้ไกลไปเองโดยธรรมชาติ แทบไม่ต้องสอนต้องบอกกันแต่อย่างใด

          แต่คนพาลที่น่ากลัว ไม่ควรคบนั้นคือใคร..น่าจะเป็นตัวของเราเอง หรือพูดให้ชัดก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเอง ที่นำเอารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ อันเร่าร้อนมาสู่จิตมิได้ขาด ทุกข์ก็เร่าร้อน สุขก็เร่าร้อน เพราะสุขทางโลกที่เราหลงใหลนั้น จัดอยู่ในหมวดเดียวกับทุกข์ เนื่องจากไม่มีความยั่งยืนถาวร วันใดสุขที่เคยได้สลายไป วันนั้นใจก็หดหู่แล้ว..แต่เรานั้น แทบจะไม่ได้ตระหนักกันเลย ว่าคนพาลที่นำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้แก่เรา ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา หรือตัวของเรานั่นเอง

         ดังนั้น ควรหรือไม่ที่เราจะคบคนพาลนี้ต่อไป หรือเลิกคบ ด้วยการไม่ปล่อยจิตให้ซัดส่าย หวั่นไหวไปตามอารมณ์ ความรู้สึกที่ตา หู จมูก ลิ้น ฯลฯ คอยปั่นเราไม่ได้หยุด แล้วหันมาคบบัณฑิต ซึ่งแปลว่า ผู้รู้แทน และบัณฑิตที่จะปลดลปล่อยเราจากคนพาลนี้ได้ ก็มิได้อยู่ที่อื่น แต่อยู่ในตัวเราเช่นกัน...


                                                                                                      วัสสวดี

มองตัวเราก่อนคนอื่น



          ขอให้เรามีศรัทธาคนเดียว ให้ปฏิบัติจริง ทำจริง ยังไม่ต้องมองคนอื่น ให้มองตัวเรา พระพุทธเจ้าพระองค์ก็มองพระองค์ก่อน พระองค์ไม่ได้วิ่งไปสอนโลกก่อน พระองค์สอนพระองค์จนเสร็จกิจแล้ว จึงสอนคนอื่น 

                                                                                                    หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

มีสติ ได้ปัญญาเป็นของขวัญ




ยามตามรู้ทีแรกได้มีสติ
ดูไปสิได้ปัญญาเป็นของขวัญ
หากตามรู้ตามดูอยู่ปัจจุบัน
ของกำนัลปัญญาได้ไม่ทุกข์ใจ

พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส


รู้ตัวอยู่ในปัจจุบันคือมีสติ เมื่อสติเกิดได้ต่อเนื่อง ปัญญา (ทางธรรม) จะได้มาเอง เป็นของขวัญ...

วัสสวดี

ไม่อยากเป็นกรรมเวร ต้องตัดอารมณ์



เราไม่อยากเป็นกรรมเป็นเวร
เราต้องตัดอารมณ์น่ะล่ะ
ให้รู้ในที่รู้ ให้กำหนดดูความรู้
อยู่ตรงไหน
แล้วเราก็เพ่งอยู่ตรงนั้น

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

          อารมณ์ของเราเป็นเหตุแห่งการสร้างกรรมเวร จึงต้องรู้สึกตัวอยู่เสมอ ไม่ปล่อยจิตเป็นไปตามอารมณ์

                                                                                                       วัสสวดี




สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน...



สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นไม่สามารถที่จะดึงใจของเราไปทรมานให้เกิดทุกข์ขึ้นได้

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


               นัยที่หนึ่ง...หากเราเข้าใจในโทษของความโกรธอย่างแท้จริง เราจะละวางความโกรธได้ อารมณ์อื่นๆ เช่น รัก โลภ หลง ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน นัยที่สอง...ในการปฏิบัติธรรม ท่านให้มีสติ รู้สึกตัวอยู่เสมอ เพื่อให้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น เมื่อรู้เท่าทัน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจักดับไป และทำให้ใจเราทุกข์ไม่ได้

                                                                                                    วัสสวดี

ศาสนา ตั้งต้นที่กายกับใจ



ศาสนา ตั้งต้นที่กายกับใจ 
เทวดา อินทร์ พรหม ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้
เพราะเหตุว่ามันสุขเกินไป เราเกิดมาเป็นมนุษย์นับว่าดีอักโขแล้ว 
ขอให้รักษามนุษยธรรมไว้ก็แล้วกัน
ถ้ารักษาไว้ไม่ได้ มันจะเลวลงไปกว่ามนุษย์นี้อีก 
ไปเกิดเป็นสิงสาราสัตว์ แต่ละภพชาติมันนานแสนนาน

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

          คนเรานั้น หากยังไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นปุถุชนสู่พระโสดาบัน ท่านว่ายังไม่ปลอดภัยจากการตกไปสู่อบายภูมิ และการตกอบายภูมิ ครูบาอาจารย์สอนว่า อาจใช้เวลานานแสนนาน กว่าจะได้คิวกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง เพราะฉะนั้น พึงอย่าประมาทในการทำความดี และต้องทำ "มากกว่าดี" ด้วย คือก้าวให้ข้ามความเป็นปุถุชน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงให้แนวทางเราไว้ชัดเจน และเป็นเป้าหมายอันแท้จริง เพื่อความปลอดภัยจากทุกข์อย่างถาวร

                                                                                                  วัสสวดี

กำไรชีวิตคือไม่แส่ไปในอารมณ์



ตั้งใจ ตั้งสติ คือ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ
คอยควบคุมจิตใจ ไม่ให้แส่ไปในอารมณ์
ที่ทำให้เราโลภ เราโกรธ เราหลง อยู่ทุกเวลานาที
ถ้าทำอย่างนี้ ได้ชื่อว่า
การสร้างชีวิตของเรา ให้เป็นกำไรในภพนี้

หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป

การฝึกตนต้องเป็นอกาลิโก



การฝึกตนนั้นเราต้องทำอยู่เป็นอกาลิโก 
ไม่เลือกกาลเวลาและสถานที่ 
โอกาสให้เมื่อไหร่ก็ต้องทำ 
ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท 
การที่นักปฏิบัติธรรม ผู้รอกาลเวลาสถานที่ 
แม้โอกาสให้แล้วแต่ก็มัวแต่รอ 
รอว่าแก่ก่อน อายุมากก่อน 
รอว่าเข้าป่าก่อน อยู่ในดงในเขาก่อนจึงจะทำ 
มัวแต่เลือกกาล เลือกสถานที่ ก็เลยเสียเวลาไปโดยใช่เหตุ

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


ทุกคนมีเวลาปฏิบัติธรรม



บางคนบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมเลย 
แล้วคุณมีลมหายใจอยู่หรือเปล่าล่ะ 
ขอให้มีสติกำกับลมหายใจ 
นั่นคือการปฏิบัติธรรม... 

ครูบาเจ้าหน่อแก้วฟ้า 

รักษาศีลร้อยครั้ง ไม่เท่าภาวนาครั้งหนึ่ง



          พระพุทธองค์ท่านจึงสอนว่า การให้ทานร้อยครั้งไม่เท่ารักษาศีลครั้งหนึ่ง รักษาศีลร้อยครั้ง ไม่เท่าภาวนาครั้งหนึ่ง ภาวนานี้มันละเอียด เพราะภาวนานี้มันถึงจิต มันปล้อนสารพัดอย่างออกมาได้ เห็นในจิตตนเอง

                                                                                                       หลวงปู่ชา สุภัทโท

เราเป็นทุกข์เพราะปฏิเสธความจริง



ความตายนี้
ใครจะเสียใจก็ตาม ไม่เสียใจก็ตาม
ใครจะชอบก็ตาม ไม่ชอบก็ตาม
ใครจะยินดีก็ตาม ไม่ยินดีก็ตาม
เมื่อถึงวาระมีอันเป็นไป ก็จะต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ
ตราบใดที่เรายังปฏิเสธความจริงหรือกฎธรรมชาติ
เราก็เป็นทุกข์ตราบนั้น

 หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

บุญบารมีแก่กล้า เพราะไม่หวั่นไหวต่อสรรเสริญ-นินทา



เมื่อไม่หวั่นไหวต่อความนินทาว่าร้าย
ความอิจฉาริษยาจากผู้อื่น บุญบารมีก็แก่กล้าขึ้น
ถ้าผู้ใดมีจิตหวั่นไหวกับคำสรรเสริญ หรือนินทาจากผู้อื่นแล้ว
บุญบารมีก็ไม่แก่กล้าขึ้นได้ ...

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

กฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ



          จงจำเอาไว้ว่า กรรมใดที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับเรา กรรมนั้นเป็นกรรมที่เราไม่เคยทำ แต่กรรมใดที่เกิดกับเรา กรรมนั้นเป็นกรรมที่เราเคยทำ กฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย แม้แต่กรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังตามมาให้ผลไม่เว้นแม้แต่ตถาคต จิตผู้ใดละเอียดก็จักเข้าใจ และยอมรับ-เคารพในกฎของกรรม จิตก็จักเป็นสุข

                                                                                                     สมเด็จองค์ปฐม

สติเป็นที่มาของปัญญา



หมั่นฝึกหัดสติของตนให้กล้า 
เมื่อสติของเรามันกล้าพอแล้ว 
จะกำหนดดูที่ไหนมันก็ทะลุปรุโปร่งไปหมด 
ถ้าสติมันกล้าพอแล้ว มันมีกำลังพอแล้ว 
กำหนดดูกายของตน มันก็ทะลุปรุโปร่งไปหมด 
หรือจะกำหนดดูอะไรก็รู้ซาบซึ้งอยู่ภายใน

หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล