การทำความเพียรหมายถึงการมีสติ
การทำความเพียร ไม่ใช่เดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ ไม่ใช่ทำทั้งวันทั้งคืนหรอก ถ้ายังเดินคิด นั่งคิด ก็จัดเป็นความเพียรไม่ได้ เรียกว่าฟุ้งซ่าน การทำความเพียรหมายถึงการมีสติ ทำอะไร ทำอย่างมีสติ ระลึกได้อยู่ จะก้าวหน้า จะถอยหลัง เหลียวซ้ายแลขวา จะพูดจาอะไร มีสติกำหนดรู้ทั่วอยู่ ระลึกได้อยู่เสมอ นี่เรียกว่า ทำความเพียร
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
การปฏิบัติธรรม คือดูกายใจของตัว
การรักษาไม่ให้ความชั่วภายนอกเกิดขึ้น จะไปรักษาคนอื่น รักษาทางโลก มันรักษาไม่ได้ ให้รักษาภายใน รักษาตา หู จมูกลิ้น กาย ใจของตัว อย่าให้มันมีความชั่วมาเกี่ยวข้อง เมื่อเรารักษาตัวของเราได้ โลกส่วนอื่นมันเป็นอย่างไร นั่นเป็นหน้าที่ของเขา การปฏิบัติ คือโอปนยิโก น้อมเข้ามาภายใน ดูกาย ดูใจ ของตัว
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
การปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ อยู่กับตัวเสมอ
การปฏิบัติก็ไม่ใช่ว่าจะสุดวิสัยจนเกินเอื้อม
เพราะว่าสิ่งที่เราจะทำ ก็อยู่กับตัวเรา
การงานต่างๆ ภายนอกยังอาจจะไกลกว่าด้วยซ้ำ
แต่การงานภายใน การงานของการปฏิบัติธรรม
เพื่อความพ้นทุกข์นั้น อยู่กับตัวเสมอ
ไปไหนก็ไปกับเราด้วย
นั่งอยู่ตรงไหน เดินอยู่ตรงไหน
ยืนอยู่ตรงไหนก็มีตัวอยู่อย่างนี้
มีกายมีใจ มีตา หู จมูก ลิ้น มีเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส
มีความตรึกนึก ปรุงแต่ง
ก็ให้ทำหน้าที่ปฏิบัติตามดูตามรู้สิ่งเหล่านี้
ดูสิ่งเหล่านี้ไปทุกวันทุกเวลา เฝ้าดู เฝ้ารู้ เฝ้าติดตามไป
นี่คือเป้าหมาย
คือหน้าที่ที่เราจะต้องทำในชีวิตที่เกิดมา
ดับทุกข์ได้ก็ตรงนี้ ดับทุกข์ด้วยการรู้จักตัวเอง
รู้จักพิจารณาตัวเอง
ไม่ใช่ดับทุกข์ด้วยการมีเงิน มีทอง
มีทรัพย์มากมาย มียศ มีบริวาร มีคนสรรเสริญ
มีคนชอบอกชอบใจเรามาก ก็ไม่ใช่ว่าดับทุกข์ได้ตรงนั้น
พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี
ระลึกถึงความตายไว้เสมอ
ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้า ไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรจะมาก่อน
เราอย่าไปคิดว่าพรุ่งนี้จะมาก่อนชาติหน้า
ใครที่คิดแบบนี้แสดงว่ายังประมาทอยู่
เพราะว่าอาจไม่มีพรุ่งนี้สำหรับเราเลยก็ได้
คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของคนจำนวนมากในโลกนี้
พรุ่งนี้จะไม่มีอีกแล้วสำหรับเขา
เลยจากคืนนี้ไปก็เป็นชาติหน้าเลย
แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไร
ว่าเราจะไม่เป็นหนึ่งในจำนวนคนนับล้านที่ไม่มีวันพรุ่งนี้อีกแล้ว
ในเมื่อชีวิตของเราไม่มีความแน่นอนเลย
เราก็ควรถามตัวเองว่า.....
หากวันนี้มีอันเป็นไป เราพร้อมจะไปหรือไม่
พระไพศาล วิสาโล
เพ่งโทษคนอื่นห่างไกลการพ้นทุกข์
ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส นิจฺจํ อุชฺฌานสญฺญิโน
อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อารา โส อาสวกฺขยา.
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น
ผู้คอยดูโทษของบุคคลอื่น
ผู้มีความมุ่งหมายในอันยกโทษเป็นนิตย์,
บุคคลนั้น เป็นผู้ไกลจากความสิ้นไปแห่งอาสวะ.
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มลวรรคที่ ๑๘
เมตตา กรุณา มุทิตา ต้องมีอุเบกขาเสมอ
ผู้ยังไม่บรรลุผลสูงสุดของพรหมวิหารธรรม
ยังพยายามตั้งใจอบรมพรหมวิหารธรรมอยู่
ควรรู้ว่า ผู้มีเมตตา กรุณา มุทิตา นั้น
ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีอุเบกขาแทรกไว้ทุกเวลา
เหมือนยาดำที่จำเป็นต้องแทรกในยาดีทุกขนาน
มิฉะนั้น ยาดีที่ขาดยาดำ ก็จะเป็นยาดีที่ไม่สมบูรณ์
เมตตาขาดอุเบกขา ก็ผิด
กรุณาขาดอุเบกขา ก็ผิด
มุทิตาขาดอุเบกขา ก็ผิด
ถ้าทำเต็มสติปัญญาความสามารถโดยควรแล้ว
แม้ไม่เกิดผล ก็ควรวางอุเบกขาเสียได้
ไม่เร่าร้อนด้วยความปรารถนา
พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก