แล้วเราจะรู้จักพระพุทธเจ้า
ยืนก็รู้ว่ายืน นั่งก็รู้ว่านั่ง
เดินก็รู้ว่าเดิน ยก ย่าง
ให้หายใจเข้า...ยาว รู้ลมตลอด
หายใจออก...ยาว ก็รู้ลมตลอด
ไม่ต้องภาวนา ไม่ต้องนับ
แล้วเราจะรู้จักพระพุทธเจ้า
หลวงพ่อสุทัศน์ โกสโล
เที่ยวขอธรรมะ แต่ไม่ปฏิบัติ
เที่ยววิ่งขอธรรมะ แต่ไม่ยอมปฏิบัติ เดี๋ยวน้ำ เดี๋ยวแห้ง ไม่เอาจริงสักที ระวังเน้อ สะสมธรรมะมากไม่ดี พุงจะแตกเอง ต้องนำออกมาระบาย แยกเหตุแยกผล เรียกว่า วิปัสสนา ธรรมะนั้นไม่มีใครเขาให้มากหรอก มันจะฟุ้งซ่าน
หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร
ศีลรักษาที่ใจ
ศีลมีมากหลายข้อ
ไม่ต้องรักษาหมดทุกข้อดอก รักษาแต่ใจของเจ้าให้ดีอย่างเดียว
กาย วาจา ก็จะดีไปด้วยกันนั่นแหละ
หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต
คนเราจะเป็นสุข เมื่อรู้จักพอดี
คนเราจะเป็นสุข เมื่อรู้จักพอดี
ไม่มีใครได้อะไรตลอดไป หรือเสียอะไรตลอดไป
ไม่มีใครหรือสิ่งไหนคงอยู่ตลอดไป โดยไม่สูญสิ้น
ขอเพียงแค่รู้จักพอดี ทุกคนจะเป็นสุข
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
วัตถุมงคลช่วยได้บางโอกาส
วัตถุมงคลไม่มีวันพอสำหรับคนที่มีความโลภ
แต่ใครจะมีมากหรือน้อย ได้รุ่นนั้นก็ต้องการรุ่นนี้ไม่มีขอบเขต ความโลภ โกรธหลง ทำให้เกิดความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด
วัตถุมงคลเป็นสิ่งที่ให้ระลึกถึงคุณงามความดีองค์ที่ท่านสร้าง
ท่านสร้างด้วยความดี ท่านจะคุ้มครองคนทำดี ท่านเตือนให้กำหนดพุทโธตลอดเวลา
ไม่มีอะไรเหนือกรรม
กรรมดีพระคุ้มครอง ไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่ากรรม กรรมดีพระคุ้มครอง ไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่ากรรมได้เลย
หมดอายุขัยก็คุ้มครองไม่ได้ แรงอะไรก็ไม่เท่าแรงกรรม วัตถุมงคลท่านจะช่วยได้บางโอกาสเท่านั้น อย่าประมาทกรรม ไม่มีอะไรเหนือกรรม จงทำดีให้มาก
หลวงปู่เนย สมจิตโต
ความรู้กับปัญญา
มนุษย์ที่ยังไม่ได้พบหนทางแห่งธรรมญาณ
ย่อมสับสนถ้อยคำว่า
ความรู้ กับ ปัญญา
เพราะเห็นเป็นเรื่องเดียวกัน แท้ที่จริงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ความรู้ เป็นความจำ
อ่านมากฟังมากย่อมมีความรู้มากเป็น สัญญาขันธ์ ที่ตกอยู่ในกฎแห่งความไม่เที่ยง พอมีกิเลสมากระทบความรู้ย่อมหายไปได้ง่ายๆ ส่วน
ปัญญา เป็นอานุภาพของธรรมญาณ
สามารถแยกแยะ ผิด หรือ ถูก ได้
ท่านเว่ยหล่าง
เพ่งโทษตนเป็นบัณฑิต
เพ่งโทษตนเป็นบัณฑิต
เพ่งความผิดคนอื่นเป็นพาล
หลวงปู่จันทร์ กุสโล
ให้อภัยคือสันติสุข
เราให้อภัยคนอื่น
ไม่ใช่เพียงเพราะเขา
สมควรได้รับการอภัยเท่านั้น
แต่ตัวเราเองก็สมควรได้รับสันติสุข
จากการปลดเปลื้องอารมณ์อันขุ่นมัวด้วย
ปิยสีโลภิกขุ
การสร้างพระ เปรียบได้กับธนาคารบุญ
การสร้างพระ
เปรียบได้กับธนาคารบุญ ซึ่งจะเกิดบุญกุศลกับผู้ที่มีส่วนในการสร้าง โดยบุญกุศลนั้นจะเกิดขึ้นทุกครั้ง ที่มีผู้มากราบไหว้ สักการะบูชา เท่ากับจำนวนคนและจำนวนครั้ง
หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
ความรักของพ่อแม่เหมือนพระอริยะเจ้า
ความรักของพ่อของแม่เป็นความรักที่บริสุทธิ์ มีความปรารถนาดีต่อลูกอย่างเดียว จึงเป็นความรักเดียวกันกับความรักของพระอริยเจ้า
ความรักของพระอริยเจ้าก็คือรักอย่างไม่มีข้อแม้ รักทุกคนโดยเสมอหน้ากัน
ปรารถนาให้ทุกคนล่วงพ้นจากความทุกข์ มีแต่ความสุขเสมอกัน พระพุทธเจ้า ถึงได้ตรัสอย่างเต็มปากเต็มคำว่า
พระองค์รักราหุลเท่าใด ก็รักเทวทัตเท่านั้น
หลวงพี่เล็ก สุธมฺปญฺโญ
อานิสงส์ของการปล่อยสัตว์ใหญ่
ถาม: อานิสงส์ของการปล่อยสัตว์ใหญ่....?
ตอบ
:
อันดับแรกได้ตัวเมตตาบารมี
เราไปปล่อยเขาให้มีชีวิตรอดได้รับความสุขความสะดวกสบายน่ะ ต่อไปเราทำอะไรก็จะสะดวกสบายไปหมด ...มีอานิสงส์พิเศษอีก เรื่องของการปล่อยชีวิตสัตว์
ถ้าหากว่าเป็นสัตว์ที่เขาขายเพื่อให้ไว้ฆ่าเป็นอาหารน่ะ ถ้าช่วงนั้นเรามีอุปฆาตกรรมเข้ามา มันจะเป็นกุศลต่อชีวิตให้เราด้วย
ตัวหนึ่งเท่ากับปีหนึ่ง สมมติว่าคุณปล่อยปลา ๑๐ ตัว นี่อายุยืนต่อไป ๑๐ ปีแน่ๆ
แต่ถ้าหากว่าไม่มีอุปฆาตกรรมเข้ามารบกวน อานิสงส์ตัวนี้ก็จะทำให้เรามีความสุขสะดวกสบาย
เรื่องเคราะห์กรรมใหญ่ๆ อย่างเช่นว่าหนักอยู่สักหน่อย ถ้าหากว่าปล่อยพวกไก่พวกเป็ดที่เขาจะฆ่า เคราะห์กรรมอันนั้นก็จะเบาไป
ถ้ามันจะถึงแก่ชีวิตเลย ปล่อยสัตว์อย่างพวกแพะ แกะ วัว ควาย ก็จะเป็นการต่อชีวิตของเราได้เลย
ประเภทที่เรียกว่า
ยิ่งกรรมหนักก็ยิ่งปล่อยสัตว์ใหญ่ยิ่งได้เปรียบ
แล้วมันมีอานิสงส์แปลกๆ อยู่อย่าง คือ
หลวงพ่อท่านเคยซื้อปูทะเลไปปล่อย
เห็นมันโดนมัดอยู่เป็นเข่งๆ ก็สงสาร ซื้อแล้วก็เอาไปปล่อยตัดเชือกปล่อยมันลงทะเลไป ปรากฏว่าท่านบอกว่า
ปกติแล้วท่านจะปวดหลังเมื่อยตัวเป็นประจำ พอปล่อยแล้วมันไม่เป็นอีก
ท่านก็เลยมานึกๆ ดู อ๋อ..... ปูมันโดนมัดอยู่ทั้งวันทั้งคืน มันคงเมื่อยแย่อยู่แล้ว มีโอกาสได้ไปปล่อยมันเข้าอานิสงส์ตัวนี้ก็เลยช่วยท่าน ประเภททันตาเห็นเลย ...
หลวงพี่เล็ก สุธมฺปญฺโญ
ถ้ารู้ว่าไม่สงบคือตัวสงบ
สงบก็รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ รู้ทั้งๆ ที่มันไม่สงบ
ถ้ารู้ว่ามันไม่สงบนั่นแหละคือตัวสงบ
คนที่สงบก็ไม่รู้ ไม่สงบก็ไม่รู้ นั่นเรียกว่ารู้ไม่ทัน
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
ธรรมนี้อยู่ที่ทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านทรงเห็นทุกข์ ทำทุกรกิริยามากกว่าคนอื่น ท่านทำถึง ๖ ปี พอท่านเห็นทุกข์ ท่านบอกว่า
ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นพ้นทุกข์ ธรรมนี้อยู่ที่ทุกข์
แต่ทุกวันนี้ทุกคนกำลังวิ่งหนีทุกข์ ทุกคนแสวงหาแต่ความสุข
ที่จริงแล้วทุกคนต้องวิ่งกลับไปหาทุกข์คือต้องไปหาปัญญา
ถ้าใครดูจิตตัวเองได้จนเห็นความโกรธ ความเกลียด ความรัก ความชัง ความอิจฉาริษยา เห็นตัวตน เห็นจิต ตัวนี้เป็นวิปัสสนาญาณ
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
เราทำบุญกับใคร ให้ลืม
เราทำบุญกับใคร ให้ลืม
ใครทำบุญกับเรา ให้จำ
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
เราจำเป็นต้องเรียนเรื่องจิต
เราจำเป็นต้องเรียนเรื่องจิต เพราะว่าทุกข์เกิดที่จิต สุขก็เกิดที่จิต ถ้าเราอยากจะได้ความสุข เราจะไปหาตรงไหน ? ความสุขไม่ได้อยู่ที่กินอิ่ม นอนหลับ ได้ลาภ ได้ยศ
แต่ถ้าเรียนเรื่องจิต จนจิตของเรานั้นสงบแล้ว วางแล้ว เฉยแล้ว ตามรู้ทันแล้ว จิตนั้นเป็นดวงเดียวได้ เมื่อไร จิตว่างได้เมื่อไร เมื่อนั้นเราก็พบแก่นธรรม
เราก็พบความสุขที่ใจเรา เราไม่ต้องวิ่งไปหาอะไรอีกแล้ว
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
จิตว่างคือบุญมหาศาล
คนเราถ้าไม่มีสมาธิ จิตมันจะหยาบ จะคิดมาก มันจะไม่หยุดคิด พอเรามีสมาธิขึ้นมา ทีนี้จิตเราว่างได้สักครั้งหนึ่ง จิตเราจะละเอียด คราวหลังจะทันอารมณ์ว่านี่โกรธและนั่นไม่โกรธ สงบไม่สงบก็จะค่อยๆ รู้ขึ้นมาทีละน้อย
นั่นแหละการทำบุญมหาศาล
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
ทุกสิ่งทุกอย่างจากเราไปหมด
ที่ทุกข์ที่สุขนี่ เราไปคิดเอาเองจนเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต จนกลายเป็นยึดมั่นถือมั่น ว่าจากเราไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างมันจากกันได้หมด ไม่มีอะไรติดอยู่ในตัวเราเลย
จะมีก็ “ทาน ศีล ภาวนา” ที่จะติดอยู่ในใจเราได้ . สิ่งนี้แหละที่จะส่งเราไปถึงพระนิพพาน นอกจากนั้นไม่มีเลย
ไปไม่ถึงนิพพาน เป็นของหล่นอยู่กับโลกหมด กลายเป็นของที่ถูกคนอื่นนำไปใช้ต่อ
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
บุญและบาปอยู่ในใจเราคนเดียว
บุญและบาปอยู่ในใจเราคนเดียว
เหมือนมีคน ๒ คนอยู่ในใจเรา ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ผลัดกันแสดงอาการออกมา
เวลาสงบก็มี “พุธโธ ธัมโม สังโฆ” อยู่ในใจ และนึกถึงพระอรหันต์อยู่ในใจ
คนดีก็โผล่ขึ้นมาในใจ ก็นึกแต่สิ่งที่ดี พูดคุยแต่สิ่งที่ดี ก็แสดงอาการที่ดีออกมาทางกายและวาจา
ถ้าขาดสติสัมปชัญญะ คนไม่ดีก็เกิดขึ้นมาแทน
คิดแต่เรื่องไม่ดี ทำแต่เรื่องไม่ดี ทำอะไรก็ไม่ดี ทำแต่เรื่องที่ไม่สบายใจตลอดเวลา เขาเรียกว่า
จิตตสังขารปรุงแต่งเป็นบุญและบาป “ปรุงแต่ง” เป็นบุญก็สบายใจ เย็นใจ ถ้าปรุงแต่งเป็นบาปก็ทำให้จิตใจเร่าร้อน เป็นทุกข์ระทมขมขื่นใจ จิตตสังขารปรุงแต่งจิตให้เป็นบุญและบาปอยู่สม่ำเสมอ ก็ต้องทำ “อุเบกขา” คือ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย สุขก็ทำเฉยๆ ทุกข์ก็ทำเฉยๆ ถือว่าเป็นธรรมดาที่คนเราก็มีอยู่ทุกวันทุกเวลา
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
ฝึกใจให้เป็นกลาง
เรามาฝึกใจของเรา ได้ก็ไม่ดีใจ เสียไปก็ไม่เสียใจ ทำเป็นกลาง อยู่ก็ดีใจ ไปก็ไม่เสียใจ ใครจะเกลียดเรา ก็ไม่เสียใจ ใครจะรักเรา ก็ไม่ลืมตัว เมื่อเราทำใจเป็นกลาง เราถือว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นทุกข์ทั้งนั้น มันเป็นกังวลทั้งนั้น มันเป็นภาระหนักทั้งนั้น ไม่ว่าจะไปจับอะไรสักอย่างหนึ่ง
ใจเราก็เหมือนกัน ถ้าเราวางใจเสียได้ ไม่ไปยึดว่าเป็นของเรา ไม่ไปยึดว่าสิ่งนั้นจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องได้มาอย่างนั้น จะต้องได้มาอย่างนี้ จิตเราก็สบาย
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
คิดดีก็เฉย คิดไม่ดีก็เฉย
คิดดีก็รู้ คิดไม่ดีก็รู้ คิดดีก็เฉย คิดไม่ดีก็เฉย เราก็รู้จักตัวเราว่ามีทั้งคิดดี และคิดไม่ดี สงบหรือไม่สงบ เราก็ยืนอยู่ ต้องเฉย
“เฉย”
ก็คือการทำสติ หรือภาวนา พยายามดึงกลับมาไว้ตรงนั้น มันก็สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ...
ใครจะทำอย่างไร ก็วางเฉยได้ ไม่ปากเปราะ ไม่อารมณ์ร้อน ไม่ตอบโต้กับใครง่ายๆ เฉยเป็น นิ่งเป็น ที่มาฝึกก็เพราะเราต้องการสิ่งเหล่านี้ คือ ธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวนั่นเอง
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
ธรรมะคือรู้ทันใจเรา
ธรรมะคือ ดับความโกรธ ดับความโลภ
ดับความหลง คือรู้ทันใจเราบ้าง
นั่นเขาเรียกว่า เป็นคนมีธรรมะประจำใจ
คนที่ไม่มีธรรมะประจำใจ หมายถึง
คุยธรรมะได้ แต่ทำใจไม่ได้
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
รู้ตัวเองก็ถึงธรรมะ
ถ้ารู้ตัวเองเรื่อยๆ ก็ถึงธรรมะ เพราะไม่มีอะไรจะดีเท่ากับรู้ตัวเอง ธรรมธาตุ ธรรมจิต อยู่ที่ตัวเองนี่แหละ ธรรมะมีอยู่ที่กายกับจิตอย่างเดียว ไม่มีอะไรนอกเหนือกว่า กายกับจิตตัวเอง ทุกข์ก็ดี สุขก็ดี ชั่วก็ดี บุญบาปทั้งหมดอยู่ที่กายกับจิต ถ้ารู้กาย รู้จิตนี่แหละ รู้ธรรมะ
หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ
ของดีย่อมเกิดจากของไม่ดี
ธรรมชาติของดีทั้งหลาย ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี
อุปมาดั่งดอกปทุมชาติอันสวยงาม
ก็เกิดจากโคลนตม อันเป็นของสกปรก
แต่ดอกบัวนั้นเมื่อพ้นโคลนตมแล้ว ย่อมเป็นสิ่งสะอาด
เป็นที่ทัดทรวงของพระราชา เสนาบดี
และดอกบัวนั้นก็มิได้กลับคืนไปยังโคลนตมนั้นอีกเลย
เปรียบเหมือนพระโยคาวจรเจ้า
ผู้ประพฤติพากเพียร พยายาม
ย่อมพิจารณาซึ่งสิ่งสกปรกน่าเกลียด คือตัวเรานี้เอง
ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งของสกปรก
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
คุณค่าของการขอโทษ
การขอโทษอาจทำให้เรารู้สึกเสียหน้า
แต่แท้จริงแล้ว ตัวที่เสียหน้านั้นคือกิเลสมารต่างหาก
เมื่อเราขอโทษ สิ่งที่จะเสียไปคืออหังการของอัตตา
แต่สิ่งที่เราจะได้มานั้นมีคุณค่ามหาศาล
นอกจากมิตรภาพแล้ว เรายังฟื้นความเป็นมนุษย์
และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีให้กลับคืนมา
พระไพศาล วิสาโล
บทความที่ใหม่กว่า
บทความที่เก่ากว่า
หน้าแรก
ดูเวอร์ชันสำหรับมือถือ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)