ชีวิตมีบังเกอร์ ถ้าตั้งสติเป็น
คนที่ตั้งสติเป็นนี่ เหมือนกับชีวิตเขาอยู่ในบังเกอร์ ป้องกันอารมณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเป็นคนที่ยังหลงใหลในอารมณ์ เปรียบเหมือนคนที่ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว ลูกศรแห่งกิเลสตัณหาจะมาทิศทางใด ก็อาจจะถูก เกิดการเสวยเวทนา เป็นภพเป็นชาติ วุ่นวายหลงใหลกันไปตลอดเวลา
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ
จงเฝ้าดูตน
อย่ามองออกไปข้างนอก
ถ้าไปยึดข้างนอก
มันจะลืมตัว
มันจะไม่เห็นตัว
การพิจารณาผู้อื่น
จะเพิ่มความหยิ่งทะนง
จงเฝ้าดูตน
หลวงปู่ชา สุภัทโท
การจัดการกับอารมณ์รุนแรง
การมีสติกับท้องที่พองขึ้นและท้องยุบลงในขณะที่หายใจเข้าออก เป็นวิธีการที่จะจัดการกับอารมณ์รุนแรงได้อย่างดียิ่ง ในขณะที่เรามีอารมณ์รุนแรงเกิดขึ้น เราไม่ควรปล่อยให้ตัวของเรา ใจของเราอยู่ในระดับสมอง วุ่นวายอยู่บนความคิดในสมอง เราควรจะนำความสนใจทั้งหมดมาอยู่ใต้สะดือในระดับท้อง และมุ่งความสนใจทั้งหมดอย่างเต็มที่ ไปที่ท้องที่พองขึ้นและยุบลง ในการตามลมหายใจ เข้าและออก ถ้าเราอยู่ตรงนั้นอย่างหนักแน่นกับลมหายใจเข้า-ท้องพอง หายใจออก -ท้องยุบลง ในเพียงเวลาแค่ 5 นาที อารมณ์รุนแรงนั้น ก็สามารถที่จะสงบลงได้
ท่านติช นัท ฮันห์
อย่าเอาเรื่องของโลกมาเป็นอารมณ์ของใจ
ในโลกมนุษย์นี้ เราจะหลบหนีจากคำตำหนิติเตียนไม่ได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองซึ่งเป็นจอมปราชญ์ทั้งหลาย ก็ยังถูกโลกติเตียนอยู่พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสเป็นพุทธภาษิตไว้ว่า
นัตถิ โลเก อนินทิโต แปลใจความว่า คนที่ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก
เราจะให้สัตว์โลกปราศจากสิ่งดังกล่าวไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็อย่าพากันไปเอาเรื่องของโลกมาเป็นอารมณ์ของใจ จะทำให้จิตใจของเรามัวหมอง
หลวงปู่คำดี ปภาโส
สมาธิคือการตั้งสติอันเดียว
การฝึกหัดสมาธิภาวนา คือ การตั้งสติอันเดียว ให้รู้ตัวอยู่เสมอ มันคิดมันนึกอะไร ก็ให้รู้ตัวอยู่เสมอ ยิ่งรู้ตัวชัดเจนเข้ามันยิ่งเป็น เอกัคคตารมณ์ นั่นแหละตัวสมาธิ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ทุกย่างก้าว ของความฝัน...
ทุกย่างก้าว ของความฝัน
คือ ก้าวย่าง ของความเหน็ดเหนื่อย
ทุกก้าวย่าง ของความเหน็ดเหนื่อย
คือ ก้าวย่าง ของความสำเร็จ
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
วิธีที่สร้างสติให้มีได้ง่าย
วิธีที่สร้างสติให้มีได้ง่าย คือสร้างตามหลักของสติปัฏฐาน ๔ สร้างลงไปในกาย สติต้องมามีอยู่ที่กายก่อน ต่อไปก็มีอยู่ที่จิตใจ มีเจตนารู้สึกที่กาย เช่นเดินจงกรม ยกมือเคลื่อนไหว ลมหายใจ ให้เติมความรู้สึกตัวกับอิริยาบถของกาย หาวิธีที่จะรู้สึกตัวตลอดเวลา จนว่าสติมีมากในกายและในจิตใจ จนว่ากายใจมีแต่สติความรู้สึกตัวจนเป็นอันเดียว
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ
เครื่องบอกการละกิเลส
เครื่องบอกให้ทราบว่าเราละกิเลสได้นั้นคือ
สิ่งที่เคยโลภมันไม่โลภ สิ่งที่เคยโกรธมันไม่โกรธ
สิ่งที่เคยหลง ว่าเป็นตัวตนเราเขาสัตว์บุคคล
มันไม่หลงว่าเป็นตัวเราเขา
ก็แปลว่ามันบอกให้เราทราบแล้ว
แต่หากว่ามันหลงมันก็บอกให้เราทราบได้อีกเหมือนกัน....
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
ศรัทธาที่เกินหน้าปัญญา...
ศรัทธาที่เกินหน้าปัญญา กลายเป็น งมงาย
ปัญญาที่เกินหน้าสติ กลายเป็น หลงตัวเอง
สมาธิที่เกินหน้าปัญญา กลายเป็น เกียจคร้าน
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วางให้หมด จึงถึงฝั่ง
ดี ชั่ วกลางๆ มันต้องวางให้หมด
สุข ทุกข์ กลางๆ มันต้องวางให้หมด
มันต้องดับหลงทั้งหมดให้ได้เสียก่อน
ถึงจะไปรอด คือผู้ถึงฝั่ง
ถ้ายังไปยึดโน่นยึดนี่ เสร็จ ไปไม่รอด
สติเป็นตัววางขันธ์ ๕ ทั้งหมด
นี่เป็นทางรอด มันจะต้องวางกังวลให้หมด
ถ้าวางกังวลได้หมด รูป-นามมันถึงจะดับ
หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต
เป็นชาวพุทธ อย่าให้เสียชาติเกิด
เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว ได้พบหนทางที่ประเสริฐที่สุดสำหรับชีวิตของเราแล้ว ถ้าเราไม่เดินไปตามนั้นเราจะไม่เสียดายหรือ เมื่อชาตินี้ไม่ปฏิบัติแล้ว อีกกี่ชาติ จึงจะได้พบหนทางเช่นนี้อีก
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วิโมกขธรรมมีค่ากว่าสุขทางโลก
พระพุทธเจ้า และพระสาวกเจ้าทั้งหลาย ท่านได้เสียสละความสุขอันเป็นไปด้วยราชสมบัตินั้น พระองค์ท่าน มีผู้คนยกย่องสรรเสริญ คอยปฏิบัติอุปัฏฐากแล้ว ได้เสียสละมานอนกับดิน กับหญ้า ใต้โคนต้นไม้ถึงกับอดอาหาร เป็นต้น การเสียสละเหล่านี้ เพื่อประโยชน์อะไร ก็เพื่อให้ได้ถึงซึ่งวิโมกขธรรม คือธรรมเป็นเครื่องพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ และตาย
หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
ปัญญาเกิดจากการวางความคิด
ที่จริงเราทุกคนก็มีปัญญาของตนเองอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่าปัญญานั้นถูกความคิดฟุ้งซ่านวุ่นวายทับถมเอาไว้
แต่เมื่อเราสามารถปล่อยวาง
และกล้าเสียสละความยินดีในสิ่งไร้แก่นสารสาระ
ปล่อยวางความคิดเรื่อยเปื่อย
เมื่อนั้นความคิดสร้างสรรค์ก็มีโอกาสบังเกิดขึ้น
ชยสาโรภิกขุ
ธรรม ปฏิบัติเพื่อเสียสละ
การปฏิบัติธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอา แต่ปฏิบัติเพื่อเสียสละ เราปฏิบัติศีลไม่ใช่ว่าจะหอบศีลเอาไว้ ปฏิบัติสมาธิหอบสมาธิเอาไว้ เจริญปัญญาหอบปัญญาเอาไว้ ถ้าหากว่าเราปฏิบัติเพื่อเอา อะไรก็เอา ๆ ๆ เอามา สะสมไว้ในใจนี่ก็เกิดปัญหาขึ้นมา ประเดี๋ยวศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร ประเดี๋ยวก็มิจฉาทิฎฐิคืออะไรสัมมาทิฏฐิคืออะไร วุ่นวี่วุ่นวายไปหมด ฉะนั้น เรามาดูกันที่กายที่ใจของเรานี่ให้มีปัญญาแก้ปัญหาชีวิตประจำวันที่กายที่ใจของเราให้ได้ไม่ดีหรือ.....
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ภาวนาจะให้นิ่งอย่างเดียวไม่ได้
เรื่องภาวนา เราจะให้มันนิ่งอยู่หน้าเดียวดิ่งในเป้าที่เราเพ่งอยู่มันก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะสมาธิทั้งหลายอยู่ใต้อำนาจอนิจจังอันละเอียด เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา มันจะถอนออกมาก็ช่างมัน เราต้องสังเกตว่า ออกมาแล้วอย่างนี้มีกามวิตก ความตริในทางกามหรือไม่ มีพยาบาทวิตก ความตริในทางพยาบาทหรือไม่ มีวิหิงสาวิตก ความตริในทางเบียดเบียนหรือไม่ ถ้าไม่มีธรรม 3 ประการนี้รบกวนจิตใจเรา ก็ปล่อยให้จิตใจนั้นอยู่ตามสบายนั่นเถิด
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
การปฏิบัติสุญญตา
...การปฏิบัติสุญญตานั้น...ไม่ใช่ทีแรกก็ให้ว่างกันไปเสียหมด ไม่ต้องมีอะไรจะยึดถือทั้งนั้น ...ให้ว่างจากความไม่ดี ความชั่ว...อย่าให้ว่างจากความดี ... ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็จะต้องทิ้งไม่ดี ยึดดีไว้ ...ปฏิบัติเพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับ ...เป็นพระอรหันต์เมื่อไรก็เป็นอันว่าว่างหมดทั้งดีทั้งชั่ว เพราะฉะนั้น เมื่อตนยังไม่ถึงขั้นถึงตอนที่จะไปว่างหมด คิดว่าจะว่างหมด สุญญตาหมด ก็เป็นการคิดผิด ปฏิบัติผิด ...ขั้นของธรรมะที่ปฏิบัตินั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีความเข้าใจ และเมื่อปฏิบัติถูกต้องดั่งนี้ ก็เรียกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
จะต้องมีสติ พร้อมอยู่เสมอ
จะต้องมีสติ พร้อมอยู่เสมอ
ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
เพราะ มันมีโอกาสบรรลุธรรม
อยู่ทุกเวลา ทุกสถานที่
เมื่อเราตั้งใจพิจารณาอยู่
หลวงปู่ชา สุภทฺโท
ปรารถนาปัญญา พึงทำใจให้สงบ
ผู้มีปัญญา...จึงเป็นผู้มีจิตสงบ แม้ปรารถนาจะเป็นผู้มีปัญญา พึงทำใจให้สงบ คือ สงบจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ปรารถนาเป็นผู้มีปัญญาเพียงไร พึงทำให้สงบเพียงนั้น อีกนัยหนึ่งก็คือ ทำใจให้สงบได้เพียงใด ก็จะสามารถอบรมปัญญาให้ยิ่งขึ้นได้เพียงนั้น
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ความผิดนี้แหละ เป็นครูอย่างดี
จงระลึกถึงคติพจน์ ว่า “Do no wrong is do nothing!”
“ทำอะไรไม่ผิดเลย ก็คือไม่ทำอะไรเลย”
ความผิดนี้แหละ เป็นครูอย่างดี
ควรจะรู้สึกบุญคุณของตัวเอง ที่ทำอะไรผิดพลาด
และควรสบายใจที่ได้พบกับอาจารย์ผู้วิเศษ คือความผิด
ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต
ผลของความอ่อนน้อม
ความได้เกิดในชาติตระกูลสูง
ย่อมเกิดแต่ความอ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อม
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
ไม่สบายคือโอกาสเข้าถึงธรรม
เวลาไม่สบายนะเป็นของดี ให้พิจารณาเวทนาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เอาแต่นอน นอนก็นอนทำสมาธิ พิจารณาอาการเวทนาที่เกิดขึ้นให้ได้ อย่าให้จิตเป็นไปตามเวทนาที่เกิด
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
พบอะไรก็ตามอย่าหลงติด
พบอะไรก็ตามอย่าหลงติด ได้รับอะไรก็ตามอย่าหลงติด พบความทุกข์ก็อย่าหลงติด โดยหลงคิดว่าจะต้องพบความทุกข์นั้นตลอดไป พบความสุขก็อย่าหลงติดโดยหลงคิดว่าจะต้องพบความสุขนั้นตลอดไป....นี้แหละที่เรียกว่าทุกข์เพราะความคิดที่ผิด ความคิดจะไม่ให้ความทุกข์ทรมานใจหนักหนาเกินกว่าจำเป็น แก่ผู้ที่ทุกขณะจิตได้ยินพระสุรเสียงในสมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเตือน “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับเป็นธรรมดา” ทุกข์แล้ว ทุกข์ก็จะดับ ไม่ใช่ทุกข์แล้วก็จะทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ตลอดไป ไม่รู้จบไม่รู้สิ้น และเช่นเดียวกัน สุขแล้ว สุขก็จะดับ ไม่ใช่สุขแล้วก็จะสุข สุข สุข ตลอดไป ไม่รู้จบไม่รู้สิ้น
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เราเกิดมาแล้ว ความตายมันแขวนคอไว้
เราเกิดมาแล้ว ความตายมันแขวนคอไว้
ตายทุกลมหายใจเข้า ตายทุกลมหายใจออก
จิตโมหะ เราจะมาลุ่มหลงมัวเมา
หัวเราะ ร้องไห้ อยู่นี่หรือ
ไม่ดำเนินเดินไปสู่ความพ้นทุกข์ในวัฏฏะสงสาร
จะมาติว่า โลกนี้มันเป็นทุกข์ อย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้
จิตเราหลงมาติดอยู่ในโลก
ไม่ใช่โลกมันมาติดเรา
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
ผู้มีปัญญาย่อมกลัวกรรม
ผู้มีปัญญาจึงกลัวกรรมยิ่งกว่ากลัวอะไรอื่น กลัวเพราะรู้ว่า เมื่อทำกรรมไม่ดีไว้แล้ว ต้องได้รับผลไม่ดี และเมื่อถึงเวลาที่กรรมส่งผลไม่ดีมาถึงตัวแล้ว แม้ตั้งแต่เกิดมาในชาตินี้จะไม่เคยทำกรรมไม่ดีเช่นนี้ ก็จะต้องได้รับผลไม่ดี ที่อาจทำให้พิศวงสงสัยเป็นอันมาก
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เชื่อธรรม อย่าเชื่อคน
เชื่อธรรม อย่าเชื่อคน เพราะคนแปลว่ายุ่ง
ส่วนพระธรรมนั้น แม้พระพุทธเจ้ายังเคารพในพระธรรม
พระธรรมไม่เกิดไม่ตาย คนยังเกิดตายอยู่
พระธรรมเป็นสุดยอดของความดีในโลก
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
สัตว์โลกกลัวตาย ไม่กลัวเกิด
ความเกิดกับความตายเป็นของคู่กันอยู่แล้ว เมื่อเกิดแล้วต้องตาย
แต่สัตว์โลกกลัวกันแต่ความตาย ส่วนความเกิดไม่กลัว
จึงโดนความตายอันเป็นผลของความเกิดอยู่ไม่หยุด
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เมตตากับศีลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เมตตากับศีล
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอ
ยากจะแยกจากกันได้
ผู้มีศีลก็คือผู้มีเมตตา
ผู้มีเมตตาย่อมเป็นผู้มีศีล
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
ความสุขจริงแท้เริ่มที่พิจารณากายเป็นอสุภะ
ถ้ามีสติปัญญาที่จะพิจารณาร่างกายของเรานี้ให้เห็นเป็นอสุภกรรมฐาน หรือธาตุกรรมฐาน ให้จิตปล่อยวาง ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของเรา พิจารณาธาตุจนถึงความว่างว่ากายนี้ไม่มีอะไร สักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติ ถ้าจิตเราเห็นเช่นนั้นตามความจริง ก็สามารถที่จะถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่นในกายตนได้ สามารถที่จะถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่นในวัตถุธาตุทั้งหลายในโลกนี้ได้ ความโลภก็ดับลงไป ความโกรธก็ดับลงไป ความหลงในกายตนก็ดับลงไป ความสุขที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้นภายในจิตใจของแต่ละบุคคล
พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตโต
เนกขัมมะ ไม่จำเป็นต้องบวชกาย
เนกขัมมะ คือการหนีออกจากกามคุณจากทุกข์จากโทษจากภัยอันตราย โดยการจะบวชหรือไม่บวชก็ใช้ได้เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะเนกขัมกินความกว้างกว่า บางท่านไม่บวชกายแต่ว่าใจบวชก็ดีเหมือนกัน บางท่านบวชกายแต่ไม่บวชใจ บวชเข้ามาแล้วก็ไม่ตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรมวินัย อันนี้ก็ใช้ไม่ได้...
หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร
เรามีสิทธิ์ชั่วคราวในของๆ เรา
ทุกๆ อย่างที่ยึดถือว่าเป็นของเรานั้น
แม้ว่าจะมีสิทธิอยู่ แต่ก็เป็นสิทธิชั่วคราวเท่านั้น
ไม่เป็นสิทธิที่แท้จริง เพราะถ้าเป็นสิทธิที่แท้จริงแล้ว
ก็จะต้องไม่มีความพลัดพราก
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
จิตที่อบรมถูกต้อง ปัญญาย่อมเกิด
จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้ว ปัญญาย่อมเกิดขึ้น
จะมองดูอะไรก็เป็น “นิยายนิกธรรม” ทั้งสิ้น
ส่วนผู้ไม่ได้รับการอบรมจิตที่ถูกต้อง ปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด
แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล
ยิ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยตลอดไป
ส่วนผู้มีปัญญาอบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง
แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎก
แต่ก็น้อมเอาสิ่งต่างๆ มาเป็นธรรม
เป็นยอดพระไตรปิฎกได้
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
กฎของจิตตานุภาพ
จงจำไว้ว่า ถ้าปรารถนาความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่น ก็ควรส่งกระแสใจที่ประกอบด้วยความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจไปยังท่านเหล่านั้น แล้วก็จะได้รับความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจจากท่านเหล่านั้นเช่นเดียวกัน นี่เป็นกฎของจิตตานุภาพ
ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต
น้อมจิตถึงสรณะเป็นกิจที่ผู้ปฏิบัติธรรมะควรมีเสมอ
การที่มาปฏิบัตินอบน้อมดังบท นะโม และน้อมจิตถึงสรณะดังบทว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นั้น จึงเป็นกิจที่ผู้ปฏิบัติธรรมะควรมีอยู่เสมอ จิตจะได้ไม่ห่างจากพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ จิตก็จะได้ถูกนำไปสู่ความเป็นศีลเป็นสมาธิ และเป็นปัญญากับทั้งวิมุติ เพราะฉะนั้นสรณะนี้จึงเปรียบเหมือนอย่างว่าเป็นพาหนะ เช่นเป็นรถไฟ เป็นรถยนต์ หรือเป็นพาหนะอย่างอื่น ที่เมื่อขึ้นไปนั่งอยู่บนพาหนะเหล่านี้ พาหนะเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ปลายทางที่ต้องการ คือศีลสมาธิปัญญาวิมุติ
วิ่งกับสุขกับทุกข์ ไม่พบธรรมะ
เราจะปฏิบัติอย่างไร อันนี้สำคัญ
ถ้าเราไปวิ่งกับสุข ไปวิ่งกับทุกข์
มัวไปวิ่งกับสุข ไปวิ่งกับทุกข์อยู่นั่น
จะวิ่งตลอดจนถึงวันตาย ก็ไม่พบธรรมะ
ก็อยู่ไม่ได้ เมื่อรู้จักสุขทุกข์ทั้งสองนี้ขึ้นมาเมื่อไร
เราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรโดยธรรมะ นี่คือการปฏิบัติ
หลวงปู่ชา สุภัทโท
ร่างกายเป็นของปฏิกูล
เพราะร่างกายไม่ใช่ของสวยงามอะไร เขาเกิดมาเพื่อแก่ เพื่อเจ็บ เพื่อตายเท่านั้นเอง อวัยวะแต่ละส่วนๆ ก็ล้วนเป็นของปฏิกูลด้วยกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าร่างกายเป็นของปฏิกูล เป็นของน่าเกลียดเป็นของไม่สวยไม่งาม
จะสวยงามอะไร ก็ของมันต้องล้าง...กันอยู่ทุกวัน ถ้ามันไม่ล้างแล้วมันจะขนาดไหน นี่ ความเจริงเป็นอย่างนี้ แต่เราพยายามปกปิดกัน พยายามที่เอาอันนั้นมาปิด เอาอันนั้นมาเคลือบ เอาอันนั้นมาย้อม อันนี้เป็นการปกปิดเป็นการหลอกลวงกันอยู่เสมอ ความเป็นจริงเราไม่ค่อยจะให้มันปรากฏออกมา
หลวงปู่แบน ธนากโร
สมาธิเป็นหลักแกนของการปฏิบัติธรรม
...สมาธิเป็นข้อหลัก...เป็นอันดับ ๑ และ...มรรคมีองค์ ๘ ข้ออื่นนั้นเป็นบริวาร หรือเป็นบริขารของสมาธิ และสมาธินั้นก็คือจิตนั้นเองที่ตั้งมั่น….เป็นสัมมาสมาธิ... สงบจากกาม สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลาย… จิตที่เป็นสมาธิ คือที่ตั้งมั่นอยู่โดยชอบนี้ ย่อมสามารถรับกุศลธรรมทั้งหลายได้ ถ้าจิตกวัดแกว่ง หรือซึมเซา ย่อมรับกุศลธรรมทั้งหลายไม่ได้ เหมือนอย่างมือ ถ้าหากว่ามือที่กำอยู่...ก็รับของอะไรไม่ได้ หรือแม้มือที่แบ...แต่ว่าถ้ากวัดแกว่ง ... ก็วางของลงไปในมือ ให้ของตั้งอยู่ด้วยดีไม่ได้ แต่เมื่อมือแบและนิ่งอยู่ วางของลงบนมือนั้น ของนั้นก็ตั้งอยู่ได้ จิตก็เช่นเดียวกัน ต้องเป็นจิตที่แบคือไม่ซึมเซา และไม่ฟุ้งซ่านคือไม่แกว่ง จึงจะรับรองกุศลธรรมทั้งหลายได้...สมาธิจึงเป็นหลักแกนของการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสยกไว้เป็นประธาน ...
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สู้ด้วยการละทิ้ง
สู้ด้วยการละทิ้ง อย่าไปยึดเอาถือเอา เขาว่าให้เรา เขาดูถูกเรา เสียงไม่ดีเข้าหู ก็เพียรละออกไปให้มันหมดสิ้น มนุษย์มีปาก ห้ามมันไม่ให้พูดไม่ได้ มนุษย์มีตา ห้ามไม่ให้มันดูไม่ได้ มันเป็นเรื่องของโลก ท่านจึงตรัสว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นความร้อน ความร้อนคือกิเลส กิเลสเหมือนกับไฟ ไฟมันเป็นของร้อน
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
บุญเป็นอย่างนี้
..บุญเป็นอย่างนี้
ลักษณะของบุญคือใจเราดี ใจเรามีความสุข
ใจเรามีความสบาย เย็นอกเย็นใจ
ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ไม่วุ่นไม่วาย
นี่แหล่ะบุญ มีหรือยัง...
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ความหมายของเมตตาและกัลยาณมิตร
ผู้ใดก็ตาม ไม่ช่วยชี้ให้ผู้ผิดรู้ตัว
ทั้งยังส่งเสริมด้วยการชื่นชมทั้งรู้ว่าผิด
เช่นนั้นเป็นการแสดงความไม่เมตตา
ผู้มีกัลยาIมิตร คือ มีมิตรดี
หมายความว่ามีมิตรที่ไม่ตามใจ
ให้ทำความผิดร้ายความไม่ดีต่างๆ
มีมิตรคอยตักเตือนเมื่อทำผิดทำมิชอบ
มีมิตรที่มีปัญญาสามารถช่วยแก้ไข
ป้องกันไม่ให้คิดผิดพูดผิด
ผู้ใดทำตัวเป็นกัลยาณมิตรของใครๆ ได้
ผู้นั้นคือ ผู้ให้เมตตาต่อใครๆ นั้น
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
ตัวสติ ต้องมีไว้มากๆ
จะรู้จะเห็นอะไร ก็ให้สักแต่ว่ารู้ ไม่ให้เป็นไปตามเขา จิตดั้งเดิมของเรามันไม่มีอะไร มันรู้อยู่ทุกอย่างอยู่แล้ว แต่พอมีสิ่งต่างๆมาสัมผัสทั้งภายนอกภายใน ก็ทำให้เราเผลอสติปล่อยตัวรู้ ลืมตัวรู้ที่มีอยู่ดั้งเดิมเสีย ไปรับสิ่งที่เอามาทีหลังแล้วก็ทำไปตามเขา คือ เป็นสุขเป็นทุกข์ อะไรต่างๆ ที่เราเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าเราไปรับเอาสิ่งสมมติต่างๆ เข้ามายึดมั่นถือมั่น ถ้าเราจะไม่ให้เป็นไปตามสิ่งต่างๆ เราก็ต้องรักษาตัวรู้ดั้งเดิมของเราไว้ให้ตลอด ตัวสติ ต้องมีไว้มากๆ
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
เพชรอยู่ในหิน...
“..เพชรอยู่ในหิน คนธรรมดาไม่รู้เอาไปทำก้อนเส้า
ได้แค่หุงข้าวกิน เอาก้อนเพชรไปหุงข้าวเสีย
คนรู้ เจียระไนออกมาเป็นเพชร เป็นก้อนโลกุตตระ
ก้อนนี้ ดุ้นนี้ คือขันธ์ ๕ รู้ก็รู้ ไม่รู้ก็ตามใจนะ
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
การให้ธรรมที่แท้จริง
...การให้ธรรมไม่หมายถึงเพียงการพิมพ์หนังสือธรรมแจก
หรือการอบรมสั่งสอนด้วยวาจา ให้รู้ให้เห็นธรรมเท่านั้น
แต่การให้ธรรมที่แท้จริง ย่อมหมายถึง
การทำตนเองของทุกคนให้มีธรรม
ให้ธรรมในตนปรากฏแก่คนทั้งหลายโดยอัตโนมัติ
ไม่ต้องมีการแสดงออกเป็นการสั่งสอนด้วยวาจา...
การสั่งสอนธรรมหรือให้ธรรม
ด้วยความประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยตนเองนั้น
มีความสำคัญเหนือกว่าการแจกหนังสือธรรม...
เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ
จนธรรมนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายกับใจ
นั่นแหละเป็นการแสดงธรรมให้ปรากฏ
แก่ผู้รู้ผู้เห็นทั้งหลายทั้งปวง
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
ควรฝึกสติให้อยู่ในเงื้อมมือตน
เราเกิดขึ้นมากี่ภพกี่ชาติ ก็มาหัดสติตัวเดียวนี้ แต่ไม่สมบูรณ์กันสักที
เหตุนั้นควรที่พวกเราจะพากันรีบฝึกหัดสติแต่บัดนี้
เราจวนจะตายอยู่แล้ว ไม่ทราบว่าจะตายวันไหน
ควรที่จะฝึกหัดสติให้อยู่ในเงื้อมมือของตนให้ได้
อย่าให้จิตไปอยู่ในเงื้อมมือของความหลงมัวเมา
ผู้ใดจิตไม่อยู่ในอำนาจของตนก็ได้ชื่อว่า เราเกิดมาเสียเปล่า
ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเสียเปล่า ตายไปก็เปล่าจากประโยชน์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
การสิ้นความกำหนัดเป็นเป้าหมายของธรรมะ
ป่าเปลี่ยวเป็นที่ไปของฝูงเนื้อ
กลางหาวเป็นที่ไปของฝูงนก
การสิ้นความกำหนัดเป็นเป้าหมายของธรรมะ
พระนิพพานเป็นที่ไปของพระอรหันต์
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
ยังไม่ถึงนิพพาน ให้ทำทั้งทาน ศีล ภาวนา
ตราบใดที่เราท่านทั้งหลายยังไม่ถึงฝั่ง.."พระนิพพาน"
ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆ ทางเพื่อความไม่ประมาท
โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแต่โอกาสจะอำนวยให้
จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นลงทุนน้อยที่สุด
แต่ได้กำไรมากที่สุด ก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียว
โดยไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใดๆ ไว้เลย
ก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียวไม่มีอันจะกินจะใช้
ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้เหมือนกัน
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
ทุกข์แฝงอยู่กับสุขตลอดเวลา
ความสุขของทางโลก เป็นความสุขที่จอมปลอม หลอกลวงเล่ห์เหลี่ยมทำให้คนเรานี่หลง พอเราหลงไปเราก็เกิดทุกข์ ครั้งแรก เราว่ามันจะสุขตลอดชีวิต แต่พอใช้ไปไม่นาน สุขมันก็หมดเหลือแต่ทุกข์อย่างเดียว แสดงว่าทุกข์มันแฝงอยู่กับสุขตลอดเวลา
หลวงพ่อไม อินทสิริ
จิตไม่ยอมปล่อย ย่อมทุกข์
น้ำไม่ไหลขังไว้ ย่อมเน่าฉันใด
จิตที่รู้เรื่องอะไรแล้วไม่ยอมปล่อย ย่อมทุกข์ฉันนั้น
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต