ผู้ปฏิบัติธรรมไม่เคยไร้ผล



ผู้มาปฏิบัติธรรมขององค์พระพุทธเจ้า
ไม่เคยไร้ผลหรือทำไปโดยเปล่า
มีผลปรากฏชัดเฉพาะอยู่เสมอ
ทำน้อย รู้เห็นผลน้อย ทำมาก รู้เห็นผลมาก
ได้รับผลตามกำลังของตนเสมอมา
การให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา
การมีปัญญา
ความหลุดพ้น
ในธรรมเหล่านี้ ใครปฏิบัติได้ชั้นใดก็อาจหาญร่าเริง
อยู่ในชั้นนั้น ยิ่งตั้งใจปฎิบัติจริงๆ ด้วยแล้ว
ยิ่งไม่ต้องสงสัยเลย
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

ภาวนา "พุท-โธ" ก่อนกำหนดอานาปานสติ



ผู้ภาวนา "พุท-โธ" เป็นแล้ว
จึงไปกำหนดภาวนาอานาปานสติ กำหนดหายใจเข้าออก
ก็จักจับจิตของตนได้ง่าย
 
ทีแรกฝึกหัดใหม่ เอาสติคุมจิต เอา "พุท-โธ" จับใจ
ให้รู้ตัวอยู่ จนกว่าจะชำนาญ
แล้วกำหนดพร้อมกับลมหายใจเข้า - พร้อมหายใจออก
 
นานไปก็ให้รู้แต่ลม จนกว่าจะชัดเจน ชำนาญ
แล้วตัวผู้รู้เด่นชัดขึ้นมาก็ค่อยๆ วางลมหายใจนี้
จนลมละเอียดสุด เหลือแต่ผู้รู้ รู้อยู่ ชัดเจนอยู่ เป็นอารมณ์ ของผู้รู้อยู่
 
ให้รู้อย่างนั้น อย่าทิ้งผู้รู้ -รู้สงบ - สงบก็รู้
ปัญญาไม่พอก็ถอนออกมา
กำลังใจไม่พอก็ถอนออกมา
ตั้งต้นใหม่ ไม่อยาก ไม่หลง
ทำดีประกอบใจเข้าไว้
 
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

อยู่ในศีลธรรมย่อมเป็นสุข


คนเราเมื่อประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม
อยู่ในความไม่ประมาท หมั่นบำเพ็ญบุญ
สวดมนต์ไหว้พระทุกวันแล้ว
ก็ไม่ต้องวิ่งไปหาพระที่ไหน ชีวิตก็เป็นสุข
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ


จิตอยู่นิ่ง ยิ่งมีปัญญา



บัณฑิตนักปราชญ์ ท่านเอาสติมาคุมจิต
ให้จิตอยู่ที่ จิตอยู่นิ่งเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะปัญญาจะได้เพิ่มมากขึ้น
ความรู้เท่าก็มากตามเท่านั้น
ผู้มีปัญญา จิตไปกระทบสิ่งใด ๆ แล้วท่านไม่เป็นทุกข์
ไม่เดือดร้อน ไม่หวั่นไหว ไม่ดิ้นรน
ท่านคิดค้นรู้เหตุผลแล้ว ก็ปล่อยวางไว้หมดเพราะจิตท่านเป็นกลางได้แล้ว
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

ปัญญาเป็นเครื่องแยกใจกับความชั่ว



ทานที่ไม่มีศีล เป็นทานผลใหญ่มิได้
สมาธิที่ไม่มีศีล เป็นสมาธิผลใหญ่มิได้
สมาธิเมื่อเราเจริญดีแล้ว ปัญญาก็ใหญ่
ปัญญานี้แหละเป็นเครื่องแยกใจ
กับความชั่วใด ๆ ออกจากกันไปได้
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

ความชั่วเกิดเพราะไม่รู้จักอารมณ์



ความชั่วใดๆ ยังเกิดขึ้นอยู่ ก็เพราะตนของตนไม่รู้จักอารมณ์
ไม่รู้จักสำรวมอารมณ์ ไม่ได้พิจารณาให้เห็นเป็นตามจริง
เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นเพราะไม่รู้ เพราะไม่รู้ ใจก็ไม่บริสุทธิ์
ไม่บริสุทธิ์ เพราะ ราคะ เพิ่มเข้ามาหาใจ
โทสะ เพิ่มเข้ามาหาใจ
โมหะ เพิ่มเข้ามาหาใจ
โลภะ เพิ่มเข้ามาหาใจ
มันเพิ่มเข้ามาก็เพราะจิตไปปรุงไปแต่งในอารมณ์ใด ๆ
ถ้าหากรู้จักอารมณ์แล้ว
ก็เป็นอันรู้จักเลือกที่จะเอาความดีหรือเอาความชั่ว
จึงว่าให้มีสติ ให้หัดสติ ให้อบรมสติ
ผู้มีสติเท่านั้นที่จะหายโง่หายบ้าหายเมา
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

ใจที่มีแต่ราคะ



ราโค เสฎฺโฐ ธมฺมานํ
วิราคะ แปลว่า การคลายออก
คลายกำหนัดของจิตออกจากอารมณ์ใด ๆ
คลายออกได้ เพราะมันเบื่อหน่าย
"หน่าย" แล้ว "วาง" แล้ว "ปล่อย"
หากเป็นธรรมเช่นนี้ มันก็ดับได้ ดับหลง
ดับเมา ดับความโง่เขลา
แต่ใจของพวกเรานั้น
ใด ๆ ก็มีแต่ราคะ   
ใจที่มีแต่ราคะจะประเสริฐได้อย่างไร
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ


จิตมิใช่อารมณ์ อารมณ์มิใช่จิต



จิตมิใช่อารมณ์  อารมณ์มิใช่จิต   แต่อาศัยจิตนึกคิดจึงเป็นอารมณ์
พอเป็นอารมณ์ ก็เข้าไปยึดเอาอารมณ์   เพราะเห็นอารมณ์เป็นสาระ ของดิบของดี
จึงให้เปลี่ยนจากอารมณ์ของโลก มาเป็นอารมณ์ของธรรม ให้เอา "พุท-โธ" เป็นอารมณ์ 
ให้จิตคิดนึกรู้อยู่กับแต่ "พุท-โธ"
เพื่อล่อจิต - ผูกจิต - ดึงจิต - ตั้งจิต ให้อยู่
เมื่อ จิตตั้งอยู่แล้ว – สุขเกิดขึ้น  ปิติเกิดขึ้น  อุเบกขาเกิดขึ้น  เอกัคคตาเกิดขึ้น
รวมเรียกว่าฌานเกิดขึ้น  จิตตั้งในองค์ฌาน - จิตสงบในองค์ฌาน
จะหนีจากฌาน ก็ไปเดินวิปัสสนา  จะไปได้หรือไม่ก็สุดแท้แต่ปัญญา
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

อะไรที่ยังมั่นหมายคือเชื้อทุกข์



อะไรที่ยังมั่นยังหมายอยู่
ยังอยากมี อยากดี อยากสุข อยากพ้นไปอยู่
ก็ให้เข้าใจว่า ยังเป็นเชื้อทุกข์ในตนอยู่
นั่นคือ มันยังหลงพอใจอยู่  สมุทัยใจขี้หลง
พิจารณาให้รู้ ณ ที่ใจ ที่ยังยึดยังถืออยู่
ผลของการยึด การถือ คืออะไร เป็นอย่างใดต่อไป
ควรไหม สมควรที่จะต้องปล่อยวาง หรือไม่
หรือตนชอบพอในทุกข์อยู่
ก็จิตสงบจากอารมณ์ นั่นเองแหละ เป็นความสุข
จิตไม่เพลิดเพลิน
จิตปล่อยวาง
เฉย ๆ อยู่ รู้อยู่ จึงรู้เท่าทัน
เอา เกสา - โลมา -นขา -ทนฺตา -ตโจ นี้แหละ
เป็นกุญแจธรรมเปิดประตูมรรคผลนิพพาน
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

เอาความสะดวกกำกับรักษาใจ



การกำหนดภาวนานี้
อันใดสะดวกคล่องตัวคล่องใจอยู่เสมอ
ก็ให้เอาอันนั้น มากำกับรักษาใจ
ระลึกในใจในอารมณ์รู้ตัว


คำว่า "สะดวก" เพราะ คล่องใจ เบาใจ
มันสบาย มันคล่อง รู้ใจได้ง่าย
จับใจได้เร็วและต่อเนื่องไป

ไม่มีอะไรจะยากเท่ากับการรักษาใจ

แต่...แม้จะยากก็ทำได้
ครูบาอาจารย์ พระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้า
พระพุทธองค์บรมครู ทรงทำเป็นแบบอย่าง
ได้ทำเป็นแบบอย่างมาแล้วตลอดมา
จึงเหลือไว้ให้แต่เราเป็นผู้ทำต่อไป
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

อย่าทิ้งคำบริกรรม



ก่อนกำหนดบริกรรม
ให้บอกตัวเองก่อน ว่า อันนี้กาย อันนี้ใจ
จากนั้น เอาใจรู้กำกับคำบริกรรม
อย่าทิ้งคำบริกรรม
ผู้ฝึกหัดภาวนาใหม่ต้องอาศัยคำบริกรรม
อาตมาภาวนามาแต่อายุ 15 ปี
มาเดี๋ยวนี้ ก็ยังไม่ทิ้ง " พุท-โธ"
ใครทิ้ง "พุท-โธ" ภาวนาไม่เป็นหรอก 
เอาคำบริกรรมผูกล่ามใจไว้ รู้อยู่เสมอ
แม้อะไรจะเกิดจะเป็น ก็อย่าทิ้งผู้รู้
ให้ผู้รู้ รู้ทุกกิริยาอาการ
เพราะความรู้ตัวต่อเนื่องกันไปนี้เอง
จึงรู้ได้เท่าทันในปัจจุบันธรรม
ผู้รู้อย่างนี้จึงจักแก้ไขตนเองได้

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

รู้พรากใจจากกิเลสเป็นปัญญาชั้นสูง



รู้บุญ รู้บาป
รู้ดี รู้ชั่ว...เป็นปัญญาชั้นต้น
รู้เหตุ รู้ผลของกรรม
รู้การเวียนว่ายตายเกิดมาจากที่ใด...เป็นปัญญาท่ามกลาง
รู้หนทางแก้ไขใจตน
รู้พรากใจออกจากกิเลสาวะใด ๆ ได้...เป็นปัญญาชั้นสูง
ปัญญาความรู้ความฉลาดเหล่านี้เกิดได้ เพราะ....
ตนของตนเป็นผู้ตั้งใจในการฝึกหัดขัดเกลา
ทำมาแล้วหลายภพหลายชาติ
ต่อไปข้างหน้า
หากยังไม่เต็มอัตราบารมีของตน
ก็จะต้องได้ทำต่อไปในการอบรมปัญญา
แต่ผู้เต็มเปี่ยมแล้ว
ท่านก็ถึงสุคโต
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

สอนตนก่อนสอนผู้อื่น



บอกคนอื่นผู้อื่น สอนผู้อื่นคนอื่น
มันพอสอนได้บอกได้
แต่...พอมาบอกตน สอนตน บังคับตน
มันกลับเป็นของยากยิ่งนัก
พระพุทธเจ้าจึงว่าให้ "สอนตนให้ได้เสียก่อน สอนตนได้แล้ว
จึงสอนผู้อื่นให้ตามต่อไป"
ให้เข้าใจว่า "ธรรมดาจิตนี้มันหยาบ
พร่ำสอนได้ยาก" แต่..สอนได้ ทำได้
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

ให้รู้จักชำระกากของใจ


ข้าวเปลือกแกะเปลือกออกเป็นข้าวสาร
ไม่งอกขึ้นฉันใด
ใจเรา ก็ฉันนั้น
หากแกะเปลือกอันห่อหุ้มใจออกไปได้
ก็เป็นดวงใจอันบริสุทธิ์
ให้รู้จักชำระกากของใจออกไป
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

อย่าคิดว่าเราต้องได้ตลอดเวลา



อย่าคิดว่าเราต้องได้ตลอดเวลา
เราต้องเป็นผู้ชนะแต่เพียงผู้เดียว
การยอมให้คนอื่นได้และชนะดูบ้าง
เป็นวิธีสำคัญของการอยู่ร่วมกัน
หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป

ทำดีไม่ได้ดี



ทำดีไม่ได้ดี 
เพราะยังทำไม่ถึงดี
หรือทำเกินพอดี
หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป

เราเป็นเพียงแต่ผู้มาดูโลก



ทุกสิ่งสารพัดที่มีอยู่ในโลกนี้
ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครจับจองได้แม้แต่นิดเดียว
เพียงแต่มาดู รู้เห็น แล้วก็จากไป
ของที่เราติด เรายึด เราถือไว้นั้น ไม่ใช่ของๆเรา
แต่เป็นของของโลก ของมีไว้ประจำโลก
จะยกเอาออกไปจากโลกนี้ไม่ได้ มีแต่จะเกิดทุกข์
เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของของโลก
เราเป็นเพียงแต่ผู้มาดูโลกเท่านั้น
และเราเองก็ไม่มีตัวตน เป็นเพียงผู้รู้เฉยๆ
หลวงปู่คูณ สิริจันโท

เพราะยึดถือ จึงทุกข์



ถ้าพวกเรารู้เท่าทันความเป็นจริงแล้ว
เราก็จะไม่ยึดติด จิตก็จะว่าง
ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น
เพราะทุกข์มันอยู่ที่ตัวเราเอง
ไม่ได้อยู่ที่สิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมเป็นธรรมชาติของโลก
และไม่ได้เป็นศัตรูของเรา
เขาเป็นเขามีของเขาอยู่อย่างนี้มาพร้อมกับโลก
เราต่างหากที่เข้าไปเกาะไปยึดถือจึงเกิดทุกข์
เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากทุกข์
ก็จงพยายามอย่าเอาจิตไปเกาะไปยึดถือ
ให้ปล่อยวางไว้ตามธรรมชาติ
หลวงปู่คูณ สิริจันโท

เกิดดับเป็นยอดของธรรม



การเกิดดับเป็นยอดของธรรมะอย่างประเสริฐ
ถ้าเกิดไม่ดับแล้ว เราจะไม่รู้คุณค่าของธรรมเลย
การเกิดดับคือการเฉลยธรรมะอย่างถูกต้อง
พวกเราไม่ต้องไปกลัวความดับหรือความตายเลย
ให้กลัวแต่ความเกิดเท่านั้น ถ้าไม่มีเกิดก็ไม่ต้องมีตาย
หลวงปู่คูณ สิริจันโท

อยากเห็นธรรม อย่าส่งจิตออก



 ถ้าพวกเราอยากรู้ธรรมเห็นธรรมแล้ว
 ต้องไม่ส่งจิตออกไปนอกกาย คอยดูอยู่แต่ในกายเท่านั้น
 อย่าไปคิดปรุงแต่งเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น
 นั่งคอยดู นอนดู เดินดู ยืนดู แต่เฉพาะในกายตัวเอง
 ธรรมจะเกิดขึ้นมาให้เราได้รู้ได้เห็นตามความจริงทุกประการ
 การที่เราไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรม เพราะเรามัววิ่งตาม "ตัณหา"
 ซึ่งเป็นความอยาก ที่มาคอยสั่งการอยู่ภายนอกกาย
 ให้เราปฏิบัติตามอย่างไม่รู้ตัว จึงทำให้เห็นแต่ธรรมนอก
 คือของปลอมจอมหลอกลวงให้เราต้องหลงอยู่ตลอดเวลา
 ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นตัวจริงสักที
หลวงปู่คูณ สิริจันโท

การขอศีลหรืออาราธนาศีลจากพระ



          เมื่อรับศีลแล้วกลับไปบ้าน หรือไปประกอบการงานประจำวัน ส่วนมากไม่สามารถปฏิบัติตามที่ขอรับมาได้ ที่สำคัญ ไม่ได้รู้สึกนึกรู้ด้วยซ้ำไป ว่าได้รับศีลข้อใดมาบ้าง จึงขอให้พิจารณาด้วย ว่าเราได้อาราธนาศีลหรือรับศีลจากพระแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม จะเป็นการหลอกตัวเอง หลอกคนอื่น และหลอกพระด้วยหรือไม่ กรรมดีและกรรมชั่ว อันเกิดจากการกระทำนี้ ย่อมให้ผลมากน้อยอย่างไร

                                                                                    หลวงปู่คูณ สิริจันโท

สุขที่แท้จริงคือว่าง


สุขที่แท้จริงคือว่าง
จากความมีความเป็น
ทั้งหมดไม่มีเหลือ
เป็นความสุขที่ยั่งยืนอยู่ตลอดกาล
หลวงปู่คูณ สิริจันโท

พระธรรมอยู่ที่ตัวเรา


พระธรรมอยู่ที่ตัวเรา
ทุกๆ ตัวตนมีพระธรรมอยู่ครบหมด
ไม่มีขาด เต็มตัวพอดีให้หาดูเอา
อยู่ที่กายและใจเท่านั้น
ไม่ต้องไปหาดูที่อื่นให้ลำบาก
ธรรมแท้จริงๆ คือรูปธรรม นามธรรมนี้เอง
เป็นผู้แสดงให้ใจรู้
หลวงปู่คูณ สิริจันโท

จะเอาสุขทางโลก ก็ได้ทุกข์มาพร้อมกัน


          จะเอาสุขทางโลก ก็ได้ทุกข์มาพร้อมกัน เช่น คิดว่า สามี ภรรยา เป็นความสุข ก็ได้รับทุกข์เพราะสามี ภรรยานั่นแหละ อยากได้ลูกมีความสุข ที่ได้ลูกหญิงลูกชาย แต่ก็ได้รับทุกข์ เพราะลูกนั่นแหละ จะเอาความรัก ก็ได้ความชังมาพร้อม จะเอาอย่างเดียวไม่ได้ อยากได้หนึ่งแต่ได้สอง เป็นกฎธรรมชาติอย่างนั้น

                                                                                               หลวงปู่คำดี ปภาโส


ปล่อยจิตว่าง แล้วจิตสบาย



          ปล่อยจิตว่าง แล้วจิตสบาย เพราะจิตเป็นหนึ่งไม่ขุ่นมัว ไม่มีอารมณ์มาฉาบทาดวงจิตแล้ว ดวงจิตใส ดวงจิตขาว จิตเย็นมีแต่ความสบาย รู้เท่าสังขาร รู้เท่าความเป็นจริง จิตเราไม่หวั่นไหวต่อสิ่งทั้งปวง ถึงมรณะจะมาถึงก็ตาม ทุกขเวทนา เจ็บปวด มาถึงก็ตาม ไม่มีความหวั่นไหวต่อสิ่งเหล่านั้น


                                                                                    หลวงปู่ขาว อนาลโย

คนที่ว่าตนเองฉลาดแล้วคือคนโง่


คนที่ว่าตนเองรู้ ตนเองฉลาดแล้ว
คนนั้นคือคนโง่ที่สุด
คนที่มีนิสัยถ่อมตน ไม่ถือตัว
ไม่อวดความรู้ที่ตนเองมี
คนนั้นคือ นักปราชญ์ผู้รู้จริง
และผู้นั้นจะมีความรู้จากบุคคลต่างๆ
สิ่งต่างๆ อีกมาก
หลวงปู่ขาว อนาลโย

ธรรมอยู่ที่สติ



ธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
อยู่กับ "สติ" อันเดียว
พระพุทธเจ้าว่าแล้วในพระโอวาทปาฏิโมกข์ไม่ใช่หรือ .
บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวอยู่บนพื้นปถพี
รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายไปลงอยู่ใน "รอยเท้าช้างอันเดียว"
มีรอยเท้าช้างเป็นใหญ่กว่าเขาเสียหมด
ฉันใดก็ดี ธรรมะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
อยู่ที่ "สติ"
หลวงปู่ขาว อนาลโย

แก่นแท้ของธรรมอยู่ที่สติ




แก่นแท้ของธรรมอยู่ที่สติ
จงหมั่นทำสติ ให้แก่กล้า
สติ ทำอะไรไม่ผิดพลาด   
กุศล และ ธรรมทั้งหลาย ...
คุณงามความดีทั้งหลาย เกิดขึ้นได้  
เพราะ บุคคลมี "สติ" อย่างเดียว
จะคิด จะพูด จะทำ ให้มี "สติ"
ระลึกนึกเสียก่อน มันผิด ก็ให้รู้
มันถูก จึงค่อยทำ
หลวงปู่ขาว อนาลโย

การปฏิบัติธรรมมีแต่คุณ


"...การปฏิบัติธรรมนั้นไม่มีโทษ มีแต่คุณ
คือจิตไม่ขุ่นมัว จิตผ่องใส จิตเบิกบาน
จะยืน เดิน นั่ง นอนก็มีความสุข ไม่มีความทุกข์
จะเข้าสู่สังคมใดๆ ก็องอาจกล้าหาญ
การทำความเพียร เมื่อสมาธิเกิดขึ้น มีขึ้นแล้ว
จะไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีความเกียจคร้าน
ต่อการงานทั้งทางโลก ทั้งทางธรรม
จากนั้นก็เป็นปัญญาที่จะมาเป็นกำลัง
เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้วรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์
จะเรียนทางโลกก็สำเร็จ จะทำทางธรรมก็สำเร็จ..."
หลวงปู่ขาว อนาลโย

ปล่อยวางคือไม่ยึดไม่ถือ



          ปล่อยวางคือไม่ยึดไม่ถือ รู้เท่าทัน เมื่อปล่อยวางแล้วนั่นแหละ จิตมันถึงจะสงบ จิตมันถึงจะมีความสุข ความสบาย จิตไม่ดิ้นรน จิตสงบนั่นแหละให้รู้ว่าจิตเราสงบ จิตเราไม่เพลิดเพลินกับอารมณ์ ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ไม่เพลิดเพลิน เฉย เป็นกลาง เรียกว่านิโรธะ ปล่อยวางอันนี้ ความทะเยอทะยานหรือสมุทัย วางอันนี้ได้ชื่อว่าปล่อยเหตุ วางเหตุแล้วจิตสงบ จิตเป็นกลาง

                                                                                       หลวงปู่ขาว อนาลโย

จงทำ "ใจ" ให้เหมือน "แผ่นดิน"



จงทำ "ใจ" ให้เหมือน "แผ่นดิน"
เพราะว่าแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้
ไม่ได้เคยโกรธใครทำอะไรใครเลย
จงทำ "ใจ" เหมือน "น้ำ"
เพราะธรรมดาของน้ำย่อมเป็นของสะอาด
ชำระของสกปรกได้ทุกเมื่อและเป็นของดื่มกิน
เพื่อมีชีวิตช่วยเหลือแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
จงทำ "ตน" ให้เหมือน "ผ้าเช็ดเท้า"
เพราะธรรมดาของผ้าเช็ดเท้า
ย่อมไม่มีความรักความชัง ฉันใด
ใจเราก็ทำเหมือนกัน ฉันนั้น
เมื่อเราตั้งใจฝึกฝนอบรมได้เช่นนี้แล้ว
ไปอยู่ที่ไหนก็มีแต่ความสุข ความทุกข์ในใจก็จะไม่เกิด
ดังสุภาษิตที่ท่านกล่าวไว้ว่า "จิตตังทันตัง สุขาวะหัง"
จิตที่ฝึกฝนมาดีแล้ว นำมาซึ่งความสุข
ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
หลวงปู่ขาว อนาลโย

การฟังธรรม



การฟังธรรมไม่จำเป็นจะต้องฟัง
จากครูบาอาจารย์เสมอไป
เห็นอะไรดีอะไรชั่ว
ก็น้อมเข้ามาสอนตัวสอนตน
ก็จะได้อุบายเหมือนกัน
หลวงปู่ขาว อนาลโย