ให้เอากายเป็นเครื่องอยู่ของจิตตลอดเวลา



          ถ้าไม่พิจารณากายให้เห็นแจ้ง และเอากายเป็นเครื่องอยู่ จิตก็จะส่งออกนอกทางอายตนะ ๖ คือตา หู ฯ ตามความเคยชินของเขา เมื่อเห็นรูป ได้ยินเสียงฯ ที่ชอบที่ถูกใจ มีความยินดี ราคะก็เกิดขึ้น เมื่อเห็นรูป ได้ยินเสียงที่ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ มีความยินร้าย โทสะก็เกิดขึ้น ถ้าไม่รู้สึกว่ายินดีหรือยินร้าย โมหะก็เกิดขึ้น ดังนั้น “การที่จิตส่งออกนอกกายจึงเป็นสมุทัย เป็นกิเลส เป็นเหตุแห่งทุกข์” เมื่อไม่ต้องการความทุกข์ ต้องการดับทุกข์ ต้องไม่ส่งจิตออกนอกกาย “ให้เอากายเป็นเครื่องอยู่ของจิตตลอดเวลา” ราคะ โทสะ โมหะ ก็ครอบงำจิตไม่ได้ ความคิดปรุงแต่งก็ดับไป ทุกข์ก็ดับไป และในที่สุดก็สามารถพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง

                                                                                         พระอาจารย์จรัญ ทักขญาโณ

สุขหรือทุกข์มีค่าแค่ "รู้"



...ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ชอบหรือชัง 
ก็ล้วนมาจากเหตุอันเดียวกัน คือตัณหา 
อันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ทั้งสิ้น...
ควรปรับใจตนเองเสมอว่า ไม่ว่าสภาวะใดเกิดขึ้น 
สุขหรือทุกข์ก็ตาม ก็มีค่าเท่ากัน 
คือมีค่าแค่ให้ผู้ปฏิบัติได้ “รู้” เท่านั้น

พระอาจารย์มหาวิเชียร ชินวังโส

ดีก็อย่าไปติดดี ร้ายก็อย่าไปติดร้าย



ความจริงคือ ความไม่เที่ยงนี้
ความจริงที่มันสั้นๆ กว้างๆ ถูกๆ นี้
ไม่ค่อยพิจารณากัน เห็นไปอย่างอื่นเสีย
ดีก็อย่าไปติดดี ร้ายก็อย่าไปติดร้าย 
สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ในโลก
เราจะปฏิบัติเพื่อหนีจากโลกอันนี้ 
ให้มันสิ้นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ . . . 

หลวงปู่ชา สุภัทโท